ไต้หวันประกาศเอกราชคือทำสงคราม
จุดยืนของจีนชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง ไต้หวันประกาศเอกราชคือขอแบ่งแยกดินแดน จีนจะส่งกองทัพบุกโค่นล้มรัฐบาลไต้หวัน ยึดดินแดนกลับคืน ไม่ปล่อยให้ไต้หวันเป็นเช่นปัจจุบันอีก
หากจะเข้าใจความสัมพันธ์จีน-ไต้หวันต้องย้อนกลับไปหาอดีต
เดิมจีนนั้นเป็นจีนเดียว ไต้หวันเป็นเกาะแห่งหนึ่งที่ห่างไกลจากรัฐบาลกลาง
(อาณาจักรจีนใหญ่มาก ไต้หวันที่เป็นเกาะห่างไกลจึงไม่ค่อยอยู่ในสายตาของรัฐบาล แต่มีการแต่งตั้งผู้ปกครองดูแลไต้หวัน)
ต้นศตวรรษที่
20 เป็นช่วงเวลาแห่งความขมขื่นของจีน
ทั้งโดนรุกรานจากพวกล่าอาณานิคม จากกองทัพญี่ปุ่นและคนจีนสู้กันเอง กองทัพปลดปล่อยประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ทำสงครามกับกองทัพของสาธารณรัฐจีนและญี่ปุ่น
สามารถยึดครองแผ่นดินใหญ่และเกาะต่างๆ ประกาศสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
รวมจีนทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นจีนเดียว พวกชาตินิยมจีนต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์อย่างหนักแต่พ่ายแพ้
กองทัพเจียงไคเช็คถอยร่นมาปักหลักที่ไต้หวัน สังเกตว่า การรบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับกองทัพเจียงไคเช็คยังไม่จบ
ในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศเกิดสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
ก่อนสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) คือเกิดสาธารณรัฐจีนเมื่อค.ศ.1912 และสหประชาชาติรับรองความเป็นประเทศจนถึงค.ศ.1949
เมื่อสหประชาชาติรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) จึงเป็น “ประเทศ”
ที่ถูกต้องชอบธรรมภายใต้สหประชาชาติ
สหรัฐรับรองจีนแทนไต้หวัน:
เดิมรัฐบาลสหรัฐสนับสนุนสาธารณรัฐจีนเป็นประเทศ
(ไต้หวัน-พวกชาตินิยม) แต่หลังจากประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard
Nixon) เยือนจีนเมื่อ 1972 สหรัฐเริ่มหันมาเอาใจจีนมากขึ้น รัฐบาลนิกสันกับรัฐบาลจีนลงนามในแถลงการณ์ร่วมสหรัฐ-จีน
(U.S.–China joint communiqué) เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า สหรัฐยอมรับว่า
“จีนทั้ง 2 ฝั่งของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนเดียว
และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
ต่อมารัฐบาลสมัยจิมมี
คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ประกาศว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ
“รัฐบาลจีนหนึ่งเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปี
1979 ทุกวันนี้ไม่มีสถานทูตไต้หวันในสหรัฐและไม่มีสถานทูตสหรัฐในไต้หวัน
นอกจากนี้สหรัฐยกเลิกสนธิสัญญาความมั่นคงกับไต้หวัน (Mutual
Defense Treaty) เปลี่ยนเป็น Taiwan Relations Act มีใจความสำคัญว่าสหรัฐยังจะขายอาวุธแก่ไต้หวันเพื่อการป้องกันตนเอง
จะปกป้องไต้หวันแม้ปราศจากสนธิสัญญาเป็นทางการ
ไต้หวันปัจจุบัน “ไม่เป็นประเทศภายใต้สหประชาชาติ” แต่มีบางประเทศที่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศตามกฎหมายของตน
ทั้งนี้จำนวนผู้ยอมรับลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดมกราคม 2024 ประเทศนาอูรู
(Nauru) ในโอเชียเนียตัดสัมพันธ์ไต้หวัน หันมาเป็นมิตรกับจีน
นับจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
(Democratic Progressive Party: DPP) เข้าบริหารประเทศเมื่อปี 2016 หลายประเทศได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
เหลือเพียง 10 ประเทศที่ยังยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในแอฟริกา
ลาตินอเมริกาและในมหาสมุทรแปซิฟิก
แม้กระทั่งสหรัฐที่ให้ความช่วยเหลือมากมายก็ไม่ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ
ไต้หวันจะโดนเทไหม:
เมื่อไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้นำไต้หวันคนใหม่
หลายคนคิดถึงสงครามระหว่างไต้หวันกับจีนตามการคาดการณ์ของฝ่ายสหรัฐที่คิดว่าจีนจะส่งกองทัพบุกไต้หวันในอีก
2-3 ปีข้างหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคำถามคือสหรัฐจะเข้าร่วมทำสงครามปกป้องไต้หวันหรือไม่
ผลโพลเมื่อมีนาคม 2022 ของ Taiwanese Public
Opinion Foundation (TPOF) พบว่าคนไต้หวัน 10.5% เท่านั้นที่มั่นใจมากว่าสหรัฐจะปกป้องไต้หวัน 24%
คิดว่าน่าจะช่วย 26.5% ไม่ค่อยเชื่อ และ 29.4% ไม่เชื่อเลย จะเห็นว่าคนไต้หวันน้อยกว่าครึ่งที่คิดว่ารัฐบาลสหรัฐจะปกป้อง
เรื่องนี้มาจากฐานความคิดว่าถ้าสหรัฐปกป้องไต้หวันจะหมายถึง 2 มหาอำนาจรบกันโดยตรง
อาจนำสู่สงครามนิวเคลียร์
พลังอำนาจทางทหาร:
มองฉากทัศน์สงครามง่ายๆ
ข้อมูลจาก International Institute for
Strategic Studies (IISS) ปี 2022 ระบุว่าไต้หวันมีทหารประจำการ
169,000 นาย กำลังพลสำรอง 1,660,000 นาย งบกลาโหมปี 2023 เท่ากับ
19,000 ล้านดอลลาร์ เครื่องบินรบรวม 474 ลำ ส่วนจีนมีทหารประจำการ
2,035,000 นาย กำลังพลสำรอง 510,000 นาย งบกลาโหมปี 2023 เท่ากับ 230,000
ล้านดอลลาร์ เครื่องบินรบรวม 2,921 ลำ
จีนมีขีปนาวุธน้อยใหญ่นับพันที่สามารถโจมตีฐานทัพไต้หวัน
เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เป็นอาวุธที่น่าจะใช้ชุดแรก
ต่อด้วยการปิดล้อมทางทหารทั้งทางอากาศกับทางเรือ ประกาศยิงเรือกับเครื่องบินทุกลำที่เข้าออกไต้หวัน
เพียงเท่านี้ก็สร้างความเสียหายมหาศาล เศรษฐกิจพังทลาย เกิดความวุ่นวายทางการเมือง
โดยที่จีนไม่ต้องยกพลขึ้นบกแค่ปิดล้อมไม่ให้เรือกับเครื่องบินเข้าออกเท่านั้น
จีนผลิตเครื่องบินเรือรบขีปนาวุธต่างๆ
ด้วยตัวเองแต่ไต้หวันทำเช่นนั้นไม่ได้ อาวุธหลักจำพวกเครื่องบินรบ เรือรบหลัก
ชิ้นส่วนสำคัญของขีปนาวุธไต้หวันต้องซื้อจากสหรัฐ ตามนโยบายการทหารที่ว่าประเทศผู้ผลิตอาวุธจะขายอาวุธของตนให้กับพันธมิตรหุ้นส่วนเท่านั้น
ไม่ขายให้กับฝ่ายตรงข้ามเด็ดขาด การขายอาวุธเครื่องกระสุนมีความสำคัญไม่เพียงด้านการทหาร
ยังสัมพันธ์กับการจัดระเบียบโลก การกระชับอำนาจในขั้วของตน อาวุธที่ซื้อใช้จากสหรัฐหากขาดกระสุน
อะไหล่บำรุงจะกลายเป็นแค่เศษเหล็ก เป็นจุดอ่อนสำคัญของกองทัพไต้หวัน เมื่อรบไปสักพักอาวุธของไต้หวันจะทยอยใช้การไม่ได้
ขาดกระสุนขาดการซ่อมบำรุง (ไม่ต้องคิดเรื่องอาวุธพังเพราะโดนจีนทำลาย)
ตัดขาดการค้าการลงทุนหากทำสงคราม:
กระทรวงพาณิชย์จีนชี้ว่าการฟื้นความสัมพันธ์การค้าจีน-สหรัฐสู่ปกติคือหนทางดีที่สุดต่อทั้งสองประเทศ
และเผยว่า 7 เดือนแรกปี 2023
เอกชนสหรัฐลงทุนในจีนเพิ่ม 25.5%
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อตราบเท่าที่ยังไม่รบกัน
ทางการจีนพูดชัดว่าการค้าการลงทุนทวิภาคีจะดำเนินต่อไป
เว้นแต่มีการปะทะกันทางทหาร เป็นนโยบายที่สมเหตุผล
(ถ้าเปิดฉากทำสงครามยังจะค้าขายกันอีกหรือ) เป็นคำเตือนถึงรัฐบาลสหรัฐว่าด้วยเหตุและผลจะเป็นเช่นนั้น
กระทบต่อเศรษฐกิจทั้งคู่ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกด้วย
