อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้
ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว
เหตุอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อ 1 เมษายน
นายทหารระดับสูงกับเจ้าหน้าที่หลายรายเสียชีวิต เป็นชนวนให้อิหร่านต้องปะทะอิสราเอลโดยตรง
ทางการอิสราเอลรายงานถูกโจมตีทั้งจากอิหร่าน กองกำลังในอิรักและเยเมน
ด้วยโดรนกับขีปนาวุธกว่า 300 แต่ส่วนใหญ่สกัดได้ด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐและอีกหลายประเทศ
รวมทั้งบางประเทศในตะวันออกกลาง
ไม่กี่วันต่อวันอิสราเอลโจมตีโต้กลับเล็กน้อย
มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
อิสราเอลกล้าลองของ:
ผู้เชี่ยวชาญตะวันออกกลางคิดถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเสมอ
คิดว่าช้าหรือเร็วต้องเกิดแน่ สงครามฮามาส-อิสราเอลนำสู่ความคิดนี้มากขึ้น
เพราะรัฐบาลอิหร่านสนับสนุนฮามาสสุดตัว เมื่อสงครามดำเนินไป ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรีย อิรัก ฮูตีในเยเมนต่างเข้าร่วมศึก
หลายคนกังวลสถานการณ์บานปลายเป็นสงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลโดยตรง
หลายทศวรรษที่ผ่านมาแม้ถูกกีดดันจากหลายประเทศ อิหร่านยังสามารถพัฒนาสร้างกองทัพที่น่าเกรงขาม
พัฒนาโดรนกับขีปนาวุธน้อยใหญ่ต่อเนื่อง
สามารถยิงถล่มอิสราเอลที่ห่างเป็นพันกิโลเมตร (กรุงเตหะรานอยู่ห่างจากกรุงเทลอาวีฟ
1,600 กิโลเมตร)
การปะทะรอบนี้พิสูจน์แล้วว่าขีปนาวุธกับโดรนอิหร่านเข้าโจมตีอิสราเอลได้จริง
เช่นเดียวกับที่อิสราเอลโจมตีไกลถึงใจกลางอิหร่านได้เช่นกัน
อิหร่านพร้อมสู้มานานแล้ว:
มกราคม 2019 นายพลจัตวา Aziz Nasirzadeh ผู้บัญชาการกองทัพอากาศอิหร่าน
กล่าวว่าอิหร่านจะ “ทำลายล้างอิสราเอลให้สูญสิ้นจากโลก” (eliminate Israel
from the Earth)
การทำลายอิสราเอลให้ราบหรือลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลกเป็นประโยคที่ได้ยินจากฝ่ายอิหร่านเป็นระยะๆ
ไม่แปลกถ้าอิหร่านจะทำสงครามกับอิสราเอล
ไม่กี่วันหลังเหตุอิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่าน
ฮัสซัน นัสรุลเลาะห์ (Hassan Nasrallah) ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนชี้ว่าอิหร่านจำต้องตอบโต้ไซออนิสต์แน่นอน
นำภูมิภาคเข้าสู่เฟสใหม่ (อิหร่านเข้ารบกับอิสราเอลโดยตรง) ขอให้กองกำลังทั้งหลายเตรียมพร้อมหากต้องทำสงครามเบ็ดเสร็จ
สงครามที่ไตร่ตรอง:
การที่กงสุลอิหร่านในซีเรียถูกโจมตีไม่น่าเป็นอุบัติเหตุหรือความผิดพลาด คงมีเหตุผลบางอย่างที่กระตุ้นให้อิสราเอลกล้าลงมือ
รวมถึงตั้งใจสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง ไม่หวั่นหากอิหร่านเล่นงานกลับ ยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา
บางคนวิเคราะห์ว่าเกี่ยวข้องกับนายกฯ เนทันยาฮูโดยตรงในเรื่องคดีความของท่าน ข้อนี้นักวิเคราะห์หลายคนเอ่ยถึงเรื่อยมา
อิหร่านโต้กลับอย่างไตร่ตรองเช่นกัน
ตั้งแต่เป้าหมายโจมตี แผนการที่ยิงจากทั้งฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังในอิรัก
เยเมนและจากอิหร่านโดยตรง อาวุธที่ใช้ รวมถึงท่าทียุติการรบ
ฝ่ายอิหร่านโจมตีเพียงชุดเดียว แล้วประกาศว่าจะไม่ยิงอีกเว้นแต่อิสราเอลโต้กลับ
เปิดช่องให้การจบเพียงเท่านี้ มีข้อมูลวงในตั้งแต่ก่อนลงมือว่าอิหร่านไม่คิดเปิดสงครามใหญ่
เป็นเพียงการปะทะพอหอมปากหอมคอ ข้อมูลวงในชิ้นนี้พิสูจน์แล้วว่าถูกต้อง
เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งอิสราเอลกับอิหร่านต่างไตร่ตรองรอบคอบ
รู้ดีว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ปล่อยตามอารมณ์หรือเหตุผลส่วนตัว แรงกดดันจากนานาชาติมีผล
สงครามใหญ่หรือสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกจึงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
อนาคตปะทะโดยตรงมากขึ้น:
ในอีกมุมประวัติศาสตร์ต้องบันทึกว่า
13 เมษายน 2024 อิหร่าน-อิสราเอลได้ปะทะกันโดยตรงเป็นครั้งแรกแล้ว
ต่างจากที่ผ่านมาเป็นสงครามตัวแทน (proxy war)
การโจมตีจากฮิซบอลเลาะห์ กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในซีเรียกับอิรัก
พวกฮูตีในเยเมน สงครามฮามาส-อิสราเอลเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทน
เมื่อมีครั้งแรกน่าเชื่อว่าจะมีครั้งถัดไปและอาจรุนแรงขึ้น
ถ้าขีปนาวุธกับโดรน 300 ชุดถูกสกัดได้เกือบหมด
อนาคตต้องใช้อาวุธที่ดีกว่าหรือเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น
เมื่ออิหร่านได้ยิงใส่แผ่นดินอิสราเอลหนึ่งครั้งแล้ว
ย่อมต้องวางแผนเตรียมกำลังสำหรับครั้งต่อไป
เช่นเดียวกับอิสราเอลที่ต้องเตรียมตัวรับมือหรือเป็นฝ่ายชิงลงมือก่อน
และพิสูจน์แล้วเช่นกันว่าอิสราเอลกล้าโต้กลับ
ไม่ใช่แค่เรื่องของ 2 ประเทศ:
การปะทะระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลตีความได้หลายแบบ
ถ้าตีความกรอบแคบว่าคือเรื่องกงสุล ลำพังข้อนี้สร้างผลกระทบที่นานาชาติต้องแบกรับ ทันทีที่ข่าวอิหร่าน-อิสราเอลส่อรุนแรง
ราคาน้ำมันดิบพุ่งทันทีและขึ้นอีกรอบเมื่ออิสราเอลโจมตีโต้กลับ นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าน้ำมันดิบ
WTI อาจสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหรือบวก
20% จากเดิม เพราะอิหร่านเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก
น้ำมันคือเรื่องต้นๆ
ที่หลายคนกังวล คนไทยจะโดน 2 เด้งจากราคาน้ำมันดิบพุ่ง เพราะต้องนำเข้าในราคาแพงในขณะเงินบาทอ่อน
จากนั้นสินค้าบริการต่างๆ จะขึ้นราคาตามขั้นตอน เริ่มจากค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ไม่ว่าคนไทยชอบหรือไม่คนไทยต้องรับกรรมจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับตน
สงครามล้างโลก?:
ตามข้อมูลจากสื่อขีปนาวุธกับโดรนกว่า
300 ชุดที่ยิงใส่อิสราเอลแต่ถูกสกัดได้ 99% เพราะเพราะสหรัฐ
อังกฤษ ฝรั่งเศส ซาอุฯ จอร์แดนร่วมกันปกป้องอิสราเอล จะเห็นว่า นานาชาติไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย
พวกตะวันตกด้านหนึ่งช่วยอิสราเอล อีกด้านขออิสราเอลไม่ตอบโต้
ชาติอาหรับด้านหนึ่งไม่ยอมให้สหรัฐใช้ฐานทัพกับน่านฟ้าของตนเพื่อต้านอิหร่าน
อีกด้านช่วยอิสราเอลสกัดการโจมตีจากอิหร่าน อาจตีความว่าขอเป็นกลางและพยายามลดความรุนแรงซึ่งได้ผลดีทีเดียว
ความเป็นไปของโลกไม่ใช่เรื่องของ
2-3 ประเทศแต่มีผลต่อนานาชาติ ยิ่งส่งผลรุนแรงนานาชาติจะยิ่งเข้ามามีส่วนร่วม
สงครามใหญ่ไม่อาจเกิดขึ้นง่ายๆ ทำไมนานาชาติต้องย่อยยับเพราะบางประเทศอยากใช้อาวุธนิวเคลียร์
ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้อง
คำถามหนักกว่านี้คือทำไมประชาชนหลายพันล้านต้องรับผลจากการตัดสินใจของชนชั้นปกครองไม่กี่กลุ่มที่คิดถึงแต่เหตุผลของตัวเอง
การปะทะระหว่างอิหร่าน-อิสราเอลรอบนี้พิสูจน์แล้วว่านานาชาติไม่ต้องการให้บานปลาย
โลกมีความขัดแย้งอยู่เสมอแต่ไม่ควรปล่อยให้ความขัดแย้งนำสู่การทำลายล้างมนุษยชาติ
ไม่ว่าจะสงครามเล็กหรือใหญ่
อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวไม่ว่าจะภูมิภาค
(ตะวันออกกลาง) หรือโลกต่างรับสงครามใหม่ไม่ได้อีกแล้ว (สงครามมีผลกระทบร้ายแรง)
ทุกฝ่ายต้องอดกลั้นไม่ก่อสงคราม
แต่ชาติผู้ยั่วยุกับประเทศผู้ก่อสงครามจะฟังหรือไม่ ก่อนอิสราเอลโต้กลับ
เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเตือนระวังสงครามเต็มรูปแบบทั่วภูมิภาค ('full-scale
regional conflict') เพราะต่างฝ่ายต่างยั่วยุ ไม่ลดราวาศอก หากตัดสินใจพลาดเพียงครั้งเดียวอาจกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
ทำลายล้างทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง ร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันทีเพื่อมนุษยธรรม
(ทั้งที่กาซาและอื่นๆ)
ล่าสุดดูเหมือนว่าอิหร่านจะไม่โต้กลับ
ปล่อยให้จบเพียงเท่านี้ (อาจมีการเจรจาในทางลับ และทุกฝ่ายขอให้จบเพียงเท่านี้)
นำความยินดีแก่คนรักสันติ ไม่อยากเห็นสถานการณ์บานปลาย
เข้าใจว่าทั้งรัฐบาลเนทันยาฮูกับอิหร่านไม่ต้องการให้บานปลาย
ส่วนอนาคตค่อยว่ากันใหม่
-------------------
บรรณานุกรม :
1. Hitchcock,
Mark. 2006 Iran: The Coming Crisis: Radical Islam, Oil, and the Nuclear
Threat. CO: Multnomah Books.
2. If Iran attacks Israel, Middle East turmoil could
lift oil past $100 a barrel. (2024, April 12). Market Watch. Retrieved
from
https://www.marketwatch.com/story/if-iran-attacks-israel-middle-east-turmoil-could-lift-oil-past-100-a-barrel-fd76ea09?mod=futures
3. Iran air force chief threatens to make
Israel ‘vanish from earth’. (2019, January 21). Al Arabiya. Retrieved
from
https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/01/21/Iran-air-force-chief-threatens-to-make-Israel-vanish-from-earth-.html
4. Israel’s war on Gaza live: Iran launches
retaliatory attack on Israel. (2024, April 15). Al Jazeera. Retrieved
from
https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2024/4/14/israels-war-on-gaza-live-blasts-sirens-as-iranian-missiles-intercepted
5. Jordan says Israeli retaliation for Iran strikes risks
wider regional war. (2024, April 18). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2494956/middle-east
6. Middle
East, world cannot 'afford more war', says UN chief Guterres. (2024, April 14).
France24. Retrieved from
https://www.france24.com/en/middle-east/20240414-
7. Nasrallah: Iran response to consulate attack
“inevitable”. (2024, April 7). Tehran Times. Retrieved from
https://www.tehrantimes.com/news/496824/Nasrallah-Iran-response-to-consulate-attack-inevitable
8. Oil prices bounce on continued Mideast
tensions, but head for weekly decline. (2024, April 12). Market Watch. Retrieved
from
https://www.marketwatch.com/story/oil-prices-bounce-on-continued-mideast-tensions-but-head-for-weekly-decline-7c4e410a?mod=home-page
9. UN chief warns Mideast on brink of 'full-scale regional
conflict'. (2024, April 19). Arab News. Retrieved from
https://www.arabnews.com/node/2494956/middle-east
-----------------