18 เดือนกับตลก 3 ช่าของเซเลนสกี

ควรสรุปว่าอนาคตยูเครนไม่อยู่ในมือของคนยูเครนอีกต่อไป ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเซเลนสกีตัดสินใจทำสงครามแทนยอมรับข้อเสนอวางตัวเป็นกลางของรัสเซีย

รัสเซียรุกรานยูเครนถูกหรือผิด :

            ตามกฎหมายระหว่างประเทศ “การใช้กำลังจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อใช้เพื่อป้องกันตนเองตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และ/หรือคณะมนตรีความมั่นคงรับรองการใช้กำลังดังกล่าว” เห็นชัดว่ารัสเซียละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ในอีกมุมอาจวิพากษ์ว่ารัฐบาลเซเลนสกี “อ่อนต่อโลก” ไม่เข้าใจ “หลักชิงลงมือก่อน”

            ย้อนหลังเมื่อมิถุนายน 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) เอ่ยถึงหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ว่ายุทธศาสตร์ป้องปรามและปิดล้อมที่ใช้ในยุคสงครามเย็นไม่เหมาะสมอีกแล้วหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 “ถ้าเรารอให้ภัยคุกคามก่อตัวเต็มที่ เรารอนานเกินไป เราต้องสู้กับศัตรู ทำลายแผนและเผชิญหน้าภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดก่อนที่ภัยคุกคามจะปะทุออกมา”

            สหรัฐตั้งใจโจมตีข้าศึกที่แสดงท่าทีคุกคามก่อนที่พวกเขาลงมือจริง ไม่รอให้ถูกโจมตีก่อนจึงโต้กลับ ด้วยความคิดที่ว่าตนมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีประเทศใดๆ เพื่อปกป้องตนเองล่วงหน้า ความชอบธรรมนี้อยู่เหนือกฎหมายระหว่างประเทศ ถ้าเป็นภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat) ไม่รอการรับรองจากสหประชาชาติ โดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายคิดโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction : WMD)

            รัฐบาลบุชใช้หลักนิยม ชิงลงมือก่อนเมื่อทำสงครามกับอิรัก อ้างว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนสะสมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงจำนวนมากรวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลซัดดัมมีประวัติใช้ WMD กับประชาชนตนเอง (ใช้อาวุธเคมี) อาจมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐ เป็นภัยคุกคามจวนตัว ทุกวันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าความจริงแล้วอิรักไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐอ้างข้อมูลเท็จเพื่อรุกรานอิรัก

            เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียบุกยูเครนคือสร้างรัฐกันชน (buffer state) เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่มีมาช้านาน เฉพาะกรณียูเครนฝ่ายรัสเซียพูดหลายปีแล้วว่าเป็นเส้นต้องห้าม (red line) ห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ขอให้วางตัวเป็นกลาง การที่รัฐบาลปูตินส่งกองทัพเข้ายูเครนเป็นการทำตามเส้นต้องห้ามที่ประกาศนานหลายปีแล้ว ให้โลกรับรู้ว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากถูกข่มขู่คุกคามคิดทำลายประเทศตน

            รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อโต้แย้งคือการบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่หลายประเทศใช้

กองทัพรัสเซียอ่อนแอยูเครนชนะได้ :

            ข้อนี้อาจเป็นอีกปัจจัยที่เซเลนสกีโดนปั่นหัวให้เชื่อตามนั้น จึงกล้าทำสงครามกับรัสเซีย

            ธันวาคม 2022 เจ้าหน้าที่รัฐบาลไบเดนกล่าวต่อรัฐสภาว่ายูเครนมีขีดความสามารถยึดไครเมียคืน และน่าจะสำเร็จก่อนสิงหาคม 2023 François Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเชื่อว่ายูเครนจะชนะเช่นกัน กองทัพรัสเซียที่ล่าถอยบางครั้งเป็นหลักฐานให้คิดเช่นนั้น

            รายงาน Freedom in the World 2023 จาก Freedom House ความตอนหนึ่งระบุว่าผลจากการที่รัฐบาลปูตินเต็มด้วยการคอร์รัปชันกองทัพจึงอ่อนแอ แม้สองทศวรรษที่ผ่านมาใช้งบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์พัฒนากองทัพให้ทันสมัย กองทัพรัสเซียจึงขาดอาวุธ ขาดแม้กระทั่งอาหารเวชภัณฑ์ ยังใช้แผนที่กับอาวุธสมัยเป็นสหภาพโซเวียต ปูตินพูดว่ากองทัพรัสเซียทัดเทียมนาโตและเหนือกว่ายูเครนเป็นการโอ้อวดเกินจริง

            ศึกยูเครนผ่านมา 18 เดือนแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาประธานาธิบดีเซเลนสกีร้องขออาวุธกระสุนต่อเนื่อง ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาชาตินาโตประกาศว่าได้ทำตามสัญญาส่งมอบอาวุธที่รับปากยูเครนถึง 98% แล้ว รวมทั้งรถถังประจัญบาน Leopard ระบบขีปนาวุธ Patriot ปีที่แล้ว (2022) นาโตส่งมอบรถถังรัสเซียหลายร้อยคันแก่ยูเครน เช่น T-72 กับ M-55Ss (ปรับปรุงจาก T-55) ล่าสุดกำลังเตรียมเครื่องบินรบ F-16

            มีข่าวว่าชาติสมาชิกนาโตบางประเทศให้จนกระสุนเกือบหมดคลัง อาวุธบางชนิดเหลือน้อยเต็มที

            ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้รัสเซียค่อยๆ รุกกินดินแดนแต่ที่สุดฝ่ายใดแพ้ชนะต้องติดตามต่อไป

สมรภูมิปกป้องยุโรป :

            ถ้าจะบอกว่าอียูไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามจะดูแปลกเพราะประกาศว่ารัสเซียศัตรูอย่างเปิดเผย ร่วมมือภายใต้นาโตต่อต้านรัสเซีย แต่ในอีกด้านมีข้อมูลขัดแย้ง หลายปีแล้วที่นาโตตกลงว่าสมาชิกจะต้องตั้งงบประมาณกลาโหมอย่างน้อย 2% ของจีดีพี แต่สมัยรัฐบาลแมร์เคิล (ชุดที่แล้ว) ตั้งงบกลาโหมเพียง 1.2% ปี 2022 สมาชิกส่วนใหญ่ตั้งงบกลาโหมเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงเป้า 2% มีเพียง 7 ใน 30 ประเทศเท่านั้นที่เข้าเป้า

            มีข้อมูลมากมายชี้ว่ากองทัพเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศสไม่พร้อมรบ เครื่องบินรถถังที่ใช้งานได้จริงน้อยกว่าจำนวนที่ระบุไว้มาก กระสุนที่มีอยู่ใช้ได้เพียงไม่กี่วัน เป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่าแต่เดิมฝ่ายยุโรปไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามจึงไม่เตรียมกองทัพใหญ่โต

            ย้อนหลังรัฐบาลเยอรมันชุดก่อน พฤษภาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอ่ยถึงนโยบายต่างประเทศว่า “ห้วงเวลาที่เราต้องพึ่งพาประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงได้สิ้นสุดลงแล้ว” ประโยคดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดแต่ทุกคนรู้ว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกา แนวคิดนี้สอดคล้องกับกระแสยุโรปตะวันตกที่ต้องการเป็นอิสระ ไม่ถึงขั้นแยกตัวออกจากนาโตแต่หวังเป็นมิตรกับรัสเซียซึ่งหมายถึงยุโรปที่มีสันติภาพ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ยุโรปอยู่กึ่งกลาง 2 มหาอำนาจที่ต่อสู้แข่งขันกัน รัฐบาลทรัมป์ในสมัยนั้นต่อต้านท่าทีอียูเป็นอิสระอย่างหนักถึงกับขู่ว่าจะสลายนาโต

            หลายสิบปีแล้วที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่สู่ยุโรป มีระบบท่อส่งหลายท่อผ่านยุโรป เฉพาะ Nord Stream เป็นท่อจากรัสเซียเข้าเยอรมนีโดยตรง คำถามที่พูดกันเสมอคือหากรัสเซียปิดท่อก๊าซจะส่งผลต่อคนเยอรมันหลายสิบล้านคนอย่างไร ในอดีตอาจตอบว่าเยอรมนีนำเข้าจากหลายประเทศ เมื่อมาถึงสมัยแมร์เคิลนำเข้าจากรัสเซียมากกว่าครึ่งและทำท่าจะเพิ่มขึ้นอีก คำถามนี้จึงมีน้ำหนัก

            ข้อโต้แย้งคือเพราะเยอรมนี (กับยุโรป) เป็นลูกค้ารายใหญ่ รัสเซียจึงไม่ผลีผลามทำอะไรที่ทำให้ยุโรปรู้สึกไม่ปลอดภัย ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจร่วมกัน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ จึงมุ่งอยู่ร่วมกันโดยสันติ

            โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 อันเป็นโครงการใหม่สมัยรัฐบาลแมร์เคิลเป็นหลักฐานในตัวเองว่ารัฐบาลเยอรมนีชุดก่อนเห็นว่านโยบายพลังงานเหมาะสมดีแล้ว ไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามอย่างที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวอ้าง

