อุดมการณ์และนิยามประชาธิปไตย

อุดมการณ์ประชาธิปไตยคือประชาชนปกครองกันเอง นิยามการปกครองประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน แต่คำว่า “ประชาชนหรือพลเมือง” ในแต่ละยุคสมัยแตกต่างกัน และแต่ละสังคมแตกต่างกันตามบริบทประเทศ ระดับความเป็นประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไม่คงที่

อุดมการณ์ประชาธิปไตย:

            คนส่วนใหญ่เมื่อพูดคำว่า “ประชาธิปไตย” มักหมายถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตย มาจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย (democratic ideology) หรือ “democratism

            คำว่า “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” คือ “การปกครองของประชาชน” (the rule of the people) ประชาชนปกครองกันเอง ไม่ใช่การปกครองโดยเทพเจ้า คนที่เทพเจ้าส่งมา หรือคนชนชั้นพิเศษที่เหนือกว่าประชาชน

            อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นชุดความเชื่อ แนวคิดและหลักการ เกี่ยวข้องกับการปกครองที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้งผู้แทน การลงประชามติและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง ทุกคนเสมอภาคภายใต้กฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียม อำนาจการปกครองต้องถูกแบ่งแยกและตรวจสอบโดยองค์กรต่างๆ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ

กษัตริย์เป็นสมมุติเทพโอรสแห่งสวรรค์:

            ในสมัยโบราณศาสนาอยู่คู่การปกครอง บางครั้งเป็นทั้งผู้นำบ้านเมืองกับผู้นำศาสนา เช่น จักรพรรดิออคเตเวียน (Octavian) กับจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus) ของอาณาจักรโรมันมีฐานะกึ่งเทพ เป็น “god-king

            (จักรพรรดิออกัสตัสเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ผู้เปลี่ยนการปกครองของโรมจากสาธารณรัฐสู่ระบอบจักรพรรดิ และนำพาโรมสู่ยุคแห่งความสงบและรุ่งเรืองที่เรียกว่า "Pax Romana")

            ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ลัทธิความเชื่อบางอย่างมีลักษณะนี้ ผู้ปกครองบางยุคบางแห่งมีอำนาจพิเศษที่ได้จากศาสนาหรือเกี่ยวข้องอย่างเด่นชัด มีกษัตริย์เป็นสมมุติเทพ ฮ่องเต้เป็นโอรสแห่งสวรรค์ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองในอาณาจักรโบราณศรัทธาศาสนาใดมักจะให้คนในอาณาจักรศรัทธาด้วย กลายเป็นอาณาจักรมุสลิม เมืองพุทธ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)

          อุดมการณ์ประชาธิปไตยต่อต้านแนวคิดเหล่านี้ พยายามแยกศาสนาความเชื่อออกจากการเมือง การปกครองคือเรื่องของประชาชนหรือคนสามัญเท่านั้น ไม่มีอำนาจสวรรค์ อำนาจพิเศษใดๆ

            การที่กรีกโบราณได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยก็เพราะให้ความสำคัญกับมนุษย์มากกว่าเทพเจ้า (ระบอบประชาธิปไตยเริ่มครั้งแรกที่นครรัฐเอเธนส์เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล)

            เดิมนั้นชาวกรีกโบราณให้ความสำคัญกับเทพเจ้าไม่ต่างจากชนกลุ่มอื่นๆ เมื่อวันเวลาผ่านไปความสำคัญของเทพเจ้าลดน้อยลง ให้ความสำคัญต่อรัฐบาลมากขึ้นอันหมายถึงพึ่งพาสติปัญญาของมนุษย์ด้วยกันเอง (และไม่ใช่เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ลดทอนความสำคัญของเทพเจ้า)

            นักวิชาการเรียกว่าเป็นลัทธิเหตุผลนิยม (rationalism) ยึดหลักว่าเหตุผลคือแหล่งความรู้ที่สำคัญที่สุด เป็นเครื่องมือทรงพลังที่สุดในการทำความเข้าใจโลกกับธรรมชาติ และเมื่อประชาธิปไตยเอเธนส์พัฒนาถึงขีดสุดความเชื่อศาสนาเป็นเพียงประเพณี ไม่ค่อยมีใครเชื่อคำสอนศาสนาอย่างจริงจัง

            ระบอบประชาธิปไตยมีสถาบันการเมืองต่างๆ มีกลุ่มการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้พัฒนาขึ้นมา บริหารจัดการโดยประชาชนหรือพลเมือง ให้ความสำคัญกับ “การตัดสินเสรี” “การมีส่วนร่วม” และ “ตัดสินใจร่วมกัน”

