เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่ 21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

            พฤศจิกายน 2024 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  (Xi Jinping) เยือนประเทศเปรูและร่วมประชุมสุดยอด APEC ในการนี้รัฐบาลจีนกับเปรูได้ลงนามยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (comprehensive strategic partnership)

            ความสัมพันธ์นี้สามารถอธิบายย้อนหลังตั้งแต่ 400 ปีก่อน จีนกับเปรูมีความสัมพันธ์ทางการค้าผ่าน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) ที่เชื่อมต่อ 2 ประเทศด้วยมหาสมุทรแปซิฟิก เปรูเป็นประเทศต้นๆ ในลาตินอเมริกาที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของเปรูทั้งด้านนำเข้าและส่งออก แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเหมืองแร่ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

            ในระดับภูมิภาคนับจากปี 2012 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ลำดับที่ 2 ของลาตินอเมริกา เฉพาะปี 2022 ยอดการค้า 2 ฝ่ายเติบโต 7.7% สูงถึง 485,700 ล้านดอลลาร์ จีนกำลังเป็นคู่ค้าที่เติบโตเร็วสุดของภูมิภาคนี้

            รัฐบาลเปรูหวังให้ประเทศเป็นเหมือนสิงคโปร์ เป็นเมืองท่าเชื่อมลาตินอเมริกากับเอเชียแปซิฟิก นอกจากท่าเรือนี้ยังมีแผนสร้างเครือข่ายทางรถไฟ ทางด่วนเชื่อมท่าเรือนี้กับเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศและไกลถึงต่างแดน เป็นระบบโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์แบบ

ในมุม BRI:

            ในการเยือนครั้งนี้ผู้นำจีนได้ร่วมพิธีเปิดท่าเรือ Chancay Port ซึ่งท่าเรือใหญ่แห่งใหม่ สร้างโดยความร่วมมือระหว่างจีนกับเปรู ใช้เงินลงทุน 3,500 ล้านดอลลาร์ มีแผนที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างเอเชียกับทวีปอเมริกาใต้ เป็นประตูเชื่อมการค้าจีนกับลาตินอเมริกา เพิ่มความร่วมมือการค้าเปรู-จีนที่นำรายได้เข้าประเทศ 4,500 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพิ่มรายได้และการสร้างงานให้กับชาวเปรู

            ปัจจุบันชาวจีนราว 1 ล้านคนทำงานในเปรู (ไม่นับคนเชื้อสายจีนที่อยู่มานานแล้ว) บางคนสามารถสร้างตัวสร้างฐานะ เกิดชุมชนคนจีนในที่ต่างๆ มีบทบาททางเศรษฐกิจและอื่นๆ

            ท่าเรือ Chancay Port เป็นอีกตัวอย่างของ ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ที่น่าสนใจ เป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ขยายมาทางฝั่งตะวันออกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2021 แบ่งสร้างหลายเฟส รองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่ ออกแบบตามความรู้ใหม่ล่าสุด เป็นระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ ประสิทธิภาพเหนือกว่าท่าเรือเก่า เดิมการขนส่งที่ใช้เวลา 35-40 วันจะลดเหลือ 23 วัน (รวมเวลาขนถ่ายสินค้า งานธุรกรรม) ลดค่าขนส่ง เป็นระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีการสร้างสะพานใหม่สำหรับเดินทางเข้าออกท่าเรือโดยไม่กระทบคมนาคมที่มีอยู่ ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน

            Chancay Port เป็นประตูเชื่อมเส้นทาง 2 ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก สินค้าจีนเข้าสู่ลาตินอเมริกาและสินค้าลาตินอเมริกาเข้าสู่เอเชีย เป็นอีกความสำเร็จของ BRI ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ส่งเสริมเศรษฐกิจกันและกัน ส่งเสริมเศรษฐกิจโลก

            น่าชื่นชมที่รัฐบาลเปรูมีวิสัยทัศน์ฉวยโอกาสใช้ BRI สร้างสิ่งที่ก่อประโยชน์ต่อประเทศและเพื่อนบ้าน ส่งเสริมบทบาทตนในภูมิภาค

ยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน?:

