แลนด์บริดจ์ไทยในความมั่นคงระหว่างประเทศ

ต้องมุ่งสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมแก่ประชาคมโลก ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สอดคล้องกับหลักนโยบายต่างประเทศไทย

            หลายศตวรรษแล้วนับจากมนุษย์ใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางเรือในทะเลหลวง สร้างความมั่งคั่งรุ่งเรืองแก่ประเทศผู้สามารถใช้ประโยชน์ดังกล่าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การค้าทางทะเลสัมพันธ์กับเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แม้กระทั่งสงคราม การก้าวขึ้นมาของมหาอำนาจใหม่

            ในกรอบที่ใกล้ตัว ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลที่สำคัญของโลก เชื่อมระหว่างแปซิฟิกกับอินเดียไปไกลถึงแอฟริกา ยุโรป เป็นอีกปัจจัยช่วยให้สิงคโปร์เจริญรุ่งเรือง หลายประเทศได้ประโยชน์รวมทั้งไทย

            ในแง่ความมั่นคงระหว่างประเทศช่องแคบมะละกาเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ มหาอำนาจต่างหวังกำกับควบคุม สหรัฐมีสัญญากับสิงคโปร์เรื่องเติมเสบียงซ่อมบำรุงแก่เรือรบสหรัฐที่ผ่านไปมา ในอนาคตกองเรือบรรทุกเครื่องบินจีนคงจะมาย่านนี้บ้าง

            ไม่ว่าชอบหรือไม่ มหาอำนาจทั้งหลายจะส่งกองทัพมาป้วนเปี้ยนแถวนี้

            เพราะความมั่นคงปลอดภัยของการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาสำคัญยิ่ง บางคนพูดถึงสงครามที่เครื่องบินเรือรบปะทะกัน ความจริงแล้วแค่ปิดหรือขัดขวางการขนส่งทางทะเลก็สร้างความปั่นป่วนแก่ระบบเศรษฐกิจแล้ว ตลาดเงินตลาดทุนจะรับผลกระทบก่อน จินตนาการว่าภายในสัปดาห์ดัชนีตลาดหุ้นลดฮวบ 30-40%  เพราะประเทศประสบปัญหานำเข้าเชื้อเพลิง บริษัทเอกชนจำนวนมากไม่สามารถส่งสินค้าตามปกติ ฯลฯ เครื่องบินเรือรบยังไม่ปะทะกันแต่เศรษฐกิจเสียหายแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้มีผลต่อความมั่นคงทางสังคม ลามไปถึงรัฐบาล

            “โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โครงการแลนด์บริดจ์” ของไทยไม่พ้นจากแนวทางนี้

ความสามารถในการแข่งขัน:

            การเพิ่มเส้นทางขนส่งช่วยลดความแออัดของช่องแคบมะละกาที่เป็นปัญหามานานแล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอธิบายเรื่องนี้ว่าความแออัดทำให้การเข้าคิวผ่านช่องแคบกินเวลานาน ปริมาณสินค้าที่ใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่มขึ้น ช่องแคบมะละกาไม่สามารถบริหารได้ เส้นทางนี้ใช้ขนส่งน้ำมัน 60 เปอร์เซ็นต์จากทั่วโลก

            ความแออัดเป็นปัญหาเก่าที่พยายามบริหารจัดการอย่างดีที่สุดแล้ว คาดว่าน่าจะแออัดมากขึ้นในอนาคตเมื่อการค้าระหว่างประเทศขยายตัว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จะโตมากในศตวรรษนี้

            ทั้งนี้การเพิ่มเส้นทางต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะประโยชน์จากต้นทุนการขนส่ง ความเร็วในการขนส่ง เป็นคำถามสำคัญที่หลายฝ่ายยังสงสัย แลนด์บริดจ์ไทยสามารถแข่งกับเส้นทางอื่นได้ดีเพียงไร

            นอกจากท่าเรือสิงคโปร์ โครงการท่าเรือน้ำลึก Melaka Gateway ของมาเลเซียที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่ต้องพิจารณาใกล้ชิด

            นายชี ฮง ทัต รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ชี้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทยอาจสามารถย่นระยะเวลาการเดินทางสำหรับเรือขนส่งสินค้าบางประเภทลงได้เพียงไม่กี่วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการล่องเรือผ่านช่องแคบมะละกาและช่องแคบสิงคโปร์ แต่จะประหยัดเวลามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการถ่ายตู้คอนเทนเนอร์จากเรือบรรทุกสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งผ่านเส้นทางเชื่อมระหว่างท่าเรือทั้งสอง ไปจนถึงระยะเวลาในการยกตู้คอนเทนเนอร์ลงเรือบรรทุกสินค้าอีกลำ

            เรื่องประโยชน์ที่ได้จากโครงการจึงสำคัญมาก ต้องตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนเป็นที่ยอมรับก่อน เพราะโครงการก่อสร้างมูลค่ามหาศาล ผู้ลงทุนย่อมต้องมั่นใจก่อนว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ไทยในท่ามกลางมหาอำนาจ:

            ทุกวันนี้การขนส่งทางเรือเชื่อมเอเชียแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านทางช่องแคบมะละกาเป็นหลัก หากโครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จจะเป็นเส้นทางใหม่ คู่ขนานกับเส้นทางช่องแคบมะละกา กองเรือบรรทุกสินค้านานาชาติจำนวนมากจะแล่นเข้ามาในอ่าวไทย ผ่านแผ่นดินไทย ข้าราชการกรมกองต่างๆ ตำรวจทหารจำนวนไม่น้อยจะมีส่วนกำกับดูแลการขนส่งโดยใช้แลนด์บริดจ์นี้

            บางคนตั้งคำถามว่าโครงการนี้จะดึงประเทศไทยเข้าสู่การช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจหรือไม่ หลายคนเอ่ยถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนที่อาจจะร้อนแรง

            มหาอำนาจย่อมต้องเข้ามาสัมพันธ์กับแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความเป็นไปในช่องแคบมะละกาเป็นตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว แต่ข้อนี้ไม่เป็นเหตุให้ไทยเลือกที่จะไม่สร้าง เลือกที่จะไม่พัฒนา การด้อยพัฒนาเสี่ยงถูกคุกคามและมักสูญเสียมากกว่า

             ไม่ว่าไทยจะสร้างแลนด์บริดจ์หรือไม่ การพัฒนาใดๆ สามารถถูกตีความเข้ากับการเมืองระหว่างประเทศได้ทั้งสิ้น ขึ้นกับว่ามหาอำนาจต้องการอะไรจากไทย

            นอกจากนี้ ต้องตระหนักว่าแต่ไหนแต่ไรไทยอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอยู่เสมอ ในยุคล่าอาณานิคมรัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศษหารือกันว่าจะจัดการสุวรรณภูมิอย่างไร ในสมัยสงครามเย็น (Cold War) ไทยเจอทั้งศึกนอกศึกใน ปัจจุบันโลกพ้นจากสงครามเย็นแบบเดิมแต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนตีความว่าโลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นใหม่ (new Cold War) ขึ้นชื่อว่าสงครามเย็นน่าจะขัดแย้งยาวนานหลายทศวรรษ จีนกับสหรัฐจะเป็นคู่แข่งสำคัญในย่านนี้ ประเทศไทยต้องอยู่ในวังวนการช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจอีกนานซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก สมาชิกอาเซียนอื่นๆ ล้วนอยู่ในวังวนนี้

            โจทย์สำคัญของนโยบายต่างประเทศไทยคือการวางตำแหน่งของประเทศเพื่อรับมือสถานการณ์และทิศทางของโลก ขับเคลื่อนนโยบายในทุกมิติเพื่อตอบสนองผลประโยชน์แห่งชาติและสร้างความกินดีอยู่ดีแก่ประชาชน

            พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยไม่เลือกข้าง ไม่เป็นคู่ขัดแย้งหรือส่วนหนึ่งของความขัดแย้งใดๆ ประเทศไทยดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างมีดุลยภาพ ท่ามกลางโลกหลายขั้วอำนาจ แข่งขันทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจและเทคโนโลยี การวางจุดยืนของประเทศไทยสำคัญที่สุด

            และในอีกวาระกล่าวว่า ไทยจะรักษาสมดุลในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนและสหรัฐ รวมทั้งมีจุดยืนของตนเองบนพื้นฐานของหลักการที่ชัดเจนและผลประโยชน์ของประเทศ และมองไปยังประเทศที่มีอำนาจในตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศอำนาจอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์กับไทย

            แนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ด้วยแนวทางนี้ไทยน่าจะอยู่รอดไม่พาตัวเองเข้าสู่ความขัดแย้งที่มหาอำนาจบางประเทศพยายามให้ไทยเลือกข้าง

ดึงนานาชาติมาร่วมทุนไม่ผูกขาด:

            โครงการแลนด์บริดจ์จำต้องใช้เทคโนโลยี การก่อสร้างจากบริษัทต่างชาติ เช่นเดียวกับทุนก่อสร้าง การเปิดกว้างเอื้อให้ได้ใช้เทคโนโลยีเหมาะสมที่สุด เปิดให้นานาชาติเข้าลงทุน ไม่เอื้อกลุ่มทุนประเทศใดประเทศหนึ่งคือแนวทางที่โครงการตั้งไว้

            การเปิดให้นานาชาติเข้าศึกษาร่วมทุนอย่างเปิดเผยโปร่งใสแม้จะยุ่งยาก เสียเวลา แต่ช่วยลดข้อกล่าวหารัฐบาลไทยเอนเอียงในการเมืองระหว่างประเทศ ไม่น่าจะเกินฝีมือรัฐบาลที่จะดำเนินการอย่างโปร่งใสที่สุด

            การบริหารจัดการเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง มุ่งสร้างประโยชน์แก่นานาชาติ ไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

            เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอโครงการนี้ต่อสหรัฐ จีน ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศทั้งภาครัฐกับเอกชน

            แผนและการดำเนินการตั้งแต่ต้นจึงสำคัญ ต้องเป็นแลนด์บริดจ์ที่สามารถแข่งขันได้ตลอดไป ยั่งยืนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างคุณประโยชน์ทางเศรษฐกิจสังคมแก่ประชาคมโลก ไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สอดคล้องกับหลักนโยบายต่างประเทศไทย

10 มีนาคม 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9977 วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2567)

-------------------------------

บรรณานุกรม :

1. กระทรวงการต่างประเทศไทย. (2023, November 22). รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมอบนโยบายในพิธีเปิดการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ประจำปี ๒๕๖๖. Retrieved from https://www.mfa.go.th/th/content/pr201123?cate=5d5bcb4e15e39c306000683d

2. เข้าใจโครงการ "แลนด์บริดจ์" ที่รัฐบาลเศรษฐาพยายามขายต่างชาติ ยังเป็นทางเลือกที่เหมาะสมหรือไม่. (2024, January 19). บีบีซีไทย. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/articles/c972795wv11o

3. นายกฯ ชี้แจง Landbridge เกิดขึ้นจากไทยเป็นศูนย์กลาง-ปัญหาช่องแคบมะละกา. (2024, January 4). การเงินธนาคาร. Retrieved from https://moneyandbanking.co.th/2024/83317/

4. Thai Land Bridge bid straddles a delicate US-China line. (2022, February 20). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2024/02/thai-land-bridge-bid-straddles-a-delicate-us-china-line/

-----------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก