รัสเซียเตือนสงครามใหญ่หลังยูเครนรุกลึก (1)

เป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดของรัฐบาลสหรัฐที่จะไม่ทำสงครามในบ้านตัวเอง แต่ทำสงครามในประเทศอื่นๆ เพื่อบั่นทอนทำลายฝ่ายตรงข้าม

            นับวันยูเครนโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม หลังกองทัพยูเครนรุกกินพื้นที่เขตคุส (Kursk) ของรัสเซียเมื่อสิงหาคม 2024 ส่งโดรนทีละนับร้อยลำโจมตีกรุงมอสโคว์ การโจมตีเมืองหลวงรัสเซียกลายเป็นเรื่องปกติ พร้อมกันนี้คือร้องขอขีปนาวุธอำนาจทำลายสูงจากนาโต การโจมตีลักษณะนี้นับวันจะรุนแรง ด้านรัฐบาลปูตินสั่งตอบโต้รุนแรงเช่นกัน เป็นสถานการณ์อีกด้านท่ามกลางความพยายามเจรจาสงบศึก ความอ่อนล้าของกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ชาตินาโตนับวันจะเข้าเกี่ยวข้องกับศึกยูเครนมากขึ้นทุกขณะ นำสู่คำถามสำคัญหลายข้อ

อาวุธยูเครนคืออาวุธนาโต:

            ในช่วงแรกของสงคราม อาวุธที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกส่งให้ส่วนใหญ่เป็นอาวุธเบา จรวดประทับบ่า ปืนครก ปืนใหญ่ และขยับขึ้นเป็นรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ จรวดหลายลำกล้อง รถถังประจัญบาน การส่งมอบอาวุธหนักสอดคล้องกับการรบที่ยืดเยื้อ นับวันที่ศึกยืดเยื้อยูเครนจะได้รับอาวุธหนักมากขึ้นตามลำดับ

            มกราคม 2023 รัฐบาลไบเดนยืนยันส่งรถถัง M1 Abrams จำนวน 30 คันแก่ยูเครน เยอรมนีส่งรถถัง Leopard 2 เข้าสนามรบ 14 คัน และยอมให้ประเทศอื่นๆ ส่ง Leopard 2 แก่ยูเครน แต่รัฐบาลยูเครนไม่จบเท่านี้ขอเครื่องบินรบของพวกตะวันตก ขีปนาวุธพิสัยไกล ในช่วงนั้นโอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมันไม่เห็นด้วยที่จะมอบเครื่องบินขับไล่แก่ยูเครน

          ความจริงที่ต้องยอมรับคือที่ผ่านมากองทัพยูเครนรบด้วยอาวุธที่ด้อยกว่า ล้าสมัยกว่า ทหารส่วนหนึ่งไม่ชำนาญศึกมากพอ ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังพังพินาศ ยิ่งรบยิ่งพัง ตายนับหมื่นนับแสน เพื่อปกป้องเสรีประชาธิปไตยตะวันตก บรรดาชาติตะวันตกที่ “ได้รับการปกป้อง” จากยูเครนกลับส่งความช่วยเหลือแบบ “กะปริดกะปรอย” ค่อยเป็นค่อยไป ส่งอาวุธชั้นสองให้ทหารยูเครน นี่คือประเด็นน่าคิด

            มาแตอุช มอราวีแยตสกี (Mateusz Morawiecki) นายกฯ โปแลนด์กล่าวโทษเยอรมันที่ลังเลใจส่งรถถังให้ยูเครน “เป็นทัศนคติที่รับไม่ได้ สงครามผ่านไปเกือบปีแล้ว ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตายทุกวัน”

            น่าคิดว่าถ้ามหาอำนาจผู้มีกำลังรบแข็งแกร่งอันดับหนึ่งของโลกส่งสุดยอดรถถัง เครื่องบินรบของตนให้ยูเครน ป่านนี้คงชนะศึกแล้ว ไม่ต้องยืดเยื้ออยู่อย่างนี้ หรือว่ามีแผนอื่นตั้งใจให้ศึกยูเครนยืดเยื้อ

            มองอีกด้านการใช้อาวุธประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ Patriot ระบบนี้ใช้กำลังพล 90 นายเพื่อใช้งานกับซ่อมบำรุง ถามว่ายูเครนมีบุคลากรเหล่านี้หรือไม่ ทันใช้งานหรือไม่

            Colin Kahl รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐพูดถูกว่าเหตุที่ไม่อยากส่งรถถัง M1 Abrams ให้ยูเครนเพราะ “ยูเครนซ่อมไม่ได้ บำรุงรักษาไม่เป็น ไม่สามารถบริหารจัดการรถถังแบบนี้” กรณีเครื่องบินขับไล่ก็เช่นกัน เครื่องบินรบที่มีนักบินคนเดียวแต่จำต้องใช้ช่างผู้มีฝีมือหลายคน ไม่เพียงนักบินที่ต้องฝึกรบให้ชำนาญนานหลายเดือน ช่างก็เช่นกัน เครื่องบินขับไล่ปัจจุบันเป็นอาวุธไฮเทค เป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีกลไกซับซ้อน จำต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจซ่อม ถามว่ายูเครนมีช่างฝีมือเหล่านี้หรือไม่ ต้องฝึกกี่เดือนจึงจะมีฝีมือมากพอ

            ย้อนหลังมกราคม 2023 ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐจะไม่มอบ F-16 ตามคำร้องขอจากยูเครน ตามหลังโอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมันที่กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่จะมอบเครื่องบินขับไล่แก่ยูเครน

            ด้วยเหตุที่นาโตยืนยันรบต่อ เมษายน 2024 สหรัฐทุ่มซื้อเครื่องบินรบรัสเซียส่งช่วยยูเครน รวมทั้งสิ้น 81 ลำ มีข่าวว่าเป็นเครื่องบินรบรัสเซียที่อยู่ในประเทศต่างๆ ประกอบด้วย MiG-31, MiG-27, MiG-29 และ Su-24 รวมทั้งสิ้น 81 ลำ เป็นเครื่องรบมือ 2 ที่บางส่วนประเทศเจ้าของเตรียมปลดประจำการ

            เป็นอีกครั้งที่ยูเครนต้องรบด้วยอาวุธมือสองที่โละจากประเทศอื่น ข้อดีคือการใช้เครื่องบินรบรัสเซียช่วยยืดเวลาการส่งมอบ F-16 ให้ยูเครนมีเครื่องบินรบใช้อีกรอบ

            ยูเครนเริ่มรับ F-16s จำนวนหนึ่งเมื่อสิงหาคม 2024 หลังสงครามผ่านมา 2 ปีครึ่ง ก่อนหน้านั้นรัฐบาลตะวันตกพูดชัดว่าจะไม่ให้

            เมษายน 2024 รัฐบาลไบเดนส่งมอบขีปนาวุธพื้นสู่พื้นรุ่นใหม่ MGM-140 Army Tactical Missile System (ATACMS) มีระยะยิงไกลถึง 300 กิโลเมตรหรือ 180 ไมล์แก่ยูเครน และกองทัพยูเครนได้ใช้แล้ว เช่น ถล่มฐานบินรัสเซียในไครเมีย เป็นส่วนหนึ่งของงบฯ ช่วยเหลือที่ผ่านรัฐสภา ตั้งแต่เริ่มสงครามรัฐบาลสหรัฐช่วยยูเครนทั้งหมด 105,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

            จะเห็นว่าแม้มีอุปสรรคมากมายรัฐบาลเซเลนสกีร้องขออาวุธไม่หยุด ในช่วงนี้คือขีปนาวุธอำนาจทำลายสูง ไม่กี่ประเทศที่ผลิตอาวุธร้ายแรงเช่นนี้ ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ชี้ว่าจำต้องโจมตีฐานทัพ สนามบิน คลังอาวุธ คลังเชื้อเพลิง ศูนย์สำคัญๆ เพื่อหยุดกองทัพรัสเซีย ประธานาธิบดีเซเลนสกีพร้อมใช้รอเพียงคำอนุญาตเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยร้องขออนุญาตหลายครั้งแต่รัฐบาลไบเดนลังเลใจเกรงว่าจะกลายเป็นสงครามใหญ่ ไม่คิดว่าการใช้อาวุธพวกนั้นจะส่งผลต่อภาพรวมสงครามและสหรัฐมีอาวุธเหล่านั้นน้อยเกินไป

            รวมความแล้วยูเครนได้รับอาวุธทรงอานุภาพมากขึ้นตามลำดับด้วยความเห็นชอบจากพวกตะวันตก

สงครามตัวแทน:

            แม้นาโตจะประกาศตั้งแต่ก่อนสงครามว่าการรบครั้งนี้ทหารนาโตจะไม่ปะทะกับทหารรัสเซีย เป็นการรบระหว่างยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น ในเวลาต่อมารัสเซียชี้ว่าไม่ใช่การรบระหว่างยูเครนกับตนเท่านั้น แต่เป็นการรบกับนาโตด้วย

            สามารถเทียบกับสงครามอัฟกานิสถานเมื่อพวกมูจาฮิดีน (Mujahidin) ต่อต้านการรุกรานของกองทัพโซเวียตเมื่อปี 1979 ในครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐส่งอาวุธความช่วยเหลือแก่มูจาฮิดีน เป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐต้องการให้สมรภูมิยูเครนเป็นเหมือนอัฟกานิสถานในครั้งนั้น

            สงครามตัวแทน (proxy war) คำนี้ถูกใช้มากในสมัยสงครามเย็น (Cold War)

