คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ที่เลือนราง

ด้วยความคิดว่าภายในปี 2030 เกาหลีเหนือน่าจะสะสมนิวเคลียร์ถึง 300 หัวรบ เกาหลีใต้จึงควรมีนิวเคลียร์ร้อยลูกเพื่อรับมือภัยดังกล่าว

            ข่าวเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธมีต่อเนื่องแทบทุกเดือน ทั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธี ขีปนาวุธพิสัยกลาง จรวดร่อนทางยุทธศาสตร์ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค Hwasong-8 อาวุธที่ปล่อยจากเรือดำน้ำ จนถึงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ Hwasong-17 การปล่อยจากฐานยิงระบบรางรถไฟ แม้บางกรณีน่าสงสัยว่าขีปนาวุธมีความสามารถมากจริงหรือไม่ ล้วนเป็นที่จับตาของเพื่อนบ้าน

            โดยทั่วไปรัฐบาลเกาหลีเหนือยึดแนวทางไม่ใช้นิวเคลียร์ก่อน อาวุธนิวเคลียร์มีเพื่อการป้องปราม แต่นโยบายนี้ไม่แน่นอน บางครั้งพูดว่าพร้อมจะชิงลงมือก่อน (preemptively use) เช่นเมษายน 2022 แถลงอีกครั้งว่าพร้อมจะชิงลงมือก่อนถ้าถูกข่มขู่คุกคาม

เกาหลีใต้ควรมีนิวเคลียร์ร้อยลูก:

            นับจากเกาหลีเหนือทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี 2006 และทำต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นจริงเป็นจังทันที เกิดกระแสเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง จากฐานคิดว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง รัฐบาลสหรัฐคงไม่เสี่ยงร่วมสงครามนี้ ไม่ต้องการให้ประเทศตัวเองเป็นพื้นที่หัวรบนิวเคลียร์หล่นใส่ แม้เกาหลีใต้กับสหรัฐมีสนธิสัญญาป้องกันประเทศต่อกัน

            นับวันคนเกาหลีใต้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้มากขึ้น

            ในแง่เทคโนโลยี นักวิชาการบางคนมั่นใจว่าเกาหลีใต้สามารถสร้างทั้งตัวหัวรบกับระบบปล่อยนิวเคลียร์ (เกาหลีใต้สร้างขีปนาวุธพิสัยกว่าพันกิโลเมตรของตัวเองได้แล้ว)

            แต่รัฐบาลสหรัฐตั้งเป้าว่าเกาหลีใต้ต้องใช้นิวเคลียร์ของตน อาจคล้าย Nuclear sharing ที่ทำกับยุโรป เอื้อให้สหรัฐมีอิทธิพลในเกาหลีใต้ต่อไป รักษาความเป็นมหาอำนาจผู้ครองความเป็นเจ้า

            เกาหลีใต้จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ของใครได้ข้อสรุปเมื่อมิถุนายน 2023 รัฐบาลยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk-yeol) บรรลุข้อตกลงยกระดับความเป็นพันธมิตรสู่พันธมิตรฐานนิวเคลียร์ ("nuclear-based alliance")

            งานวิจัยร่วมของ The Asan Institute for Policy Studies กับ Rand Corp เมื่อปี 2023 เห็นว่าเนื่องจากรัฐบาลเกาหลีเหนืออาจมีแผนสะสมนิวเคลียร์ 300 ถึง 500 หัวรบ เฉพาะภายในปี 2030 น่าจะมีถึง 300 หัวรบ เกาหลีใต้ควรมีนิวเคลียร์ร้อยลูกเพื่อรับมือภัยดังกล่าว

            นิวเคลียร์เกาหลีเหนือคุกคามสหรัฐด้วย เกาหลีใต้กับสหรัฐจึงควรร่วมมือด้วยการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) 100 ลูกโดยที่เกาหลีใต้จะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายนี้ และหัวรบเหล่านี้จะเก็บไว้ที่สหรัฐแต่สามารถนำมาประจำการที่เกาหลีใต้ถ้าจำเป็น

            รวมความแล้วภายใต้แนวคิดนี้รัฐบาลไบเดนต้องการให้เกาหลีใต้เป็นจ่ายค่าอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี 100 ลูกแลกกับที่เกาหลีใต้จะได้รับการปกป้องจากสหรัฐหากเกิดสงครามนิวเคลียร์

