จับตาเกาหลีจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่ (1)

ถ้าย้อนหลังตั้งแต่สมัยโอบามาจนล่าสุดจะเห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้กับสหรัฐร่วมกันยกระดับความเข้มข้นสู่สงครามนิวเคลียร์ ตอนนี้นอกจากไต้หวันแล้วควรคิดถึงเกาหลีด้วย

            หนึ่งสัปดาห์หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ประกาศนโยบาย “ปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือโดยสมบูรณ์” (complete denuclearization of North Korea) แม้ยังไม่มีรายละเอียด แต่เป็นนโยบายที่แตกต่างจากเดิมที่ให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์:

            รัฐบาลสหรัฐเชื่อมานานแล้วว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ ยังคงสะสมหัวรบและพัฒนาระบบปล่อยอาวุธ โดยเฉพาะระบบปล่อยทางบกกับเรือดำน้ำ

            ข้อมูลจากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute: SIPRI) ปี 2024 ประเมินว่าเกาหลีเหนือมี 50 หัวรบนิวเคลียร์ และมีวัสดุฟิสไซล์ที่สามารถสร้างอีก 40 หัวรบ คิดว่าขีปนาวุธพิสัยใกล้กับขีปนาวุธจรวดร่อนสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์

            งานวิจัยร่วมของ The Asan Institute for Policy Studies กับ Rand Corp เห็นว่ารัฐบาลคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) คงมีแผนสะสมนิวเคลียร์ 300-500 หัวรบ เฉพาะภายในปี 2030 น่าจะมีถึง 300 หัวรบ เกาหลีใต้ควรมีนิวเคลียร์ร้อยลูกเพื่อรับมือภัยดังกล่าว

            ถ้าอิงงานวิจัยข้างต้นเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว รัฐบาลสหรัฐคงยอมรับไม่ได้หากสามารถพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ยิงไกลถึงอเมริกา ที่ผ่านมารัฐบาลคิมไม่หยุดที่จะพัฒนาและทดสอบอาวุธที่นับวันมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงสมเหตุผลถ้าจะคิดว่าในอนาคตจะมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์

ขยับจากระบบป้องกันเป็นติดตั้งนิวเคลียร์:

            ย้อนหลังจากเหตุเกาหลีเหนือเริ่มมีอาวุธนิวเคลียร์ สมัยรัฐบาลโอบามาจึงเสนอติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นเพื่อรับมือภัย ประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ (Park Geun-hye) ในตอนนั้นกล่าวว่า “ประชาคมโลกควรเข้าใจว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ไม่มีเจตนามุ่งเป้าต่อประเทศอื่นๆ หรือคุกคามประเทศอื่นๆ” ระบบ THAAD มีเพื่อต้านภัยจากเกาหลีเหนือเท่านั้น ในฐานะประธานาธิบดีเธอจำต้องปกป้องประเทศ

            มีนาคม 2017 เจ้าหน้าที่สหรัฐเริ่มติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) ในเกาหลีใต้ หลัง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงเมื่อกรกฎาคมปีก่อน

            นับจากนั้นเป็นต้นมาเกาหลีใต้มีระบบ THAAD ร่วมกับระบบป้องกันอื่นๆ มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่มีระบบนี้

            ด้านกระทรวงกลาโหมจีนแถลงว่า “ฝ่ายจีนไม่พอใจอย่างยิ่งและขอคัดค้านเรื่องนี้อย่างรุนแรง” เพราะไม่ส่งเสริมให้คาบสมุทรเกาหลีเป็นเขตปลอดนิวเคลียร์และไม่ส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การติดตั้งระบบอาวุธดังกล่าวจะยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อน กระทบต่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จีน

            สมัยรัฐบาลไบเดน เกาหลีใต้ประกาศเป็นพันธมิตรฐานนิวเคลียร์กับสหรัฐ

            เดิมเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐ มีฐานทัพอเมริกาถาวรพร้อมทหารอเมริกันกว่า 2 หมื่นนาย ข้อตกลงล่าสุดที่ทำในสมัยรัฐบาลยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) เป็นการยกระดับความเป็นพันธมิตรสู่พันธมิตรฐานนิวเคลียร์ ("nuclear-based alliance") ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐยิ่งแน่นแฟ้น ด้วยเหตุผลว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์

            จะเห็นว่ายกระดับจากมีระบบป้องกันขีปนาวุธสู่พันธมิตรฐานนิวเคลียร์ ทุกวันนี้เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์สหรัฐจะเข้าเทียบท่าเกาหลีใต้ ยกตัวอย่างกรกฎาคม 2023 เรือดำน้ำชั้น Los Angeles สามารถติดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์โทมาฮอว์กมาในเขตน่านน้ำเกาหลีใต้ ตามหลังเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ชั้น Ohio หลังจากห่างหายไป 42 ปี

            ไม่เพียงเท่านั้น สมัยไบเดนความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอีก คราวนี้รัฐบาลเกาหลีใต้กับสหรัฐตกลงร่วมมือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) 100 ลูกโดยที่เกาหลีใต้จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่าย หัวรบเหล่านี้จะเก็บไว้ที่สหรัฐแต่สามารถนำมาประจำการที่เกาหลีใต้ถ้าจำเป็น

            รวมความแล้วรัฐบาลไบเดนต้องการให้เกาหลีใต้เป็นผู้จ่ายค่าอาวุธนิวเคลียร์ 100 ลูก แลกกับที่เกาหลีใต้ได้รับการปกป้องจากสหรัฐหากเกิดสงครามนิวเคลียร์

            อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) ไม่อยู่ในกลุ่มอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ผลการทำลายล้างไม่มากเท่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ที่ใช้ปัจจุบันคือระเบิดนิวเคลียร์ B61-3 กับ B61-4 และกำลังแทนที่ด้วยรุ่น B61-12 ที่แม่นยำกว่าเดิม


