ไซออนิสต์พ่ายฝ่ายประชาธิปไตยหนึ่งยก
คำโปรย : ไซออนิสต์มีอิทิพลมากจริงแต่อ่อนแอลง เหตุการณ์เนทันยาฮูยอมถอยระงับการปฏิรูประบบศาล ชี้ว่าไซออนิสต์พ่ายฝ่ายประชาธิปไตยหนึ่งยก
ต้องยอมรับว่าการก่อตั้งประเทศอิสราเอลสมัยใหม่เมื่อพฤษภาคม 1948 สัมพันธ์กับลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวยิวเพื่อสร้างสังคมและประเทศในแผ่นดินที่ขณะนั้นเป็นของปาเลสไตน์ ชาวอาหรับสนับสนุนปาเลสไตน์เต็มที่ นำสู่สงครามใหญ่หลายครั้ง อิสราเอสเป็นฝ่ายได้ชัย ไซออนิสต์เป็นที่ชิงชังของพวกอาหรับ บางคนโยงกับศาสนา
ความเข้าใจสำคัญคือไซออนิสต์มีหลากหลายกลุ่ม บางคนแบ่งพรรคสายไซออนิสต์เป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาและพวกกึ่งกลาง ต่างมีจุดยืนรายละเอียดต่างกันบางข้อ มีพรรคการเมืองของตนเอง พรรคลีคูต (Likud) ของเนทันยาฮูเป็นพรรคใหญ่สุดแต่ยังมีไซออนิสต์ที่เข้มข้นกว่าและไม่ได้ร่วมรัฐบาลเสมอไป การเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรคลีคูตจับมือกับไซออนิสต์เข้มข้น อย่าง Religious Zionist Party เป็นที่มาว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นไซออนิสต์เข้มข้น
หากต่างไม่ยอมถอยนำสู่การแตกหัก :
นักวิเคราะห์บางคนสรุปว่ารัฐบาลชุดนี้ตั้งมาเพื่อลบล้างความผิดของเนทันยาฮู แลกกับที่รัฐบาลใช้แนวนโยบายไซออนิสต์เข้มข้น เป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม
Yoav Gallant รัฐมนตรีกลาโหมได้พบพูดคุยกับนายกฯ เนทันยาฮู ชี้ว่าการแก้กฎหมายมีผลอย่างไรต่อสถาบันกองทัพ เตือนกองทัพกำลังแตกแยก กระทบความมั่นคงแห่งชาติซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมยอมไม่ได้ ต้องหยุดปฏิรูปศาล
คำเตือนของรัฐมนตรีกลาโหม Gallant น่าสนใจ ถ้าคิดว่าเหตุการณ์นี้ทำให้คนในประเทศแตกเป็น 2 ฝ่าย พวกสนับสนุนไซออนิสต์กับฝ่ายตรงข้าม หากต่างไม่ยอมถอยนำสู่การแตกหัก แบ่งแยกหนักกว่าเดิม ดังนั้นต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม ในที่สุดเนทันยาฮูยอมถอยระงับการปฏิรูประบบศาล
ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของไซออนิสต์ :
Yair Golan จาก Meretz party กล่าวว่างานนี้ทำให้ไซออนิสต์ตกต่ำถึงขีดสุด คนอิสราเอลจำนวนมากหันหลังให้
ไซออนิสต์อยู่คู่อิสราเอลตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ บางคนมองว่าไซออนิสต์เป็นสัญลักษณ์ประเทศ บางคนคิดว่ามีอิทธิพลสูงสุด กระแสต่อต้านทั่วประเทศบ่งชี้ว่าอิทธิพลไซออนิสต์ไม่มากมายอย่างที่คิด จริงอยู่ผู้ยึดถือยังมากแต่ไม่ใช่ทุกคน คงไม่เกินไปถ้าจะพูดว่ารอบนี้พ่ายให้กับเสรีนิยมฝ่ายประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่หันหลังให้ลัทธิไซออนิสต์ มีข้อมูลชัดว่าการประท้วงครั้งนี้ นักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญ พวกเขาต้องการเสรีประชาธิปไตยมากกว่าไซออนิสต์
ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ไซออนิสต์ไม่น่าจะเป็นตัวแทนของอิสราเอลในอนาคต น่าจะเป็นพหุสังคมประกอบด้วยหลายลัทธิความเชื่อ ดังที่เนทันยาฮูชี้แจงว่าฝ่ายต่อต้านกังวลเทวาธิปไตย รัฐที่ไม่ยึดเสรีนิยม ออกกฎหมายต่อต้าน LGBTQs ย้ำว่าตนตระหนักความกังวลที่มี รับทราบว่าอาจมีผลต่อความมั่นคง
อ้างว่าใกล้ชิดศาสนาแต่ทำลายหลักนิติธรรม :
