BRICS คือขั้วต่อต้านฝ่ายสหรัฐ?

สหรัฐตีความว่าคือการรวมตัวของฝ่ายต่อต้าน ความจริงคือจุดยืนของสมาชิก BRICS หลากหลาย บางประเทศเลือกที่จะอยู่ทั้ง 2 ข้าง BRICS คืออีกหนึ่งกลุ่มหนึ่งโอกาส

            รัฐบาลสหรัฐกับพวกกังวล BRICS กำลังสร้างขั้วเปลี่ยนระเบียบโลกให้เป็นอย่างที่พวกเขาต้องการ ความเข้าใจสำคัญคือระเบียบโลกปัจจุบันเป็นแนวทางตามแบบชาติตะวันตกที่พวกเขาได้ประโยชน์สูงสุด ตีความว่า BRICS มีผลเปลี่ยนระเบียบโลกบั่นทอนผลประโยชน์พวกเขา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่การที่กลุ่มมีสมาชิกเพิ่ม 6 ประเทศ (และน่าจะเพิ่มขึ้นอีก) ยิ่งสร้างความกังวล เพราะกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น มีอิทธิพลมากขึ้น ลดอำนาจอิทธิพลของขั้วฝั่งสหรัฐ

            ระเบียบโลก “ไม่คงที่” เปลี่ยนแปลงเสมอ รัฐบาลสหรัฐกับพวกพยายามจัดระเบียบโลกให้ตรงความต้องการมากที่สุด เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐทุกชุดให้ความสำคัญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เข้าพัวพันประเด็นต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก มีข่าวสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อยู่เสมอโดยเฉพาะข่าวใหญ่ข่าวเด่น

            ด้วยความที่ระเบียบโลกคือผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่เพียงรัฐบาลสหรัฐกับพวกสนใจเข้าพัวพัน ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างจีน รัสเซีย แม้กระทั่งอินเดียหวังเปลี่ยนระเบียบโลกที่ก่อประโยชน์ต่อตนเช่นกัน ความเป็นไปของโลกจึงเกี่ยวข้องกับระเบียบโลกที่มีอยู่และกำลังเปลี่ยนแปลง นำสู่การเผชิญหน้าแข่งขันช่วงชิงและจะเป็นเช่นนี้อีกนานเท่านาน หวังเพียงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่เป็นเหตุเกิดสถานการณ์วิกฤตร้ายแรง

รู้ดีว่าอยู่คนละขั้วแต่พยายามไม่ยั่วยุ :

            BRICS ย้ำเน้นโลกพหุภาคีแต่หากวิเคราะห์ลงลึกแล้วนโยบายของ BRICS กับสหรัฐล้วนแบ่งโลกให้เป็นขั้วมากขึ้น คือขั้วของรัฐบาลสหรัฐกับฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งรัฐบาลจีนกับรัสเซียแสดงตัวเข้าพัวพันโลกมากขึ้นด้วย น่าเชื่อว่าจะยิ่งทำให้ความเป็นขั้วเด่นชัดขึ้นแม้ BRICS พยายามไม่ยั่วยุ

            เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวอย่างน่าสนใจว่าโลกกำลังเห็นองค์กรที่ซื่อสัตย์ต่อหุ้นส่วน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษกร่างกว่าคนอื่น ยินดีต้อนรับประเทศที่มีระบอบปกครองแตกต่างยึดค่านิยมลักษณะเฉพาะ สามารถร่วมมือกันในลักษณะเครือข่าย (network) พูดคุยหารือบนความเท่าเทียมแม้ต่างวัฒนธรรม ยอมรับว่าทุกชาติล้วนตัดสินอนาคตของตนเอง มีแนวทางพัฒนาหลากหลาย BRICS ทำหน้าที่เป็นตัวกลางแสวงจุดร่วมในทุกเรื่องแม้กระทั่งเรื่องที่ซับซ้อนที่สุด ดังนั้นสมาชิก BRICS ไม่มีใครคิดสร้าง “ผู้เป็นเจ้าร่วม” (collective hegemon) และไม่ใช่การสร้างขั้วตามแบบสงครามเย็น

            หากจะเอ่ยถึงการแบ่งฝ่ายสร้างขั้ว รัฐบาลสหรัฐกับพวกต่างหากที่พยายามทำเช่นนี้ แบ่งมิตรสร้างศัตรู ข้อนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไป

ข้อมูลขัดแย้ง BRICS ไม่ใช่กลุ่มต่อต้าน :

            BRICS ก่อตั้งปี 2010 เป็นชื่อของ 5 ประเทศที่พัฒนาและเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ (ก่อนจะเป็น BRICS ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ เดิมปี 2001 มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ แอฟริกาใต้เข้าร่วมปี 2010) เป้าหมายเบื้องต้นคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

            หากพิจารณารายชื่อสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศ อินเดียซึ่งอยู่ในกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและอินเดีย ล้วนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลอำนาจสูง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นเวทีหารือด้านความมั่นคงของ 4 ประเทศดังกล่าว

            นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า Quad คือกลไกหนึ่งของยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้าของสหรัฐสกัดกั้นอิทธิพลจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา ปรับปรุงพัฒนาจากยุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิกของรัฐบาลโอบามาสู่ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของทรัมป์ การประชุมสุดยอด Quad 2021 คือการสานต่อยุทธศาสตร์รุ่นพี่ กระชับพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยในย่านนี้ จะเห็นว่าบทบาทของ Quad เพิ่มขึ้นเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลไบเดน

            ดังนั้นการที่อินเดียเป็นสมาชิกทั้ง BRICS กับ Quad เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งว่าเมื่อเริ่มต้น BRICS ไม่ใช่ขั้วต่อต้านอเมริกา

            ว่าที่ 6 สมาชิกใหม่ของ BRICS อาร์เจนตินา อียิปต์และเอธิโอเปียไม่มีปัญหากับสหรัฐ ซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แม้ไม่นานนี้ขยับเข้าหาจีนมากขึ้น แต่ความสัมพันธ์เก่าแก่กับสหรัฐยังดำรงอยู่ บทบาทด้านความมั่นคงของสหรัฐในย่านอ่าวเปอร์เซียยังเข้มแข็งมาก เฉพาะอิหร่านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐมาอย่างยาวนาน

            ดังนั้น ไม่น่าจะถูกต้องถ้าตีความว่าการขยายสมาชิกจาก 5 เป็น 11 คือการขยายตัวของขั้วต่อต้านสหรัฐกับพวก

BRICS ที่อยากเป็นตัวของตัวเอง:

            คำอธิบายอีกแบบคือ BRICS อยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยู่ใต้ระเบียบโลกที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกคุมอยู่ แต่ไม่คิดล้มล้างฝ่ายสหรัฐ แม้การรวมตัวของกลุ่มจะมีผลบั่นทอนฝ่ายสหรัฐ ยกเว้นบางประเทศเป็นปรปักษ์กับรัฐบาลสหรัฐอยู่ก่อนแล้ว

            ความตั้งใจสำคัญยังอยู่ที่หาช่องทางพัฒนาตัวเอง แต่สำหรับบางประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจมักสัมพันธ์กับการเมืองระหว่างประเทศ เพียงแค่คำว่า “เป็นประชาธิปไตยหรือไม่” เท่านี้อาจส่งผลแตกต่างมากแล้ว ดังนั้นเมื่อ “ยาก” จะร่วมมือกับตะวันตกย่อมต้องหาช่องอื่นๆ หรือหากเข้าได้ทุกกลุ่มก็น่าจะเลือกร่วมมือกับทุกกลุ่ม

            ฝ่ายสหรัฐกับพวกย่อมสามารถตีความและใช้โอกาสนี้เล่นงาน BRICS ที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ จีนรัสเซียที่ก้าวขึ้นมาตีความว่าคือภัยคุกคาม ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ทั้งยังเป็นการเตือนประเทศที่คิดตีตัวออกห่าง อย่างไรก็ตามในระยะยาวมีความเป็นไปได้ว่าจีนที่ก้าวขึ้นมาจะลดทนผลประโยชน์ ความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐ เหล่านี้มีผู้วิเคราะห์มากมายแล้ว

            รัฐบาลสหรัฐกับพวกมักให้ความสำคัญกับการเมืองระหว่างประเทศ ช่วงนี้มุ่งสร้างขั้วตามแนวสงครามเย็นใหม่ แม้การแข่งขันช่วงชิงมีจริงและรุนแรง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก “เรื่องภายในประเทศตน” สำคัญที่สุด และมักเป็นเรื่องปากท้องประชาชนกับการอยู่รอดของรัฐบาล หาทางใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนเรื่องภายในประเทศ

            หากวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล รัฐบาลของแต่ละประเทศจะพิจารณาบริบทว่าควรวางตัวอย่างไร ควรเข้าหาฝ่ายใดมากน้อยเพียงไร เพื่อความมั่นคงการอยู่รอดของรัฐบาลตน ไม่สนใจว่าใครเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ รัฐบาลสหรัฐถอยห่างจากทุนนิยมเสรีเพียงไร

            โดยทั่วไปประเทศต่างๆ มักเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก (ยึดหลักการค้าเสรี) บางประเทศเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เกือบทุกประเทศมีข้อตกลงการค้าเสรี การค้าทวิภาคีกับประเทศต่างๆ มากมาย BRICS มีฐานะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่ม

            BRICS จึงเป็นโอกาสของนานาชาติที่จะเข้าร่วมตามความสมัครใจ ตามความเหมาะสม

            ความจริงแล้วมีความร่วมมือใหม่เกิดขึ้นเป็นระยะ เมื่อพฤษภาคม 2023 ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) กล่าวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และ "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่" ถ้าเป็นจริงดังว่าจะเป็นข้อตกลงที่มีประโยชน์สูงมาก

            คุณค่าของ IPEF อาจเหนือกว่า BRICS ก็เป็นได้ BRICS จึงเป็นเพียงอีกโอกาสจากที่มีอยู่นับสิบนับร้อย ส่วนกลุ่มไหนจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงไรต้องพิจารณาตามความจริง ตามการพัฒนาของกลุ่มและตามบริบทของแต่ละประเทศ บ้างได้ประโยชน์มากบ้างได้ประโยชน์น้อย

            ณ ตอนนี้ BRICS ตั้งใจสร้างกลุ่มที่เป็นตัวของตัวเองไม่อยู่ใต้อิทธิพลรัฐบาลสหรัฐกับพวก โดยระวังไม่ยั่วยุแบ่งขั้วตามแนวคิดสงครามเย็นใหม่ แม้บางสมาชิกจะเป็นฝ่ายตรงข้ามถูกสหรัฐปิดล้อมมานานแล้ว ส่วนอนาคตความเป็นขั้วจะเด่นชัดขึ้นหรือไม่นั้นไม่ง่ายที่จะอธิบาย เพราะจุดยืนสมาชิก BRICS หลากหลาย บางประเทศเลือกที่จะอยู่ทั้ง 2 ข้าง มองว่า BRICS คืออีกหนึ่งกลุ่มหนึ่งโอกาสดังที่นานาชาติมักเข้าหลายกลุ่ม ร่วมมือกับหลายประเทศ แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง การรับสมาชิกใหม่ 6 ประเทศเป็นอีกหลักฐานที่ดี

3 กันยายน 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9789 วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2566)

------------------------------

บรรณานุกรม :

1. ไบเดนเปิดตัว 'กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก' - ไทยเข้าร่วมด้วย. (2022, May 23). VOA Thai. Retrieved from https://www.voathai.com/a/biden-launches-indo-pacific-economic-framework-/6585473.html

2. Chinese president shares thoughts on world's next decade at BRICS Business Forum. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_137348275.htm

3. Full text of BRICS Summit Johannesburg Declaration. (2018, July 27). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/27/c_129921358.htm

4. Full text of Chinese president's speech at BRICS Business Forum in South Africa. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_129920686.htm

5. Lavrov: BRICS ‘Can Become One of Pillars of New World Order’. (2023, August 21). Sputnik Globe. Retrieved from https://sputnikglobe.com/20230821/lavrov-brics-can-become-one-of-pillars-of-new-world-order-1112756353.html

6. President of Russia. (2023, August 22). Video Address to the Participants in the BRICS Business Forum. Retrieved from http://en.kremlin.ru/events/president/news/72085

7. The Global South’s BRICS Play Should Not Be Dismissed. (2023, August 17). The Nation. Retrieved from https://www.thenation.com/article/world/the-global-souths-brics-play-should-not-be-dismissed/

8. Xi says BRICS important force in shaping int'l landscape. (2023, August 24). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20230824/e9727a06c97d421484c1ee32dd340b16/c.html

-----------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก