ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบอลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
กันยายน
2024 เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ
แสดงท่าทีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านและกลุ่มต่างๆ ตามบริบทล่าสุด
มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม:
อิสราเอลโหยหาสันติภาพ
อยากทำข้อตกลงสันติภาพแต่ศัตรูต้องการทำลายล้าง อิสราเอลจึงจำต้องป้องกันตัวเอง
ศัตรูไม่เพียงต้องการฆ่าให้ตายยังหวังทำลายอายธรรม
อยากนำอิสราเอลกลับสู่ยุคมืดอันโหดร้ายน่าสะพึงกลัว การตัดสินใจเข้าทำสงครามเมื่อปีก่อน
เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญส่งผลต่ออนาคตชนรุ่นหลัง
การตัดสินใจจัดการกับอิหร่านในวันนี้มีผลต่อความสมานฉันท์ระหว่างอาหรับกับยิวในอนาคต
ต้องหยุดอิหร่านให้จงได้:
นายกฯ
เนทันยาฮูกล่าวว่ารัฐบาลอิสราเอลพยายามปรับความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียและเห็นแววสำเร็จมากขึ้น
แต่แล้วการรุกรานของฮามาสเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 สังหารคนอิสราเอลกว่า 1,200 คน
จับกุมตัวประกัน 251 คน ทำให้สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นทันที วันต่อมาฮิซบอลเลาะห์ฉวยโอกาสโจมตีจากเลบานอน
ถึงวันนี้พวกเขายิงจรวดนานาชนิดใส่เรากว่า 8,000 ลูก พ่วงด้วยพวกฮูตีในเยเมน
กองกำลังชีอะห์ในซีเรียกับอิรักดังที่ทุกคนรับรู้
การโจมตีเหล่านี้อิหร่านเป็นผู้หนุนหลัง
นโยบายของอิหร่านทำร้ายตะวันออกกลางจำต้องหยุดอิหร่านให้จงได้และต้องหยุดเดี๋ยวนี้
นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่า “ถ้าอิหร่านมีเสรี (เป็นประชาธิปไตย)
ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไป และคาดว่าน่าจะเป็นเช่นนี้ในไม่ช้า” เมื่อนั้น
“ชาวยิวกับเปอร์เซีย อิสราเอลกับอิหร่านจะอยู่ด้วยกันอย่างสงบ”
แต่ไหนแต่ไรนายกฯ เนทันยาฮูมีจุดยืนข้อนี้ ยกตัวอย่างกุมภาพันธ์ 2018
กล่าวว่าอิสราเอลไม่มีปัญหาอะไรกับชาวอิหร่าน แต่ระบอบอิหร่านจะต้องล้มในที่สุด
และเมื่อนั้นทั้งคนอิสราเอลกับชาวอิหร่านจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ในสายตาอิสราเอล อิหร่านเป็นปรปักษ์หลัก
ต้นเหตุความขัดแย้งรุนแรงกับอิสราเอลในขณะนี้และเป็นเช่นนี้มานาน
เป้าหมายสุดท้ายต้องล้มระบอบอิหร่านให้จงได้
ความตอนหนึ่งนายกฯ
เนทันยาฮูกล่าวว่าด้วยเหตุผลทั้งหลายนานาชาติต้องสนับสนุนอิสราเอล
ร่วมกันหยุดโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติต้องคว่ำบาตร
ที่ผ่านมานานาชาติไม่ทำอะไร อิหร่านจึงมีเวลานับสิบปีพัฒนานิวเคลียร์
กำลังจะสร้างเป็นอาวุธ นานาชาติต้องร่วมกันทันทีเพื่อความปลอดภัยความมั่นคงของโลก
ไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ “ถ้าอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์จะไม่แค่ทำลายอิสราเอลแต่คุกคามทั้งโลก”
นานาชาติต้องเลือกว่าต้องการเห็นโลกที่สงบสุขหรือไม่
หรือจะปล่อยให้อิหร่านกับตัวแทนสร้างเหตุนองเลือดความโกลาหลต่อไป
รัฐบาลอิสราเอลตัดสินใจแล้ว จะร่วมกับหุ้นส่วนและเพื่อนบ้านอาหรับต่อสู้ความชั่วร้ายนี้
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นประเด็นที่อิสราเอลใช้เผชิญหน้าอิหร่านเสมอ
ในอีกด้านนานาชาติยอมรับว่าอิสราเอลมีนิวเคลียร์กว่าร้อยลูก ตามหลักการป้องปรามถ้าศัตรูมีอาวุธนิวเคลียร์ตัวเองต้องมีนิวเคลียร์ด้วย
แต่รัฐบาลอิสราเอลจะข้ามหลักป้องปรามนี้ เป็นการมองด้านเดียวยึดผลประโยชน์ส่วนตนฝ่ายเดียว
อิสราเอลมีสิทธิ์ยึดนโยบายดังกล่าวแต่ผลลัพธ์คือเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจ
ฮามาส:
พวกฮามาสถูกสังหารเกือบ 40,000 คนแล้ว
กลุ่มมีจรวดกว่า 15,000 ลูก อุโมงค์ยาว 350 ไมล์ ฐานใต้ดินบางจุดใหญ่กว่าสถานีรถไฟใต้ดินนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตามกองทัพอิสราเอลจะไม่หยุดเท่านี้ ฮามาสพร้อมรวมตัวใหม่เสมอ
ยังมีอิทธิพลต่อชาวบ้านกาซา ประกาศสู้กับอิสราเอลต่อไป อิสราเอลจึงต้องทำลายส่วนที่เหลือ
นำตัวประกันทั้งหมดกลับบ้าน ไม่อาจปล่อยให้ฮามาสฟื้นตัวและเกิดเหตุร้ายซ้ำ
วนเวียนอยู่อย่างนี้
อิสราเอลยินดีอยู่ร่วมกับฮามาส หากพวกเขายอมแพ้และวางอาวุธ
ปล่อยตัวประกันทั้งหมด เป้าหมายคือกาซาต้องปลอดอาวุธ ปลอดกลุ่มหัวรุนแรง
อิสราเอลยินดีร่วมมือกันเพื่อนบ้านจัดตั้งองค์กรบริหารกาซาบนเงื่อนไขอยู่ร่วมกับอิสราเอลโดยสันติ
ย้อนหลังเมื่อสงครามผ่านไป
1 เดือนนายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่าไม่มีแผนยึดครองฉนวนกาซา
ไม่คิดย้ายใครออก คิดแต่ทำอย่างไรที่คนกาซากับอิสราเอลจะอยู่ด้วยกันได้
ให้กาซามีผู้ปกครองพลเรือนของตนเอง ในเวลาต่อมาชี้ว่านายมาห์มูด อับบาส ผู้นำ PA
ควรมีบทบาทเรื่องนี้
ที่น่าติดตามคือการไม่ยึดครองกาซา
ไม่ได้หมายความว่าทหารอิสราเอลจะไม่อยู่ยาว
อาจอยู่ต่ออีกนานเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยร่วมกับการบริหารของ PA และน่าจะใช้แนวทางนี้กับพื้นที่ปาเลสไตน์ทั้งหมด
ฮิซบอลเลาะห์:
หลายสิบปีที่ผ่านมาอิสราเอลปะทะกับฮิซบอลเลาะห์เป็นระยะ
ครั้งนี้อิสราเอลจะจัดการเด็ดขาดไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไป
ฮิซบอลเลาะห์โจมตีอิสราเอลหนักอีกครั้งเมื่อฮามาสบุกอิสราเอล
จนต้องอพยพชาวบ้านกว่า 60,000 คนออกจากพื้นที่ เมืองที่เคยมีชีวิตชีวากลายเป็นเมืองร้าง
รัฐบาลปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้ ต้องทำบางอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชน 60,000 คนปลอดภัย ไม่โดนโจมตีอีก
18 ปีแล้วที่ฮิซบอลเลาะห์ละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง 1701 ที่ต้องถอนกำลังพ้นจากแนวชายแดน
พวกเขาสร้างอุโมงค์ลับเพื่อบุกเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว
หรือเพื่อยิงจรวดผ่านเครือข่ายอุโมงค์ ไม่เพียงที่ตั้งทางทหารที่ตกเป็นเป้า
บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาลโดนโจมตีด้วย
พวกฮิซบอลเลาะห์ตั้งตนเป็นศัตรู
คอยโจมตีอิสราเอลเป็นระยะ ครั้งนี้อิสราเอลจึงเห็นควรตอบโต้เด็ดขาด เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะขจัดภัยคุกคาม
ให้ประชาชนอิสราเอลสามารถกลับไปอยู่บ้านตัวเองอย่างปลอดภัยไร้กังวล
ล่าสุดต้นเดือนพฤศจิกายน
2024 นายกฯ เนทันยูประกาศว่าจะผลักพวกฮิซบอลเลาะห์ให้อยู่หลังแนวแม่น้ำ
Litani ไม่ว่าจะได้มาด้วยการเจรจาหรือด้วยกำลัง
และจะต้องตัดช่องทางส่งอาวุธกำลังบำรุงผ่านซีเรีย “เป้าหมายคือต้องไม่มีพวกฮิซบอลเลาะห์ตามพรมแดนทางเหนือ”
แม่น้ำ
Litani ห่างจากพรมแดนอิสราเอล 30-50 กิโลเมตร
(ขึ้นกับจุดที่วัด)
หมายความว่าพื้นที่ส่วนนี้จะอยู่ใต้การควบคุมโดยกองทัพอิสราเอลหรือนานาชาติ
ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่าต่อจากสงคราม
“ฮามาส-อิสราเอล” อาจเป็น “ฮิซบอลเลาะห์-อิสราเอล” เปรียบเสมือนแขนซ้ายกับแขนขวาอิหร่านที่จะทุบอิสราเอลให้จมดิน
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบอลเลาะห์ต่อจากฮามาส ตรงตามคำกล่าวของเนทันยาฮู
“ยุทธศาสตร์ระยะยาวของเราคือทำลาย axis of evil ตัดแขนทางใต้กับทางเหนือ
ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก”
แต่อิสราเอลที่สูญเสียมากแล้วต้องสูญเสียมากขึ้นถ้าส่งกองทัพรบทางภาคพื้นดิน
ข้อนี้ยังต้องติดตามว่ากองทัพอิสราเอลจะบุกเข้าไปลึกถึง 30 กิโลเมตรหรือไม่ อิสราเอลอาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ศึกนี้ต้องจ่ายราคาหนักทั้งสองฝ่าย ตามข้อมูลอิหร่านฮิซบอลเลาะห์มีกองกำลังถึงแสนนาย
จรวดขีปนาวุธรวม 150,000 ลูก และยังคงพัฒนาอาวุธต่อเนื่อง
ถ้อยแถลงของนายกฯ
เนทันยาฮูต่อสมัชชาสหประชาชาติ 2024 มีทั้งจุดยืนเดิมกับจุดยืนใหม่
สถานการณ์ล่าสุดคือสงครามฮิซบอลเลาะห์-อิสราเอล
ที่กองทัพอิสราเอลอยู่ในช่วงโจมตีทางอากาศ
คาดว่าเฟสต่อไปคือการบุกกวาดล้างทางภาคพื้นดิน
การปะทะกับอิหร่านเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญที่สุด
หากกลายเป็นสงครามใหญ่จะส่งผลต่อโลก ชัยชนะของโดนัลด์
ทรัมป์อาจเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนสถานการณ์ แม้ทรัมป์ไม่ต้องการสงคราม
แต่ทรัมป์มองอิหร่านเป็นปรปักษ์ไม่ต่างจากรัฐบาลไบเดน
ไม่ต่างจากรัฐบาลสหรัฐชุดก่อนๆ อาจต่างกันเพียงวิธีปฏิบัติ ความเข้มข้นรุนแรงเท่านั้น
เหตุที่อิสราเอลทำสงครามได้นานเพราะรัฐบาลสหรัฐหนุนหลัง
2. Netanyahu
to Iran: ‘Do Not Test Israel’s Resolve’. (2018, February 18). Haaretz.
Retrieved from https://www.haaretz.com/middle-east-news/full-text-netanyahu-s-speech-on-iran-in-munich-1.5826934
3. Netanyahu
rules out ceasefire, says no plans to occupy Gaza. (2023, November 10). Arab
News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2406366/middle-east
4. Netanyahu:
Gazans’ should flee, IDF to revenge ‘black day’. (2023, October 7). The
Jerusalem Post. Retrieved from
https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/article-763179
5. Netanyahu: Iran
regime change will come a ‘lot sooner than people think’. (2024, September 30).
Politico. Retrieved from https://www.politico.eu/article/benjamin-netanyahu-iran-regime-change-video-israel-hezbollah-war/
6. Visiting
border, PM vows to restore security in north ‘with or without an agreement’.
(2024, November 3). Times of Israel. Retrieved from
https://www.timesofisrael.com/visiting-border-pm-vows-to-restore-security-in-north-with-or-without-an-agreement/
-----------------