Global Risk Report 2023: มหันตภัยโลก

ความเป็นไปของธรรมชาติสัมพันธ์กับความมั่นคงแห่งชาติ การหยุดโลกร้อนกับการอยู่เย็นเป็นสุขเป็นเรื่องเดียวกัน

            ทุกปีเดือนมกราคมคนดังคนเก่งคนมีอำนาจของโลกหลายพันคนจะไปรวมตัวที่งาน World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ Global Risk Report เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นสำหรับงานดังกล่าว ฉบับล่าสุด Global Risk Report 2023 มีสาระสำคัญดังนี้

วิกฤตวันนี้ 2023-2025 :

            5 วิกฤตร้ายแรงในยามนี้และในระยะสั้นได้แก่ วิกฤตอุปทานพลังงาน วิกฤตค่าครองชีพ เงินเฟ้อพุ่ง วิกฤตอุปทานอาหาร การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางไซเบอร์ ปัญหารองลงมา เช่น ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ไม่เป็นไปตามเป้า การใช้นโยบายเศรษฐกิจเป็นอาวุธ สิทธิมนุษยชนแย่ลง วิกฤตหนี้ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานกลุ่ม non-food ผลกระทบจากสงครามยูเครน ภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ทวีความรุนแรง

            วิกฤตค่าครองชีพ : ผลจากโรคระบาดโควิด-19 เงินเฟ้อพุ่ง หมวดอาหารกับพลังงานแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ราว 30 ประเทศระงับส่งออกสินค้าบางตัวเพื่อสกัดการขึ้นราคาภายในประเทศ ปัญหาสินค้าแพงจะหนักสุดในอีก 2 ปีข้างหน้าก่อนคลายตัว อาจเป็นต้นเหตุความวุ่นวายในบางประเทศ การเมืองไม่มั่นคง หากราคาพลังงานกับอาหารไม่ลดลงจะกดดันให้คงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงอีกนาน กระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือนจะสูงขึ้นต่อไป คนเกษียณอายุที่กินบำนาญจะพบว่าค่าเงินร่อยหรอ

            ปีที่แล้ว (2022) มีการชุมนุมประท้วงน้ำมันแพงใน 92 ประเทศ บางกรณีรุนแรงมีผู้เสียชีวิต บางประเทศกระทบต่อความมั่นคงภายในรุนแรง เช่น โซมาเลีย ซูดาน ซูดานใต้และซีเรีย ส่วนประเทศที่การเมืองไร้เสถียรภาพเพราะอาหารแพง หนี้ท่วมประเทศ ได้แก่ ตูนิเซีย กานา ปากีสถาน อียิปต์และเลบานอน

            เศรษฐกิจขาลง : ทุกประเทศพยายามบริหารจัดการเศรษฐกิจ ภาคเอกชนดิ้นรนหาทางสู้ สถานการณ์จึงดีขึ้นแต่อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอนาน เงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง สหรัฐเงินเฟ้อสูงสุดที่ 9% แต่บางประเทศเช่นอาร์เจนตินากับตุรเคียไปถึง 80% IMF คาดว่าเงินเฟ้อโลกปีนี้ (2023) อยู่ที่ 6.5% ปีหน้า 4.1%

            หนี้สาธารณะ : คาดว่าปีนี้ 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นงานหนัก เศรษฐกิจหลายประเทศจะหยุดชะงัก หนี้สาธารณะจะเป็นปัญหาระดับโลก ศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายจนรัฐบาลกับระบบเศรษฐกิจล่มสลาย คาดว่า 2 ปีหน้าจะมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่วิกฤตตามแบบศรีลังกา

            ภูมิเศรษฐศาสตร์ : การเผชิญหน้าทางภูมิเศรษฐศาสตร์จะดำเนินต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2 ปี เกิดสงครามการค้า เอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่น่าจับตา ต้องระวังสงครามเศรษฐกิจขยายตัว กีดกันการค้าด้วยเหตุผลความมั่นคง ความเป็นพันธมิตรการค้าจะอ่อนแอลงเพราะจะปกป้องเศรษฐกิจตัวเอง

            ความตึงเครียดจากภูมิรัฐศาสตร์และการให้ความสำคัญกับความมั่นคงล้วนมีค่าใช้จ่าย ยุทธศาสตร์มุ่งค้าขายกับพวกเดียวกันกระทบต่อการค้าการลงทุน การกีดกันเทคโนโลยี ระบบการเงิน การเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ทุกอย่างมีผล ราคาสินค้าบริการจะสูงขึ้น

            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : แม้โลกจะพยายามแก้ปัญหากว่า 30 ปีแล้ว ความพยายามขับเคลื่อนยังต้องทำต่อไป เรื่องแรกที่ต้องทำคือชี้ว่าโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากแค่ไหน ทุกวันนี้ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทนและไนตรัสออกไซด์ล้วนเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ให้อุณภูมิโลกสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจึงไม่น่าจะทำได้

            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามระดับโลกและโลกเตรียมตัวรับมือน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับความเสี่ยงอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์กับฝ่ายการเมืองตกลงกันไม่ได้ว่าจะเอาอย่างไร ความเสียหายที่เกิดจากโลกร้อนเป็นแรงกดดันทางบวกดังจะเห็นว่าหลายประเทศเน้นใช้พลังงานสะอาด รวมความแล้วแม้หลายประเทศมีนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนแต่โดยรวมยังทำน้อยเกินไป ความต้องการทางเศรษฐกิจการเมืองระยะสั้นยังเป็นแรงชี้นำสำคัญที่สุด

            ในอีกปีสองปีข้างหน้าสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงจะเป็นความเสี่ยงอันดับ 2 ทั้งน้ำท่วม คลื่นความร้อนสูง ภัยแล้งจะพบถี่ขึ้นรุนแรงขึ้น การปรับตัวเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อลดความสูญเสีย รัฐควรเพิ่มงบประมาณเพื่อการปรับตัวดังกล่าว ความล่าช้าจะยิ่งเพิ่มต้นทุน

            สังคมแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย : ไม่ความเท่าเทียมเป็นความท้าทายทั้งต่อระบบประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกับความไม่เท่าเทียมทางสังคมเป็นประเด็นการเมือง ความไม่เท่าเทียมรูปแบบอื่นๆ อีก เช่น ความไม่เท่าเทียมเพราะเป็นต่างด้าวอพยพ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา เหล่านี้กำลังเป็นประเด็นทั่วโลก ก่อความวุ่นวายไม่จบสิ้น

            ข่าวสารกับข่าวปลอม : สังคมแตกแยกเป็นขั้วมักมีปัญหาข่าวปลอมระบาด ผู้คนไม่เชื่อถือข้อมูล ไม่เชื่อถือระบบการเมือง กลุ่มสุดโต่งหัวรุนแรงเกิดขึ้นพร้อมข่าวปลอม พรรคการเมืองทั้งแบบขวาจัดกับซ้ายจัดได้รับความนิยม เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยผลิตและกระจายข่าวปลอม สร้างเรื่องเท็จด้วยการตัดต่อภาพและเสียงอย่างแนบเนียน

            บางกรณีสังคมแตกแยกเพราะการแข่งขันทางการเมืองโดยแท้ พวกชนชั้นนำสร้างความแตกแยกนี้ เกิดเป็นปมที่ยากจะแก้ไข ภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะส่งเสริมให้แตกแยก ต่างฝ่ายต่างมีกลุ่มหัวรุนแรงของตน ก่อความรุนแรงทางการเมือง อาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง (hate crimes) ขั้นรุนแรงที่สุดคือเกิดสงครามกลางเมือง

มหันตภัย 10 ปีข้างหน้า :

            นอกจากมองระยะสั้น Global Risk Report ยังมองไปถึงปี 2033 ระบุความเสี่ยงสำคัญ 10 ประการ ได้แก่ ไม่สามารถบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไม่สามารถหยุดโลกร้อน) ไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้คนอพยพย้ายถิ่นโดยไม่สมัครใจ (สังเกตว่าความเสี่ยงร้ายแรง 5 ข้อแรกเป็นเรื่องโลกร้อนทั้งสิ้น)

            ต่อจาก 5 ข้อแรกคือวิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ สังคมแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อาชญากรรมไซเบอร์ระบาด การเผชิญหน้าทางภูมิเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อมถูกทำลายเป็นวงกว้าง

            หัวข้อนี้ให้ความเข้าใจว่าในอีก 10 ข้างหน้าภาวะโลกร้อนเป็นความเสี่ยงอันดับแรก และไม่คิดว่าโลกจะแก้ไขได้ดี 

ความสัมพันธ์แบบองค์รวม :

            รายงานของ World Economic Forum ฉบับนี้สรุปภาพความสัมพันธ์ผลกระทบแบบองค์รวม ภาพที่นำเสนอแสดงข้อสรุปบางส่วน ถ้าอธิบายโดยเอาสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง วงกลมสีเขียว 6 ก้อนทางขวามือคือประเด็นสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ไม่สามารถลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ฯลฯ ผลลัพธ์สุดท้ายคือผู้คนจะอพยพออกจากพื้นที่ (วงกลมสีแดงตรงกลาง - เนื่องจากอยู่ไม่ได้เพราะภัยพิบัติหรืออดอยาก) การอพยพย้ายถิ่นจำนวนมากส่งผลกระทบหลายด้าน ที่สำคัญคือเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ (เมื่อผู้อพยพข้ามแดน) กระทบห่วงโซ่อุปทาน (จินตนาการว่าผู้คนจากเมืองหลวงกับจังหวัดโดยรอบย้ายออกจากพื้นที่ เกิดผลกระทบตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับโลก) ร้ายแรงที่สุดคือรัฐล่มสลาย (วงกลมสีส้มใหญ่ทางซ้ายสุด)

            แผนภาพนี้ให้ความเข้าใจว่าทุกสิ่งสัมพันธ์กัน ลำพังไม่สามารถหยุดโลกร้อน (ถ้าเอ่ยเรื่องนี้ข้อเดียว ยังไม่พูดถึงความเสี่ยงอื่นๆ) จะกระทบทั้งประเทศทั้งโลกตั้งแต่เบาจนถึงหนัก

            โลกกำลังเผชิญวิกฤตพร้อมกันหลายอย่าง คาดว่าปี 2030 จะมีประชากร 8,500 ล้านคน ต้องการอาหาร น้ำ แร่สำคัญหลายชนิดจำนวนมาก งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่าอุปสงค์กับอุปทานน้ำต่างกันถึง 40% ความต้องการพลังงานหมุนเวียนจำนวนมหาศาลทำให้แร่บางอย่างเป็นของหายาก

            Global Risk Report 2023 ชี้ให้ตระหนักถึงอนาคตที่ไม่ต้องรอนานนัก ความเป็นไปของธรรมชาติสัมพันธ์กับเศรษฐกิจสังคมการเมือง ความมั่นคงแห่งชาติ การหยุดโลกร้อนกับการอยู่เย็นเป็นสุขเป็นเรื่องเดียวกัน

29 มกราคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9573 วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566)

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก