จับตาเกาหลีจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่ (2)

ปัจจัยรัสเซียเป็นข้อโต้แย้งว่าเกาหลีเหนือไม่น่าจะเป็นยูเครน 2 ถ้าตีความว่าฝ่ายเหนือมีนิวเคลียร์ รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศเรื่อยมาว่าพร้อมใช้เพื่อป้องกันประเทศ

ความตึงเครียดที่คิดล่วงหน้าแล้ว?:

            สิงหาคม 2024 ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศรวมเกาหลีด้วยการล้มระบอบเกาหลีเหนือ เพื่อปลดปล่อยให้เกาหลีเหนือมีเสรีภาพ เราจำต้องเปลี่ยนความคิดคนเกาหลีเหนือให้ต้องการรวมชาติที่เป็นชาติเสรี แทนนโยบายเดิมที่ยึดรวมชาติโดยสันติ ตามแถลงการณ์ Panmunjom Declaration ซึ่งจะหารือเรื่องประกาศยุติสงครามเกาหลีพร้อมกับลงนามสันติภาพ คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์

            แนวทางของผู้นำยุนจึงเปลี่ยนยุทธศาสตร์รวมชาติจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยอ้างเสรีภาพ

            ที่ผ่านมายึดแนวทางรวมชาติโดยสันติ แต่คราวนี้ด้วยวิธีล้มระบอบเกาหลีเหนือ แม้ไม่ได้ระบุว่าจะใช้กำลังหรืออย่างไร แนวทางของรัฐบาลยุน ซอก-ยอล คือประกาศเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้

            จากนี้ไปสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีจะตึงเครียดกว่าเดิม วัฏจักรเผชิญหน้าอาจนำสู่สงครามในที่สุด น่าคิดว่ารัฐบาลยุนคิดเรื่องนี้ไว้แล้วใช่หรือไม่

            น่าคิดว่ารัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยยินดีนำประเทศเข้าทำสงคราม ชวนให้นึกถึงสงครามเกาหลีในทศวรรษ 1950 ที่คร่าชีวิต 3 ล้านคน เสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ (รัฐบาลสหรัฐสมัยนั้นคิดใช้อาวุธนิวเคลียร์) ที่ปัจจุบันมีความเสี่ยงมากกว่าอดีต

            สุดท้ายกลับสู่คำถาม ทำไมอยู่ดีๆ จึงมาเปลี่ยนนโยบายเป็นตรงกันข้าม อ้างว่าเพื่อเสรีภาพ คำพูดทำนองนี้คล้ายประธานาธิบดีเซเลนสกีที่ทำสงครามยูเครนคนตายนับแสนเพื่อเสรีภาพ

สมเหตุผลแค่ไหน:

            2 เกาหลีมีแนวคิดรวมชาติมานานแล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญถึงกับตั้งกระทรวงรวมชาติ (Ministry of Unification) สมัยประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) เอ่ยถึงวิสัยทัศน์การรวมชาติโดยค่อยเป็นค่อยไป เริ่มด้วยมีเศรษฐกิจร่วม ประชาชน 2 ฝั่งเดินทางเยือนอีกฝั่งโดยเสรี ขอเพียงมีสันติภาพ ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ต่างไม่คิดล้มล้างระบอบอีกฝ่าย การรวมเป็นระบอบปกครองเดียวปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่สำคัญคือวิสัยทัศน์นี้ให้ความสำคัญกับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะสร้างงาน ส่งเสริมการอยู่ดีกินดี ลดความยากจนในเกาหลีเหนือ ส่งเสริมเสรีภาพ ลดการละเมิดสิทธิมนุษยชน อนาคต 2 เกาหลีจะดีขึ้นกว่าเดิม

            วิสัยทัศน์รวมชาติโดยสันติไม่กำหนดเวลาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ ขอเพียงอยู่ด้วยกันโดยสันติ พัฒนาไปด้วยกัน ประชนชนอยู่ดีมีสุข เมื่อทั้งฝ่ายเหนือกับใต้อยู่ด้วยกันเช่นนี้นานวันเข้าจะนำสู่การรวมชาติโดยสมบูรณ์ เทียบกับแนวทางประกาศเป็นศัตรู การล้มล้างระบอบจะทำให้คนเกาหลีเหนือยอมรับประชาธิปไตยที่ฝ่ายใต้มอบให้หรือ เสรีภาพที่มากับความรุนแรง ยิ่งหากเป็นสงครามที่คร่าชีวิตจำนวนมาก เป็นตรรกะที่สมเหตุผลหรือไม่ ทำไมจึงคิดเช่นนี้

            นับจากประกาศยุทธศาสตร์รวมชาติด้วยการล้มระบอบเกาหลีเหนือ สถานการณ์ 2 เกาหลีที่ตึงเครียดอยู่แล้วเข้าสู่วัฏจักรเผชิญหน้าทันที เกาหลีเหนือที่มักพูดเสมอว่าลึกๆ แล้วฝ่ายใต้เป็นปรปักษ์กลายเป็นจริงแบบไม่ต้องถามหาหลักฐานอีก รัฐบาลฝ่ายเหนือตอบโต้อย่างเป็นขั้นตอน เช่น เลิกการขนส่งทางรถไฟ ต่อด้วยทำลายทางรถไฟที่เชื่อม 2 เกาหลี ทดสอบขีปนาวุธใหม่ที่กระตุ้นให้เกาหลีใต้กับสหรัฐเพิ่มการซ้อมรบทางยุทธศาสตร์ 

            หลายสิ่งหลายอย่างบ่งชี้ว่ากำลังอยู่ในวัฏจักรเผชิญหน้าที่อาจกลายเป็นสงครามในที่สุด นี่คือผลของยุทธศาสตร์ใหม่ที่ประกาศโดยรัฐบาลยุน ซอก-ยอล

ปัจจัยสหรัฐกับรัสเซีย:

            เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงปัจจัยรัฐบาลสหรัฐที่มองเกาหลีเหนือเป็นศัตรูเรื่อยมา ยิ่งในระยะหลังตึงเครียดมากขึ้น สถานการณ์เกาหลีไม่ใช่เรื่องของเกาหลีเท่านั้น เกี่ยวพันกับการแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ

            ยุทธศาสตร์ใหม่รวมชาติด้วยการล้มระบอบเกาหลีเหนือสอดคล้องกับการดึงจีนเข้าสู่สงคราม ทำนองเดียวกับประเด็นไต้หวัน ที่นักวิชาการบางคนคิดว่าที่สุดแล้วจะชักนำให้จีนเข้าสู่สงคราม

            ในอีกด้าน มิถุนายน 2024 ความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-รัสเซียสู่ระดับเป็นพันธมิตร (alliance) ลงนามสนธิสัญญายุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Treaty on Comprehensive Strategic Partnership) เพิ่มขยายความร่วมมือทุกมิติ พิทักษ์สันติภาพ ความมั่นคงภูมิภาคและของโลก มองอนาคตร่วมกัน สร้างโลกพหุภาคี ปราศจากการครอบงำ ต่อต้านมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า (hegemony)

            นับจากนี้เป็นต้นไปทั้งคู่ จะช่วยเหลือเมื่ออีกฝ่ายถูกรุกราน

            ไม่นานหลังสนธิสัญญาดังกล่าว ทหารเกาหลีเหนือนับพันนับหมื่นปรากฏในสงครามยูเครน เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีเหนือส่งทหารช่วยรัสเซียรบในยุโรป เป็นตัวอย่างความร่วมมือทางทหารตามสนธิสัญญาใหม่

            งานนี้เกาหลีเหนือได้ประโยชน์เต็มๆ อุ่นใจมากขึ้นเพราะรัสเซียจะช่วยเมื่อถูกรุกราน แต่จะผลักดันให้เผชิญหน้ามากขึ้น คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้น อีกไม่นานเกาหลีเหนือคงอวดโฉมอาวุธรุ่นใหม่ให้สื่อตะวันตกได้ตีข่าวภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้น ความหวังคาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์นับวันจะยิ่งเลือนราง

            ด้านรัฐบาลสหรัฐพูดเสมอว่าพร้อมจะดำเนินการด้วยตนเอง ชิงโจมตีฝ่ายเดียว ใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฯลฯ ควรตระหนักว่าหากเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัวจริง สหรัฐไม่รีรอที่จะจัดการแน่นอน คำถามอยู่ที่เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงจวนตัวจริงหรือไม่ เรื่องนี้กดดันจีนแน่นอน

            การจัดการแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าปล่อยให้ลุกลามบานปลาย ยกตัวอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แม้สหรัฐเป็นฝ่ายชนะสงคราม แต่ทหารอเมริกันสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ผู้ที่ยึดแนวทางนี้เห็นว่า สหรัฐจำต้องปกป้องผลประโยชน์ รักษาความมั่นคงโลก กรณีตัวอย่างอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่าน เป็นเรื่องที่สหรัฐจำต้องจัดการก่อนปล่อยให้บานปลาย

            ไม่เพียงสหรัฐ กองทัพเกาหลีใต้มีแผนชิงโจมตีเกาหลีเหนือก่อนเช่นกัน เป้าหมายคือสกัดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายเหนือ ดังนั้น หากประเมินสถานการณ์และพบว่าเกาหลีเหนือกำลังเตรียมใช้อาวุธ ฝ่ายใต้จะชิงโจมตีก่อน

ภัยนิวเคลียร์ของคาบสมุทรเกาหลี:

            นับจากเกาหลีเหนือทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี 2006 และทำต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือถูกกล่าวถึงทันที ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์สำแดงฤทธิ์อีกครั้ง บรรดาประเทศที่เกี่ยวข้องเรียกร้องการเจรจาให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์

            การพัฒนานิวเคลียร์เกาหลีเหนือไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามที่จะให้ยุติโครงการก็เช่นกัน

            เกาหลีเหนือชี้ว่าสหรัฐมีนโยบายโจมตีตนด้วยอาวุธนิวเคลียร์มานานหลายทศวรรษแล้ว จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเกาหลีเหนือที่จะป้องกันตนเองด้วยการเสริมขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ตราบเท่าที่สหรัฐยังคงข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์” “การป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะทันสมัยและขยายกว้างขึ้นตราบเท่าที่สหรัฐไม่ยกเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ข่มขู่เกาหลีเหนือ

            ไม่ว่าจะใช้มุมมองของฝ่ายใดคาบสมุทรเกาหลีเป็นอีกแห่งที่ภัยสงครามนิวเคลียร์คุกรุ่นเรื่อยมา รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามเรื่อยมาอยากให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์ซึ่งหมายถึงสกัดนิวเคลียร์เกาหลีเหนือกับสหรัฐ แนวทางนี้นานาชาติสนับสนุน เพราะลดความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ บัดนี้นโยบายรัฐบาลยุน ซอก-ยอล กับทรัมป์ 2.0 ได้ทำลายแนวทางนี้เสียแล้ว

            พันธมิตรทางทหารระหว่างเกาหลีเหนือ-รัสเซียที่เพิ่งลงนามเมื่อปี 2024 ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องทบทวนแผนชิงโจมตีก่อน เพราะคราวนี้รัสเซียอาจโต้กลับ รัฐบาลสหรัฐกับเกาหลีใต้คงไม่อยากร่วมรบโดยตรง เว้นแต่มั่นใจว่ารัสเซียจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์

            ปัจจัยรัสเซียเป็นข้อโต้แย้งสำคัญว่าเกาหลีเหนือไม่น่าจะเป็นยูเครน 2 นอกเสียจากว่าทุกฝ่ายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ (เหมือนสงครามยูเครน) ซึ่งเป็นประเด็นตอบยาก ถ้าตีความว่าฝ่ายเหนือมีนิวเคลียร์ รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศเรื่อยมาว่าพร้อมใช้เพื่อป้องกันประเทศ

16 กุมภาพันธ์ 2025
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10319 วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568)

----------------------------

บรรณานุกรม :

1. Do We Understand War? Japanese Experts Discuss the Realities of Confronting North Korea. (2018, January 10). Japan Forward. Retrieved from https://japan-forward.com/do-we-understand-war-japan-experts-discuss-realities-of-confronting-north-korea/

2. DOUBLE ASYMMETRY: THE INEVITABILITY OF AN ARMS RACE ON THE KOREAN PENINSULA. (2022, June 22). warontherocksdotcom. Retrieved from https://warontherocks.com/2022/06/double-asymmetry-the-inevitability-of-an-arms-race-on-the-korean-peninsula/

3. KCNA Commentary Slams U.S. for Systematically Increasing Nuclear Threats to DPRK, KCNA. (2014, March 6). KCNA. Retrieved from http://www.kcna.co.jp/item/2014/201401/news22/20140122-06ee.html

4. On North Korea, Trump administration talks tough but hopes to avoid war. (2017, April 18). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/on-north-korea-trump-administration-talks-tough-but-hopes-to-avoid-war/2017/04/18/96d15536-244a-11e7-bb9d-8cd6118e1409_story.html

5. Stephens, Bret. (2014). America in Retreat: The New Isolationism and the Coming Global Disorder. New York: Penguin Group.

6. South Korea’s new plan for North Korea’s ‘freedom’. (2024, August 23). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2024/08/south-koreas-new-plan-for-north-koreas-freedom/

7. United States Department of State. (2019, November 4). A Free and Open Indo-Pacific:  Advancing a Shared Vision. Retrieved from https://www.state.gov/release-of-the-united-states-report-on-the-implementation-of-the-indo-pacific-strategy/

-----------------