            สังคมประชาธิปไตยใดที่พลเมืองมีส่วนร่วมน้อย ไม่คิดตัดสินใจด้วยตนเอง พยายามเอาชนะด้วยเสียงข้างมาก ละเลยความต้องการของคนส่วนน้อย สังคมนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนอุดมการณ์ประชาธิปไตย นักประชาธิปไตยจึงต้องแยกระหว่างรูปแบบประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือก กับสังคมที่ตั้งอยู่บนอุดมกาณ์ประชาธิปไตยจริง

            นอกจากนี้ต้องช่วยกันรักษาเพิ่มพูนผลประโยชน์ร่วม (common good) สังคมใดที่ไม่ช่วยกันดูแลผลประโยชน์ร่วม ต่างกันต่างอยู่ พยายามแสวงหาประโยชน์ส่วนตน เช่นนั้นไม่อาจเรียกว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย

            ยกตัวอย่าง การป้องกันชาติ ความปลอดภัยในชุมชน สมบัติส่วนรวม สิ่งแวดล้อม เหล่านี้เป็นผลประโยชน์ร่วม

            ถ้าจะศึกษาลงลึกกว่านี้ David Howarth แยกอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็น 5 ด้าน คือ หลักนิยมการเมือง (political doctrine) ระบบการปฏิบัติต่อกันทางการสังคมและการเมือง (system of social and political practice) การทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นเรื่องลึกลับ (mystification of social relations - กระบวนการที่ความสัมพันธ์ทางสังคมถูกบิดเบือนหรือทำให้เข้าใจผิด เพื่อรักษาอำนาจหรือผลประโยชน์ของพวกตน) เงื่อนไขการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือรัฐบาลประชาธิปไตย (condition of democratic rule or governance) และสัญลักษณ์หรือองค์ประกอบด้านอุดมการณ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

นิยามการปกครองประชาธิปไตย:

            การปกครองประชาธิปไตยมาจากรากความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนเสมอภาค ปัจเจกบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจดำเนินชีวิตด้วยตนเอง เป็นเจ้าของตัวเอง แต่ด้วยประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม จึงมารวมกันภายใต้การปกครองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ปกครองร่วมกัน อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน

            ดังนั้น นิยามการปกครองประชาธิปไตย (Democracy) คือ การปกครองโดยประชาชนหรือประชาชนปกครองกันเอง (self-government) ดังที่อับราฮัม  ลินคอล์น กล่าวว่า ประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน

            การที่รัฐบาลใดจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 ประการ ดังนี้

            ประการแรก รัฐบาลของประชาชน

            หมายถึง รัฐบาลจะต้องมาจากการเลือกของประชาชน และประชาชนสามารถเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง ประชาชนคือเจ้าของรัฐบาล เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

            และจะต้องกำหนดวาระดำรงตำแหน่งผู้ปกครอง เช่น 2 ปี 4 ปี เป็นหลักประกันว่าประชาชนจะมีโอกาสเปลี่ยนตัวผู้ปกครอง

            ดังนั้น ประชาชนจึงมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถเรียกร้องรัฐบาล รัฐบาลมีหน้าที่รับฟังและนำไปปรับปรุงงานบริหารประเทศ

            คำว่ารัฐบาลของประชาชนยังหมายถึงการไม่แบ่งเพศ สีผิว ชนชั้นทางสังคม ฐานะเศรษฐกิจ ทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง เป็นเจ้าของประเทศเท่าเทียมกัน

            ประการที่ 2 รัฐบาลโดยประชาชน

            หมายถึงพลเมืองทุกคนมีสิทธิเป็นผู้ปกครองทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ถ้าหากได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ผู้นำประเทศหรือผู้นำท้องถิ่นจึงเป็นบุคคลที่มาจากประชาชน ได้รับอำนาจให้เข้ามาบริหารประเทศ

            ประการที่ 3 รัฐบาลเพื่อประชาชน

            หมายถึงรัฐบาลจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของประชาชน และจะต้องยั่งยืน พัฒนาให้สูงยิ่งขึ้นไป ความไม่ยั่งยืนคือความล้มเหลว เป็นหายนะของชาติของระบอบประชาธิปไตย

            รัฐบาลมีหน้าที่โดยตรงในการปกป้องคุ้มครองประชาชน ทั้งทางด้านกายภาพ สิทธิ เสรีภาพ

            ดังนั้น รัฐบาลใดไม่ได้บริหารประเทศเพื่อความผาสุกที่ยั่งยืนของประชาชน เช่นนั้นไม่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย (เป็นแต่เปลือก)

