ปูตินระงับ New START โลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์?
New
Strategic Arms Reduction Treaty (New START) เป็นข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเมื่อปี
2010 เป็นฉบับปรับปรุงจาก Strategic Arms Reduction Treaty of 1991 (START
I) ทั้ง 2 ประเทศจะจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เหลือ
1,550 หัวรบและระบบปล่อยอาวุธไม่เกิน 700 ชุด
ปูตินระงับใช้ New
START :
ท่ามกลางศึกยูเครนส่อว่าจะขยายวงกว้าง 21 กุมภาพันธ์
2023 ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับ (suspension) ข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ New START ด้วยเหตุผลขอตรวจสอบให้มั่นใจว่าประเทศปลอดภัยไม่ถูกคุกคามเหมือนอย่างเช่นตอนนี้
การระงับดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ารัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงอย่างสิ้นเชิง แต่นับจากนี้รัสเซียอาจเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ตามต้องการ
ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเข้าตรวจสอบ ไม่จำต้องรายงานอาวุธที่ถือครอง
อีกทั้งอาจมีผลต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT)
สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT)
นับจากเกิดศึกยูเครน รัฐบาลปูตินเชื่อมโยงสงครามดังกล่าวกับอาวุธนิวเคลียร์
ถือว่าทั้งหมดคือเรื่องการป้องกันประเทศ อาจตีความว่ารัสเซียจะไม่ยอมแพ้หรือเป็นคำขู่ก็ได้
เป็นคำเตือนที่เปิดเผยนำเสนอเป็นระบบ เริ่มจากแสดงท่าทีว่าอาจไม่ขยายข้อตกลง New
START ที่เดิมจะสิ้นสุดในปี 2026 ต่อมาประกาศให้กองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อม
จากนั้นซ้อมรบหลายรอบ เตรียมพร้อมระบบป้องกันขีปนาวุธข้ามทวีป และเมื่อสงครามยูเครนครบปีจึงประกาศระงับใช้
New START
การระงับ New START เปิดโอกาสให้รัสเซียปรับยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ให้ตรงกับบริบทปัจจุบันและอนาคต
คาดว่าขนาดหัวรบอาจเล็กลงแต่มีจำนวนมากขึ้น ระบบปล่อยมากขึ้น เพิ่มจุดโจมตีทั้งทางยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี
เพิ่มโอกาสโจมตีตอบโต้ระลอก 2-3
ด้อยประสิทธิภาพระบบป้องกันขีปนาวุธฝ่ายตรงข้าม
ข้าศึกต้องยับยั้งชั่งใจยิ่งขึ้นหากคิดทำสงครามนิวเคลียร์
แม้สงครามยูเครนส่อแววรุนแรงขยายวง
ความเป็นสงครามตัวแทนระหว่างรัสเซียกับนาโตชัดเจนยิ่งขึ้นทุกทีนำสู่การระงับ New
START (เห็นชัดว่ารัสเซียถือว่าสหรัฐเป็นคู่พิพาทหลัก ไม่ใช่แค่เรื่องรัสเซียกับยูเครน)
แต่หลักนิยมนิวเคลียร์รัสเซียยังคงเดิม สัปดาห์ก่อนนายดมิทรี
เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(Deputy Chairman of the Security Council)
ย้ำจุดยืนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ว่า “ถ้าสหรัฐต้องการเอาชนะรัสเซีย
เรามีสิทธิป้องกันตัวเองด้วยอาวุธทุกอย่างรวมทั้งนิวเคลียร์”
หลักคิดกดปุ่มนิวเคลียร์ไม่ต่างจากเดิม เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อรัสเซียอยู่ในสถานการณ์ใกล้แพ้
โลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มากขึ้น :
สิงหาคม 2019 รัฐบาลทรัมป์กับปูตินต่างประกาศยกเลิกสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
(Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty : INF)
ทำให้ยุโรปตกอยู่ในภัยสงครามนิวเคลียร์ทันที มีความหมายว่าทั้งสหรัฐกับรัสเซียสามารถประจำการอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางหลากหลายชนิดเล็งเป้ายุโรป
แน่นอนว่ารัสเซียตกเป็นเป้าด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น
ทันทีที่ถอนตัวออกจาก INF มาร์ก เอสเปอร์ (Mark
Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่าสหรัฐอาจเริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางที่ติดตั้งภาคพื้นดินอีกครั้ง
หวังจะติดตั้งที่ใดที่หนึ่งในเอเชีย รายงาน Ground-Based
Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific ของ RAND ปี 2022 ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะระบุว่า สหรัฐคิดติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ของตนในประเทศไทย
ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น แม้หลายประเทศปฏิเสธ เช่น รัฐบาลออสเตรเลียกับฟิลิปปินส์ปฏิเสธทันควัน
