หายนะจากสงครามนิวเคลียร์และข่าวรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์
การใช้อาวุธนิวเคลียร์ส่งผลเสียหายร้ายแรงไม่เฉพาะต่อคนที่โดนแรงระบาดกับกัมมันตรังสีเท่านั้น ต้องมองผลกระทบที่จะตามมาอันเนื่องประชาคมโลกไม่อยากให้ใช้นิวเคลียร์
กว่า
8 ทศวรรษแล้วนับจากโลกมีอาวุธนิวเคลียร์ มีงานวิจัยศึกษาความเสียหายจากสงครามนิวเคลียร์มากมาย บทความนี้นำเสนอข้อมูลล่าสุดบางชิ้นในยามที่กระแสวิตกสงครามนิวเคลียร์เพิ่มทวี
กระแสข่าวรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์ :
หลายเดือนแล้วที่สื่อตะวันตกเสนอข่าวรัสเซียจะใช้นิวเคลียร์กับยูเครน
เริ่มจากการจุดประเด็นเล็กๆ สู่การโหมกระแส นักการเมืองหลายคนแสดงความเห็นตามทางนี้
รวมทั้งเซเลนสกีผู้นำยูเครน แต่หลังนักการเมือง นักวิชาการ กระทั่งไบเดนออกมาปั่นต่อเนื่องว่ารัสเซียจะใช้นิวเคลียร์
วันที่ 9 ตุลาคม ทำเนียบขาวแถลงว่าถ้อยคำของประธานาธิบดีที่พูดเรื่องจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก
(Armageddon) “ปราศจาก” ข้อมูลข่าวกรองรอบรับ ดูเหมือนเรื่องตลกแต่จริงที่ผู้นำประเทศพูดอย่างแล้วสำนักงานผู้นำคนนั้นออกมาลบล้างคำพูดเจ้านายตนเอง
ไม่กี่วันต่อมา Josep Borrell ผู้นำทูตอียูและประธานาธิบดีมาครงออกมาชี้แจงว่านาโตจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์หากรัสเซียใช้นิวเคลียร์กับยูเครนแม้เป็นนิวเคลียร์ขนาดเล็ก
(tactical nuclear)
สังเกตว่าฝั่งยุโรปออกมาพูดสนับสนุนท่าทีทำเนียบขาว อีกข้อสังเกตคือรัฐบาลตะวันตกปล่อยให้กระแสข่าวสงครามนิวเคลียร์โหมกระพืออยู่นานกว่าจะออกมาแก้ข่าว
ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีมาครงชี้ว่าฝรั่งเศสมีแนวทางการใช้อาวุธนิวเคลียร์อยู่แล้ว เหตุผลข้ออ้างต่างๆ
นานาตามข่าวจากสื่อทั้งหลายไม่เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสใช้นิวเคลียร์แต่อย่างไร
ตรรกะปูตินใช้หรือไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์
:
ความคิดรัสเซียใช้นิวเคลียร์กับยูเครนมาจากนักการเมือง สื่อตะวันตก
อาจมาจากเหตุผลดังนี้
1) เพื่อชี้ว่ารัสเซียกำลังรบแพ้ในยูเครน ทหารรัสเซียขาดทักษะการรบ
อาวุธเก่าแก่โบราณ สูญเสียจำนวนมาก (จึงต้องใช้นิวเคลียร์) เป็นการให้กำลังใจคนยูเครนรบต่อจนเหลือทหารคนสุดท้าย
Peter van Buren ผู้แต่งหนังสือ The American
Conservative อธิบายว่ารัสเซียไม่ได้ตกอยู่ในสภาพเป็นรองแต่อย่างไร
รัสเซียในตอนนี้กินดินแดนยูเครนไม่น้อย สามารถถอยได้อีกมาก (จากสถานการณ์ล่าสุดที่กองทัพรัสเซียถอนตัวออกจากบางพื้นที่)
อันที่จริงแล้วหากกองทัพรัสเซียแพ้ศึกไม่เป็นเหตุผลว่าต้องใช้นิวเคลียร์ ปี 1989 โซเวียตถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานก็ไม่มีการใช้นิวเคลียร์ ตรรกะปูตินจะใช้นิวเคลียร์เพื่อไม่แพ้ไม่สมเหตุสมผล
2) ให้คนยุโรปสนับสนุนการรบ ตอนนี้คนยุโรปประท้วงหนักและจะหนักมากขึ้น
ไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม จึงต้องหาเหตุผลว่าสมควรรบต่อรัสเซียกำลังแพ้ สงครามจะสิ้นสุดในไม่ช้า
3) เป็นการสร้างภาพให้ปูตินดูโหดร้ายน่ากลัว ความจริงคือตั้งแต่โลกมีนิวเคลียร์เพิ่งใช้ถล่มคนจริงๆ
แค่ 2 ลูก เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
4) อาจมีแผนใช้ dirty bomb ในขณะที่ข้อมูลฝ่ายหนึ่งชี้ว่ารัสเซียจะใช้ระเบิดดังกล่าวเพราะกำลังพ่ายศึก
ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าแผนของรัสเซียคือสร้างสถานการณ์ว่ายูเครนใช้ dirty bomb รัสเซียจึงโต้ด้วยนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (tactical nuclear)
ด้านรัฐบาลรัสเซียพูดตรงข้ามว่ายูเครนต่างหากที่เตรียมจะใช้
dirty
bomb ทั้ง 2 ฝ่ายต่างปฏิเสธเตรียมใช้ระเบิดดังกล่าว
(dirty bomb คือระเบิดชนิดหนึ่งที่บรรจุสารกัมมันตรังสี
ทำให้พื้นที่ๆ ที่รังสีแผ่ถึงอยู่อาศัยไม่ได้)
Peter van
Buren ชี้ว่าทำไมไม่คิดถึงผลเสียหากใช้นิวเคลียร์ เช่น
คนยูเครนจะเกลียดชังรัสเซียชั่วชีวิต
ถ้าคิดอย่างสมเหตุสมผลควรคำนึงทั้งข้อดีข้อเสีย
หากตีความว่าศึกยูเครนเป็นสงครามไฮบริด
สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกต้องการคือเหตุผลความชอบธรรมที่ตนและนานาชาติต้องคว่ำบาตรรัสเซียให้เข้มข้นกว่าเดิมและคว่ำบาตรนานเท่านาน
ตรงกับแผนของอเมริกาที่ไม่ส่งทหารเข้ารบแต่ใช้วิธีคว่ำบาตรปิดล้อมรัสเซีย ต้นเหตุเงินเฟ้อทั้งโลก
สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน
แนวคิดการใช้นิวเคลียร์ของ 3 มหาอำนาจ :
ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จะมียุทธศาสตร์แผนการใช้อาวุธที่คิดไตร่ตรองอย่างรัดกุม
หลายประเทศประกาศชัดเจนว่าจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร
มีนาคม
2018 ประธานาธิบดีปูตินประกาศว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นมาตรการตอบโต้เท่านั้น
คือใช้เมื่อโดนโจมตีด้วยนิวเคลียร์ และแม้จะเกิดสงครามล้างโลกก็ตาม
ด้านรัฐบาลจีนประกาศจะไม่เป็นฝ่ายใช้นิวเคลียร์ก่อนไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใด
จะไม่คุกคามชาติใดด้วยนิวเคลียร์ จะมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนจำกัดเท่าที่เพียงพอแก่การป้องกันประเทศเท่านั้น
ส่วนยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์
(Nuclear Posture Review) ฉบับปี 2018
ไม่ได้ฟันธงว่าสหรัฐจะเป็นฝ่ายใช้นิวเคลียร์ก่อน
แต่เมื่อพิจารณาความหมายระหว่างบรรทัดกับประวัติศาสตร์
โอกาสใช้มีน้อยมากแต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่ใช้ และพร้อมที่จะเป็นฝ่ายเปิดฉากใช้ก่อน
ผลสงครามนิวเคลียร์ต่ออาหารโลก :
ระเบิดนิวเคลียร์ที่ตกใส่มหานครอาจทำให้ตายทันทีหลายล้านคนแต่เรื่องไม่จบเท่านี้
งานวิจัยร่วมของทีมวิจัยจาก Rutgers University กับ
CU Boulder ตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ให้ภาพล่าสุดว่า
ถ้าเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกระหว่างรัสเซียกับสหรัฐ ประชากรโลกกว่า 5,000
ล้านคนจะเสียชีวิตเพราะอดอยาก (ประชากรโลกปัจจุบัน
8,000 ล้านคน) ประเทศแถบซีกโลกเหนือ เช่น แคนาดา
ยุโรปตอนเหนือจะเสียชีวิตเพราะอดตายมากสุด ส่วนซีกโลกใต้จะเป็นปัญหาน้อยกว่า
ผลจากระเบิดนิวเคลียร์จะเกิดไฟไหม้รุนแรง
เกิดเขม่าปริมาณมหาศาลปิดกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้ตกสู่พื้นดินเป็นเวลานาน พืชสวนพืชไร่ตายเกือบหมด
ฉากทัศน์สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก ปริมาณอาหารที่นับเป็นแคลอรี่จะลดลง 90% ภายในเวลา 3-4 ปี เมื่อถึงตอนนั้นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียกับสหรัฐจะควบคุมการส่งออกอาหารอย่างเข้มงวด
กระทบต่อผู้นำเข้าอาหารอย่างประเทศแถบแอฟริกากับตะวันออกกลาง ภายในเวลา 2 ปีประชากรโลก 75% จะอดอยาก
(ช่วงแรกจะกินอาหารที่ยังมีอยู่)
ฉากทัศน์สงครามนิวเคลียร์ขนาดเล็กระหว่างอินเดียกับปากีสถาน
(ทั้งคู่ต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง)
พบว่าปริมาณอาหารที่นับเป็นแคลอรี่จะลดลง 7% ภายในเวลา 5 ปี แม้กระทั่งฉากทัศน์นี้ยังเป็นกรณีอดอยากสุดนับจาก
FAO บันทึกสถิติตั้งแต่ปี 1961
นอกจากนี้จะเกิดผลระยะยาวหลายอย่าง เช่น ชั้นโอโซนจะถูกทำลาย รังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีตกสู่พื้นมากขึ้น
ส่งผลต่อการผลิตอาหารในระยะยาวและอื่นๆ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ความจริงคือทุกประเทศตระหนักผลของสงครามนิวเคลียร์