            นิยามประชาธิปไตยพัฒนาเรื่อยมา ในสมัยที่ยังมีทาส พลเมืองเท่านั้นที่มีประชาธิปไตย ทาสไร้เสรีภาพไม่มีประชาธิปไตย อเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยโลก ขณะเมื่อก่อตั้งประเทศนั้นประชาธิปไตยเป็นอำนาจของคนส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ของทุกคน ด้วยความคิดว่าแนวทางนั้นจะนำความผาสุกแก่คนทั้งประเทศได้มากกว่า ถ้าศึกษาลงลึกจะพบว่าระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีปัจจุบันยังสะท้อนหลักคิดอำนาจของคนส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ของทุกคน Electors (Electoral College) คือตัวอย่าง

            ประชาธิปไตยพัฒนาเรื่อยมาและจะพัฒนาต่อไป นิยามประชาธิปไตยจึงเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ แตกต่างกันในแต่ละสังคม ต่างกันตามบริบทประเทศ

ประชาธิปไตยโดยตรงกับโดยอ้อม:

            ประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) หมายถึงการให้ประชาชนผู้เป็นพลเมืองมีสิทธิโดยตรงในการปกครองหรือวินิจฉัยตัดสินเรื่องราวของประเทศ กล่าวคือพลเมืองมีสิทธิเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาประชาชนซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันสูงสุดในการแสดงเจตจำนงของรัฐ

            การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่นครรัฐเอเธนส์เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นประชาธิปไตยแบบโดยตรง การที่สามารถใช้ระบอบประชาธิปไตยโดยตรงเพราะนครรัฐมีอาณาเขตไม่กว้างขวาง ประชากรไม่มาก

            ประชาธิปไตยโดยอ้อม (Indirect Democracy) หรือประชาธิปไตยโดยผู้แทนหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) หมายถึง พลเมืองมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่แทนตัวเองในรัฐสภา เจตจำนงของรัฐสภาถือเป็นความต้องการของประชาชนและต้องสะท้อนความต้องการของประชาชน ลักษณะนี้คล้ายคลึงกับที่อริสโตเติลกล่าวว่าเป็นระบอบการปกครองโดยคนส่วนน้อยภายใต้การควบคุมของคนส่วนใหญ่ สาระสำคัญไม่อยู่ที่การปกครองของคนส่วนน้อย แต่อยู่ที่การควบคุมจากคนส่วนใหญ่

            บางตำราแบ่งประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สาธารณรัฐนิยม (republicanism) กับเสรีนิยม (liberalism)

            สาธารณรัฐนิยม (republicanism) คือประชาธิปไตยตัวแทนประเภทหนึ่ง ให้ความสำคัญกับชาย ชนชั้นกลาง ส่วนพวกผู้หญิง เด็ก ชนชั้นแรงงานจะถูกกันออกจากการตัดสินใจทางการเมือง กับอีกแนวหนึ่งคือทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมือง แสดงความคิดเห็นได้ แต่คณะผู้บริหารประเทศไม่ได้มาจากการเลือกจากประชาชนโดยตรง มาจากการตัดสินใจของคนกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินบนฐานความคิดเห็นประชาชน และยึดหลักประโยชน์สุขของสังคม เรียกว่า Electors (Electoral College) บางครั้ง Electors อาจเลือกตรงข้ามกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ บนฐานคิดว่าความคิดของคนส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม

            สาธารณรัฐนิยมเป็นที่นิยมมากเมื่ออเมริกากำลังคิดจะประกาศเอกราช ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัยนั้นคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ชายผิวขาวบางคนเท่านั้นที่มีสิทธิทางการเมืองอย่างบริบูรณ์

            เสรีนิยม (liberalism) ในฐานะรูปแบบประชาธิปไตยตัวแทนอีกประเภท เน้นความสำคัญของปัจเจกทุกคน ถือว่าเสรีภาพส่วนบุคคลสำคัญที่สุด เชื่อว่าทุกคนจะใช้เสรีภาพแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง ยึดถือเศรษฐกิจเสรี ตามกลไกตลาด หลังสิ้นสงครามเย็นประชาธิปไตยแบบตัวแทนจะมุ่งมารูปแบบนี้

            ประชาธิปไตยมีหลายแบบย่อย เช่น ‘capitalist democracy’, ‘social democracy’, ‘people’s democracy’, ‘green democracy’ และ ‘radical democracy’ (เน้นการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม การเปิดกว้างทุกมิติทุกด้าน) ภายใต้ประชาธิปไตยไม่จำต้องยึดแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมเสมอไป

            ทุกวันนี้นักคิดนักปราชญ์ยังคงมองหารูปแบบประชาธิปไตยใหม่ๆ หวังว่าจะตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น

ตัวอย่างพัฒนาการประชาธิปไตยสหรัฐ:

