ยุทธศาสตร์ 10 ปีสู้โลกร้อนของ FAO (2022–2031)

เรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่ามองจากมุมภาวะโลกร้อนหรือแก้ไขภาวะโลกร้อนล้วนมีผลต่อราคาอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ ทุกคนทั่วโลกจำต้องร่วมมือหยุดโลกร้อน

            องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) นำเสนอ ยุทธศาสตร์ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2022–2031 (FAO Strategy on Climate Change 2022–2031) คาดการณ์ผลผลิตอาหารทั่วโลก ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนพร้อมแนวทางแก้ไข มีสาระสำคัญดังนี้

800 ล้านคนทั่วโลกหิวโหยอดอยาก :

            ปี 2020 (ตัวเลข 2 ปีก่อน) ประชากรโลก 720-811 ล้านคนอดอยาก อาหารไม่พอกิน (ล่าสุดโลกมีประชากร 8,000 ล้านคนหรือราว 10% ที่อดอยาก) สาเหตุหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฤดูกาลแปรปรวน เพาะปลูกไม่ได้ผล โรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงขึ้น ปัญหานี้จะแก้ได้หากใช้ระบบเพิ่มผลผลิตเกษตรที่ยั่งยืน คนมีรายได้มากขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (บางปัจจัยทำให้คนไม่เข้าถึงอาหาร เช่น สงคราม และอาหารบางอย่างช่วยให้อิ่มท้องแต่ขาดคุณค่าทางโภชนาการหรือเป็นโทษต่อร่างกาย)

            ระบบเกษตรกรรมกับอาหารที่ยั่งยืนคือองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้โลกบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติที่สมาชิกทุกประเทศยึดถือ หมายความว่าไม่อาจทำเกษตรแบบเดิมที่ทำร้ายชีวิต ต้องเป็นการเกษตรที่คำนึงสุขภาพ คำนึงสิ่งแวดล้อมโลก สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ขีดความสามารถของเกษตรกร

            ราคาอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด) ทำให้ปัญหาความยากจน คนหิวโหยอดอยากขาดอาหารแก้ยากกว่าเดิม สุดท้ายส่งผลต่อสังคมประเทศชาติ กระทบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

การหยุดโลกร้อนเหมือนการดูแลสุขภาพ :

            มีการประเมินว่าก๊าซเรือนกระจกราว 21-37% มาจากระบบการผลิตอาหาร ตั้งแต่เพิ่มปริมาณการผลิต วิธีใช้ที่ดิน การแปรรูปอาหาร การหีบห่อและขนส่งไปที่ต่างๆ การปรุงอาหาร ส่วนที่สูญเสียและกินไม่หมด เพื่อแก้ปัญหานี้จำต้องเพิ่มแหล่งเก็บกักคาร์บอน (Carbon sinks) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าไม่ให้อุณภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสก่อนระดับยุคอุตสาหกรรม และหยุดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

            นับจากปี 1970 เป็นต้นมาความร้อนของทะเลเริ่มส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง หมู่เกาะเล็กๆ บริเวณขั้วโลกและภูเขาสูง นอกจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและมีความเป็นกรดมากขึ้น สัตว์น้ำลดจำนวนลง การประมงได้ผลน้อยลง

            ถ้ารอให้ป่วยแล้วค่อยออกกำลังกายก็ช้าไปแล้ว ภาวะโลกร้อนในขณะนี้มาถึงจุดที่ “ไม่ทำวันนี้พรุ่งนี้ป่วย”

            การแก้ไขไม่อาจรอช้าจำต้องดำเนินการโดยด่วน ใช้มาตรการเร่งด่วนในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านการป้องกัน ลงมือแก้ไขล่วงหน้า เปลี่ยนแปลงปรับปรุง สร้างระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมสุขภาพ ใช้ทรัพยากรต่างๆ บนพื้นฐานความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ ดูแลการซื้อขายการกระจายอาหารให้ทั่วถึงเพียงพอทุกภูมิภาค

            ต้องกำหนดและให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดี (good practices) คิดหาทางออกที่สร้างสรรค์เหมาะกับแต่ละบริบทแต่ละท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่นที่จะต้องเป็นผู้ปฏิบัติในส่วนของเขา สามารถยืดหยุ่นปรับปรุงตามความเหมาะสม บนรากฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิธีการที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดี รวมความแล้วต้องประสานเทคโนโลยี การเงิน นโยบาย กฎหมาย สังคมและสถาบันต่างๆ ให้เข้ากันอย่างลงตัว รวมภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ากับความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่

            กฎหมายต้องเปิดกว้างให้ประชาชนกับเอกชนได้ทำในส่วนของเขามากที่สุด รัฐให้งบประมาณสนับสนุนความคิดริเริ่มใหม่ๆ ทั้งรายเล็กรายใหญ่

            ป่ามีบทบาทสำคัญต่อความสามารถในการรับมือ การปรับตัว และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปลูกป่าทำลายป่ามีผลโดยตรงต่ออุณหภูมิที่พื้นผิว ป่าช่วยป้องกันแนวชายฝั่ง ไม้เป็นแหล่งทรัพยกรหมุนเวียน เป็นแหล่งพลังงานที่สามารถทดแทนแหล่งพลังงานอื่นที่ไม่หมุนเวียน

กรอบยุทธศาสตร์ FAO 2022–2031 :

            ยุทธศาสตร์ FAO ล่าสุดให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่อว่าจะแย่ลงใน 10 ปีข้างหน้า มุ่งส่งเสริมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และข้อตกลงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอื่นๆ

            วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ FAO ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือระบบเกษตรกรรมกับอาหารที่ยั่งยืนรวมทุกคนให้มีส่วน สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทุกคนมีส่วนเกื้อกูลเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่น้อย (low-emission economies) พร้อมกับการผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอและปลอดภัยเพื่อการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงสินค้าเกษตรและบริการอื่นๆ ทั้งแก่คนรุ่นปัจจุบันและชนรุ่นหลังทุกคน

ภาพ : วิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ FAO ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เครดิตภาพ : https://www.fao.org/3/cc2274en/cc2274en.pdf

            เป้าหมายยุทธศาสตร์ FAO ล่าสุดเน้นกำจัดความอดอยากหิวโหยให้หมดสิ้น ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ภายในปี 2030 เกื้อหนุนให้ได้ใช้น้ำสะอาด การผลิตกับการบริโภคที่ยั่งยืน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนด้วยการผสานความร่วมมือทุกฝ่าย บนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับระบบเกษตรกรรมกับอาหารที่ยั่งยืน เป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะกับทุกคนโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ออกแบบเพื่อใช้ตั้งแต่ระดับโลก ระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่น สร้างความสมดุลและยั่งยืนระหว่างเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับบริบทของแต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่น

            ยุทธศาสตร์ FAO ตั้งอยู่บนหลักคิดยึดความเหมาะสมของบริบทอันหลากหลาย แยกเมือง ชานเมือง ชนบท แผนของแต่ละประเทศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ และความเสี่ยงอื่นๆ และตั้งอยู่บนแนวทางล่าสุด สถานการณ์ล่าสุด ให้ความสำคัญกับบทบาทของ 4 กลุ่มหรือประเด็นได้แก่ 1) สถาบันกับรัฐบาล 2) ผู้บริโภค 3) กระจายรายได้และความมั่งคั่ง 4) เทคโนโลยีกับแนวทางใหม่ๆ

            แม้ในที่นี้จะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารแต่เป็นยุทธศาสตร์ที่มององค์รวม เช่น ต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบสนองการพัฒนา กระบวนทางการตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ยึดชาวบ้านคนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง สนับสนุนท้องถิ่นควบคู่กับเมือง

            ทำงานด้วยสหวิทยา ประสานภูมิปัญญาชาวบ้านกับความรู้วิทยาศาสตร์ นำข้อมูลระดับโลกมาปรับใช้ตามภูมิปัญญาแต่ละท้องถิ่น พยายามร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของทุกภาคส่วน ให้ความสำคัญกับคนหนุ่มสาว เปิดโอกาสให้พวกเขามีส่วนร่วม รับฟังความคิดเห็น

            ยึดผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่ายตั้งแต่ภาพรวมระดับโลกลงมาถึงท้องถิ่น ทุกคนจะต้องได้รับการดูแลให้มีอาหารคุณภาพอย่างพอเพียง

            ในระดับประเทศ แต่ละประเทศสามารถคิดค้นหาทางแก้ไขด้วยตนเอง FAO พร้อมสนับสนุนให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การฝึกอบรม การทำวิจัย การทำรายงาน ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร แค่ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นปัญหาแล้ว การลดโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายทั่วโลกต้องร่วมมือกัน เพื่อความยั่งยืน ต้องหยุดไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ อันตรายจากภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสังคมประเทศชาติและต่อโลกในที่สุด นับวันนานาชาติจะเอ่ยถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทุกที เกิดแรงกดดันจากต่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง ในที่สุดจะกลายเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตาม การลดก๊าซเรือนกระจกจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จะเห็นผลรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นทุกปี ยุทธศาสตร์ 10 ปีสู้โลกร้อนของ FAO วางเป้าหมายและแนวทางที่ชัดเจน การตระหนักรู้และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้จะช่วยหยุดโลกร้อน ทุกคนมีบทบาทหน้าที่ของตน ลงมือทำได้ทันทีแล้วค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มเติมทีหลังและเรียนรู้จากประสบการณ์

1 มกราคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9545 วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566)

------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
UN Climate Action ร่วมต้านภาวะโลกร้อน
ไม่ควรเป็นคำถามอีกแล้วว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผลร้ายหรือไม่ คำถามที่ควรถามคือจะจัดการแก้ไขอย่างไร และเร่งลงมือก่อนจะเสียหายหนักกว่านี้

บรรณานุกรม :

The Food and Agriculture Organization of the United Nations. (2022). FAO Strategy on Climate Change 2022–2031. Retrieved from https://www.fao.org/3/cc2274en/cc2274en.pdf