แรงกดดันให้ฮามาส-อิสราเอลหยุดยิง
ไม่มีฝ่ายใดสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศอย่างสมบูรณ์แต่ได้บางเรื่องสำคัญตามต้องการ ทั้งหมดเกิดขึ้นบนความสูญเสียของชาวกาซาล้านคน
ยิ่งสงครามงวดเข้ามา อิสราเอลจะเข้ากวาดล้างเมือง Rafah มีหลายปัจจัยบ่งชี้ว่าทุกฝ่ายต้องการหยุดยิง
เหลือแต่รายละเอียดเงื่อนไขสำคัญที่ต้องเจรจา ต่างมีแรงกดดัน
บทความนี้สรุปแรงกดดันทั้งในส่วนอิสราเอล สหรัฐ ฮามาสและอิหร่าน ดังนี้
อิสราเอล:
ตั้งแต่เริ่มสงครามอันโตนิโอ
กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที
การโจมตีเมืองกาซาละเมิดสิทธิมนุษยชน ธันวาคมปีก่อนที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติมีมติให้หยุดยิง
เพียง 10 ประเทศเท่านั้นที่คัดค้านการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม เป็นหลักฐานชี้ว่านานาชาติเห็นว่ากองทัพอิสราเอลทำเกินกว่าเหตุ
สมควรหยุดยิง
ถ้ามองจากคนอิสราเอลแยกได้
2 ฝ่าย คือพวกไซออนิสต์ที่สนับสนุนกวาดล้างฮามาส
ไม่สนใจมนุษยธรรม กับพวกที่ยึดแนวทางเสรีนิยม กลุ่มหลังนี้มักต่อต้านนายกฯ เทนทันยาฮูด้วยหลายเหตุผล
ยิ่งสงครามทอดยาวประเด็นต้องการให้รัฐบาลช่วยตัวประกัน
เบื่อหน่ายผลกระทบจากสงครามที่ประชาชนต้องแบกรับแรงมากขึ้น
เป็นเหตุชุมนุมประท้วงต่อเนื่อง ชี้ว่าหากรัฐบาลแก้ไม่ได้ก็ขอให้นายกฯ ลาออก
คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นญาติพี่น้องของตัวประกันที่ยังอยู่ในมือฮามาส ยิ่งสงครามงวดเข้ามา
อิสราเอลจะเข้ากวาดล้างเมือง Rafah ที่พวกฮามาสใช้เป็นที่หลบซ่อนสุดท้าย
ญาติพี่น้องของตัวประกันยิ่งเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
เนทันยาฮูอาจชนะสงครามแต่กำลังแพ้ศึกในประเทศตัวเอง
ตั้งแต่ต้นรัฐบาลเนทันยาฮูย้ำเป้าหมายสำคัญคือทำลายฐานที่มั่นทางทหารกับองค์กรการเมืองให้สิ้นซาก
จะทำลายฮามาสจนถึงที่สุด มาถึงตอนนี้เหลือแต่พื้นที่ Rafah
เล็กนิดเดียว นับว่ากองทัพอิสราเอลได้กวาดล้างเกือบเบ็ดเสร็จ ฮามาสยังเป็นภัยคุกคามแต่ลดลงมาก
การฟื้นตัวต้องใช้เวลาหลายปี หากบุกเข้ามาอีกค่อยเข้ากวาดล้างอีกรอบ
เมื่อประเมินผลดีผลเสียทั้งหมด กองทัพอิสราเอลควรหยุดแค่นี้ก่อน
สหรัฐกับพวก:
ตั้งแต่ต้นสงครามบทบาทรัฐบาลไบเดนโดดเด่น เป็นผู้สนับสนุนหลักของอิสราเอลไม่ว่าจะทางทหาร
ทางการทูต กองทัพอิสราเอลรบได้ดีเพราะมีอาวุธกับความช่วยเหลือของสหรัฐโดยแท้
กองทัพสหรัฐกับพวกได้ปะทะฮูตีในเยเมน รักษาการเดินเรือเสรีในย่านทะเลแดง อ่าวเอเดน
(Gulf of Aden) อันเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เป็นอีกส่วนที่สหรัฐโดดเด่น
ด้านการเมืองระหว่างประเทศ
สหรัฐยังเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อความมั่นคงภูมิภาคตะวันออกกลาง สงครามนี้มีรัฐบาลสหรัฐเป็นส่วนผสมอยู่เสมอ
เจรจากับอิสราเอล กาตาร์ ซาอุฯ ลำพังข้อนี้ได้เชิดชูความเป็นมหาอำนาจ
ชี้นำความเป็นไปของภูมิภาคท่ามกลางกระแสการเข้ามาของจีนกับรัสเซียที่ไม่อาจเทียบสหรัฐในด้านความมั่นคงทางทหาร
เรื่องมนุษยธรรมเป็นอีกหัวข้อที่นานาชาติเอ่ยถึงมาก
ในตอนต้นรัฐบาลสหรัฐยังไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่เมื่อยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นและจำนวนมากเป็นเด็ก
(ราว 40%) รัฐบาลไบเดนเริ่มตีตัวออกห่างจากอิสราเอล ขอให้อิสราเอลมีแผนปกป้องพลเรือน
ถึงขั้นประกาศระงับส่งอาวุธบางส่วนแก่อิสราเอลเป็นการชั่วคราว
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ผู้สมัครทั้งจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทต่างชูนโยบายสนับสนุนอิสราเอล
ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของพวกล็อบบี้ยิสต์ อิทธิพลยิวในอเมริกา
แต่การที่นานาชาติเรียกร้องให้หยุดยิงมีผลแรงมากจนรัฐบาลไบเดนต้องให้ความสำคัญเพื่อชี้ว่าประธานาธิบดีให้ความสำคัญกับมนุษยธรรม
(โดยที่ยังสนับสนุนอิสราเอลทำศึกต่อไป)
แรงต่อต้านในประเทศทวีความสำคัญเมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยบางแห่งรณรงค์เรียกร้องให้หยุดยิง
คว่ำบาตรไม่ค้าขายกับอิสราเอล
นักศึกษาเหล่านี้มีปากกับความคิดเป็นอาวุธสามารถสร้างกระแสต้านยิว
ต้านอิสราเอลได้เป็นอย่างดี น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งไม่น้อย คนที่ลังเลใจอาจตัดสินใจไม่เลือกไบเดนอีก
การเลือกตั้งสหรัฐปลายปีนี้จึงมีอิทธิพลให้ฮามาส-อิสราเอลหยุดยิง
ด้วยฝีมือนักศึกษา
ฮามาส:
ฮามาสประกาศจุดยืน
Operation al-Aqsa Storm “เพื่อยุติอาชญากรรมทั้งสิ้นที่เกิดจากการยึดครอง”
ตอบโต้ความโหดร้ายทั้งหลายที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์และต่อมัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa
Mosque) 7 เดือนผ่านไปการปลดปล่อยปาเลสไตน์ยังไม่แล้วเสร็จแต่ได้พยายามต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว
พวกฮามาสยอมรับเองว่าควรหยุดยิง เสนอเจรจาหยุดยิง
ปรากฎการณ์ต่อต้านยิวอยู่คู่กับการปลดปล่อยปาเลสไตน์เรื่อยมา รายงานวิจัย ANTISEMITISM
WORLDWIDE REPORT FOR 2023 ชี้ว่าสงครามฮามาส-อิสราเอลโหมกระแสต้านยิวทั่วโลก
ถ้ามองว่ากระแสต้านยิวคือส่วนหนึ่งของสงคราม เป็นสงครามจิตวิทยา น่าเชื่อว่าคนยิวในที่ต่างๆ
ทั่วโลกอยู่ยากมากขึ้น และคงเป็นเช่นนี้อีกนาน ในมุมมองนี้การเสียสละของฮามาสกับชาวกาซานำสู่ชัยชนะนี้อย่างงดงาม
เนื่องจากรัฐบาลไบเดนถูกตีตราว่าคือพวกเดียวกับอิสราเอล เมื่ออิสราเอลไร้มนุษยธรรม
รัฐบาลไบเดนจึงถูกตีตราเช่นนั้นด้วย เรื่องนี้ลามไปถึงประชาชนอเมริกันต่อต้านรัฐบาลตัวเองดังที่นำเสนอข้างต้น
รัฐบาลเสรีประชาธิปไตย ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนถูกคนของตัวเองตีตราว่าไร้มนุษยธรรม
สงครามคร่าชีวิตไปแล้วกว่า
34,000 คน กาซาพังพินาศกลายเป็นซากปรักหักพัง คนกาซาที่เหลือกว่าล้านอยู่ได้ด้วยสิ่งของบรรเทาทุกข์จากนานาชาติ
ทรัพย์สินที่หลงเหลือคือชีวิตตัวเอง หากรบต่อในเมือง Rafah ชาวบ้านคงล้มตายอีกมาก
ยุติการรบคือยุติการสูญเสียผู้บริสุทธิ์
ที่สำคัญกว่านั้นคือได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มฟื้นฟูเมือง ชาวกาซาย้อนอดีตไม่ได้
ได้แต่เดินหน้าต่อด้วยความหวังมีชีวิตที่ดีขึ้น
การปลดปล่อยปาเลสไตน์ยังไม่แล้วเสร็จ
พวกฮามาสที่เหลือจำต้องฟื้นฟูเพื่อต่อสู้ในอนาคต เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป
อิหร่าน:
ตั้งแต่แรกอาจตีความว่าศึกนี้คือสงครามระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล
เป็นสงครามตัวแทนโดยใช้ฮามาส ฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี กองกำลังในซีเรียกับอิรัก (ก่อนปะทะกันโดยตรงในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่า)
เมื่อฮามาสได้รบกับอิสราเอลสมใจ ถือว่าอิหร่านประสบความสำเร็จด้วย
วันนี้นานาชาติประณามอิสราเอลกับสหรัฐครั้งใหญ่อีกรอบ โหมกระพือความจงเกลียดจงชังยิวโดยเฉพาะไซออนิสต์
เหล่านี้อาจเป็น “เป้าหมายที่ไม่ประกาศ”
ในฝ่ายต่อต้านอิสราเอล
อิหร่านคือประเทศโดดเด่นสุด ตีความเชิงศาสนาว่าคือนิกายชีอะห์ อิหร่านโดดเด่นในเวทีนานาชาติอีกครั้งด้วยเรื่องนี้
โดยเฉพาะในกลุ่มมุสลิมที่เห็นด้วยกับแนวทางอิหร่าน
ตั้งแต่ต้นฝ่ายอิหร่านย้ำหลายรอบว่ารัฐบาลอิหร่านไม่ได้สั่งการ
ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นฝีมือฮามาส 100% ทั้งนักรบกับการวางแผน เช่นเดียวกับกองกำลังอื่นๆ
การพูดเช่นนี้บ่งบอกว่าอิหร่านไม่เกี่ยวข้องโดยตรง
สหรัฐหรืออิสราเอลจึงโจมตีอิหร่านเพราะฮามาสหรือกองกำลังต่างๆ ไม่ได้ และเมื่ออิสราเอลกับอิหร่านปะทะกันโดยตรง
ฝ่ายอิหร่านโจมตีอิสราเอลเพียงรอบเดียว พร้อมกับเตือนอิสราเอลอย่าโต้กลับ ข้อนี้เป็นหลักฐานว่ารัฐบาลอิหร่านยังไม่ต้องการทำสงครามแตกหัก
รวมความแล้วฝ่ายอิหร่านประสบผลสำเร็จในการเชิดชูบทบาทตนเองในเวทีโลก
สามารถผลักดันให้นานาชาติโดดเดี่ยวอิสราเอลกับสหรัฐ ภาพลักษณ์รัฐบาลไบเดนเสียหาย
ความจงเกลียดจงชังยิวโดยเฉพาะไซออนิสต์เพิ่มสูง
เพียงเท่านี้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
โดยรวมแล้ว ไม่มีฝ่ายใดสำเร็จตามเป้าหมายที่ประกาศอย่างสมบูรณ์แต่ได้บางเรื่องสำคัญตามต้องการ
เช่น ได้กวาดล้างฮามาส ได้ตอกย้ำความเป็นมหาอำนาจ โลกเกลียดชังยิวมากขึ้น เชิดชูอิหร่าน
ที่ควรทิ้งท้ายคือทั้งหมดเกิดขึ้นบนความสูญเสียของชาวกาซาล้านคนที่คาดว่าต้องทนทุกข์จากผลของสงครามรอบนี้อีกนานหลายปี
----------------------
บรรณานุกรม :
1. Al-Aqsa
Storm: Palestinian resistance humiliates Israel. (2023, October 7). Tehran Times.
Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/489860/Al-Aqsa-Storm-Palestinian-resistance-humiliates-Israel
2. Ground offensive will be aimed at
destroying Hamas from bottom up. (2023, October 15). jnsdotorg. Retrieved from
https://www.jns.org/ground-offensive-will-be-aimed-at-destroying-hamas-from-bottom-up/
3. Iran says strikes on US troops are due to
its support for Israel, presence in region. (2023, October
30). Times of Israel. Retrieved from
https://www.timesofisrael.com/iran-says-strikes-on-us-troops-a-result-of-support-for-israel-presence-in-region/
4. Israel-Hamas war: 'Nothing will stop us,' Netanyahu says.
(2023, December 14). DW. Retrieved from
https://www.dw.com/en/israel-hamas-war-nothing-will-stop-us-netanyahu-says/live-67716305
5. ‘Netanyahu is the Problem.’ Why Tens of Thousands
Are Protesting in Israel. (2024, April 3). Time. Retrieved from https://time.com/6963118/israel-hamas-war-protests-netanyahu/
6. Pollack, Kenneth. (2013). Unthinkable:
Iran, the Bomb, and American Strategy. New York: Simon & Schuster.
7. Russia's Putin calls Gaza situation 'a
humanitarian catastrophe'. (2023, October 26). Daily Sabah. Retrieved
from https://www.dailysabah.com/world/mid-east/russias-putin-calls-gaza-situation-a-humanitarian-catastrophe
8. U.S. Department of
Defense. (2023, December 18). Statement from Secretary of Defense Lloyd J.
Austin III on Ensuring Freedom of Navigation in the Red Sea. Retrieved
from https://www.defense.gov/News/Releases/Release/Article/3621110/statement-from-secretary-of-defense-lloyd-j-austin-iii-on-ensuring-freedom-of-n/
-----------------