            ในช่วงที่คนอเมริกันกำลังหารือรูปแบบการปกครองของตน เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) ตัวแทนจากรัฐฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) เห็นว่าชายผิวขาวทุกคนควรได้รับสิทธิ์ลงคะแนนเสียง แต่ที่ประชุม The Constitutional Convention of 1787 เห็นว่าเจ้าของที่ดินเท่านั้นสามารถรักษาเสรีภาพได้ดีที่สุด เจมส์ แมดิสัน (James Madison) เกรงว่าหากให้คนจนมีสิทธิ์ลงคะแนน พวกเขาจะรวมหัวกันไม่ยอมรับกรรมสิทธิ์ที่ดินของเจ้าของเดิม (ซึ่งหมายถึงพวกเขาที่อยู่ในที่ประชุม พวกเขาหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่)

            นอกจากนี้ การเลือกตั้งในแต่ละรัฐยังคงให้แต่ละรัฐมีอำนาจเลือกตามแนวทางของตนเอง (หมายถึงการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งประเทศ)

            ดังนั้น ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนในยุคนั้นจึงอยู่ใต้หลักการ “จำกัดผู้มีสิทธิ์” โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นอำนาจเป็นหลัก การปกครองประเทศที่รวมกันเป็นสหรัฐอเมริกาหมายถึงการร่วมกันปกครองของชนชั้นปกครองที่อยู่ในแต่ละรัฐ

            สถานการณ์ในทศวรรษ 1780 การแก้ปัญหายังคงเป็นปัญหาของชนชั้นอำนาจ ตำราเรียนอเมริกาหลายเล่มสอนว่าคนเหล่านี้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา “ระดับชาติ” ซึ่งความจริงแล้วหมายถึง ปัญหาของ “ชนชั้นอำนาจ” เป็นพวกชนชั้นปกครอง นายทุน เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ คนมีตระกูล คนเหล่านี้มาร่วมประชุมเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของพวกเขา

            คำว่า “ประชาธิปไตย” ของอเมริกาในยุคนั้นก็เป็นเช่นนั้น

            ตำราเรียนอเมริกาบางเล่มยังพยายามอธิบายว่าการเมืองสหรัฐปัจจุบันมีความ “หลากหลาย” (diversity) สมาชิกรัฐสภาหลายคนเป็นสตรี หลายคนเป็นพวกผิวสี บารัก โอบามา (Barak Obama) คนผิวสีได้เป็นประธานาธิบดี เป็นตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยที่น่าชื่นชม ข้อมูลอีกด้านชี้ว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจาก “ชนชั้นอำนาจ ชนชั้นปกครอง” มักมีฐานะมั่งคั่ง ทุกวันนี้ชาวบ้านธรรมดาน้อยคนที่จะเข้าถึงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา

            ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดที่สมบูรณ์แบบ สหรัฐเหนือกว่าหลายประเทศในด้านนี้

            ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพถ้าพลเมืองมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ระดับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของสังคมคือเครื่องชี้วัดระดับประชาธิปไตย สิ่งนี้ไม่อาจพิจารณาจากรูปแบบบางอย่าง เช่น มีเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แล้วสรุปว่าเป็นประชาธิปไตย การปกครองแนวทางนี้จะสำเร็จตามอุดมการณ์หรือไม่ขึ้นกับคุณภาพของประชาชน หรือกล่าวว่าคุณภาพพลเมืองสะท้อนคุณภาพการเมือง ไม่ใช่ทุกประเทศเจริญรุ่งเรืองจากปกครองนี้ บางครั้งกลายเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) ก็มี

            ในระยะหลังงานศึกษาหลายชิ้นพบว่า โดยรวมแล้วเสรีภาพโลกกับระดับความเป็นประชาธิปไตยถดถอยต่อเนื่อง ฝ่ายอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น ประชาชนจำนวนไม่น้อยชื่นชมรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่า

ชาญชัย คุ้มปัญญา

-----------------------

บรรณานุกรม:

1. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. (2553). การเมือง: แนวความคิดและการพัฒนา (พิมพ์ครั้งที่ 18). กรุงเทพฯ: เสมาธรรม.

2. Howarth, David. (2001). democratic ideology. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 235-238). London: Routledge.

3. Jones, Peter. (2001). freedom. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 363-369). London: Routledge.

4. Magleby, David B., Light, Paul C. (2009). Government by the People (23rd Ed.). USA: Pearson Education.

5. Perry, Marvin., Jacob, Margaret., Jacob, James., Chase, Myrna., & Von Laue, Theodore. (2009). Western Civilization: Ideas, Politics, and Society (9th Ed.). Boston: Houghton Mifflin Harcourt Publishing.

6. Zanetti, Lisa A. (2007). Democratic Theory. In Encyclopedia of Governance. (pp.207-212). USA: SAGE Publications.

-----------------------------