โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
มีนาคม
2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ขอเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ พร้อมกับสั่งยกระดับคว่ำบาตรแบบกดดันสุดขีด
(maximum pressure) ดังที่ทำในสมัยแรก
ทั้งยังขู่ว่าความตึงเครียดอาจนำสู่สงคราม
ด้านอิหร่านตอบว่าไม่สนใจร่วมโต๊ะเจรจาหากถูกข่มขู่คุกคาม ประธานาธิบดีทรัมป์
“อยากทำอะไรก็ทำเลย” อิหร่านไม่จำต้องรับคำสั่งจากสหรัฐ
ย้ำโครงการนิวเคลียร์มีเพื่อสันติเท่านั้น ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการทหาร
ย้อนหลังข้อตกลง JCPOA:
การเจรจานิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่
อาจย้อนหลังหลายทศวรรษนับจากอิหร่านพัฒนานิวเคลียร์ การเจรจารอบปี 2025
สามารถตีความว่าคือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง คราวนี้คือภายใต้ทรัมป์ 2.0 การเจรจาจึงไม่มีอะไรใหม่
เป้าหมายคือเล่นงานอิหร่านเท่านั้นเอง
อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด
สมัยรัฐบาลบารัก
โอมาบา (Barak Obama) ได้นำอิหร่านเข้าสู่โต๊ะเจรจา ในที่สุดอิหร่านกับกลุ่ม
P-5+1 ที่ประกอบด้วยสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง 5
ชาติ (อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย สหรัฐ) กับอีกประเทศคือเยอรมนี บรรลุข้อตกลงแก้ไขปัญหาโครงการนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์
หรือที่เรียกว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) เมื่อกรกฎาคม 2015
ภายใต้ข้อตกลงฯ
เจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะเข้าตรวจสอบให้มั่นใจว่าอิหร่านทำตามข้อตกลง
ป้องกันแอบผลิตอาวุธ โดยจะตรวจตราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
เป็นมาตรการตรวจสอบที่เข้มข้นกว่าทุกประเทศในโลก
หลังการตรวจสอบเจ้าหน้าที่
IAEA ยืนยันอิหร่านทำตามข้อตกลง รัฐบาลสหรัฐกับอีก 5
ชาติคลายการคว่ำบาตร ที่น่าแปลกคือนายกฯ เนทันยาฮูไม่พอใจ
เชื่อว่าอิหร่านยังสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็วและจะใช้โจมตีอิสราเอล
แม้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีข้อสงสัย
หลายทศวรรษที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าอิหร่านยังไม่มีระเบิดนิวเคลียร์ เท่ากับพิสูจน์แล้วว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคำกล่าวหาของอิสราเอลเป็นเท็จ
ในทางตรงข้ามนานาชาติล้วนรับรู้ว่าอิสราเอลมีหัวรบนิวเคลียร์ไม่ต่ำกว่า 90 ลูก
สามารถทำลายล้างภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างราบคาบ
หลักคิดของรัฐบาลเนทันยาฮูคือ
อิหร่านต้องการทำลายอิสราเอลให้สิ้นซาก
หากวันใดอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นหายนะของอิสราเอล
จึงเป็นความชอบธรรมที่จะต่อต้านระบอบอิหร่าน
กีดกันไม่ให้มีอาวุธนิวเคลียร์สุดกำลัง
รัฐบาลอิหร่านเคยพูดเรื่องการลบอิสราเอลออกจากแผนที่จริง
เป็นเรื่องที่ผูกโยงกับศาสนา
ทรัมป์ฉีกสัญญาฝ่ายเดียว:
นับจากมีข้อตกนิวเคลียร์ JCPOA IAEA กับชาติคู่เจรจาต่างยืนยันว่าอิหร่านทำตามข้อตกลงเรื่อยมา
แต่แล้วเหตุการณ์ผลิกผันตุลาคม 2018
ทรัมป์ประกาศว่าอิหร่านไม่ทำตามข้อตกลงครบถ้วนจึงขอถอนตัว ที่น่าประหลาดคือสหรัฐเป็นประเทศเดียวในหมู่ประเทศคู่สัญญาที่ชี้ว่าอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง
ที่ผ่านมาประเทศคู่สัญญาล้วนยอมรับว่าอิหร่านปฏิบัติตาม JCPOA เกิดคำถามว่าใครเป็นฝ่ายผิด รัฐบาลสหรัฐผิดหรือรัฐบาลคู่สัญญาอื่นๆ ผิด
รวมทั้ง IAEA ก็ผิดด้วย
เรื่องนี้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลทรัมป์พูดโกหกคำโตต่อโลก
รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยทรัมป์ไม่สนใจว่าประชาคมโลกจะคิดอย่างไร
บัดนี้ไม่มีใครประหลาดใจกับพฤติกรรมทรัมป์ที่พูดจริงบ้างเท็จบ้างไปเรื่อยๆ
เมื่อตอนที่ได้ข้อตกลง JCPOA รัฐบาลโอบามาคลายการคว่ำบาตร
บริษัทเอกชนจากหลายประเทศเดินทางไปอิหร่านเพื่อลงทุนโดยเฉพาะบริษัทจากยุโรป
รัฐบาลอิหร่านต้อนรับหวังเข้ามาลงทุนฟื้นฟูประเทศ
แต่ในเวลาเพียงปีเดียวสหรัฐได้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
รัฐบาลทรัมป์ประกาศ “ห้ามบริษัทเอกชนทุกประเทศ” ทำธุรกรรมกับอิหร่าน
หาไม่จะโดนคว่ำบาตร
นี่คือคำประกาศจากสหรัฐผู้พยายามชี้ว่าตนเป็นผู้นำทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย
ที่ออกกฎด้วยตัวเองห้ามใครก็ตามไปลงทุนในอิหร่าน
หลายบริษัทที่กำลังลงทุนในช่วงนั้นจึงถอนตัวแทบไม่ทัน เสียหายมากมาย
ไม่สามารถเรียกชดเชยจากใคร
กลายเป็นเหตุให้จีนกับรัสเซียเข้าไปลงทุนมหาศาลโดยปราศจากคู่แข่งตะวันตก
นโยบายกดดันสุดขีดกลายเป็นลาภของจีนกับรัสเซีย และในยามที่นานาชาติไม่สามารถซื้อน้ำมันอิหร่าน
จีนคือผู้รับซื้อรายใหญ่
(บางประเทศที่เป็นมิตรกับสหรัฐยังซื้อได้แต่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐก่อน)
ทำไมการเจรจาไม่น่าสนใจ:
รัฐบาลทรัมป์
2.0 ขอเจรจาอิหร่านอีกครั้ง ความจริงแล้วรัฐบาลสหรัฐทั้งทรัมป์ 1.0
กับสมัยไบเดนต่างเคยขอการเจรจาใหม่
มกราคม
2020 ทรัมป์ 1.0 เสนอทำข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่แทนข้อตกลงเดิมที่ทำไว้เมื่อปี 2015 ตามแนวทางของทรัมป์ที่ใช้วิธียกเลิกข้อตกลงเดิมแล้วทำใหม่
ด้านอิหร่านยืนยันไม่ยอมแก้ไขข้อตกลงใดๆ ที่ทำไว้เมื่อปี 2015 เพราะที่ลงนามสมัยโอบามานั้นทุกฝ่ายยอมรับแล้ว
ทรัมป์ยกเลิกสัญญานี้เพื่อเจรจาใหม่จึงไม่เหมาะสม
ทุกวันนี้อิหร่านยังคงจุดยืนไม่ต้องเจรจาใหม่แค่ทุกฝ่ายรักษาข้อตกลง
JCPOA
เมื่อพูดถึงการค้าเสรี ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
(North American Free Trade Agreement: NAFTA)
เป็นตัวอย่างที่โดดเด่น
ตำราตะวันตกมักใช้เป็นตัวอย่างพูดถึงความดีความงามของการค้าเสรี NAFTA เป็นตัวอย่างการค้าเสรีระดับภูมิภาค
แต่ทรัมป์อ้างเหตุผลง่ายๆ ว่า
NAFTA มีอายุ 23 ปีแล้ว
บริบทเศรษฐกิจสหรัฐและการค้าโลกเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิม ประเทศขาดดุลมหาศาล
โรงงานนับพันปิดตัว แรงงานอเมริกันตกงานเป็นล้าน สรุปสั้นๆ คือสหรัฐเห็นว่าตน
“เสียมากกว่าได้” จึงขอยกเลิกข้อตกลงเดิมเพียงฝ่ายเดียวและเจรจาใหม่
การที่สหรัฐทำเช่นนี้ได้เพราะเป็นมหาอำนาจ
สามารถข่มขู่แกมบังคับประเทศเล็ก หากแคนาดากับเม็กซิโกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ
คงยกเลิกข้อตกลงอย่างที่สหรัฐทำไม่ได้
เป็นอีกตัวอย่างที่สหรัฐจะยกสัญญาเมื่อไหร่ก็ได้
รัฐบาลสหรัฐชอบพูดถึงระเบียบโลกที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ ขอให้นานาชาติปฏิบัติตาม แต่หมายถึงระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นผู้กำหนดกติกา
ไม่ว่านานาชาติจะชอบหรือไม่ แน่ละสหรัฐได้ประโยชน์สูงสุด
จะบั่นทอนทำลายระบอบอิหร่าน:
ถ้ามองในกรอบกว้าง นับจากปี 1979 รัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านเรื่อยมาจนบัดนี้กว่า
4 ทศวรรษแล้ว ที่ทำเช่นนี้เพราะหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน
การล้มรัฐบาล
ล้มระบอบประเทศอื่นๆ เป็นวิธีการที่รัฐบาลสหรัฐใช้มาเนิ่นนาน ปี 1953 รัฐบาลไฮเซนฮาวร์
(Eisenhower) ร่วมมือกับอังกฤษโค่นล้มรัฐบาลมอสซาเดก (Mossadegh) แห่งอิหร่าน ยกข้ออ้างเรื่องป้องกันภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์
ทั้งๆ ที่มอสซาเดกคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ข้อเท็จจริงคือมอสซาเดกทำให้บรรษัทน้ำมันตะวันตกสูญเสียสัมปทาน
สูญเสียกำไรมหาศาลซึ่งความจริงแล้วน้ำมันเป็นทรัพยากรของชาวอิหร่านทั้งมวล แต่อิหร่านได้ผลประโยชน์เพียงน้อยนิดเพราะรัฐบาลก่อนหน้าไร้อำนาจต่อรอง
รัฐบาลอิหร่านปัจจุบันมาจากการปฏิวัติอิหร่าน
(1977-79) ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจตะวันตก จึงถูกคว่ำบาตรเรื่อยมา
รัฐบาลสหรัฐไม่ว่ามาจากรีพับลิกันหรือเดโมแครทจะตีตราว่าอิหร่านเป็นปรปักษ์สำคัญที่ต้องจัดการเรื่อยมา
ดังนั้นไม่ว่าอิหร่านจะเจรจากับทรัมป์หรือไม่ ข้อตกลงเป็นอย่างไร ลึกๆ
แล้วรัฐบาลสหรัฐต้องการล้มระบอบอิหร่าน
ในการเจรจารอบปี
2025 อยาตุลเลาะห์ ซัยยิด อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Seyyed Ali Khamenei) นำสูงสุดอิหร่านกล่าวว่าสหรัฐ
“ไม่หวังเจรจาเพื่อแก้ปัญหาแต่เพื่อครอบงำต่างหาก” พฤติกรรมของรัฐบาลทรัมป์ชัดเจนอยู่แล้ว
จะข่มขู่ คุกคามด้วยกำลังทหาร แม้กระทั่งขอให้เดนมาร์กเสียดินแดน แคนาดาต้องสิ้นชาติ
-----------------------
1. Cook,
Jonathan. (2008). Israel and the Clash of Civilisations: Iraq, Iran and the
Plan to Remake the Middle East. USA: Pluto Press.
2. Cooper, Andrew Scott. (2011). The Oil
Kings: How the U.S., Iran, and Saudi Arabia Changed the Balance of Power in the
Middle East. New York: Simon & Schuster.
3. Iran slams
‘bullying’ after Trump threats. (2025, March 11). Gulf Times. Retrieved from
https://www.gulf-times.com/article/701605/international/iran-slams-bullying-after-trump-threats)
4. Iranian
president rejects new 'Trump deal' in nuclear dispute. (2020,
January 15). FRANCE 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20200115-iranian-president-rejects-new-trump-deal-in-nuclear-dispute
5. No talks; do what
you want, Iran tells Trump. (2025, March 11). Gulf Times. Retrieved from
https://www.gulf-times.com/article/701773/region/no-talks-do-what-you-want-iran-tells-trump
6. Trump
puts US allies on notice - power comes first. (2025, March
4). The Sun. Retrieved from
https://thesun.my/world-news/trump-puts-us-allies-on-notice-power-comes-first-LA13757837
7. Roshandel, Jalil., Lean, Nathan Chapman. (2011). Iran,
Israel, and the United States: Regime Security vs. Political Legitimacy.
Califronia: ABC-CLIO, LLC.
8. Stockholm
International Peace Research Institute. (2024). Role of nuclear weapons grows
as geopolitical relations deteriorate—new SIPRI Yearbook out now. Retrieved
from
https://www.sipri.org/media/press-release/2024/role-nuclear-weapons-grows-geopolitical-relations-deteriorate-new-sipri-yearbook-out-now
9. Trump’s
nemesis, the US trade deficit, hit record high in 2024. (2025, February 5). Politico.
Retrieved from
https://www.politico.com/news/2025/02/05/trump-trade-deficit-2024-00202569
-----------------