ทรัมป์ขยับนโยบาย:

            มกราคม 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศ นโยบาย “ปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือโดยสมบูรณ์” (complete denuclearization of North Korea) อันที่จริงแล้วนโยบายนี้ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว รัฐบาลสหรัฐใช้คำนี้มาแล้วหลายปี ที่ต่างออกไปคือมีคำว่า “complete

            ถ้ามองในกรอบแคบสะท้อนว่าทรัมป์กำลังสกัดภัยคุกคามนิวเคลียร์ คราวนี้ไม่ใช่ด้วยการให้เกาหลีใต้มีนิวเคลียร์ แต่เป็นการให้เกาหลีเหนือปลอดอาวุธนิวเคลียร์ พูดง่ายๆ คือเกาหลีเหนือต้องไม่มีอาวุธนิวเคลียร์

            ภายใต้นโยบายนี้เกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ห้ามเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์โดยเด็ดขาด และอาจห้ามมีโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เก็บสะสมยูเรเนียมสมรรถนะสูง ที่น่าคิดคืออาจเป็นต้นเหตุนำสู่สงครามในอนาคต ล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือ และอาจลามถึงจีน

            ถ้าย้อนหลังตั้งแต่สมัยโอบามาจนล่าสุดจะเห็นว่ารัฐบาลเกาหลีใต้กับสหรัฐร่วมกันยกระดับความเข้มข้นสู่สงครามนิวเคลียร์

เกาหลีใต้ยังไม่ตีตราว่าฝ่ายเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์:

            มกราคม 2025 กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ย้ำว่า รัฐบาลยังไม่มองว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ เป็นท่าทีที่เกาหลีใต้ยึดถือเรื่อยมา อธิบายว่าภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) เกาหลีเหนือไม่อยู่ในเกณฑ์รัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (a nuclear-armed state)

            เรื่องนี้ขัดแย้งกับท่าทีของสหรัฐที่ชี้ว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์มานานแล้ว นโยบายต่อเกาหลีเหนือเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ระดับภัยคุกคามจะสูงขึ้นมากถ้ารัฐบาลเกาหลีใต้ชี้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์จริง

            อนึ่ง รัฐบาลเกาหลีเหนือยืนยันมานานแล้วว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ เคยทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 และทำการทำสอบอีกหลายครั้ง แต่จนบัดนี้บางประเทศยังไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริง (การทดสอบจุดระเบิดกับการมีอาวุธที่ใช้การได้จริงเป็นคนละเรื่อง)

            ประเด็นเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริงเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ไม่มีข้อสรุปที่ลงตัว

เกาหลีจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่:

            นับจากเกิดสงครามยูเครนที่เป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับพวก กับอีกฝ่ายคือรัสเซีย นักวิเคราะห์หลายคนถามถึงประเทศใดจะเป็นรายต่อไป ในสมัยไบเดนหลายคนคิดถึงไต้หวันในสมัยรัฐบาลไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ตอนนี้นอกจากไต้หวันแล้วควรคิดถึงเกาหลีด้วย

            ถ้าวิเคราะห์รอบด้าน คราวนี้จะเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับพวก กับอีกฝ่ายคือจีน โดยรัฐบาลทรัมป์จะระงับหรือลดความเข้มข้นทางฝั่งยุโรป หันมาเปิดศึกในฝั่งคาบสมุทรเกาหลีแทน เพื่อเจาะจงเล่นงานจีน หรืออาจเป็นการข่มขู่คุกคามเพื่อต่อรองจีน

            ณ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่า “เกาหลีกำลังจะกลายเป็นยูเครน 2 หรือไม่” แต่เป็นประเด็นที่น่าติดตาม นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อเรื่องยูเครน 2 สหรัฐน่าจะมียุทธศาสตร์ทำสงครามกับจีน ช้าหรือเร็วเท่านั้น

2 กุมภาพันธ์ 2025
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10305 วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568)

-------------------


บรรณานุกรม :

1. 100 U.S. nuclear weapons should be committed to supporting S. Korea's security against N.K. threats: report. (2023, October 30). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20231030003700315?section=nk/nk

2. China "strongly dissatisfied" with U.S. missile deployment in ROK. (2016, July 8). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-07/08/c_135498220.htm

3. Denuclearization of Korean Peninsula Is Invariable Will of Army and People of DPRK: Rodong Sinmun. (2014, January 22). KCNA. Retrieved from http://www.kcna.co.jp/item/2014/201401/news22/20140122-06ee.html

4. North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and Internal Situation. (2013, January 4). Congressional Research Service. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf

5. Park strongly defends THAAD deployment decision. (2016, July 11). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/07/11/11/0301000000AEN20160711004751315F.html

6. Stockholm International Peace Research Institute. (2024). Role of nuclear weapons grows as geopolitical relations deteriorate—new SIPRI Yearbook out now. Retrieved from https://www.sipri.org/media/press-release/2024/role-nuclear-weapons-grows-geopolitical-relations-deteriorate-new-sipri-yearbook-out-now

7. S. Korea begins process to deploy THAAD: military. (2017, March 7). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2017/03/07/0301000000AEN20170307005700315.html

8. Trump will pursue complete denuclearization of N. Korea: White House. (2025, January 27). Yonhap News. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20250129000452315?section=nk/nk

9. U.S. nuclear-powered sub enters Jeju port for replenishment purpose: Navy. (2023, July 24). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20230724002300325?section=national/defense

10. Yoon says alliance with U.S. upgraded to 'nuclear-based alliance'. (2023, June 6). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20230606001500315?section=nk/nk

-----------------