เพราะการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ “สวยงาม” อย่างที่บางคนขายฝันให้ เต็มด้วย “ความไม่แน่นอน” มากมาย ซีเรียคือหนึ่งในตัวอย่างนั้น
กันยายน 2018 รัสเซียร่วมกับกองทัพรัฐบาลซีเรียเข้ากวาดล้างผู้ก่อการร้ายที่เมือง Idlib ซึ่งมีผู้ประเมินว่ามีผู้ก่อการร้าย Jabhat al-Nusra อยู่ถึงหมื่นคน เครื่องบินรบรัสเซียโจมตีเมืองต่อเนื่อง กลุ่มก่อการร้ายอ่อนแรงตามลำดับ ด้านสหรัฐประกาศจะคงกองกำลังทหาร 2,200 นายในซีเรียเพื่อต่อต้านผู้ก่อการร้ายและกดดันกองกำลังสังกัดอิหร่านในซีเรีย นับจากนั้นเป็นต้นมาทหารอเมริกันจำนวนหนึ่งจะอยู่ในแผ่นดินซีเรียจนถึงบัดนี้
กรกฎาคม 2022 กระทรวงการต่างประเทศจีนขอให้สหรัฐเลิกปล้นขโมยน้ำมันซีเรีย สนับสนุนท่าทีรัฐบาลซีเรียที่ชี้ว่าสหรัฐเป็นโจรขโมย กองทัพสหรัฐเข้าครองพื้นที่เกษตรกรรมกับบ่อน้ำมันสำคัญของประเทศเก็บเกี่ยวผลประโยชน์
การปะทะเมื่อปลายมีนาคม 2023 :
ตามรายงานสื่อสหรัฐต้นเหตุเริ่มจากเมื่อวันพฤหัส 23 มีนาคม โดรนอิหร่านสังหารอเมริกัน 1 นาย ตามมาด้วยการโจมตีตอบโต้ไปมา ฝ่ายอิหร่านยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพอเมริกาทางตอนเหนือซีเรียใกล้แหล่งน้ำมัน Al-Omar ส่วนอเมริกาตอบโต้โจมตีฐานอิหร่านที่ Harabesh 2 วันต่อมาทหารอเมริกันในซีเรียยังคงปะทะกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน การปะทะขยายตัว ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่ม
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าสหรัฐไม่อยากขัดแย้งกับอิหร่านหลังโจมตีฐานอิหร่านในซีเรียแต่พร้อมปกป้องคนของตน ยืนยันสู้กับ ISIS ต่อไป Gen Michael Erik Kurilla ผู้บัญชาการ US Central Command ให้เหุผลว่า ISIS จะกลับคืนมาใน 1-2 ปีหากกองทัพอเมริกันถอนตัวออกจากซีเรีย มีข้อมูลว่า ISIS ซีเรียแตกตัวออกเป็นสาขาในที่ต่างๆ เช่น ISIS-K
เหตุการณ์นี้เป็นครั้งแรกที่ทหารอเมริกันในซีเรียปะทะกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนตรงๆ ปัจจุบันมีทหารอเมริกันในซีเรียราว 900 นาย
ย้อนหลังความไม่สงบในซีเรีย 2011 :
มีนาคม 2011 เป็นจุดเริ่มเริ่มต้น กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูป ปลดปล่อยนักโทษการเมือง ให้มีการเลือกตั้งเสรี จัดตั้งรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านมามีทุจริตคอร์รัปชันสูง ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเรียกร้องมานับทศวรรษ ท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวายรัฐบาลอัสซาดทำการปฏิรูปบางอย่าง พยายามเจรจากับฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) เห็นว่าหากซีเรียปกครองด้วยประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะยิ่งทำให้ประเทศอ่อนแอ จึงปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝ่ายต่อต้าน มีเหตุปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ฝ่ายต่อต้านเปลี่ยนเป้าหมายเป็นล้มรัฐบาล
ประธานาธิบดีอัสซาดให้ชี้ว่าการประท้วงมาจากมีผู้จ่ายเงินให้คนประท้วงและเรียกร้องการปฏิวัติ ถ้าแนวทางนี้ไม่สำเร็จก็จะอ้างการเปลี่ยนแปลงศาสนา มกราคม 2014 รัฐบาลแจงว่ากำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย หลายประเทศโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียกับตุรเคียที่สนับสนุนผู้ก่อการร้ายให้เข้ามาก่อเหตุในซีเรีย ให้เงินและอาวุธแก่องค์การก่อการร้าย ส่วนชาติตะวันตกสนับสนุนทางการเมืองแก่กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ตราบใดที่ยังมีก่อการร้าย ย่อมไม่สามารถแก้ไขด้วยสันติวิธี
17 สิงหาคม 2011 คือวันแรกที่ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ เป็นขั้นตอนเปลี่ยนจากระบอบอำนาจนิยมเป็นประชาธิปไตย เพราะอัสซาดปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมอย่างสงบ สหรัฐไม่ยอมรับหลักอ้างอธิปไตยแล้วสังหารหมู่พลเรือน จึงสนับสนุนฝ่ายต่อต้านและร่วมมือกับมิตรประเทศเพื่อโดดเดี่ยวและกดดันรัฐบาลซีเรีย ได้รัฐบาลใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของชาวซีเรีย และเชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้จะกินเวลายาวนาน
จุดยืนที่ประกาศเมื่อพฤศจิกายน 2011 ยังคงอยู่ถึงปัจจุบัน
อนาคตของซีเรียที่ไม่เป็นของคนซีเรียอีกต่อไป :
ประธานาธิบดีอัสซาดแสดงความเห็นว่าการจะเอาชนะ IS ขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลัก ข้อแรกคือขีดความสามารถของฝ่ายปราบปราม อีกด้านคือการสนับสนุน IS ตราบใดที่ยังมีรัฐบาลต่างชาติให้การสนับสนุน IS การปราบปรามเป็นเรื่องยากซับซ้อน และต้องจ่ายราคาอีกมากกว่าจะเอาชนะในที่สุด
นาย Ali Haidar รัฐมนตรีกระทรวงปรองดองสมานฉันท์ของซีเรีย (Ministry of Reconciliation) กล่าวว่า ประเทศใดก็ตามที่โจมตีดินแดนของซีเรียถือว่าเป็นการรุกราน และเห็นว่าชาติตะวันตกอาศัยการโจมตี IS เป็นข้ออ้างแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นๆ
มีการวิเคราะห์ว่าความต้องการของสหรัฐ ชาติตะวันตก ชาติอาหรับคือล้มระบอบอัสซาดเท่านั้น
11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria อันประกอบด้วยประเทศอังกฤษ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรเคีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรีย แสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในรัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional Governing Body หรือ TGB) เกิดคำถามว่าแนวทางนี้คือความต้องการของคนซีเรียส่วนใหญ่จริงหรือไม่ กลุ่มประเทศที่ผลักดันมีสิทธิ์อะไรในการกำหนดอนาคตของประเทศอื่น จริงหรือที่ทิศทางดังกล่าวก่อประโยชน์ต่อชาวซีเรีย ทำไมจึงไม่ให้พลเมืองซีเรียแท้ๆ ตัดสินอนาคตของตนเองโดยไม่มีคนนอกแทรกแซง
ฝ่ายต่อต้านเป็นเพียงหุ่นเชิดของตะวันตก นาย Joshua Landis ผู้อำนวยการ Center for Middle East Studies, University of Oklahoma ให้ความเห็นว่า “ฝ่ายต่อต้านแตกแยกอย่างชัดเจนในหลายเรื่อง... หัวหน้ากองกำลังฝ่ายต่อต้านไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้นำทางการเมือง” ดังนั้น ผู้นำทางการเมืองที่ไปเจรจาจึงปราศจากอำนาจควบคุมการต่อสู้ในสมรภูมิ หลายคนถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดของอเมริกาและมีไว้เพื่อคุยกับอัสซาดเท่านั้น เสถียรภาพของซีเรียกลายเป็นผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจกับเพื่อนบ้าน ผู้รับเคราะห์มากที่สุดคือประชาชนซีเรีย
จะเห็นว่าการเข้ามาของชาติมหาอำนาจ ไม่ได้แปลว่าจะสร้างสันติภาพแเสมอไป หรือแม้ว่ามีความตั้งใจดีก็ต้องคิดว่ามีโอกาสประสบผลสำเร็จเพียงใด
อนาคตซีเรียไม่เป็นของคนซีเรียมานานแล้ว ตั้งแต่กองกำลังติดอาวุธต่างชาติที่รัฐบาลต่างชาติอุปถัมภ์เข้าซีเรีย แม้กระทั่งการเจรจาเพื่อหยุดยิง ยุติความขัดแย้งก็ไม่ใช่เพราะอิทธิพลของรัฐบาลอัสซาดหรือฝ่ายต่อต้านสายกลางที่เป็นคนซีเรียแท้ๆ
ถ้าหยิบยกผู้อพยพลี้ภัยขึ้นมาพูด อาหรับสปริงซีเรีย ความพยายามที่จะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ชาวซีเรียหลายล้านคนลงเอยด้วยการระหกระเหินออกนอกประเทศ หลังอยู่ในประเทศอย่างยากลำบาก กลัวที่จะถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต บัดนี้คือผู้ที่ยากจะกลับประเทศอีกแล้ว ชีวิตจากนี้คือการเป็นผู้ลี้ภัยในดินแดนต่างชาติ คนเหล่านี้อาจไม่ได้ทำอะไรผิด มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า แต่ต้องยอมรับสภาพ เพราะการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ “สวยงาม” อย่างที่บางคนขายฝันให้ เต็มด้วย “ความไม่แน่นอน” มากมายที่ตัวเขากับครอบครัวจะต้องประสบด้วยตนเอง ปัจจุบันคนซีเรียกว่า 90% ยากจน 2 ใน 3 อยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างแดน
ทำไมอิหร่านช่วยซีเรีย :
ซีเรียมีสัมพันธ์ดีกับอิหร่านมานาน รัฐบาลซีเรียที่นำโดยครอบครัวอัสซาดกับรัฐบาลอิหร่านหลังจากปฏิวัติอิสลามมีสัมพันธ์ดีแนบแน่น ประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัล อัสซาด (Hafez Al Assad) บิดาของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด เป็นผู้ให้อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ลี้ภัยอยู่ในประเทศซีเรีย ก่อนที่โคไมนีสามารถกลับอิหร่าน ทำการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 ซีเรียเป็นประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลของโคไมนี
สมัยของประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัล อัสซาด ไม่ถูกกับประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) สงครามอิรัก-อิหร่าน (Iran–Iraq War) ระหว่างปี 1980–1988 ทำให้ 2 ฝ่ายสูญเสียทหารนับแสน ในช่วงนั้นรัฐบาลซีเรียสนับสนุนอิหร่านทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร โดยเฉพาะการปิดท่อส่งน้ำมันของอิรักที่พาดผ่านซีเรีย แต่ด้วยการสนับสนุนอิหร่านครั้งนั้น ทำให้ชาติอาหรับโดดเดี่ยวซีเรีย และเป็นเหตุให้ซีเรียมีสัมพันธ์แนบแน่นกับอิหร่าน
หลายปีแล้วกำลังสังกัดอิหร่านเข้าซีเรียปกป้องอัสซาดโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลซีเรีย ที่ผ่านมาอิสราเอลเข้าโจมตีหลายครั้ง จนล่าสุดเกิดปะทะกับทหารอเมริกัน คาดว่าอนาคตอาจเกิดซ้ำอีก เรื่องนี้สัมพันธ์กับนโยบายต่ออิหร่านด้วย การปะทะระหว่างทหารอเมริกันกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนครั้งนี้เป็นฉากหนึ่งของซีเรียในสงครามที่ไม่จบสิ้น
----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
8 ปีหลังเริ่มสงครามกลางเมืองซีเรีย
ความไม่พอใจรัฐบาลเป็นเรื่องปกติของการเมืองการปกครอง แต่เมื่อบานปลายจนไร้การควบคุม ต่างชาติเข้าแทรก การชุมนุมประท้วงจึงกลายเป็นสงครามกลางเมือง ประเทศซีเรียไม่ใช่ของชาวซีเรียอีกต่อไป
1. Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. (2014, January 21). Global Research. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. Biden offers first remarks on airstrikes: We don’t ‘seek conflict with Iran’. (2023, March 24). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/homenews/administration/3917234-biden-offers-first-remarks-on-airstrikes-we-dont-seek-conflict-with-iran/
3. China urges U.S. to stop looting Syrian national resources. (2022, July 20). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20220720/55c4ee9e26f74fe090f24a687f0515e2/c.html
4.Interview Given by President al-Assad to Lebanese Al-Manar TV. (2013, May 31). SANA. Retrieved from http://sana.sy/eng/21/2013/05/31/485037.htm
5. ISIS would return to Syria in 'one to two years' if US forces leave, says top general. (2023, March 24). The National News. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/world/us-news/2023/03/23/isis-would-return-to-syria-in-one-to-two-years-if-us-forces-leave-says-top-general/
6. Kremlin says Syria army getting ready to 'solve' Idlib 'terrorism' problem. (2018, September 4). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/205/kremlin-says-syria-army-getting-ready-solve-idlib-terrorism-problem-doc-18u31v4
7. McGeary, Thomas. (2003). Syria. In Bankston III, Carl L. (Ed.), World Conflicts: Asia and the Middle East (Vol.1, pp. 491-506). California: Salem Press, Inc.
8. More attacks on US bases in Syria after retaliatory air strikes. (2023, March 25). The National News. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/mena/2023/03/25/more-attacks-on-us-bases-in-syria-after-retaliatory-air-strikes/
9. President al-Assad: Britain and France have neither the will nor the vision on how to defeat terrorism. (2015, December 6). SANA. Retrieved from http://sana.sy/en/?p=63558
10. Syria opposition under pressure to join peace talks. (2013, October 21). AFP. http://uk.news.yahoo.com/friends-syria-meet-rebels-push-peace-efforts-074044647.html#GrTzsHL
11. Syria prioritizes countering terrorism, disagrees with U.S. stance. (2014, September 12). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-09/12/c_133638583.htm
12. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
13. US base in Syria attacked by Iranian proxy forces after retaliatory airstrikes. (2023, March 24). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/world/us-base-syria-attacked-iranian-proxy-forces-retaliatory-airstrikes
14. U.S. Department of State. (2011, November 9). U.S Policy on Syria. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
15. The White House. (2022, October 11). National Security Strategy 2022. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2022/10/Biden-Harris-Administrations-National-Security-Strategy-10.2022.pdf
-----------------------