กองทัพกับหน่วยงานความมั่นคงทุกประเทศต่างศึกษาและรู้ดีว่าผลสงครามนิวเคลียร์เป็นอย่างไร
ไม่มีประเทศใดเป็นผู้ชนะหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก
ถ้ามองจากมุมนายทุนกับชนชั้นนำ
ทำไมพวกเขาต้องเอาชีวิตตนและครอบครัวเข้าเสี่ยง
ทุกวันนี้พวกเขากินดีอยู่ดีเยี่ยงราชา ทำไมต้องพาตัวเองให้ทุกข์ยาก นี่คือเหตุผลสำคัญที่พวกผู้ปกครองจะไม่คิดใช้นิวเคลียร์จริงๆ
ต้นเดือนพฤศจิกายน
Wall Street Journal รานงานว่า Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐติดต่อกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย หวังลดความเสี่ยงที่สมรภูมิยูเครนจะกลายเป็นสงครามนิเคลียร์
“ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Advisor)
เป็นตำแหน่งที่มีเพียงคนเดียว เป็น 1 ใน 5 คนที่ใกล้ชิดประธานาธิบดีมากที่สุด
ต้องรายงานสถานการณ์โลกแก่ประธานาธิบดีทุกวัน รับผิดชอบด้านความมั่นคงโดยตรง
เรื่องที่บางคนอาจไม่ทราบคือมีการติดต่อสื่อสารทางลับระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียตลอดเวลา
(รวมทั้งผู้นำประเทศสำคัญอื่นๆ) เพียงแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เป็นการหารือทางลับ
นี่คือเหตุผลอีกข้อที่ชี้ว่าโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์น้อยมากๆ
แม้เป็นนิวเคลียร์ลูกเล็ก
-------------------
1. Amid nuclear tensions, US' Jake Sullivan keeps contact with
top Russian officials. (2022, November 7). The Jerusalem Post. Retrieved
from https://www.jpost.com/international/article-721644
2. Biden Thinks Non-Nuclear Threats
Will Stop Putin. His Military Doesn't. (2022, September 29). euractivdotcom.
Retrieved from https://www.newsweek.com/2022/10/14/biden-thinks-non-nuclear-threats-will-stop-putin-his-military-doesnt-1747343.html
3. China firmly opposes U.S. Nuclear Posture Review:
spokesman. (2018, February 4). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-02/04/c_136948195.htm
4. Europe does not want to die in Biden's 'nuclear
Armageddon'. (2022, October 13). Pravda. Retrieved from https://english.pravda.ru/world/154426-europe_biden_nuclear_armageddon/
5. Global food insecurity and famine from reduced crop,
marine fishery and livestock production due to climate disruption from nuclear
war soot injection. (2022, August 15). Nature. Retrieved from https://www.nature.com/articles/s43016-022-00573-0
6. ‘No indication’ Russia will use nukes – White House. (2022,
October 9). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/564353-white-house-russia-nuclear/
7. Putin: Russia May Use Nukes Only as a Response Strike.
(2018, March 7). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/world/201803071062304907-putin-russia-nuclear-weapons/
8. Russia’s ‘dirty bomb’ claim lights the nuclear fuse. (2022,
October 25). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/10/russias-dirty-bomb-claim-lights-the-nuclear-fuse/
9. The answer to the
question of why Putin will not use nuclear weapons in Ukraine is simple. (2022,
October 18). Pravda. Retrieved from https://english.pravda.ru/news/hotspots/154482-putin_ukraine_nuclear/
10. U.S. Department
of Defense. (2018). Nuclear
Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
-----------------------