แต่รัฐบาลสหรัฐไม่ละความพยายาม ยังเสาะหาประเทศที่ยอมให้ติดตั้งนิวเคลียร์ของตน
สิงหาคม
2022 เมื่อสงครามยูเครนดำเนินได้ครึ่งปี อันโตนิโอ
กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงอันตรายที่สุด
ชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์ต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน
เลิกแสดงแสนยานุภาพนิวเคลียร์
ตอนนี้ความตึงเครียดจากนิวเคลียร์สูงสุดในรอบหลายทศวรรษ
ปูตินให้เหตุผลเหตุที่ต้องระงับ
New START เพื่อให้รัฐบาลตะวันตกยอมรับความกังวลของรัสเซียๆ ต้องปลอดภัยไม่ถูกคุกคามเหมือนอย่างเช่นตอนนี้
ตีความว่ารัฐบาลตะวันตกจ้องทำลายจึงต้องป้องกันตนเองซึ่งท้ายที่สุดคือใช้อาวุธนิวเคลียร์
สงครามนิวเคลียร์ใช่ว่าจะเกิดง่ายๆ :
ย้อนหลัง 8 สิงหาคม 2017 The Washington
Post รายงานหน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Defense
Intelligence Agency) ระบุว่าขีปนาวุธเกาหลีเหนือสามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ได้แล้ว
รายงานลับฉบับปลายเดือนกรกฎาคมระบุว่า เกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์ 60
หัวรบ สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ากับขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงไกลถึงแผ่นดินแม่สหรัฐ
ก่อนหน้านั้นเกาหลีเหนือประกาศประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วหลายครั้ง
เมื่อรวมกับการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคม
เรื่องสหรัฐไม่ปลอดภัยจากนิวเคลียร์เกาหลีเหนือฟังดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาก
รายงานลับของหน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมคือข้อสรุปที่ชัดเจน ช่วงนั้นคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยคิดว่าเป็นเรื่องจริง
สังคมอเมริกันหวาดผวาหนัก เพราะรับรู้จากสื่อและรัฐบาลตนเองว่าผู้นำเกาหลีเหนือกล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์
เรื่องนี้ฉุดคะแนนนิยมทรัมป์ที่ต่ำอยู่แล้วให้ต่ำลงไปอีก
สัปดาห์ต่อมาไมค์
ปอมเปโอ (Mike Pompeo) ผู้อำนวยการ CIA
ชี้แจงว่าความจริงคือจนถึงบัดนี้ยังไม่มีหน่วยงานการข่าวใดระบุเช่นนั้น
ดังนั้นเกาหลีเหนือไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว (imminent) ที่รัฐบาลกังวลคือเกาหลีเหนือค่อยๆ
พัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปจึงใกล้จะสำเร็จ
เห็นชัดว่ารัฐบาลทรัมป์ต้องการลดกระแสหวาดกลัว
ทิ้งคำถามว่า The Washington Post นำเสนอข่าวเท็จหรือว่าหน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสร้างรายงานเท็จ
หรือว่า CIA ออกมากลบข่าวจริงให้กลายเป็นเท็จ
ไม่ว่าใครพูดจริงพูดเท็จ คนอเมริกันหวาดผวาสงครามนิวเคลียร์มากจริงๆ
มีนาคม
2022 โพล AP-NORC เผยคนอเมริกัน 45%
กังวลมาก (very concerned) ว่าประเทศจะเป็นเป้าอาวุธนิวเคลียร์รัสเซีย
30% กังวลบ้าง (somewhat) 25% ไม่กังวลหรือไม่ค่อยกังวล
ถ้าเทียบกับเกาหลีเหนือแล้วรัสเซียสามารถทำลายล้างอารยธรรมอเมริกาง่ายกว่ามาก
แผ่นดินสหรัฐอาจถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์หลายระลอก เมืองใหญ่ๆ ล้วนเป็นเป้าโจมตี
รวมความแล้วหากพูดเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3
สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก ควรถามคนอเมริกัน คนฝรั่งเศสและอังกฤษ
(ต้นแบบประชาธิปไตยตะวันตก) ว่าเพื่อปกป้องเสรีประชาธิปไตยของยูเครน ยินดีให้ระเบิดนิวเคลียร์หล่นใส่บ้านตัวเองหรือไม่
ยินดีให้ลูกหลานพินาศพร้อมกับคนยูเครนหรือไม่
ตั้งแต่แรกเริ่มสงครามยูเครน
ประธานาธิบดีเซเลนสกีร้องขอให้จัดทำเขตห้ามบิน (no-fly zone)
แต่รัฐบาลไบเดนปฏิเสธเรื่อยมา ให้เหตุผลว่าจะกลายเป็นสงครามโลกถ้าเครื่องบินรบนาโตยิงเครื่องบินรบรัสเซีย
ฝ่ายสหรัฐจึงตระหนักและรู้ดีว่ากรอบสงครามอยู่ที่ใด
ทิ้งให้ยูเครนต้องรบกับรัสเซียด้วยอาวุธที่ด้อยกว่าดังที่เป็นอยู่
ถ้ามองในมุมบวกการระงับ New START คือคำขอให้เจรจา รัสเซียต้องการสันติภาพมากกว่าสงคราม
รัฐบาลสหรัฐกับพวกต้องยกเลิกยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว
ยูเครนต้องวางตัวเป็นกลาง
คำอธิบายที่น่าจะถูกต้องคือโลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ตั้งแต่ก่อนเกิดศึกยูเครน
