BRICS ขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัวชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

            ปี 2024 BRICS มีสมาชิกใหม่อีก 4 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เดิมมีชื่ออาร์เจนตินากับซาอุดีอาระเบียด้วยแต่ล่าสุดยังไม่เข้าร่วม) รวมของเก่ากับใหม่เป็น 9 ประเทศ มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

          ประการแรก ระเบียบโลกที่สหรัฐเป็นแกนนำเสื่อมถอย

            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหลังสงครามเย็นยุติ ขั้วสหภาพโซเวียตล่มสลาย โลกเข้าสู่ระบบขั้วเดียวที่สหรัฐกับพวกเป็นแกนนำ แต่เมื่อจีนเริ่มก้าวขึ้นมาพร้อมกับรัสเซียที่ฟื้นตัวตามลำดับในสมัยปูติน แม้ทั้งคู่ยังเทียบอภิมหาอำนาจสหรัฐไม่ได้ นานาชาติรับรู้อิทธิพลโลกที่เปลี่ยนไป สหรัฐกับพวกถดถอยเมื่อเทียบกับขั้วจีน-รัสเซียที่ก้าวขึ้นมาตามลำดับ

            หลายประเทศเอ่ยถึงความไม่พอใจต่อระเบียบโลกเก่า การคว่ำบาตรฝ่ายเดียว การใช้อิทธิพลกดดันให้นานาชาติทำตามนโยบายที่ตนต้องการ ใช้อำนาจบังคับไม่ให้รัสเซียทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบ SWIFT ไม่แปลกหากรัสเซียหนีไปใช้ระบบอื่น หลายประเทศคิดถึงการสร้างระบบชำระเงินใหม่ที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐกับพวก

          ประการที่ 2 ความเป็นพวกเดียวกันหรือมีศัตรูร่วม

            BRICS รวมตัวกันอย่างหลวมๆ บนพื้นฐานการเป็นมิตร บางกรณีอาจตีความว่ามีศัตรูร่วม ในการเมืองระหว่างประเทศทุกประเทศหวังมีมิตรจำนวนมาก มีศัตรูให้น้อยที่สุด หลายประเทศเข้าร่วมเพราะต้องการประโยชน์ข้อนี้ อย่างน้อยมีจีน รัสเซียเป็นเพื่อนให้อุ่นใจ ได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นจากกลุ่ม เป็นประโยชน์เบื้องต้นจากการเข้าร่วม BRICS

            ความเป็นมิตรเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่กลุ่มเดียวกันแต่ควรตระหนักด้วยว่าไม่ใช่จะไม่ขัดแย้งกันเลย ข้อพิพาทเดิมยังอยู่ ความขัดแย้งแนวชายแดนอินเดีย-จีนเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งคู่พิพาทเรื่องนี้หลายทศวรรษแล้ว มีการปะทะกัน ทหารสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายพร้อมกับการเจรจาเป็นระยะ ยังไม่บรรลุข้อตกลงยุติปัญหาอย่างสมบูรณ์ ทหารหลายหมื่นนายเฝ้าระวังเข้มงวด ได้แค่ไม่ยั่วยุ ไม่ขยายความขัดแย้ง

            เป็นลักษณะที่พบเห็นทั่วไปในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          ประการที่ 3 ข้อมูลขัดแย้ง BRICS ไม่ใช่กลุ่มต่อต้านสหรัฐ

            BRICS ก่อตั้งปี 2010 เป็นชื่อของ 5 ประเทศที่พัฒนาและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) อันประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ (ก่อนจะเป็น BRICS ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ เดิมปี 2001 มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ แอฟริกาใต้เข้าร่วมปี 2010) เป้าหมายเบื้องต้นคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

            หากพิจารณารายชื่อสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ อินเดียซึ่งอยู่ในกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและอินเดีย นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า Quad คือกลไกยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ ใช้สกัดกั้นอิทธิพลจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา ดังนั้นการที่อินเดียเป็นสมาชิกทั้ง BRICS กับ Quad คู่กันเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งว่าเมื่อเริ่มต้น BRICS ไม่ใช่ขั้วต่อต้านอเมริกาหรือยังไม่เด่นชัดในตอนต้น

            สมาชิกใหม่ของ BRICS อียิปต์และเอธิโอเปียไม่มีปัญหากับสหรัฐ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แม้ไม่นานนี้ขยับเข้าหาจีนมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์เก่าแก่กับสหรัฐยังดำรงอยู่ บทบาทด้านความมั่นคงของสหรัฐในย่านอ่าวเปอร์เซียเข้มแข็งมาก เฉพาะอิหร่านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐ

            ดังนั้น ไม่น่าจะถูกต้องถ้าตีความว่าการขยายสมาชิกจาก 5 เป็น 9 คือการขยายตัวของขั้วต่อต้านสหรัฐกับพวก รัฐบาลสหรัฐกับพวกไม่สามารถอ้างเต็มปากว่า BRICS คือขั้วต่อต้าน เป็นแนวทางการอธิบายแบบหนึ่ง

          ประการที่ 4 โอกาสในฐานะสมาชิก

            BRICS เดินหน้าสู่องค์กรร่วมมือหลากหลายแทบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ สังคมวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ขาดแต่เพียงการเป็นพันธมิตรทางทหารเท่านั้น (คล้ายประชาคมอาเซียน) ที่ผ่านมาอาจไม่สนิทกับบางประเทศ การอยู่กลุ่มเดียวกันเปิดโอกาสได้ร่วมมืออย่างเป็นทางการ

            ยอดค้าขายกลุ่ม BRICS ค่อยๆ โตต่อเนื่อง ตัวเลขนี้จะโตแบบก้าวกระโดดเมื่อมีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามา ข้อนี้อาจมองว่าเป็นแค่โอกาสเบื้องต้น หรือหลีกหนีข้อตกลงกลุ่มอื่นๆ ที่เสียเปรียบก็ได้

          ประการที่ 5 บทพิสูจน์แนวทางระเบียบโลกใหม่

            รัฐบาลจีน รัสเซียเอ่ยถึงแนวทางระเบียบโลกใหม่ที่ต่างจากของรัฐบาลสหรัฐกับพวก

            ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศ BRICS ยึดมั่นพหุภาคีนิยม ยึดมั่นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ปฏิบัติต่อทุกประเทศอย่างเท่าเทียม นำประเด็นต่างๆ เข้าสู่การปรึกษาหารือ ต่อต้านลัทธิความเป็นเจ้าและการเมืองแห่งอำนาจ (power politics) ส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือความมั่นคงรอบด้านและยั่งยืน เป็นคนกลางร่วมแก้ปัญหาในภูมิภาคต่างๆ

            ร่วมกันสร้างเศรษฐกิจโลกแบบเปิด ต่อต้านลัทธิกระทำฝ่ายเดียวและปกป้องการค้า สนับสนุนตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา กลุ่มจะติดตามเส้นทางประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด ฉวยโอกาสการพัฒนา ร่วมเผชิญหน้าความท้าทาย แสดงบทบาทสร้างสรรค์ต่อการสร้างระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ ประชาคมโลกที่ร่วมแบ่งปันอนาคตมนุษยชาติ

            ด้านประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าการค้าการลงทุนในกลุ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่สำคัญคือตั้งอยู่บนหลักความเท่าเทียม ช่วยเหลือกัน เคารพผลประโยชน์ของอีกฝ่าย เหล่านี้คือแนวยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มที่ประเทศส่วนใหญ่อยากเห็นเช่นนี้

            เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียชี้ว่าระบบโลกเดิมที่บางประเทศรักษาการอยู่ดีกินดีของตนด้วยการกดขี่ขูดรีดผู้อื่นกำลังจะสิ้นสุด มนุษยชาติไม่ต้องการเช่นนั้น โลกพหุภาคีที่เป็นธรรมกำลังก่อตัว มีศูนย์เศรษฐกิจใหม่ ศูนย์การตัดสินใจใหม่ที่ยึดผลประโยชน์ของทุกชาติ เคารพอธิปไตยของชาติอื่น หลายประเทศอยากเข้าร่วมกลุ่ม หนีการใช้ดอลลาร์เป็นหลักฐานในตัวเอง    ยินดีต้อนรับประเทศที่มีระบอบปกครองหลากหลาย ยอมรับค่านิยมลักษณะเฉพาะ สามารถร่วมมือกันในลักษณะเครือข่าย (network) พูดคุยหารืออย่างความเท่าเทียมแม้ต่างวัฒนธรรม ยอมรับว่าทุกชาติล้วนตัดสินอนาคตของตนเอง เลือกแนวทางพัฒนาหลากหลาย BRICS ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแสวงหาจุดร่วมในทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด

            ดังนั้นสมาชิก BRICS ไม่มีใครคิดสร้างผู้เป็นเจ้าร่วม (collective hegemon) และไม่ใช่การสร้างขั้วตามแบบสงครามเย็น (อย่างไรก็ตามขึ้นกับการตีความ หากตีความว่าแยกตัวออกจากระบอบโลกขั้วเดียวที่สหรัฐเป็นแกนนำ ย่อมต้องตีความว่า BRICS ลดอำนาจสหรัฐกับพวก)

            BRICS ในยามนี้คือตัวแทนระเบียบโลกใหม่ที่กำลังเติบโตทั้งเชิงปริมาณกับคุณภาพ เป็นแบบอย่างที่แตกต่างจากระบบของรัฐบาลสหรัฐกับพวก ส่วนจะเป็นแค่นโยบาย “ขายฝัน แอบแฝง หลอกลวง” หรือไม่ สำเร็จมากน้อยเพียงไรกาลเวลาจะให้คำตอบ

            การตัดสินใจของกลุ่มใช้หลักประชาธิปไตย แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าเมื่อกลุ่มใหญ่ขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น จีนกับรัสเซียได้ประโยชน์โดยตรง โอกาสการค้าการลงทุนมากขึ้น มีมิตรประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยลดความขัดแย้งต่อกัน ส่งเสริมความเป็นมหาอำนาจที่ได้รับการยอมรับแม้จะไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยตามแนวทางตะวันตก ตรงตามที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกกังวล

            ถ้ายึดว่าระเบียบโลกเดิมมีสหรัฐกับพวกเป็นกลุ่มหลัก BRICS ที่ขยายตัวชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่อีกฝ่ายที่ตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น ทั้งนี้หลายประเทศไม่คิดย้ายข้างเปลี่ยนขั้ว เพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

            ที่สุดแล้ว BRICS ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าการเข้าร่วมมีคุณมากกว่าโทษ คุ้มค่าที่เป็นสมาชิก โลกมีโอกาสเป็นพหุภาคี ตอบสนองความต้องการของผู้คาดหวัง 

14 เมษายน 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 10012 วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2567)
-------------------------

บรรณานุกรม :

1. Brics summit: Is a new bloc emerging to rival US leadership? (2023, August 25). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-africa-66609633

2. Chinese president shares thoughts on world's next decade at BRICS Business Forum. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_137348275.htm

3. Council on Foreign Relations. (2023, August 31). The BRICS Summit 2023: Seeking an Alternate World Order? Retrieved from https://www.cfr.org/councilofcouncils/global-memos/brics-summit-2023-seeking-alternate-world-order

4. Fair do's for the Global South. (2023, August 21). China Daily. Retrieved from https://www.chinadaily.com.cn/a/202308/21/WS64e292b3a31035260b81d295.html

5. Full text of Chinese president's speech at BRICS Business Forum in South Africa. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_129920686.htm

6. Lavrov: BRICS ‘Can Become One of Pillars of New World Order’. (2023, August 21). Sputnik Globe. Retrieved from https://sputnikglobe.com/20230821/lavrov-brics-can-become-one-of-pillars-of-new-world-order-1112756353.html

7. President of Russia. (2023, August 22). Video Address to the Participants in the BRICS Business Forum. Retrieved from http://en.kremlin.ru/events/president/news/72085

8. Xi says BRICS important force in shaping int'l landscape. (2023, August 24). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20230824/e9727a06c97d421484c1ee32dd340b16/c.html

-----------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก