ระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว (1)

สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง

            บางคนอาจสงสัยทำไมสหประชาชาติไม่ลงโทษรัสเซียที่บุกยูเครน ไม่ลงโทษอิสราเอลที่ค่อยๆ ยึดดินแดนปาเลสไตน์ ทั้งสองกรณีละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ละเมิดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง ข้อตกลงระหว่างประเทศ คำถามนี้อธิบายได้หลายแบบ หนึ่งในนั้นเพราะระบบโลกที่มีอยู่ไม่สมบูรณ์ กลไกจึงพลอยบิดเบี้ยวไม่เป็นไปตามที่บางคนคิดหวัง (ทั้งนี้กลไกทำหน้าที่ตามเงื่อนไขที่สร้างขึ้นตั้งแต่ต้น) ในที่นี้จะมุ่งพูดถึงสหประชาชาติโดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงผู้มีบทบาทสำคัญสุด

            สหประชาชาติ (United Nations) ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1945 เริ่มต้นด้วยสมาชิก 51 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 193 ประเทศ (2024) ประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมคือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน (Republic of South Sudan) เมื่อปี 2011 ประเทศไทยเป็นสมาชิกเมื่อปี 1946 (พ.ศ.2489) ด้วยชื่อ Siam

            การประชุมของสหประชาชาติต่อประเด็นต่างๆ อาจมีข้อมติ แต่ข้อมติไม่มีผลบังคับใช้ รัฐใดจะนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ ยกเว้นข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากจะกำหนดบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม เช่น โดนนานาชาติคว่ำบาตร ไม่ทำการค้าด้วย หรือจำกัดไม่ขายสินค้าบางอย่าง

            ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงให้ความสำคัญกับบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคง

ความไม่เป็นกลางของสหประชาชาติ:

            คณะมนตรีความมั่นคงเป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติที่สะท้อนความไม่เป็นกลางมากที่สุด Richard N. Haass สรุปว่า บทบาทของสหประชาชาติจะเป็นอย่างไรขึ้นกับมหาอำนาจว่าต้องการให้เป็นอย่างนั้น เพราะสหประชาชาติไม่มีอธิปไตยในตัวเอง มหาอำนาจเห็นพ้องต้องกันก่อน สหประชาชาติจึงลงมือทำตาม หากมหาอำนาจตกลงกันไม่ได้ สหประชาชาติได้แต่นั่งดูเฉยๆ นี่คือแนวคิดของคณะมนตรีความมั่นคง

            นักวิชาการบางคนอธิบายเหตุที่สหประชาชาติไม่อาจแสดงบทบาทเท่าเทียม เพราะองค์กรนี้กำเนิดบนรากฐานสำนักคิดแบบอุมดคตินิยม (Idealism) ร่วมกับสัจนิยม (Realism) ซึ่งในทางปฏิบัติหลายต่อหลายครั้งสัจนิยมจะโดดเด่นกว่า

            วิเคราะห์ได้ว่าสหประชาชาติคือองค์กรที่เกิดขึ้นจากการจัดระเบียบโลกใหม่ของชาติมหาอำนาจในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป้าหมายเฉพาะหน้าคือการเข้าควบคุมความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งร้ายแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ 5 ชาติ อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จีนและรัสเซีย (เดิมสหภาพโซเวียต) ระบบการทำงานของคณะมนตรีความมั่นคงเป็นหลักฐานที่บ่งชี้เรื่องนี้ได้ดีที่สุด

            ภายใต้ระบบระเบียบของสหประชาชาติ ประเด็นความมั่นคงใดๆ ที่ไม่ตอบสนองผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจ ประเด็นเหล่านั้นมักจะไม่ผ่านการพิจารณา ปราศจากข้อมติที่มีผลบังคับใช้ต่อปัญหานั้นๆ เป็นหลักฐานชี้ความไม่เท่าเทียมกันของประเทศชาติสมาชิก แม้ตามหลักอธิปไตยจะระบุว่าเท่าเทียมกัน

            หากศึกษาให้ลึกกว่านี้สามารถวิเคราะห์สหประชาชาติ สถานการณ์โลกจากสัจนิยมดังนี้

รากปัญหาการมองโลกแบบสัจนิยม:

            นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมารัฐบาลตะวันตกยึดสัจนิยม (Realism หรือ Realpolitik) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้ว่าสภาพของโลกเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) อยู่ในภาวะของการแข่งขัน ต่อสู้ ใช้กฎแห่งป่า (law of the jungle) ผู้เข้มแข็งที่สุดเท่านั้นที่อยู่รอด ปลาใหญ่กินปลาเล็กเสมอ ประเทศที่เข้มแข็งกว่ามักทำอะไรตามความต้องการในขณะที่ประเทศอ่อนแอกว่าไม่เป็นเช่นนั้น เป็นโลกที่ไม่เท่าเทียม

            ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสมัยโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวเมื่อกรกฎาคม 2020 ว่า “ถ้าโลกเสรีไม่เปลี่ยนคอมมิวนิสต์จีน คอมมิวนิสต์จีนจะเปลี่ยนเรา” เป็นการยืมถ้อยคำของประธานาธิบดี Richard Nixon ตีความว่าสุดท้ายจะเหลือแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ฝ่ายโลกเสรีก็คือฝ่ายคอมมิวนิสต์จีน สะท้อนการมองโลกของรัฐบาลอเมริกันในปัจจุบัน

            การที่สัจนิยมตีความบริบทความมั่นคงโลกที่รัฐต่างๆ จ้องจะทำร้ายทำลายอีกฝ่าย หรือมีบางประเทศที่ต้องการเป็นใหญ่ ทำให้รัฐทั้งหลายต้องให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติมากที่สุด เพราะที่สุดแล้วไม่มีประเทศใด หรือองค์กรระหว่างประเทศใดที่จะประกันความอยู่รอดของรัฐ มุมมองเช่นนี้สร้างความหวาดระแวงต่อกันอย่างไม่จบสิ้น

            ตรงข้ามกับแนวคิดนี้คือแสวงหาความร่วมมือต่อกัน ผูกพันกันด้วยมิติต่างๆ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในทุกระดับตั้งแต่ระดับรัฐจนถึงระดับประชาชน หากดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อเนื่องโอกาสที่ทำสงครามต่อกันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

การบิดเบือนทฤษฎี:

            สัจนิยมมีข้อดีหลายอย่างแต่เปิดช่องให้รัฐบาลบางประเทศตีความว่าสามารถรุกรานประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องปกติของโลก บางประเทศพยายามทำให้ดูดีอ้างว่าเป็นการป้องกันตนเอง ขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยที่มองมนุษย์เท่าเทียม ต้องมองผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะความต้องการของตนเท่านั้น สัจนิยมชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือเรื่องในป่าใหญ่ที่แท้จริงแล้วไม่มีความเท่าเทียม ที่พูดว่าเท่าเทียมเป็นแค่คำสวยหรูของผู้นำประเทศบางคนเท่านั้น

            ไม่ว่าทฤษฎีจะดีหรือไม่ ผู้ตีความนำไปใช้สร้างผลลัพธ์ออกมา แทนที่จะมุ่งแก้ปัญหาภายในของตนกลับพยายามตักตวงผลประโยชน์ผู้อื่นเพื่อทดแทนส่วนขาด คำถามคือแนวทางเช่นนี้จะยั่งยืนหรือไม่ นี่คืออารยธรรมที่กำลังทำลายตัวเองหรือไม่

ความกลัวจับใจกับผลลัพธ์:

Arash Heydarian Pashakhanlou อธิบายว่าสัจนิยมเป็นทฤษฎีที่ตั้งอยู่บนความกลัวอย่างยิ่ง กังวลว่าจะถูกรังแกทำร้าย ถึงขั้นทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ไม่อาจพึ่งประเทศอื่นหรือสถาบันการเมืองระหว่างประเทศ องค์การระดับโลก ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันตนเอง

            คำว่า “ป้องกันตัวเอง” ไม่ได้ตีความว่าป้องกันไม่ให้ถูกผู้อื่นทำร้ายเท่านั้น ยังอาจหมายถึงต้องไปทำร้ายทำลายผู้อื่นก่อนที่ผู้อื่นจะเติบใหญ่เข้มแข็งจนมาทำร้ายเรา

            รัฐบาลหรือผู้ที่ยึดแนวคิดสัจนิยมแบบสุดโต่งจึงต้องหาทางกำจัดคู่แข่งทั้งหมด ทำให้ประเทศอื่นๆ ตกเป็นทาสหรือกึ่งทาส ด้วยเหตุผลว่านี่คือการป้องกันตัวเอง

            โลกแห่งสัจนิยมสุดโต่งเช่นนี้จึงเป็นโลกที่ต้องทำสงครามใหญ่น้อยอยู่เสมอ สุดท้ายจะเหลือมหาอำนาจหรือนายทาสเพียงหนึ่งเดียว หรือ 2-3 เจ้าที่ร่วมกันครอบครอง

            โลกปัจจุบันอาจแบ่งเป็นมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า (มี 1 เดียว) อภิมหาอำนาจ (อาจมีเพียง 1 เดียวหรือมากกว่า เช่น มี 2 ประเทศ) มหาอำนาจระดับภูมิภาค ขึ้นกับวิธีการแบ่งมุมองที่ใช้ สะท้อนว่ามหาอำนาจมีหลายระดับ มีเขตอิทธิพลของตนเอง มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจ

            ความเป็นไปของโลกตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบันล้วนบ่งชี้ว่าโลกไม่สวยงามอย่างที่คิด โลกไม่สมบูรณ์แบบ ผู้คนมากมายโดนกดขี่ข่มเหง เมืองเล็กมักอยู่ใต้อำนาจเมืองใหญ่ อาณาจักรที่อ่อนแอจะสูญสิ้นไปในที่สุด ปัจจุบันสหประชาชาติเป็นองค์กรระดับโลกแต่หาได้เท่าเทียม คณะมนตรีความมั่นคงเป็นหลักฐานว่าประเทศใดคือผู้คุม เป็นเหตุผลว่าทำไมอิสราเอลไม่ถูกคว่ำบาตร นานาชาติประณามทุกปีแต่ไม่สามารถหยุดอิสราเอล ดินแดนของปาเลสไตน์นับวันจะลดน้อยลงทุกที กองทัพรัสเซียบุกยูเครนโดยที่คณะมนตรีความมั่นคงทำอะไรไม่ได้ เพราะมหาอำนาจทั้ง 5 ผู้เป็นสมาชิกถาวรของคณะนี้ต่างมีส่วนสำคัญในสงครามยูเครน

            ผู้เชี่ยวชาญถกปัญหานี้มานาน บางประเทศพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ที่อยู่คู่กับสหประชาชาติ (เป็นกลุ่มย่อยที่อยู่ในระบบใหญ่) พยายามบอกว่าจะสร้างระบบใหม่ที่เป็นธรรมมากขึ้น น่าติดตามว่าระบบใหม่ดีกว่าอย่างไร คำถามน่าคิดคือจะสร้างสันติสุขหรือเป็นเหตุให้ขัดแย้งมากขึ้น ทำสงครามอีกหลายครั้งในโลกศตวรรษที่ 21 นี้

            ไปๆ มาๆ โลกศตวรรษที่ 21 แม้เจริญก้าวหน้ากว่าโบราณกาลมากแต่ยังคงสภาพความเป็นป่าเช่นเดิม

16 มิถุนายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10075 วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2567)

---------------------------

บรรณานุกรม :

1. Brown, Chris. (2005). Understanding International Relations (3 Ed.). New York: Palgrave Macmillan.

2. Haass, Richard N. (2005). The Politics of Power: New Forces and New Challenges. Defining Power, 27 (2), Summer 2005, Retrieved from http://hir.harvard.edu/articles/1340/1/>

3. Kegley, Charles W., Blanton, Shannon L. (2011). World Politics: Trend and Transformation, (2010-2011 Ed.). MA: Wadsworth Publishing.

4. Mladenov, Nikolai. (2021). Chinas Grand Strategy and Power Transition in the 21st Century. (Switzerland: Palgrave Macmillan.

5. Pashakhanlou, Arash Heydarian. (2017). Realism and Fear in International Relations: Morgenthau, Waltz and Mearsheimer Reconsidered. UK: Palgrave Macmillan.

6. United Nations. (2015). Growth in United Nations membership, 1945-present. Retrieved from http://www.un.org/en/members/growth.shtml

-----------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก