แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตนแต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงเสถียรภาพ
บูรณภาพแห่งดินแดนของกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of
Independent States: CIS - กลุ่มประเทศที่ก่อตั้งขึ้นหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต
ได้แก่ อาร์มีเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน มอลโดวา ทาจิกิสถาน
อุซเบกิสถานและรัสเซีย)
มักมีชายแดนติดหรือใกล้รัสเซีย
พึ่งพาอาศัยกันและกัน มีภาษาวัฒนธรรมใกล้ชิด มีนโยบายดังนี้ 1) ป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งทางทหาร พัฒนาความสัมพันธ์
ให้มั่นใจว่าประเทศเหล่านี้มีเสถียรภาพ ไม่เกิดการปฏิวัติสี (Colour
Revolution - การล้มล้างระบอบแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย)
2) ประกันความมั่นคงทางการเมืองและการทหารต่อรัสเซีย
เสริมสร้างความมั่นคงตามภูมิภาคต่างๆ 3) ต่อต้านโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร
(Military infrastructure) ที่มาติดตั้งในประเทศที่ไม่เป็นมิตรและคุกคามใกล้รัสเซีย
4) ส่งเสริมบูรณาการของ CIS กับ
EAEU สร้างความร่วมมือกับแถบยูเรเชีย (Eurasia - ผืนแผ่นดินขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยทวีปยุโรปและเอเชีย) 5) ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับมิตรประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกับสมาชิก
EAEU และประเทศที่อยากมีส่วนร่วมตามแนวทางยูเรเชีย
วิเคราะห์: รัฐบาลรัสเซียมักคิดว่าพวกตะวันตกพยายามแทรกแซงการเมืองภายในกลุ่ม
CIS หวังได้รัฐบาลที่ต่อต้านรัสเซีย
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานรัสเซีย ในอีกมุมตีความว่ารัฐบาลรัสเซียอ้างเหตุดังกล่าวจึงเฝ้าระวังกำกับไม่ให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือตะวันตก
รัสเซียอ้างว่าระบบปล่อยอาวุธที่สหรัฐติดตั้งในโปแลนด์กับโรมาเนียสามารถบรรจุจรวดร่อน
Tomahawk ที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งสหรัฐกับนาโตปฏิเสธเรื่อยมา
ต่อมารัฐบาลเซเลนสกีแห่งยูเครนขอเข้าเป็นสมาชิกนาโต
รัสเซียถือว่าเรื่องนี้เป็นเส้นต้องห้าม (red line)
ที่ประกาศมานานหลายปีแล้ว เพราะหากยูเครนเป็นสมาชิกนาโตและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนจะสามารถยิงใส่เมืองหลวงมอสโกภายใน
4-5 นาที
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเป็นอีกเหตุผลที่รัฐบาลปูตินชี้ว่าไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนั้น
ประธานาธิบดีปูตินถึงกับกล่าวว่าสหรัฐ “ควรเข้าใจว่าไม่มีทางให้เราถอยอีกแล้ว” เป็นเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครน
เป็นตัวอย่างเหตุผลนโยบายต่อต้านโครงสร้างพื้นฐานทางทหารที่ใกล้รัสเซีย
รวมความแล้วรัสเซียให้ความสำคัญกับประเทศที่มีพรมแดนติดกันหรืออยู่ใกล้กัน
มองว่าเป็นความมั่นคงร่วมโดยยึดตัวเองเป็นแกนกลาง
แถบอาร์กติก:
รัสเซียหวังรักษาสันติภาพกับเสถียรภาพในอาร์กติก
(Arctic) หรือพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือ ให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ลดภัยคุกคามรัสเซียจากพื้นที่แถบนี้ สร้างเป็นเขตพื้นที่พัฒนา Arctic zone ของรัสเซีย ส่งเสริมการเดินเรือสู่นานาชาติ มีแนวทางดังนี้
1) แก้ไขความขัดแย้งของย่านนี้ด้วยสันติวิธี
ยึดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 (UNCLOS) 2) ต่อต้านปรปักษ์ที่หวังติดตั้งอาวุธในย่านนี้ ที่พยายามสร้างกฎเกณฑ์ควบคุมแต่ฝ่ายเดียว
3) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศนอกอาร์กติกที่เป็นมิตรต่อรัสเซีย
พัฒนาโครงสร้างเส้นทาง Northern Sea Route
รัสเซียตั้งเป้าพัฒนาความสัมพันธ์กับมิตรประเทศในยูเรเชียหรือแผ่นดินทวีปยุโรปกับเอเชีย
พื้นที่หลักที่รัสเซียให้ความสำคัญ เล็งถึงระเบียบโลกใหม่
และเป็นกุญแจจัดการปัญหาต่างๆ ในการเมืองโลก
รัสเซียจะยกระดับความสัมพันธ์กับจีนและอินเดียรอบด้าน บนประโยชน์ร่วม 2 ฝ่าย ส่งเสริมการค้าการลงทุน ประสาน EAEU กับ BRI ของจีน ส่งเสริมเศรษฐกิจตามทางรถไฟสายหลักไบคาล-อามูร์ (BAM- เส้นขนานกับทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย) และเส้นทรานส์-ไซบีเรียเดิม
สหรัฐกับยุโรป:
ปัจจัยหลักมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกพยายามแบ่งแยกยุโรป เพื่อบั่นทอนทำลายรัสเซียกับชาติยุโรป
จำกัดอธิปไตยของประเทศยุโรปเพื่อรักษาอิทธิพลสหรัฐ
รัสเซียให้ความสำคัญกับบทบาทสหรัฐผู้เป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของโลก
ผนึกกำลังเป็นพวกตะวันตกที่ยึดนโยบายต่อต้านรัสเซีย ต้นตอความเสี่ยงภัยความมั่นคง
สันติภาพระหว่างประเทศ การพัฒนามนุษยชาติอย่างสมดุล เท่าเทียมและก้าวหน้า
รัสเซียหวังอยู่ร่วมกับสหรัฐโดยสันติ สร้างผลประโยชน์สมดุลร่วมกัน
ในฐานะมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่มีความรับผิดชอบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ
สัมพันธ์กับสหรัฐจะลึกซึ้งขึ้นหากสหรัฐเลิกนโยบายครอบงำด้วยอำนาจ
และจะยึดแนวทางนี้กับประเทศอื่นที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ
วิเคราะห์: เรื่องนี้เป็นหลักฐานอีกชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสัมพันธ์รัฐบาลสหรัฐกับยุโรปแนบแน่นแม้มีเรื่องไม่ลงรอย
ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ในภาพรวมรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปยึดแนวทางเป็นพันธมิตรสหรัฐ
เพราะผลประโยชน์ร่วมนั้นมหาศาล การยอมให้สหรัฐบางครั้งเป็นเรื่องปกติ
ยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว
(NATO Enlargement) สงครามยูเครนเป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่า
นาโตที่มีสหรัฐเป็นแกนนำยังคงสู้กับรัสเซีย
เพียงแต่ว่าไม่ใช่รบกันทุกวัน การรบมีจังหวะพักจังหวะหยุด แต่การต่อสู้แข่งขันยังไม่หยุดแม้ผ่านมาหลายทศวรรษแล้ว
ภูมิภาคอื่นๆ:
ร่วมมือกับอาเซียน
สนับสนุนโครงสร้างความมั่นคงย่านนี้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ร่วมมือกับ APEC ต่อต้านการบ่อนทำลายอาเซียน
เป็นมิตรกับอารยธรรมอิสลามที่เป็นตัวของตัวเอง
เป็นส่วนหนึ่งของ
"polycentric world" หรือโลกที่มีศูนย์กลางอำนาจและอิทธิพลหลายแห่ง
ด้วยแนวทางดังนี้
1) ร่วมมือกับอิหร่านเต็มที่ทุกด้าน
ร่วมมือกับตุรเคีย หลายประเทศในตะวันออกกลางบนผลประโยชน์ร่วม ร่วมสร้างโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาครอบด้านกับประเทศในย่านนี้
ส่งเสริมศาสนาความเชื่อที่แตกต่าง ร่วมกันปกป้องคุณค่าทางจิตวิญญาณ ศีลธรรม
ต่อต้าน Islamophobia 2) ปรับความเข้าใจ
ท่าทีที่แตกต่างเพื่อคืนสู่ความสัมพันธ์ตามปกติกับประเทศในย่านนี้ รวมทั้งองค์การความร่วมมืออิสลาม
(OIC) หาทางแก้ปัญหาปาเลสไตน์ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 3)
ร่วมมือทางเศรษฐกิจ นำสมาชิก OIC เป็นส่วนหนึ่งของ
Greater Eurasian Partnership
รัสเซียหวังเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศในแอฟริกาบนความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันมากขึ้นภายใต้ระบบโลกแกนนำหลายขั้ว
(polycentric) สนับสนุนอธิปไตย ความเป็นอิสระของประเทศต่างๆ
รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคง อาหาร พลังงาน การทหาร
ช่วยแก้ความขัดแย้งทางทหาร ทั้งต้นเหตุจากชาติพันธุ์ ภายใต้กรอบ "African
problems – African solution" เพิ่มการค้าการลงทุน ฯลฯ
ด้านภูมิภาคลาตินอเมริกากับแคริบเบียน
รัสเซียจะส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศแถบนี้ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันของสหรัฐกับพวก
ช่วยรักษาอธิปไตยและความเป็นอิสระ
วิพาก์องค์รวมและสรุป:
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023
(Russian Foreign Policy Concept 2023) สะท้อนมุมมองรัฐบาลรัสเซียต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน
บริบทที่ปรปักษ์พยายามบั่นทอนบ่อนทำลาย สงครามยูเครนเป็นตัวอย่างปัจจุบันที่ชัดเจน
แม้ไม่สามารถล้มรัฐบาลรัสเซียแต่ทำให้อ่อนแอ สกัดการฟื้นตัว รัสเซียหวังอนาคตที่เป็นระบบโลกหลายขั้วหรือหลายแกนนำ
ที่มีความเท่าเทียมมากขึ้นอันจะส่งเสริมความมั่นคงของตนแต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
------------------
1. Putin warns
Poland an attack on Belarus would be an attack on Russia. (2023, July 22). Politico.
Retrieved from
https://www.politico.eu/article/vladimir-putin-warns-poland-attack-belarus-russia/
-----------------