บทบาทสหรัฐ:

            สหรัฐเป็นตัวละครสำคัญมีผลต่อความเป็นไปในคาบสมุทรเกาหลี มีประเด็นสำคัญดังนี้

          ประการแรก นโยบายต่อเกาหลีเหนือ

            นับจากเกิดเกาหลีเหนือ ประเทศนี้เป็นปรปักษ์ของสหรัฐเรื่อยมา การอธิบายตีความเปลี่ยนแปลงตามบริบทของยุคสมัย แต่ลึกๆ แล้วรัฐบาลสหรัฐหวังล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือ หนึ่งในคำประกาศที่ชัดเจนคือเมื่อมกราคม 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช กล่าวสุนทรพจน์ใน State of the Union Address ประกาศว่าเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งใน “axis of evil” ร่วมกับอิรัก อิหร่าน มองเกาหลีเหนือเป็นศัตรู “เราต้องสู้กับศัตรู ทำลายแผนและเผชิญหน้าภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด”

            รัฐบาลสหรัฐแต่ละชุดอาจแสดงออกหนักบ้างเบาบ้าง ญาติดีบ้าง แต่รวมความแล้วถือเป็นศัตรู ดังเช่นที่รัฐบาลเกาหลีเหนือย้ำหนักหนาว่าสหรัฐต้องการล้มล้างตน

          ประการที่ 2 ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

            ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกคือการครองความเป็นเจ้าทั้งภูมิภาค จีนเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุด อาจตีความว่ายุทธศาสตร์นี้คือการจัดการหรือปิดล้อมจีนฉบับล่าสุดนั่นเอง

            หลักยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคนี้ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ข้อแรก รักษาความเป็นเจ้า ข้อ 2 ร่วมมือกับพันธมิตร มิตรประเทศ วางระบบโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค ข้อ 3 จัดระเบียบภูมิภาคทุกมิติ ทั้งด้านการเมืองของแต่ละประเทศ (ส่งเสริมประชาธิปไตย) ระบบเศรษฐกิจ (ทุนนิยมเสรี) กติกาการค้าระหว่างประเทศ ค่านิยมสังคม (ส่งเสริมค่านิยมแบบตะวันตก)

            สหรัฐไม่อาจแพ้ในภูมิภาคนี้เพราะเท่ากับสูญเสียความเป็นมหาอำนาจผู้เป็นเจ้า เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าเสื่อมถอยจริง เรื่องนี้สำคัญยิ่งยวดไม่อาจให้เกิดขึ้น

            ความเป็นไปของคาบสมุทรเกาหลีถูกนำมาพัวพันกับยุทธศาสตร์สหรัฐในย่านนี้เรื่อยมา ยิ่งรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าจีนเป็นภัยคุกคาม สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีจะยังคงครุกรุ่นและตึงเครียดเป็นระยะไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเกาหลีเหนือเท่านั้นแต่จากจีนที่สำคัญยิ่งกว่า

          ประการที่ 3 การโฆษณาจากรัฐบาลสหรัฐ

            การนำเสนอของรัฐบาลสหรัฐและการกระจายข่าวของสื่อกระแสหลัก ทำให้ความเข้าใจว่า ทันทีที่เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีป สหรัฐจะไม่ปลอดภัย เพราะเกาหลีเหนือจะยิงใส่อเมริกา ด้วยเหตุนี้รัฐบาลสหรัฐทุกชุด ไม่ว่าจะนำโดยพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทจึงต้องทำทุกอย่างยับยั้งไม่ให้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์

            คำถามคือ ทำไมจึงคิดว่าเกาหลีเหนือจะยิงสหรัฐ

            ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียด ประธานาธิบดีปูตินเชื่อมั่นว่าที่สุดแล้วปัญหาจะแก้ได้โดยวิถีทางการทูตและควรจะเป็นเช่นนั้น ไม่เกิดเหตุใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ( WMD) เช่น นิวเคลียร์ และพูดน่าคิดว่าเกาหลีเหนือเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดความตึงเครียด บัดนี้เขาได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว ถามว่าเกาหลีเหนือต้องการให้สถานการณ์บานปลายหรือ “พวกเขาไม่ใช่คนโง่” ดังที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวว่า “หากเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีสหรัฐกับพันธมิตร ผลคือระบอบเกาหลีเหนือต้องล่มแน่”

            รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศเรื่อยมาว่ามีนิวเคลียร์เพื่อป้องกันประเทศ ต้องการให้ประเทศอยู่รอดต่อไป แต่หากเกิดสงครามใหญ่ เกาหลีเหนือไม่อาจสู้สหรัฐแม้จะมีนิวเคลียร์ก็ตาม ด้วยตรรกะเช่นนี้เกาหลีเหนือไม่ควรก่อสงครามใหญ่เพราะหมายถึงการล่มสลายของประเทศ

            แต่ดูเหมือนรัฐบาลสหรัฐไม่ได้ยินความคิดเห็นทำนองนี้ ยังเชื่อว่าเกาหลีเหนือจะก่อสงคราม ถ้าสหรัฐคิดว่าจะไม่ปลอดภัย ควรพูดถึงรัสเซีย จีน ที่มีแสนยานุภาพสูงกว่า มีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก

วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุด:

            กลางเดือนมกราคม 2024 ในที่ประชุมสมัชชาประชาชนสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ (Supreme People's Assembly) คิม จ็องอึน (Kim Jong-un) ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวย้ำรัฐบาลสหรัฐต้องการล้มล้างระบอบของตน การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นตอกย้ำเป้าหมายดังกล่าว ต้องการทำสงคราม

            รวมความแล้ว ทั้ง 2 เกาหลีต่างเร่งพัฒนาสะสมอาวุธรุ่นใหม่ เพิ่มขีดความสามารถการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ เห็นชัดว่านโยบายคาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์นับวันจะยิ่งเลือนราง เป็นดังเช่นภาพในความฝันมากขึ้นทุกที

            แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสงครามใหญ่จะเริ่มในไม่ช้า เพราะทุกฝ่ายตระหนักดีกว่าความสูญเสียที่เกิดนั้นไม่คุ้มค่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือพ่ายแพ้ อันที่จริงไม่ต้องมองไกลถึงขั้นทำสงคราม เพียงเอ่ยความสำคัญของภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ ต้องรักษาบรรยากาศไม่ให้ความขัดแย้งจากคาบสมุทรกระทบการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อปากท้องของทุกคน ล่าสุดจีนยังคงครองแชมป์คู่ค้าอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ ปีที่แล้ว (2023) ยอดการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 267,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองมาคือสหรัฐ 186,000 ล้านดอลลาร์ เวียดนาม 79,000 ล้านดอลลาร์ ยอดค้ากับเวียดนามแซงญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา

            ความสัมพันธ์การค้าระหว่างประเทศของทั้งเกาหลีใต้ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่นเป็นอีกปัจจัยมีผลต่อความเป็นไปของคาบสมุทร ต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทือนหนัก

11 กุมภาพันธ์ 2024
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 28 ฉบับที่ 9949 วันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567)

--------------------------

บรรณานุกรม :

1. 100 U.S. nuclear weapons should be committed to supporting S. Korea's security against N.K. threats: report. (2023, October 30). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20231030003700315?section=nk/nk

2. Ismael, Tareq Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History. USA: Pluto Press.

3. Kim Jong Un delivered a programmatic policy speech at the 10th Session of the 14th Supreme People's Assembly of the Democratic People's Republic of Korea. (2024, January 16). Korean Central News Agency. Retrieved from http://www.kcna.kp/kp/article/q/f4bf631617198851f067bd66d7f48d18.kcmsf

4. N. Korean leader vows to 'preemptively' contain nuclear threats by hostile forces. (2022, April 30). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20220430000354325?section=nk/nk

5. 'North Korea won't use nuclear bombs'. (2022, September 22). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2022/09/103_336557.html

6. Seoul says North Korean nuclear attack would spell 'end' of Kim Jong Un regime. (2023, July 21). France 24. Retrieved from https://www.france24.com/en/asia-pacific/20230721-seoul-says-north-korean-nuclear-attack-would-spell-end-of-kim-jong-un-regime

7. Vietnam remains S. Korea's No. 3 trading partner in 2023. (2024, February 5). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20240205000800320?section=k-stories/k-stories

8. Yoon says alliance with U.S. upgraded to 'nuclear-based alliance'. (2023, June 6). Yonhap. Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20230606001500315?section=nk/nk

-----------------