ประเด็นหนึ่งที่น่าถกคือพวกไซออนิสต์อ้างอย่างเดียวว่าพรรคร่วมรัฐบาลมาจากกระบวนการเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างมาก ไม่สนใจว่าหากรัฐบาลคุมฝ่ายตุลาการจะเป็นการทำลายหลักนิติธรรมหรือไม่ หรืออาจอธิบายความจริงแล้วพวกเขาไม่คิดว่าการถ่วงดุลสำคัญ มุ่งเป้าหมายของลัทธิไซออนิสต์เป็นหลักซึ่งสมเหตุผลตามหลักลัทธิ นิกายหนึ่งของศาสนายูดาห์ (Judaism)
เรื่องทำนองนี้ไม่แปลก เพราะมีรัฐอิสลามประเทศที่ปกครองอิงหลักศาสนา พรรคการเมืองที่สัมพันธ์กับศาสนาความเชื่อ พบเห็นในหลายประเทศ ในกรณีนี้คือศาสนายูดาห์ ไม่ใช่เสรีประชาธิปไตยตามปรัชญาตะวันตก ส่วนจะตีความว่าเป็นประชาธิปไตยอีกแบบหรือไม่ สามารถวิเคราะห์ต่อไป
อาจตีความว่านี่คือความพยายามเปลี่ยนจากเสรีประชาธิปไตยสู่อีกรูปแบบหนึ่งที่ใกล้ชิดลัทธิไซออนิสต์มากขึ้น ตามแผนสร้างรัฐยิว
ไซออนิสต์แพ้แค่ยกนี้ :
ไซออนิสต์คือพลังสำคัญก่อตั้งประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านเลยสังคมหลากหลายมากขึ้น ทางการอิสราเอลระบุว่าปี 2021 อิสราเอลมีประชากร 9,358,380 คน 74.2% เป็นยิว 20.9% เชื้อสายอาหรับ ที่เหลือ 4.8% เป็นพวกนับถือคริสต์กับศาสนาอื่นๆ
รัฐบาลชุดที่แล้วของนาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett) เป็นตัวอย่างนำคนทุกกลุ่มหลากหลายความคิดเข้ามาอยู่ร่วมรัฐบาล หวังทำการเมืองที่เปิดกว้าง ร่วมตั้งรัฐบาลหยุดความแตกแยกของชาติ มอบให้ Mansour Abbas หัวหน้าพรรค United Arab List (Ra’am) ของพวกมุสลิมอาหรับที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลดูแลส่งเสริมพัฒนาชุมชนมุสลิมอาหรับ ลดความสุดโต่งของลัทธิไซออนิสต์ ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมในฐานะเป็นพลเมืองอิสราเอลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงให้ความสำคัญกับชาติมากกว่าศาสนา (ในความหมายยึดถือศาสนาแบบสุดโต่ง อยู่ร่วมกับยิวไม่ได้)
ต่างจากไซออนิสต์เข้มข้นที่ต้องการสร้างรัฐยิว ถูกตั้งคำถามว่าชาวอาหรับ ชนเชื้อสายอื่นจะเป็นพลมืองชั้น 2 หรือไม่ ความเสมอภาคเท่าเทียมตามหลักประชาธิปไตยหายไปไหน
Itamar Ben-Gvir หนึ่งในแกนนำที่ต้องการปฏิรูปศาลชี้ว่าการปฏิรูปจะเดินหน้าต่อไป เราไม่กลัวใคร ชี้ว่าพวกตนมีความชอบธรรมเข้ารัฐสภาตามการเลือกตั้งประชาธิปไตย เป็นเสียงข้างมาก
Ben-Gvir พูดถูกที่รัฐบาลมาจากกระบวนการประชาธิปไตย แต่รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยต้องยึดนิติธรรม ถ้าฝ่ายบริหารคุมฝ่ายตุลาการก็เป็นเผด็จการเสียแล้ว
นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าที่เนทันยาฮูยอมถอยเพื่อลดกระแสต่อต้านช่วงนี้เท่านั้น พวกไซออนิสต์เข้มข้นมีแต่จะเดินหน้าต่อ เป็นคำสอนอุดมการณ์ที่ยึดถือมานาน
อิทธิพลไซออนิสต์ลดลงแต่อาจไม่ลดขยายดินแดน :
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับไม่เป็นเพียงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ มุสลิมจำนวนมากตีความว่าเป็นเรื่องศาสนาด้วย มุสลิมบางคนถือว่าคนยิวโดยเฉพาะพวกไซออนิสต์คือศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ประเด็นปาเลสไตน์ การตั้งรัฐอิสราเอลเคยเป็นต้นเหตุสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อียิปต์ถึง 5 ครั้ง แต่ในระยะหลังความเป็นศัตรูลดลง ในอดีตมีความร่วมมือลับๆ เพื่อต้านอิหร่าน บัดนี้เมื่อชาติอาหรับบางประเทศญาติดีกับอิสราเอลอย่างเปิดเผย จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ประกาศเป็นมิตรกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการแล้ว ลัทธิไซออนิสต์ที่เคยสั่งสอนว่าเป็นศัตรูร้ายกำลังกลับกลายเป็นมิตร หรืออย่างน้อยร่วมกันต้านอิหร่านผู้เป็นปรปักษ์ตัวสำคัญกว่า
ในมวลหมู่อาหรับกระแสเป็นศัตรูกับไซออนิสต์ลดลงตามลำดับคงแต่อิหร่านเท่านั้นที่ต่อต้านอิสราเอลอย่างเข้มข้น อย่าวไรก็ตามล่าสุดอาหรับกำลังหันกลับมาญาติดีกับอิหร่าน น่าติดตามว่าจะมีผลต่ออิสราเอลอย่างไร
แนวคิดไซออนิสต์ต่อปาเลสไตน์คือพื้นที่ของอิสราเอลแบ่งใครไม่ได้ ยึดว่าเขต Judea (พื้นที่อิสราเอลในขณะนี้) กับ Samaria (เวสต์แบงก์) เป็นของอิสราเอลตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม ดังนั้นพื้นที่ประเทศอิสราเอลขณะนี้รวมกับเวสต์แบงก์จะต้องเป็นของอิสราเอลวันยังค่ำและผู้อาศัยส่วนใหญ่ต้องเป็นชาวยิว จึงชอบธรรมที่จะผนวกเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้บางคนคิดว่าเพราะไซออนิสต์นี่แหละอิสราเอลจึงขยายดินแดนตามแนวทาง Greater Israel
หลายปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่สนับสนุนลัทธิไซออนิสต์ถือเอาผลการเลือกตั้งเป็นหลักฐานชี้ว่าประชาชนสนับสนุนแนวทางของตน เมื่อตีความตามหลักประชาธิปไตยพลเมืองอิสราเอลส่วนใหญ่ยังเห็นกับการขยายดินแดน แต่ไม่ถูกต้องถ้าจะเหมารวมว่าพวกสนับสนุนขยายดินแดนทุกคนคือไซออนนิสต์ แม้ไม่มีไซออนิสต์ การขยายดินแดนยังจะเกิดต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติแม้ต้องรุกรานเพื่อนบ้าน การรุกรานเพื่อนบ้านไม่ใช่เรื่องแปลก ประวัติศาสตร์เต็มด้วยเรื่องเช่นนี้ ล่าสุดรัสเซียยังบุกยูเครนและครอบครองบางส่วนแล้ว
อิสราเอล รัสเซียรุกรานเพื่อนบ้านผิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่เกิดขึ้นจริง เป็นเหตุผลพื้นฐานที่ทุกประเทศมีกองทัพแม้ใช้งบประมาณมหาศาล โลกเป็นเช่นนี้
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ศัตรูซาอุดิอาระเบียกับอิสราเอลผู้เป็นมิตรหากมองว่ายิวไม่ใช่ศาสนาหรือชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ซาอุฯ ในยุคนี้กำลังประกาศว่าสามารถอยู่ร่วมกับทุกศาสนาทุกเชื้อชาติ เป็นไปตามคำสอนอิสลาม
1. Bennett says election delivers victory for ‘annexation government’. (2020, March 3). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/bennett-says-election-delivers-victory-for-annexation-government/
2. Israel. (2021). Wikipedia. Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Israel#Demographics2
3. Israel's Netanyahu fires defense minister over opposition to judicial overhaul; protests erupt. (2023, March 21). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/w57’orld/israels-netanyahu-fires-defense-minister-opposition-judicial-overhaul
4. Netanyahu crushes a potential mini-revolt, insists on politicizing the judiciary. (2023, March 20). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/crushing-a-potential-mini-revolt-netanyahu-recommits-to-politicizing-the-judiciary/
5. Netanyahu delays judicial overhaul after mass protests. (2023, March 27). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/israel-netanyahu-politics-legal-overhaul-protests-a61c758ad1e523d38006b3e0ea972be2
6. The Israeli Solution. (2014, October 18). The Palestine Chronicle. Retrieved from http://www.palestinechronicle.com/the-israeli-solution/#.VEeQRSKUf0c
-----------------------