            สงครามเย็นเป็นสภาวะที่อภิมหาอำนาจทั้งสองมีความขัดแย้ง แต่ไม่ถึงกับทำสงครามต่อกันโดยตรง แต่ต่อสู้ด้วยวิถีทางอื่นๆ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ แข่งขันพัฒนากองทัพ กีดกันขัดขวางการค้าระหว่างประเทศ มี สงครามร้อน ในลักษณะสงครามตัวแทน

            สงครามตัวแทนบางครั้งสูญเสียมากมาย สงครามเกาหลีมีผู้เสียชีวิต 3 ล้านคน สงครามเวียดนาม 2 ล้านคน ส่วนสงครามยูเครนน่าจะนับแสนคนแล้ว

            มหาอำนาจเลี่ยงทำสงครามต่อกันโดยตรงแต่รบผ่านสมรภูมิประเทศต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่านาโตกำลังทำสงครามกับรัสเซียผ่านยูเครน

ขออนุญาตนาโต:

            มีหลักฐานหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่ายูเครนต้องรบโดยขอคำอนุญาตจากนาโตโดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐ ที่รับรู้กันทั่วไปว่าคือผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อนาโต

            ถ้ายิ่งเข้าใจที่มาที่ไปของนาโตว่าตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐหวังมีอิทธิพลทางทหารต่อยุโรปตะวันตก (ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย) สหรัฐประจำการทหารในยุโรปนับแสนนาย ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในหลายประเทศผ่านระบบ Nuclear sharing (อาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้นอยู่ในเยอรมนี ตุรเคีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โดยตัดสินใช้ร่วมกัน)

            กันยายน 2024 แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐส่งสัญญาณอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย กล่าวว่าตอนนี้กำลังปรับแผนรบ (เมื่อต้นสงครามไม่ให้อาวุธหนัก) การต่อสู้ในสนามรบเปลี่ยนไป รัฐบาลสหรัฐกำลังชั่งน้ำหนักอะไรควรอะไรไม่ควร

            ด้าน Sergei Ryabkov รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเตือนว่าเป็นเรื่องอันตราย หากนาโตใช้จริงจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัสเซียแน่นอน สงครามจะขยายตัว

            ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร สงครามตัวแทนนี้กำลังใช้อาวุธอำนาจทำลายสูงมากขึ้นทุกที รัสเซียเสียหายหนักถูกบั่นทอนด้วยอาวุธนาโต เป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดของรัฐบาลสหรัฐที่จะไม่ทำสงครามในบ้านตัวเองแต่ทำสงครามในประเทศอื่นๆ เพื่อบั่นทอนทำลายฝ่ายตรงข้าม ในอนาคตไต้หวันกับฟิลิปปินส์อาจกลายเป็นเหมือนยูเครนที่ยิ่งรบยิ่งพัง เพื่อปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

22 กันยายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10173 วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2567)

-----------------

บรรณานุกรม :

1. Biden Rejects F-16s for Ukraine as Russia Claims Advances. (2023, January 30). The Moscow Times. Retrieved from https://www.themoscowtimes.com/2023/01/31/biden-rejects-f-16s-for-ukraine-as-russia-claims-advances-a80083

2. Blinken Signals U.S. Is Weighing Loosening Ukraine Missile Restrictions. (2024, September 11). WSJ. Retrieved from https://www.wsj.com/world/russia/russian-forces-stage-ukraine-counterattack-to-retake-territory-in-border-region-48de1fba?mod=world_feat5_russia_pos1

3. German chancellor says he won't send fighter jets to Ukraine. (2023, January 29). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-64446937

4. Shambaugh, David. (2014). International Relations in Asia: A Multidimensional Analysis. In David Shambaugh and Michael Yahuda (Eds.), International Relations of Asia (2nd ed.). Maryland: Rowman & Littlefield.

5. Tarzi, Amin. (2004). Mujahidin. In Encyclopedia of Islam & the Muslim World (pp.490-491). USA: Macmillan Reference.

6. Ukraine renews calls for US F-16s, German fighter jets after countries reverse decision on sending tanks. (2023, January 29). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/world/ukraine-renews-calls-german-fighter-jets-countries-decision-tanks

7. Ukraine Using Secretly Provided Longer-Range Missiles Against Russian Forces. (2024, April 24). WSJ. Retrieved from https://www.wsj.com/world/biden-signs-foreign-aid-bill-additional-military-aid-to-ukraine-could-arrive-in-days-d5507144?mod=world_lead_pos1

8. US buys 81 Soviet-era combat aircraft from Russia's ally costing on average less than $20,000 each, report says. (2024, April 29). Business Insider. Retrieved from https://www.businessinsider.com/us-buys-81-soviet-fighter-jets-from-russian-ally-20k-2024-4

9. U.S.-made Patriot missile systems arrive in Ukraine. (2023, April 20). PBS. Retrieved from https://www.pbs.org/newshour/world/u-s-made-patriot-missile-systems-arrive-in-ukraine

-----------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก