สัมพันธ์เศรษฐกิจอิตาลี-จีนในบริบท 2024

แม้รัฐบาลเมโลนีดำเนินตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน ในทางปฏิบัติคือการปิดล้อมเท่าที่รับได้ ความจริงแล้วสมาชิกอียูยังค้ากับจีนอยู่ดีเพียงแต่กีดกันมากขึ้น


            ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอิตาลี-จีนสะท้อนความเป็นไปของบริบลก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศนี้ ชี้ทิศทางโลกอนาคต

การเข้าร่วมและการถอนตัวจาก BRI:

            อิตาลีเข้าร่วม ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) เมื่อมีนาคม 2019 สมัยรัฐบาล Giuseppe Conte เป็นสมาชิก G7 ประเทศแรกที่เข้าร่วม สร้างความประหลาดใจแก่ G7

            รัฐบาลอิตาลีกับจีนลงนามใน memorandum of understanding (MoU) เป็นความร่วมมือ 5 ปี (ชื่อเต็ม “Memorandum of understanding between the government of the Italian Republic And the government of The People’s Republic Of China on cooperation within the framework of the Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road Initiative”) โดยจะทบทวนความร่วมมือใหม่อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2024

            เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) ก็ขอถอนตัวด้วยเหตุผลว่าโครงการไม่ก่อประโยชน์ตามที่ตั้งไว้ และเป็นไปตามนโยบายทบทวนความสัมพันธ์ใหม่กับจีน (ลดความเป็นมิตร)

            สิงหาคม 2023 รัฐบาลชุดนี้ประกาศว่าการเข้าร่วม BRI เป็น “ความผิดพลาดร้ายแรง” แสดงท่าทีต้องการถอนตัว นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าเหตุที่เข้าร่วมในตอนแรกเพราะอิตาลีประสบปัญหาเศรษฐกิจต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ นโยบายประชานิยมสร้างความเสียหาย หวังเม็ดเงินลงทุนจากจีน

            ส่วนรัฐบาลสี จิ้นผิงหวังขยายการค้าการลงทุน ขยายอิทธิพลในยุโรป มีผู้ตีความว่าการที่อิตาลีเข้าร่วม BRI บ่งชี้ความแตกแยกในหมู่ชาติตะวันตก

            ธันวาคม 2023 รัฐบาลเมโลนีแจ้งจีนอย่างเป็นทางการว่าจะไม่ต่อ MOU BRI ที่ทำเมื่อ 2019 อิตาลีจึงถอนตัวจาก BRI

มุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ:

            นักวิเคราะห์บางคนตีความว่าการถอนตัวหมายถึงพวกตะวันตกกระชับความร่วมมือท้าทายจีน มองเป็นศัตรูคู่แข่ง (rival) มากกว่าหุ้นส่วน ดังที่ Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) กล่าวเมื่อมีนาคม 2023 ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีเป้าหมายเปลี่ยนระเบียบโลกที่จีนเป็นศูนย์กลาง” BRI คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ดังกล่าว

            นักวิชาการตะวันตกหลายคนมองว่า BRI คือยุทธศาสตร์สร้างเขตอิทธิพลจีน หรือ Sinosphere โดยโยงประวัติศาสตร์จีนโบราณ ที่อาณาจักรจีนเป็นพี่ใหญ่มีอิทธิพลเหนือชนชาติอื่นๆ อาณาจักรอื่นๆ ในยุคปัจจุบันบั่นทอนอิทธิพลสหรัฐ ในขณะที่รัฐบาลจีนประกาศเรื่อยมาว่าไม่มีนโยบายดังกล่าว

            สงครามยูเครนเป็นปัจจัยกดดันให้สหรัฐกับยุโรปร่วมมือกันมากขึ้น รัฐบาลเมโลนีสนับสนุนยูเครน กระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลไบเดน เตือนจีนหากคิดบุกไต้หวัน เห็นชัดว่าเย็นชาต่อจีน

2024 สานความร่วมมือใหม่:

            หลัง BRI สิ้นสุดเมื่อมีนาคม 2024 ด้วยมือของรัฐบาลเมโลนี 4 เดือนต่อมา นายกฯ เมโลนีเยือนจีนหวังสานเศรษฐกิจด้วยแผนชุดใหม่

            กรกฎาคม 2024 นายกฯ เมโลนีเยือนจีนอย่างเป็นทางการ สานความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลจีนตอบรับด้วยดี ยืนยันว่าจะร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วม ทำโครงการที่ก่อประโยชน์มีคุณภาพสูง หวังบริษัทอิตาลีลงทุนในจีน ทั้งคู่จะได้ประโยชน์ผ่านความร่วมมือดังกล่าว

            ด้านจอร์เจีย เมโลนี (Giorgia Meloni) นายกฯ อิตาลีกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกปัจจุบันที่ซับซ้อนและอ่อนไหว อิตาลีกับจีนควรกระชับความร่วมมือยุทธศาสตร์รอบด้าน ส่งเสริมเศรษฐกิจให้เข้มแข็งร่วมกัน อิตาลีพร้อมร่วมมือกับจีนทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน AI และอื่นๆ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ไว้วางใจต่อกัน ยุติธรรม สร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ ทั้งคู่มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น

            รอบ 2024 เป็นความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการ 3 ปี (2024-2027) ในหลายโครงการ เกี่ยวกับรถ EVs พลังงานหมุนเวียน AI ฯลฯ เป็นความร่วมมือรูปแบบใหม่ คือเจรจาร่วมมือโดยระบุตัวโครงการอย่างชัดเจน แทนกรอบความร่วมมือกว้างๆ

            นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า รัฐบาลอิตาลีกังวลอียูกีดกันค้าขายกับจีน จึงต้องใช้มาตรการทวิภาคีเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายอียู

            ตัวอย่างที่อิตาลีต้องการ คือ หวังให้จีนลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ในอิตาลี (รถ EVs) เช่น บริษัท Fiat จะร่วมทุนกับ Leapmotor ของจีนเพื่อผลิตรถ EVs ส่งขายในยุโรป (อียูขึ้นภาษีรถ EVs จีนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ การร่วมทุนทำให้รถจีนกลายเป็นรถอิตาลีและอิตาลีส่งขยายทั่วยุโรป ทั้งจีนกับอิตาลีต่างได้ประโยชน์)

            นายกฯ เมโลนีกล่าวว่าเป้าหมายคือสู่การค้าสมดุล ("as balanced as possible")

            Zhao Junjie จาก Chinese Academy of Social Sciences' Institute of European Studies ให้ความเห็นว่าแม้ในช่วงหาเสียงเมโลนีจะแสดงท่าทีแข็งกร้าว “แต่เพื่อดึงคะแนนเสียงเท่านั้น” เมื่อเป็นรัฐบาลจะพบความจริงและกลับมาคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทบทวนใหม่ว่านโยบายใดเป็นประโยชน์มากสุด การกลับมาร่วมมือกับจีนเป็นหลักฐานชี้ว่าไม่อิงแต่สหรัฐเท่านั้น การร่วมทุน ค้าขายกันต่างหากที่ก่อประโยชน์จับต้องได้

วิเคราะห์องค์รวม:

            แม้รัฐบาลเมโลนีดำเนินตามยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนทุกด้าน ในทางปฏิบัติคือการปิดล้อมเท่าที่ทำได้หรือรับได้ แผนปฏิบัติการ 3 ปี (2024-2027) เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าอิตาลียังต้องการสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน ไม่ใช่เลิกค้า 100% ความจริงแล้วสมาชิกอียูยังค้ากับจีนอยู่ดี เพียงแต่กีดกันมากขึ้น และรัฐบาลสหรัฐทำเช่นนี้เหมือนกัน

            อาจอธิบายว่าการปิดล้อมทางเศรษฐกิจดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระวังผลกระทบที่แรงจนรับไม่ได้ เพราะที่สุดแล้วทุกประเทศต้องระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจตัวเอง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นปัจจัยกดดัน บริบทโลกปัจจุบันต่างจากสงครามเย็นในศตวรรษก่อน

            การเข้าร่วม BRI เมื่อปี 2019 การถอนตัวในปี 2023 และการฟื้นความร่วมมืออีกครั้งในปี 2024 เน้นผลทางเศรษฐกิจ ไม่มีผลต่อความร่วมมือด้านความมั่นคง ไม่มีผลต่อนาโต แม้รัฐบาลอิตาลีใช่ว่าจะเห็นด้วยกับนาโตทุกเรื่อง โดยภาพรวมแล้วปัจจุบันดำเนินตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐ

            รัฐบาลสหรัฐกระชับการปิดล้อมเศรษฐกิจมากขึ้นทุกทีและน่าเข้มข้นขึ้นอีกในอนาคต ประเทศที่เป็นพันธมิตรสหรัฐน่าจะทำเช่นนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม มีหลายตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าการปิดล้อมเศรษฐกิจไม่ง่ายและไม่ได้ผลมากอย่างที่คิด

            มีความจริงที่น่าสนใจว่าออสเตรเลีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางทหารของสหรัฐ แต่ด้านการค้ามีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด

            อิตาลีในสมัยรัฐบาลเมโลนีเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่สนับสนุนความจริงข้างต้น

            ผลตามมาคือเศรษฐกิจจีนยังจะเติบโตต่อไป การค้าการลงทุนระหว่างประเทศขยายตัว แม้กระทั่งกับประเทศที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐ การปิดล้อมจีนจึงทำได้เพียงสกัดกั้นให้จีนก้าวขึ้นช้าลงเท่านั้น ในระยะยาวหากสถานการณ์ทั้งภายในภายนอกไม่เปลี่ยนแปลง อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจีนจะเป็นประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก บ่งบอกพลังอำนาจทางเศรษฐกิจจีนที่จะขยายผลต่อพลังอำนาจด้านอื่นๆ หรือเติบโตไปพร้อมกัน

4 สิงหาคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10124 วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2567)

-------------------

บรรณานุกรม :

1. Deepak, B.R. (ed.). (2018). China`s Global Rebalancing and the New Silk Road. Singapore: Springer Nature Singapore.

2. Italy reportedly drops out of China Belt and Road initiative that failed to deliver. (2023, December 6). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/italy-china-belt-road-infrastructure-c6b6e9f3f69d46544d7550622578e913

3. Italy and China sign a 3-year action plan as Italian leader Meloni tries to reset relations. (2024, July 28). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/china-italy-meloni-li-trade-auto-manufacturing-7a5b95a3f151206e0e74755b90a71600

4. Italy’s Meloni to visit China, likely to ‘clear misunderstandings over BRI withdrawal’. (2024, July 28). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202407/1316769.shtml

5. Italy’s ‘arrivederci’ to China’s BRI could be a template for others. (2023, December 10). Atlantic Council. Retrieved from https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/italys-arrivederci-to-chinas-bri-could-be-a-template-for-others/

6. Meloni seeks trade rebalance as Italy, China agree to boost ties. (2024, July 30). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/business/economy/meloni-seeks-trade-rebalance-as-italy-china-agree-to-boost-ties

7. Ministry of Foreign Affairs, the People's Republic of China. (2024, July 28). Li Qiang and Italian Prime Minister Giorgia Meloni Jointly Attend the Opening Ceremony of the Seventh Meeting of the China-Italy Entrepreneurs Committee. Retrieved from https://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/202407/t20240729_11462535.html

8. Why Is Italy Withdrawing From China’s Belt and Road Initiative? (2023, August 3). CRF. Retrieved from https:// https://www.cfr.org/blog/why-italy-withdrawing-chinas-belt-and-road-initiative

-----------------