และเป็นการเตือนคนอเมริกันไม่ปล่อยให้รัฐบาลตนทำสงครามกับจีน
เพราะคนอเมริกันทุกคนจะได้รับผลกระทบด้วยแม้การรบไม่เกิดที่บ้านของตน
ในทางการเมืองระหว่างประเทศ
รัฐบาลจีนพูดเต็มปากเต็มคำกำลังปกป้องอธิปไตย จัดการพวกกบฏแบ่งแยกดินแดน
ใครเข้ามายุ่งเท่ากับละเมิดอธิปไตย เป็นผู้รุกราน จีนต้องปกป้องตนเอง
ถ้าทหารอเมริกันรบจีนเพราะไต้หวันเท่ากับสหรัฐละเมิดนโยบายจีนเดียวแม้สหรัฐจะมีข้อตกลงปกป้องไต้หวันก็ตาม
เพราะข้อตกลงระหว่างไต้หวันกับสหรัฐนั่นเป็นเรื่องของพวกเขา
ไม่ว่ามีข้อตกลงหรือไม่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแน่นอน
สมมุติว่ารัฐบาลสหรัฐตัดสินใจทำสงครามกับจีน
ในช่วงแรกแม้ไม่ใช้นิวเคลียร์แต่รบกันหนัก เกิดความสูญเสียมหาศาล
เศรษฐกิจอเมริกันปั่นป่วนหนัก คนอเมริกันตกงานหลายล้านคน จะเป็นที่มาของคำถามว่า “ทำไมสหรัฐต้องหายนะหรือสูญเสียมหาศาลเพื่อคนไต้หวัน
23 ล้านคน” คนอเมริกันยอมเสียหายเพื่อปกป้องเสรีภาพประชาธิปไตยของไต้หวันหรือ
ประเด็น
รัฐบาลสหรัฐพร้อมเสี่ยงทำสงครามกับจีนหรือไม่ เหมือนกับกรณียูเครนที่นาโตประกาศตั้งแต่ต้นว่าทหารนาโตจะไม่รบกับทหารรัสเซีย
คราวนี้คือสหรัฐจะไม่รบกับจีนโดยตรงแต่ใช้ไต้หวันทำสงครามตัวแทน
ดังที่นักวิชาการบางคิดว่าไต้หวันคือ “ยูเครนเอเชีย” ของรัฐบาลอเมริกัน ด้วยแนวคิดนี้สหรัฐจะไม่เข้ารบโดยตรงเด็ดขาด
ไต้หวันอาจมีสภาพคล้ายยูเครนที่รบกับรัสเซียในตอนนี้
ท้ายที่สุดหากความขัดแย้งบานปลายเรื่อยๆ
จะนำสู่ประเด็นสงครามนิวเคลียร์ มีคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐจะยอมให้ประเทศพังพินาศด้วยนิวเคลียร์เพื่อปกป้องไต้หวัน
สหรัฐจะยอมให้อารยธรรมเสียหายหนักเพื่อคนไต้หวันหรือไม่
(ผลการถูกทำลายด้วยนิวเคลียร์ สหรัฐอาจสูญเสียความเป็นมหาอำนาจ) ยอมแลกประชากร 340
ล้านคนของตน (บางส่วนเสียชีวิต
บางส่วนบาดเจ็บและเจ็บป่วยด้วยโรคอันเกิดจากนิวเคลียร์ เศรษฐกิจพังนินาศ
อดอยากยากจน) กับ 23 ล้านคนของไต้หวันหรือไม่
แต่ละปี สส. สว. นายทหารระดับสูงสหรัฐเยือนไต้หวัน กล่าวยกย่องชมเชย
ย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะปกป้องไต้หวัน หากถึงวันนั้นจริงพวกเขาจะออกเสียงทำสงครามกับจีนหรือไม่
กลับมาถามคนไต้หวัน
ท่านคิดว่ารัฐบาลสหรัฐจะปกป้องไต้หวันจริงหรือไม่
กลับไปหัวข้อบทความนี้ “ไต้หวันประกาศเอกราชคือทำสงคราม”
--------------------
บรรณานุกรม :1. China says the best way to
‘de-risk’ is to restore stability with the U.S. (2023, September 1). CNBC.
Retrieved from
https://www.cnbc.com/2023/09/01/china-says-best-way-to-de-risk-is-to-restore-stability-with-the-us.html
2.
Nauru to sever ‘diplomatic ties’ with Taiwan region, showing one-China
principle a prevailing consensus. (2024, January 15). Global Times. Retrieved
from https://www.globaltimes.cn/page/202401/1305424.shtml
3. Taiwan
Is Extending Conscription. Here’s How Its Military Compares to Other Countries.
(2022, March 22). Time. Retrieved from
https://time.com/6245036/taiwan-conscription-military-comparison/
4. Taiwanese pessimistic about prospect of US
sending troops to help defend nation in case of war: Pollster. (2022, March
22). Taiwan News. Retrieved from
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4481985
-----------------