            รายงาน Harbored Ambitions: How China’s Port Investments Are Strategically Reshaping the Indo-Pacific จาก Center for Advanced Defense Studies (C4ADS) เมื่อปี 2018 วิพากษ์ว่าข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน รายงานนี้ให้ความสำคัญกับเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก เชื่อมทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา

            รายงานยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” (Indo-Pacific Strategy Report: IPSR) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ฉบับมิถุนายน 2019 ระบุอย่างชัดเจนว่าในศตวรรษที่ 21 นี้จีนกำลังก้าวขึ้นมาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร ผู้นำจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์บั่นทอนระบบระหว่างประเทศ เบียดบังเอาประโยชน์ และค่อยๆ ทำลายค่านิยมและหลักการต่างๆ เมื่อจีนก้าวขึ้นมาก็จะแสวงหาความเป็นเจ้าในภูมิภาคและเป็นเจ้าโลกในที่สุด ดูได้จากการที่จีนพัฒนาอาวุธต่างๆ การส่งกองกำลังไปที่ต่างๆ พัฒนากองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ ด้านไซเบอร์ อวกาศ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านเรือและขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) เป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อการขนส่งสินค้าเสรี คุกคามอธิปไตยประเทศอื่น บ่อนทำลายเสถียรภาพภูมิภาค

            เหล่านี้เป็นตัวอย่างข้อวิพากษ์จากรัฐบาลสหรัฐและพวกที่น่าคิดและติดตามว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

            บางคนที่ต่อต้านโครงการนี้คิดว่าในอนาคตจีนสามารถอ้างความมั่นคงส่งเรือรบเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวนี้ ขยายอิทธิพลการเมืองการทหารในย่านนี้

            จีนจะส่งเรือรบมาย่านนี้หรือไม่ยังต้องติดตามต่อไป แต่น่าคิดเหมือนกันเพราะโดยทั่วไปทุกชาติต้องปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนที่อยู่ต่างแดน จีนก็ไม่ยกเว้น ในอนาคตกองเรือบรรทุกเครื่องบินจีนอาจมาเยือน Chancay Port ก็เป็นได้และต้องเผชิญหน้ากองเรือรบสหรัฐที่คุมย่านนี้เรื่อยมา

            ในมุมมองที่กว้างขึ้น BRI ขยายสู่เอเชียกลาง อาเซียน ยุโรป แอฟริกา ลาตินอเมริกา กำลังเผชิญหน้าฝ่ายสหรัฐอยู่แล้วและอาจเข้มข้นขึ้นในอนาคต เป็นสถานการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง

            รัฐบาลจีนเน้นขยายการค้าการลงทุนทั่วโลก ยุทธศาสตร์ปิดล้อมของสหรัฐจึงนับวันยิ่งไม่ได้ผล แม้จีนให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐ แต่จีนผลิตเพื่อส่งออกทั่วโลกไม่พึ่งหวังตลาดประเทศใดประเทศหนึ่ง หลายประเทศแม้มีความสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิดสหรัฐแต่ยังคงมีจีนเป็นคู่ค้าลำดับต้น หากสหรัฐจะปิดล้อมจีนอย่างได้ผลต้องสามารถกดดันใด้นานาชาติเลิกค้าขายกับจีน รัฐบาลโจ ไบเดนจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) เน้นค้าขายกับประเทศที่เป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อต้านอิทธิพลเศรษฐกิจจีนในภูมิภาค น่าติดตามว่า IPEF ได้ผลมากน้อยแค่ไหน

            บ่อยครั้งคนที่ต่อต้าน BRI มักยกตัวอย่างโครงการที่ล้มเหลว เป็นกับดักหนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนถูกไม่มากก็น้อย พฤศจิกายน 2023 ชี้ว่าหลายประเทศเป็นลูกหนี้จีน รวมหนี้ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 1.1 ล้านล้านมาจากการกู้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามจาก BRI ที่แต่ละโครงการมักมีมูลค่ามหาศาล เช่น การสร้างทางด่วน รถไฟ ท่าเรือ สะพานยาว

            แต่นอกจากประเด็นโครงการไร้ประสิทธิภาพไม่คุ้มค่า ควรพิจารณาเรื่องที่ลึกกว่าตัวเลข ยกตัวอย่าง บางประเทศที่จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่เพราะไม่มีใครสนใจให้กู้ เกรงว่าจะเป็นหนี้เสีย แต่รัฐบาลจีนให้กู้เพราะเห็นว่าเป็นมิตรประเทศและประเทศนั้นต้องการความช่วยเหลือ เช่น สปป.ลาว หลายประเทศในแอฟริกา บางประเทศติดขัดด้วยเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศ เช่น เมียนมา (จะเห็นว่าเพราะไม่มีใครอยากให้สปป.ลาวกับเมียนมากู้ จีนจึงเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่) หลายประเทศที่กู้จีนเพราะเอกชนต่างชาติต้องการผลตอบแทนสูงและคืนทุนเร็ว BRI จีนจึงได้โครงการด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่า การที่จะกู้จีนหรือประเทศใดผ่านกระบวนการคัดสรรตามระบบ

            และควรเทียบหากกู้เงินประเทศอื่น เช่น ปี 2022 G-7 เสนอแผนให้ประเทศกำลังพัฒนากู้ 600,000 ล้านดอลลาร์ ควรเทียบว่าอย่างใดดีกว่า ข้อดีข้อเสีย บางครั้งการรับเงินช่วยเงินลงทุนต้องมี “ข้อแลกเปลี่ยนลับ” กับประเทศเจ้าของเงิน แม้ประเทศเจ้าของเงินจะเป็นทุนนิยมเสรีก็ตาม

            ถ้าไม่คิดให้ซับซ้อนบางทีโครงการล้มเหลวเป็นเพียงประสบการณ์ของบางประเทศ

            อีกทั้งไม่ควรใช้ Chancay Port เพื่อฟันธงว่าจีนจะครอบงำลาตินอเมริกา ผลจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคตอีกนาน ที่ถูกต้องคือภูมิภาคนี้อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐเนิ่นนานหลายทศวรรษแล้ว BRI เป็นทางเลือกใหม่ที่บางประเทศเห็นโอกาสและคว้าไว้ ดีกว่าปล่อยให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย

            BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จะจริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

24 พฤศจิกายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 10236 วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567)

-------------------

บรรณานุกรม :

1. ‘Belt and Road’ spreading China’s power: academics. (2018, May 27). Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2018/05/27/2003693809

2. ‘From Chancay to Shanghai’: New China-Peru BRI project to become hub, gateway port of Latin America. (2024, November 15). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202411/1323166.shtml

3. G-7 unveils $600B plan to combat China’s global reach. (2022, June 26). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/news/2022/06/26/g-7-unveils-600b-plan-to-combat-chinas-global-reach-00042452

4. How China became the world's largest debt collector. (2023, November 26). DW. Retrieved from https://www.dw.com/en/how-china-became-the-worlds-largest-debt-collector/a-67527784

5. Inauguration of the Port of Chancay: A new era for Peru. (2024, November 14). Fresh Fruit Portal. Retrieved from https://www.freshfruitportal.com/news/2024/11/14/inauguration-of-the-port-of-chancay-a-new-era-for-peru/

6. Trade or tactics? Why China’s Chancay Port in Peru has the US on edge. (2024, November 14). First Post. Retrieved from https://www.firstpost.com/world/trade-or-tactics-why-chinas-chancay-port-in-peru-has-the-us-on-edge-13834980.html

7. Thorne, Devin., Spevack, Ben. (2018, June 2). Harbored Ambitions: How China’s Port Investments Are Strategically Reshaping the Indo-Pacific. Center for Advanced Defense Studies (C4ADS). Retrieved from https://static1.squarespace.com/static/566ef8b4d8af107232d5358a/t/5ad5e20ef950b777a94b55c3/1523966489456/Harbored+Ambitions.pdf

8. US Department of Defense. (2019, June 1). Indo-Pacific Strategy Report: Preparedness, Partnerships, and Promoting a Networked Region. Retrieved from https://media.defense.gov/2019/May/31/2002139210/-1/-1/1/DOD_INDO_PACIFIC_STRATEGY_REPORT_JUNE_2019.PDF

9. Xi says his visit to take China-Peru comprehensive strategic partnership to new level. (2024, November 15). People’s Daily. Retrieved from http://en.people.cn/n3/2024/1115/c90000-20242119.html

-----------------