โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (2)
จุดยืนร่วมจีนรัสเซียและอิหร่าน 2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
ส่วนนี้นำเสนอสถานการณ์รอบข้างล่าสุดที่น่าสนใจ
ดังนี้
ฮามาส
ฮิซบอลเลาะห์:
ตั้งแต่เริ่มสงครามฮามาส-อิสราเอลเมื่อตุลาคม
2023 ลามไปถึงการปะทะกับฮิซบอลเลาะห์จนนำสู่การหยุดยิงชั่วคราว
แม้ฮามาสกับฮิซบอลเลาะห์ยังอยู่ ต้องยอมรับว่าฮามาสอ่อนแรงลงมาก
กาซากลายเป็นซากปรักหักพัง ตอนนี้ทั้งฮามาสกับฮิซบอลเลาะห์มีข้อตกลงหยุดยิงกับอิสราเอล
แต่ยังมีการปะทะเป็นระยะ ไม่มีท่าทีว่าจะคืนสู่ความสงบจริง จำนวนผู้เสียชีวิตทะลุ
50,000
รายแล้ว
มีแววว่ารัฐบาลสหรัฐกับอิสราเอลจะบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซาย้ายไปอยู่ที่อื่น
ซึ่งจะเป็นประเด็นให้ขัดแย้งต่อไปอีกนาน
วิเคราะห์: ดังที่ปรากฏว่ายังมีการปะทะกันอยู่และอาจมีเหตุฉีกข้อตกลง
หากอิสราเอลกับสหรัฐทำสงครามโจมตีอิหร่าน เมื่อนั้นฮามาสกับฮิซบอลเลาะห์ที่เปรียบเสมือนแขนซ้ายขวาของอิหร่านอาจลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
แต่จะมีพลังแค่ไหนเป็นที่สงสัย
เพื่อนบ้านอาหรับ:
การปฏิวัติอิหร่านทำให้รัฐบาลอาหรับมองอิหร่านด้วยสายตาไม่เป็นมิตร
แต่นับจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเชื่อมความสัมพันธ์ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเมื่อเมษายน
2023 สองฝ่ายฟื้นความสัมพันธ์กับตามลำดับ
การฟื้นสัมพันธ์ซาอุฯ-อิหร่านเป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญ
สมการดุลอำนาจตะวันออกกลางเปลี่ยนไป ซาอุฯ ถอยห่างจากสหรัฐไปจับมือกับอิหร่าน จีน
และรัสเซียที่อยู่คนละขั้วกับสหรัฐ ดุลอำนาจหลายขั้วชัดขึ้น น่าชื่นชมจีนที่สามารถปรับความสัมพันธ์นี้
อาจตีความว่าซาอุฯ
เป็นแกนกลางขับเคลื่อนทิศทางภูมิภาคร่วมกับตัวแสดงสำคัญอย่างอิหร่าน
แทนการปล่อยให้มหาอำนาจต่างแดนเข้ามากำกับควบคุม
ถ้าซาอุฯ
กับบรรดารัฐอาหรับไม่ทำสงคราม ไม่ช่วยฝายใดทำสงคราม ยากจะเกิดสงครามในภูมิภาคเช่น หากอิสราเอลหรือสหรัฐคิดทำสงครามจะเผชิญแรงกดดันจากซาอุฯ
รวมถึงมหาอำนาจรัสเซีย-จีนที่จะเข้าช่วยรักษาเสถียรภาพด้วย
หรือหากอิหร่านคิดทำสงครามจะต้องเผชิญกับทุกประเทศในภูมิภาคเช่นกัน
ดุลอำนาจหลายขั้วใหม่นี้ลดความเสี่ยงสงคราม โดยเฉพาะคู่อิสราเอลกับอิหร่าน
รวมความแล้วเพื่อนบ้านอาหรับไม่อยากเห็นสงครามใหญ่
ไม่อยากให้เกิดสงครามระหว่างอิสราเอลหรือสหรัฐกับอิหร่าน
รัสเซียกับจีน:
รัฐบาลจีนมีบทบาททุกด้าน ที่โดดเด่นคือจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของซาอุฯ
และซื้อน้ำมันมากที่สุดด้วย (2023) เฉพาะซาอุฯ