            ถ้ารัสเซียไม่คิดรุกรานยุโรป ยูเครนจะเป็นแค่เหยื่อที่ถูกหลอกใช้ให้ทำศึกกับมหาอำนาจรัสเซีย ต้นปี 2023 ซอรัน มีลาโนวิช (Zoran Milanovic) ประธานาธิบดีโครเอเชียกล่าวว่า “วอชิงตันกับนาโตกำลังทำสงครามตัวแทน (proxy war) โดยอาศัยยูเครน”

            ผลคือประเทศเต็มด้วยบาดแผลสงคราม ร่องรอยของกระสุนนานาชนิด ระเบิด ขีปนาวุธของสารพัดประเทศ เป็นสมรภูมิทดสอบสารพัดอาวุธเก่าใหม่ นับวันประเทศจะกลายเป็นเศษซาก ระบบเศรษฐกิจย่อยยับไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาบูรณะอีกกี่สิบปี บาดเจ็บล้มตายเป็นแสน เดือนกุมภาพันธ์ UN ร้องขอรับบริจาค 5,600 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อหาอาหาร สิ่งของบรรเทาทุกข์แก่คนยูเครน 15.3 ล้านคน และอีก 4 ล้านกว่าคนที่ลี้ภัยในต่างแดน ถึงกระนั้นรัฐบาลเซเลนสกียืนยันสู้ต่อไปเพื่อปกป้องเสรีประชาธิปไตยยุโรป

            วันนี้ยูเครนยังรบได้เพราะอาวุธกระสุน งบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐกับพวกโดยแท้ (การรบจะยุติทันทีถ้าไม่รับการสนับสนุน) ควรสรุปว่าอนาคตยูเครนไม่อยู่ในมือของคนยูเครนอีกต่อไป ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเซเลนสกีตัดสินใจทำสงครามแทนยอมรับข้อเสนอวางตัวเป็นกลางของรัสเซีย

16 กรกฎาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9740 วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2566)

---------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ภายใต้คำประกาศขอยืนหยัดสู้เคียงข้างยูเครน นาโตรวมตัวเข้มแข็ง มีคำถามว่ายูเครนจะชนะศึกได้อย่างไร กำลังสู้ศึกเพื่ออนาคตลูกหลานใคร
อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อหวนมองสงครามยูเครนน่าจะได้คำตอบว่าเป็นเพียงฉากหนึ่งของการช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ เหมือนนิยายเรื่องเก่าที่นำมาแสดงใหม่ สหรัฐกับรัสเซียยังคงอยู่ส่วนยูเครนกลายเป็นซาก

บรรณานุกรม :

1. Freedom House. (2023, March). Freedom in the World 2023: Marking 50 Years in the Struggle for Democracy. Retrieved from https://freedomhouse.org/sites/default/files/2023-03/FIW_2023_50Years_DigitalPDF.pdf

2. Global food insecurity and famine from reduced crop, marine fishery and livestock production due to climate disruption from nuclear war soot injection. (2022, August 15). Nature. Retrieved from https://www.nature.com/articles/s43016-022-00573-0

3. Most NATO states ignoring spending target – Stoltenberg. (2023, March 22). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/573412-stoltenberg-nato-spending-ukraine/

4. Nato summit: Allies refuse to give Ukraine timeframe on joining. (2023, July 12). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-66167616

5. Putin: Western predictions about the Russian economy have not materialised. (2023, January 16). TASS. Retrieved from https://english.pravda.ru/news/world/155404-west_russia_predictions/

6. The U.K. Is Giving Ukraine Hundreds Of Armored Vehicles. Russia Has A Plan For Wrecking Them. (2023, January 16). Forbes. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/davidaxe/2023/01/16/the-uk-is-giving-ukraine-hundreds-of-armored-vehicles-russia-has-a-plan-for-wrecking-them/?sh=14db77e52800

7. Ukraine has received 98% of promised combat vehicles: NATO chief. (2023, April 27). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2023/4/27/ukraine-has-received-98-of-promised-combat-vehicles-nato-chief

8. Ukraine updates: UN seeks $5.6 billion in humanitarian aid. (2023, February 16). DW. Retrieved from https://www.dw.com/en/ukraine-updates-un-seeks-56-billion-in-humanitarian-aid/a-64704155

9. What happens in Crimea will determine Taiwan’s fate. (2023, June 15). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2023/06/what-happens-in-crimea-will-determine-taiwans-fate/

10. Zelensky: Ukrainian loss could force US to choose between ‘collapse of NATO’ or war. (2023, June 15). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/policy/international/4052645-zelensky-warns-ukrainian-loss-could-force-us-to-join-war/

-----------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก