สงครามยูเครนกระชับสัมพันธ์รัสเซีย-เกาหลีเหนือ
ทั้งเกาหลีเหนือกับรัสเซียต่างสามารถอาศัยกันและกัน ใช้ไพ่ของอีกประเทศเป็นเครื่องมือต่อรองฝ่ายตรงข้าม ความสัมพันธ์นี้อาจดังไกลไปถึงสมรภูมิยูเครน อียู
เกาหลีเหนือเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการประณามกองทัพรัสเซียบุกยูเครน
ความสัมพันธ์ 2 ประเทศล้ำลึก อดีตโซเวียตรัสเซียมีส่วนสำคัญทำให้เกิดเกาหลีเหนือ
คิม อิล-ซุง (Kim
Il-sung) ปู่ของผู้นำเกาหลีคนปัจจุบันเรียนรู้ลัทธิสังคมนิยมจากค่ายนี้
รัฐบาลโซเวียตสนับสนุนเป็นตัวแทนปกครองเกาหลีเหนือ (หลังแบ่งเป็นเหนือ-ใต้) แต่ภายหลังรัฐบาลเกาหลีเหนือหันไปใกล้ชิดจีนมากกว่า
มองจากมุมเกาหลีเหนือ
:
การสนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครนอย่างเต็มตัวมีความเสี่ยงและเป็นโอกาสสำคัญ
อธิบายได้ดังนี้
ประการแรก ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
สำหรับประเทศทั่วไปการประกาศอยู่ฝ่ายรัสเซียอย่างเปิดเผยย่อมมีผลเสีย
หลายประเทศเลือกที่จะไม่แสดงตัวชัดเจน ให้ความร่วมมือกับทั้งรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐ แต่เกาหลีเหนืออยู่ในฐานะเป็นปรปักษ์สหรัฐอยู่แล้ว
ทุกวันนี้ยังโดนคว่ำบาตรหนัก รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการคว่ำบาตรชุดแล้วชุดเล่า นักวิเคราะห์บางคนคิดว่ารัฐบาลสหรัฐจ้องล้มระบอบเกาหลีเหนือ
ทางการเกาหลีเหนือเคยรายงานว่าสหรัฐกับเกาหลีใต้วางแผนลอบสังหารผู้นำคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) ด้วยสารเคมีชีวภาพ (biochemical
substances) แต่ล้มเหลว
ประการที่ 2 ลดการพึ่งจีน ได้รับความช่วยเหลือเพิ่ม
ในสภาพที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนักทั้งจากข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติและจากบางประเทศโดยตรง
เหลือไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังติดต่อค้าขายกับเกาหลีเหนือ
จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดเรื่อยมา
เป็นผู้ให้อาหาร การค้า เชื้อเพลิงรายสำคัญที่สุด เศรษฐกิจเกาหลีเหนือขับเคลื่อนได้เพราะจีนโดยแท้
อิทธิพลของจีนต่อเกาหลีเหนือเป็นที่รับรู้ทั่วไป แม้กระทั่งสหรัฐยังต้องร้องขอให้จีนกดดันเกาหลีเหนือในเรื่องต่างๆ
แม้จีนมีผลประโยชน์สำคัญจากเกาหลีเหนือ ให้ความช่วยเหลือมากมาย
หวังรักษาให้ระบอบเกาหลีเหนืออยู่รอดต่อไป หากมองจากมุมเกาหลีเหนือแม้จีนสำคัญมากแต่ย่อมคาดหวังลดการพึ่งพาดังกล่าว
การหายใจด้วยตัวเองย่อมดีกว่ายืมจมูกคนอื่น เคยมีกรณีพิพาทจากที่เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาจีน
(สหรัฐกดดันจีนให้จีนกดดันเกาหลีเหนืออีกทอด) รัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจ
ภูมิศาสตร์ใกล้ชิด มีศัตรูร่วมจึงเป็นตัวเลือกที่ดีเยี่ยมเรื่อยมา
สงครามยูเครนจึงเป็นโอกาสของเกาหลีเหนือโดยแท้
เรื่องแรกที่เกาหลีเหนือคาดหวังได้มากคือได้อาวุธใหม่ๆ
จากรัสเซีย แม้พยายามพัฒนาอาวุธใหม่ด้วยตัวเองแต่ย่อมสู้อาวุธรัสเซียไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินรบ
เรือรบ รถถังที่เก่าล้าสมัยเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ มีกระแสข่าวว่าอยากได้ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ
S-300 มานานแล้ว
สิ่งที่สำคัญกว่าคือการค้าการลงทุน หากรัสเซียลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่นี่
ผลิตสินค้าป้อนตลาดรัสเซียโดยตรง ข้อนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาล เกาหลีเหนือตั้งเป้ามีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
ดีกว่าพึ่งพาความช่วยเหลือจากประเทศอื่นที่ได้รับเป็นครั้งคราว
บ่อยครั้งมีข้อแลกเปลี่ยน ประเทศจำต้องเจริญทันสมัยตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่เห็นโลกกว้าง
เห็นความเจริญก้าวหน้าของจีน การพัฒนาของเกาหลีใต้
เป็นความจริงที่รัฐบาลเกาหลีเหนือปกปิดไม่ได้
คนรุ่นใหม่ต้องการสิ่งใหม่ที่มากกว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่มและความปลอดภัย
ประการที่ 3 มีแต่ได้กับได้
ความอยู่รอดปลอดภัยของระบอบสำคัญที่สุด แต่การอยู่รอดที่ดีควรคู่กับการพัฒนาทุกมิติ
รัสเซียเป็นเพียง 1 ใน 2 มหาอำนาจที่มีศักยภาพสูงสามารถช่วยเกาหลีเหนือในทุกด้าน
ยามนี้ที่รัสเซียกำลังต่อกรกับนาโตหรือพูดให้ครอบคลุมคือรัฐบาลสหรัฐกับพวก หากมีอะไรที่เกาหลีเหนือสามารถช่วยรัสเซียย่อมเป็นโอกาสอันดีเยี่ยมที่จะกระชับความสัมพันธ์
รัฐบาลรัสเซียพร้อมสำหรับเรื่องนี้อยู่แล้ว มีข่าวว่าเกาหลีเหนือพร้อมส่งทหาร 1 แสนนายช่วยรัสเซียรบยูเครน
ทุกวันนี้เกาหลีเหนืออยู่ในฐานะที่ไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว
การประกาศอยู่ข้างรัสเซียจึงเป็นความเสี่ยงที่น่าลอง
มองจากมุมรัสเซีย :
ประการแรก กระชับมิตรขยายอิทธิพล
ด้วยความที่มีภูมิศาสตร์ใกล้กัน รัสเซียกับเกาหลีเหนือมีสัมพันธ์มานานแล้ว
ทั้งเป็นมิตรกับปรปักษ์ ในระยะหลังประเด็นที่สำคัญคือการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา 6 ฝ่าย มีผลประโยชน์โดยตรงจากคาบสมุทรเกาหลี
ในยามนี้ที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกปิดล้อมรัสเซียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
พร้อมกับที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ซ้ำเติมเศรษฐกิจหลายประเทศ
รัสเซียส่งความช่วยเหลือแก่หลายประเทศ เกาหลีเหนือเป็นอีกประเทศที่อยู่ในข่ายกระชับมิตรขยายอิทธิพล
สอดคล้องกับการสร้างโลกพหุภาคี ต่อต้านระบอบโลกที่รัฐบาลสหรัฐเป็นเจ้า
ประการที่ 2 ขายน้ำมัน อาวุธ
เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ
ถูกคว่ำบาตรจำกัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจของรัสเซีย โดยเฉพาะยามนี้ที่กำลังหาตลาดใหม่
ระบบโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
ประการที่ 3 ต่อรองเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ
ประโยชน์สำคัญที่สุดอาจเป็นข้อนี้
ถ้ามองจากมุมเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ลำพังเศรษฐกิจสังคมเกาหลีเหนือที่เข้มแข็งขึ้นจากการค้าการลงทุนกับรัสเซียก็น่าวิตกอยู่แล้ว
หากรัสเซียแอบส่งมอบเทคโนโลยีบางอย่าง โดยเฉพาะนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ จะกระทบไปถึงสหรัฐเลยทีเดียว
ในสมัยทรัมป์ยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์
มีขีปนาวุธที่ยิงไกลถึงแผ่นดินของสหรัฐ แต่ขีปนาวุธดังกล่าวยังไม่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์
(ขาดเทคโนโลยีบางอย่าง) ไมว่าความจริงจะเป็นอย่างไร จุดยืนของรัฐบาลสหรัฐเป็นเช่นนี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัสเซียจะเป็นผู้เติมเต็ม
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป
:
แต่ไหนแต่ไรจีนเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเกาหลีเหนือเป็นหลัก
สงครามยูเครนเป็นโอกาสที่เกาหลีเหนือได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียเพิ่มเติม
ความร่วมมือกับจีนที่ดูเหมือนอิ่มตัวแล้วสามารถรับการเพิ่มเติมต่อยอดจากรัสเซีย
ทั้งเกาหลีเหนือกับรัสเซียต่างสามารถอาศัยกันและกัน
ใช้ไพ่ของอีกประเทศเป็นเครื่องมือต่อรองฝ่ายตรงข้าม ลำพังกองทัพเกาหลีเหนือได้อาวุธใหม่
รัสเซียทำการค้าด้วยแค่นี้ก็สะเทือนเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นแล้ว ดูเหมือนว่าเกาหลีใต้จะเข้าใจเช่นกันในช่วงนี้จึงประกาศมอบความช่วยเหลือหวังร่วมมือกับเกาหลีเหนือ
เช่นเดียวกับที่ทางการสหรัฐประกาศอีกครั้งในระยะนี้ว่าส่งเสริมให้ 2
เกาหลีกระชับมิตรภาพ ให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์
ตั้งแต่ต้นปีเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธทั้งเก่าและใหม่หลายต่อหลายครั้ง
เมื่อไม่กี่วันก่อนทดสอบขีปนาวุธจรวดร่อนอีกครั้ง แม้จะเป็นที่สนใจอยู่บ้างแต่เมื่อดูบ่อยๆ
กลายเป็นหนังเก่าที่ฉายซ้ำหลายรอบ หากต้องการส่งสัญญาณดังๆ เกาหลีเหนือต้องประกาศว่าเตรียมทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปติดตัวรบนิวเคลียร์อีกครั้ง
นี่คือไพ่ใบสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเกาหลีเหนือกับรัสเซียในยามนี้
ขีปนาวุธนี้อาจดังไกลไปถึงสมรภูมิยูเครน อียู
----------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :1. Analysis: Why N. Korea is
siding with Moscow on Ukraine invasion. (2022, March 6). The Asahi Shimbun.
Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14603648
2. North Korea claims CIA
plotted to kill Kim Jong-un. (2017, May 5). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-asia-39815561
3. North Korea: U.S. Relations, Nuclear
Diplomacy, and Internal Situation. (2013, January 4). Congressional Research Service. Retrieved from
http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
4. Nuclear war with N. Korea
not ‘imminent’ – CIA chief. (2017, August 14). RT Retrieved from
https://www.rt.com/news/399505-pompeo-zakharova-north-korea/
5. Jeppesen, Travis. (2018). See
You Again in Pyongyang: A Journey into Kim Jong Un's North Korea. New York:
Hachette Books.
6. Putin says Russia and North
Korea will expand bilateral relations - KCNA. (2022, August 15). The Asahi
Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14695140
7. S. Korea presses China to
play 'important role' in imposing sanctions against N. Korea. (2015,
January 14). Yonhap. Retrieved from
http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/14/13/0301000000AEN20160114010100315F.html
8. Thinking the unthinkable on
North Korea. (2022, August 15). The Korea Times. Retrieved from
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2022/08/103_334420.html
9. U.S. supports S. Korean
initiative to engage N. Korea: State Dept. (2022, August 16). Yonhap.
Retrieved from https://en.yna.co.kr/view/AEN20220816000500325?section=nk/nk
-----------------------