อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์
ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้
2 ชั่วคนคือพ่อกับลูก
ความพ่ายแพ้ในสงครามอาหรับ-อิสราเอล
1967 ทำให้ฝ่ายอาหรับต้องทบทวนตนเอง
อียิปต์ประกาศนโยบายใหม่ขออยู่ร่วมกับอิสราเอลอย่างสันติ
ซีเรียสูญเสียที่ราบสูงโกลัน รัฐบาลพรรคบาธเสียหน้าอย่างรุนแรง นายพลฮาเฟซ อัลอัสซาด
(Hafez al-Assad) เห็นว่าต้องยึดที่ราบสูงโกลันคืน
แต่ก่อนถึงวันนั้นซีเรียต้องเป็นมิตรกับเพื่อนบ้านอาหรับเพื่อความเป็นเอกภาพและได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบรรดากษัตริย์อาหรับ
ปี 1971 นายพลฮาเฟซ อัลอัสซาดขึ้นเป็นประธานาธิบดี
การรวมศูนย์อำนาจ:
สมัยนี้อำนาจการเมืองการปกครองและเศรษฐกิจอยู่กับผู้นำสูงสุด
(Patrimonialism) ถ่ายทอดลงเป็นชั้นๆ
โดยผู้ปกครองสูงสุดกุมอำนาจเหนียวแน่น ประธานาธิบดีฮาเฟซ อัลอัสซาดบิดาของประธานาธิบดีบาชาร์
อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) คือตัวแทนของการปกครองดังกล่าว
รัฐบาลกลางให้ความสำคัญกับเมืองใหญ่
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลถูกผลักดันให้ออกนอกเมืองใหญ่ ไปอยู่ในชนบทที่อำนาจรัฐไปไม่ค่อยถึง
รัฐบาลสามารถควบคุมพื้นที่สำคัญ แต่เป็นโอกาสให้ฝ่ายต่อต้านชุมนุมกัน
สมัยประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาดพยายามปฏิรูปการเมือง
แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่เคยปฏิรูปจริงจัง
ประชาชนรู้สึกผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า
ไม่เห็นอนาคตว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น บางช่วงพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นทุนนิยมมากขึ้นแต่ที่สุดแล้วไม่เกิดขึ้นจริงและส่งผลเสียตามมา
เป็นหนี้มากขึ้นแต่การลงทุนภายในประเทศต่ำ
รัฐบาลลังเลที่จะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเต็มตัว
ในช่วงนั้นรัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาแบบ “defensive modernisation” คือมุ่งพัฒนาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าจำเป็น ทดแทนการนำเข้า
หรือจำต้องมีเพื่อความมั่นคงของประเทศ แต่นานวันพบว่าขาดดุลการค้า เป็นหนี้เป็นสิน
เนื่องจากระบบราชการใช้งบประมาณเกินจำเป็น นำเข้าสินค้าบางชนิดจากต่างประเทศ
นโยบายประชานิยม การคอร์รัปชัน การใช้จ่ายทางทหาร
รายได้หลักของรัฐบาลอยู่ที่การส่งออกน้ำมัน การช่วยเหลือจากต่างชาติ
เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวจึงกระทบรายได้ของประเทศอย่างมาก
คนใกล้ชิดอำนาจได้ประโยชน์:
ซีเรียในยุคพรรคบาธคล้ายหลายประเทศในระบอบอำนาจนิยม
ที่ชนชั้นปกครอง กลุ่มคนใกล้ชิดชนชั้นปกครอง เช่น พวกนักธุรกิจใหญ่
เจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้รับประโยชน์จากการปกครอง เป็นพวกเสวยสุข เกิดชนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง
นายทุนจากอำนาจนิยม (ไม่ใช่จากทุนนิยมเสรี)
นโยบายปฏิรูปรวบกิจการต่างๆ
เข้าเป็นของรัฐ ทำลายฐานอำนาจเก่า พร้อมกับสร้างระบบราชการขนาดใหญ่
ครอบครัวที่ใกล้ชิดสนับสนุนพรรคบาธจะมีงานทำ ได้ประโยชน์จากรัฐเต็มที่
ในปี 1968 พรรคมีสมาชิกสามัญ 10,000
คนและมีสมาชิกแนวร่วมประเภทอื่นๆ รวมกัน 100,000 คนกระจายอยู่ทุกสาขาอาชีพ
เป็นรากฐานอำนาจทางสังคมแก่พรรค รัฐบาลใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตอบแทนผู้ที่จงรักภักดี
ผู้ที่เชื่อฟังยินยอมอยู่ใต้อำนาจ สร้างรัฐที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารัฐบาล
นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ
งบประมาณที่กระจายสู่ท้องถิ่นอยู่ในการควบคุมจัดการของคนเหล่านี้
ซึ่งมักลงเลยด้วยการคอร์รัปชัน แม้มีตำรวจลับมีเจ้าหน้าที่สอดส่องแต่คนเหล่านี้ร่วมกันกอบโกย
การปราบปรามการทุจริตจึงไร้ผล
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากผลประโยชน์ชาติ
เป็นผู้มีรายน้อย หลายคนว่างงาน อยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐที่ยังได้บางส่วนหรือจากญาติพี่น้อง
สังคมซีเรียจึงไม่เท่าเทียมแต่โดยรวมแล้วคนส่วนใหญ่ยังทนต่อสภาพที่เป็นอยู่
จำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตปกติสุข
ยึดอุดมการณ์พรรคบาธ:
การปกครองยึดอุดมการณ์พรรคบาธ ส่วนศาสนาให้ยึดถือเป็นวัฒนธรรมตามวิถีชีวิต
ระบอบอัสซาดไม่ค่อยเป็นมิตรกับพวกซุนนีบางกลุ่มในประเทศ
ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะความแตกต่างทางศาสนา (ตระกูลอัสซาดเป็นพวกอาละวี สาขาหนึ่งที่แตกแขนงออกจากมุสลิมชีอะห์)
แต่เป็นเรื่องอุดมการณ์พรรคบาธ รัฐจะสนับสนุนพวกนิกายซุนนีตราบเท่าที่อยู่ในกรอบที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ
ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวว่ารัฐบาลตนเป็นสังคมนิยม ใช้นโยบายดูแลคนยากจน
อุดหนุนสินค้าจำเป็น เช่น อาหารของใช้ประจำวัน น้ำมัน การศึกษาเป็นของฟรี
แม้จะส่งเสริมภาคเอกชนด้วยแต่ไม่อาจถือว่าเป็นเสรีนิยม เรื่องนี้มักถูกพวกตะวันตกตีความว่าอัสซาดเป็นระบอบอุปถัมภ์
ใช้แนวทางนี้เพื่อควบคุมคนในประเทศให้จงรักภักดี
สร้างชาติเพื่อเผชิญภัยอิสราเอล:
ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอล
การที่อาหรับปราชัยโดยเฉพาะปี 1967
ทำให้รัฐบาลอัสซาดอ้างว่าประเทศกำลังเผชิญภัยคุกคามจากอิสราเอล
จำต้องดำเนินนโยบายความมั่นคงเข้มข้น ควบคุมการใช้ทรัพยากรประเทศ
นักวิชาการบางคนเห็นว่านโยบายสร้างชาติของฮาเฟซ
อัลอัสซาด อยู่ในบริบทที่ประเทศกำลังเผชิญหน้าอิสราเอล
แต่อีกฝ่ายเห็นว่าเหตุผลคือเพื่อความมั่นคงภายใน เพราะการชูนโยบายต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและภัยคุกคามต่างชาติมักได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศ
บ้างเชื่อว่ารัฐบาลชูนโยบายดังกล่าวเพื่อเบี่ยงเบนเรื่องการกดขี่ชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ความมั่นคงของชาติกับการดำรงอยู่ของระบอบอัสซาดเป็นเรื่องเดียวกัน
ข้อควรคิดคือภายใต้ประเด็นความมั่นคงประชาชนได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด
หรือเป็นเครื่องมือกดขี่
ระบอบอัสซาดควรเป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากความมั่งคั่งจากประชาชนอยู่ดีมีสุข
มากกว่าที่ประชาชนได้รับเศษความมั่งคั่งจากระบอบ
ระบอบอัสซาดกลายเป็นระบอบที่ดำเนินต่อเนื่อง
แทนที่จะเป็นรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงเจตนารมย์ของประชาชน
ภัยคุกคามจากอิสราเอลเป็นเหตุผลที่ใช้ได้ดีในทศวรรษ