ประเทศเดียวเป็นคู่ค้าจีนราว 110,000 ล้านดอลลาร์ (2022) จึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูงและน่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
รัฐบาลซาอุฯ ไม่คิดสูญเสียผลประโยชน์ส่วนนี้ที่ชาติตะวันตกทดแทนไม่ได้
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจคือส่วนที่เห็นเด่นชัดและโตไวสุด
ตาม “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (BRI) ภูมิภาคตะวันออกกลางจะเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ที่จีนกับหลายประเทศต่างได้ประโยชน์
โอกาสในอนาคตมีอีกมากนี่คือสิ่งที่รัฐบาลจีนคาดหวัง
หากอยากให้ประเทศพัฒนา
เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนอยู่ดีมีสุขต้องรักษาให้ภูมิภาคสงบเรียบร้อย
รัสเซียเป็นอีกประเทศที่พยายามสานสัมพันธ์กับชาติอาหรับ
พูดคุยหารือทุกเรื่องที่ชาติอาหรับสนใจจนถึงสงครามยูเครน
รัสเซียมีพรมแดนติดตะวันออกกลางบางส่วน เคยมีอิทธิพลในย่านนี้
ในช่วงสงครามเย็นยืนเคียงข้างอาหรับ ขายอาวุธมากมายแก่อาหรับใช้ต่อกรกับอิสราเอล
ในเวลาต่อมาซาอุฯ
กับพวกหันเข้าหาสหรัฐมากขึ้นหวังเป็นเครื่องประกันความมั่นคงทำให้ห่างจากรัสเซีย
แต่ไม่กี่ปีมานี้สัมพันธ์กับรัสเซียดีขึ้น
ทั้งจีนกับรัสเซียต่างเป็นมหาอำนาจที่อาหรับเปิดทางให้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาค
ถ่วงดุลระหว่างมหาอำนาจ รัฐบาลซาอุฯ ร่วมมือกับทุกฝ่าย
แสวงหาจุดร่วมที่ได้ประโยชน์มากสุด
ต้องจับตาบทบาทอาหรับเพราะเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง
รัฐบาลสหรัฐมีผลประโยชน์ร่วมกับอาหรับมหาศาล
ไม่ง่ายที่อิสราเอลจะทำอะไรตามใจปรารถนา
โดยเฉพาะยามนี้ที่จีนกับรัสเซียมีบทบาทมากขึ้น
จุดยืนร่วมจีนรัสเซียและอิหร่าน
2025:
กลางเดือนมีนาคม 2025
เมื่อสถานการณ์ส่อทวีความตึงเครียด จีน รัสเซียและอิหร่านแถลงจุดยืนร่วมดังนี้ ต้องยุติการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
การเจรจาที่เคารพต่อกันอย่างแท้จริง พิจารณาต้นเหตุอันนำสู่สถานการณ์ในขณะนี้
ยกเลิกการข่มขู่ คุกคามด้วยกำลังทหาร (ทรัมป์ 2.0 ขู่ว่าความตึงเครียดอาจนำสู่สงคราม)
ยึดมติคณะมนตรีความมั่นคง 2231 ป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลาย
ยึดมั่นสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
(NPT) จีนกับรัสเซียชื่นชมที่โครงการนิวเคลียร์อิหร่านใช้ในทางสันติเท่านั้น
ไม่คิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ให้ความร่วมมือกับ IAEA ขอให้ทุกชาติอย่าขวางการทำงานของ
IAEA ย้ำอิหร่านมีสิทธิใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ
วิเคราะห์:
จุดยืนร่วมจีนรัสเซียและอิหร่าน 2025 ให้ความเข้าใจและแสดงจุดยืนร่วม
ดังนี้
1.
รัฐบาลสหรัฐละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตามใจชอบ 2.
สถานการณ์ที่น่ากังวลมาจากการที่รัฐบาลทรัมป์สมัยแรกถอนตัวจากข้อตกลง JCPOA เพียงฝ่ายเดียว 3.
รัฐบาลสหรัฐควรยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอันเนื่องจากโครงการนิวเคลียร์ 4.
อย่าข่มขู่อิหร่าน อย่าใช้กำลังทหารต่ออิหร่าน เพราะขัดกฎหมายระหว่างประเทศ 5. จีนกับรัสเซียขอรับรองอิหร่านไม่คิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์
6. อิหร่านให้ความร่วมมือกับ IAEA 7. อิหร่านมีสิทธิเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์เพื่อใช้ในทางสันติดังเช่นประเทศอื่นๆ
เช่น มีความชอบธรรมที่จะวิจัย พัฒนานิวเคลียร์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์
ใช้ในทางการแพทย์ ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ
รัฐบาลอิหร่านยืนยันเรื่อยมาว่าไม่เคยคิดจะมีอาวุธนิวเคลียร์
อยาตุลเลาะห์ คาเมเนอีกล่าวซ้ำหลายรอบว่า “พวกเราได้ฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าศาสนาอิสลามห้ามครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”
ความจริงที่ปรากฏในรอบหลายสิบปี
(ตั้งแต่อิหร่านเริ่มโครงการนิวเคลียร์) จนถึงปัจจุบันสวนทางกับท่าทีของรัฐบาลสหรัฐกับอิสราเอลที่พูดเรื่อยมาว่าอิหร่านแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างลับๆ
จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในไม่ช้า
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่
ผู้พยายามอ้างตัวเป็นผู้นำฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตยกับอิสราเอลไม่ลดละเล่นงานโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
โดยใช้ข้อมูลเท็จ
บอกให้นานาชาติยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศแต่ตัวเองละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติอยู่เสมอ
ทั้งยังข่มขู่จะใช้กำลังทหารกับอิหร่านด้วยข้ออ้างเท็จ ไม่แปลกที่จีน
รัสเซียและอีกหลายประเทศกำลังร่วมกันสร้างระเบียบโลกใหม่ที่เท่าเทียมเป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่
เพียงแค่ดำเนินตามข้อตกลงแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์
(Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ที่ลงนามเมื่อปี
2015 เท่านี้นานาชาติก็มั่นใจได้ว่าอิหร่านไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แปลกแต่จริงที่รัฐบาลทรัมป์กับอิสราเอลไม่ยึดข้อตกลงนี้
นำสู่สถานการณ์สุ่มเสี่ยงทำสงคราม
จุดยืนร่วมจีนรัสเซียและอิหร่าน
2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
แท้จริงแล้วประเด็นไม่อยู่ที่ตัวโครงการแต่อยู่ที่รัฐบาลสหรัฐกับอิสราเอลต้องการเล่นงานอิหร่านเท่านั้นเอง
---------------
1. First day of
Arab-China conference sees signing of 30 deals worth $10 billion. (2023, June
11). Arab News. Retrieved from
https://www.arabnews.com/node/2319731/business-economy
2. Full text:
Joint Statement of the Beijing Meeting between China, Russia and Iran. (2025,
March 14). Xinhua. Retrieved from
https://english.news.cn/20250314/c584f63584a24127b26508d2598e5f8f/c.html
3. Geopolitical shifts help advance
Russia-GCC ties. (2023, July 17). Arab News. Retrieved from
https://www.arabnews.com/node/2339437
4. Iran
policy against ‘arrogant’ U.S. won’t change. (2015, July 18). Al Arabiya. Retrieved from
http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/07/18/Khamenei-policy-against-arrogant-U-S-won-t-change-.html
5. Saudi Arabia, Iran formally restore ties, agree to travel visas for
citizens. (2023, April 7). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2282371/saudi-arabia
-----------------