การใช้นิวเคลียร์อาจเริ่มจากจุดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ยูเครน สงครามยูเครนเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นอีก
แต่หลักการ “กดปุ่มนิวเคลียร์” ของรัสเซียยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง วันใดที่ศัตรูยิงนิวเคลียร์ใส่รัสเซีย
หรือรัสเซียส่อแพ้สิ้นชาติวันนั้นจะตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลปูตินพยายามยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการตอกย้ำหลักนิยมป้องปรามด้วยนิวเคลียร์
(Deterrence) พร้อมกับปรับปรุงกองกำลังนิวเคลียร์ของตน จากนี้ไปต้องติดตามว่ารัฐบาลสหรัฐกับพวกจะตอบสนองอย่างไร
ประชาคมโลกจะปล่อยให้ความเป็นไปของโลกอยู่ในมือผู้ปกครองไม่กี่คนหรือไม่
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :1. Australia
rules out hosting US missiles. (2019, August 5). Arab News. Retrieved
from http://www.arabnews.com/node/1535676/world
2. Kremlin not to revive New START discussions unless
Washington takes heed of its concerns. (2023, February 28). TASS. Retrieved
from https://tass.com/politics/1582423
3. North Korea now making missile-ready nuclear
weapons, U.S. analysts say. (2017, August 8). The Washington Post.
Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/world/national-security/north-korea-now-making-missile-ready-nuclear-weapons-us-analysts-say/2017/08/08/e14b882a-7b6b-11e7-9d08-b79f191668ed_story.html
4. North Korea threatens missile strike on Guam; Trump vows
'fire and fury'. (2017, August 8). USA Today. Retrieved from
https://www.usatoday.com/story/news/world/2017/08/08/report-north-korea-has-nuke-fits-inside-missile/549188001/
5. Nuclear fears in US amid Russia-Ukraine war: AP-NORC
poll. (2022, March 28). AP. Retrieved from
https://apnews.com/article/russia-ukraine-putin-europe-cold-war-nato-c0acbb51f5fda41475287a4113ada3fd
6. Nuclear stability for all put at risk by Putin's speech.
(2023, February 22). Chatham House.org. Retrieved from https://www.chathamhouse.org/2023/02/nuclear-stability-all-put-risk-putins-speech
7. Nuclear war with N. Korea not ‘imminent’ – CIA chief.
(2017, August 14). RT Retrieved from
https://www.rt.com/news/399505-pompeo-zakharova-north-korea/
8. RAND. (2022). Ground-Based Intermediate-Range Missiles in
the Indo-Pacific. Retrieved from
https://www.rand.org/pubs/research_reports/RRA393-3.html
9. Russia
and the US nuke 32-year-old INF treaty. (2019, August 2). Deutsche Welle.
Retrieved from https://www.dw.com/en/russia-and-the-us-nuke-32-year-old-inf-treaty/a-49863508
10. Russia will use nuclear weapons for its defence –
Medvedev. (2023, February 22). Pravda. Retrieved from https://english.pravda.ru/news/russia/155876-russia_nuclear_medvedev/
11. Statement of DPRK Government. (2017, August 8). The
Rodong Sinmun. Retrieved from
http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2017-08-08-0001
12. Stop 'nuclear sabre-rattling', UN chief demands. (2022,
August 23). The National News. Retrieved from
https://www.thenationalnews.com/world/2022/08/23/stop-nuclear-sabre-rattling-un-chief-demands/
13. ‘The
end of us all!’ Duterte will NEVER let US deploy nukes & mid-range missiles
in the Philippines. (2019, August 7). Al Arabiya. Retrieved from
https://www.rt.com/news/465940-manila-no-us-nukes-inf/
14. Trump threatens ‘fire and fury’ in response to North
Korean threats. (2017, August 8). The Washington Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/politics/trump-tweets-news-report-citing-anonymous-sources-on-n-korea-movements/2017/08/08/47a9b9c0-7c48-11e7-83c7-5bd5460f0d7e_story.html
15. U.S. extends nuclear arms control treaty with Russia for
five years. (2020, February 3). Xinhua.
Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/04/c_139719320.htm
-----------------------