1970-80 แล้วเสื่อมคลายลงเรื่อยๆ
แบ่งแยกทางศาสนากับเชื้อสาย:
ชาวซีเรียส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนี
ระบอบอัสซาดใช้ความแตกต่างทางศาสนาเป็นประโยชน์ในการปกครอง
สร้างกระแสว่าพวกซุนนีต่อต้านนิกายศาสนาอื่นๆ โดยเฉพาะพวกอาละวีซึ่งเป็นนิกายของผู้นำอัสซาด
ดังนั้นเมื่ออาละวีมีอำนาจมากกว่าจึงพยายามกดขี่พวกซุนนีที่ไม่จำนนต่อระบอบ
ในอีกมุม ครอบครัวอัสซาดให้ความสำคัญกับการคงอยู่ของระบอบมากกว่าแรงจูงใจทางศาสนา
การใช้เรื่องอาละวีมาจากแรงจูงใจทางการเมืองมากกว่าศาสนา
สังคมซีเรียเหมือนอาหรับที่ดั้งเดิมอยู่เป็นชนเผ่า
คนท้องถิ่นผูกพันกับกลุ่มของตนมากกว่ารัฐบาลกลาง
รัฐบาลปกครองด้วยการข่มขู่ควบคู่กับผลประโยชน์ เพื่อควบคุมกลุ่มต่างๆ
ให้อยู่ในความเรียบร้อย
กลุ่มใดที่ใกล้ชิดสนับสนุนพรรคบาธหรือรัฐบาลกลางจะได้รับการดูแลดีกว่า
สมัยประธานาธิบดีฮาเฟซ อัลอัสซาดพยายามแบ่งสันปันส่วนให้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์ตามสมควร
เว้นบางกลุ่มที่ยังขัดขืน ในสมัยนั้นระบบนี้ทำท่าไปได้ดี
ข้อเสียคือนานวันเข้าฝ่ายต่อต้านเกิดเป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่ห้ามไม่ได้คือการแทรกแซงบ่อนทำลายจากรัฐบาลต่างชาติ
เมื่อย้อนหลังนับจากสถาปนาเป็นรัฐสมัยใหม่
ข้อหนึ่งที่ชัดเจนคืออำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์
ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด ได้รับประโยชน์บ้างแต่ไร้ความยั่งยืน
มีการช่วงชิงอำนาจบริหารประเทศตลอดเวลา อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมา
จนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคนคือพ่อกับลูก
เมื่อคนในชาติกับรัฐบาลต่างชาติร่วมกันล้มรัฐบาลกลายเป็นอาหรับสปริงซีเรีย
22 ธันวาคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10264 วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2567)
------------------
บรรณานุกรม :
1. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of
Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.
2. Haddad,
Bassam. (2012). Why Syria is Not Next...So Far. In The Dawn of the Arab
Uprisings: End of an Old Order? (pp.207-209). London: Pluto Press.
3. Hanano,
Amal. (2012). Syrian Hope: A Journal. In The Dawn of the Arab Uprisings: End
of an Old Order? (pp.225-236). London: Pluto Press.
4. Hinnebusch, Raymond. (2001). Syria: Revolution From Above.
New York: Routledge.
5. Lister,
Charles R. (2015). The Syrian Jihad: Al-Qaeda, the Islamic State and the
Evolution of an Insurgency. New York: Oxford University Press.
6. President
al-Assad in an interview with Russian RT-UK TV Channel: In spite of all
aggression, majority of Syrian people support their Government, Russia helps
Syria as terrorism and its ideology have no borders. (2019,
November 11). SANA. Retrieved from https://www.sana.sy/en/?p=178031
7. Tripp,
Charles. (2013). The Power and the People: Paths of Resistance in the Middle
East. New York: Cambridge University Press.
-----------------