ระเบียบโลกใหม่ในมุมมองของปูติน

ต้นเหตุเงินเฟ้อหลักมาจากการที่สหรัฐพิมพ์เงินออกมาใช้มหาศาล ระเบียบโลกใหม่ควรยึดหลักว่าประเทศใดสร้างผลผลิตได้มากแค่ไหนก็ควรจะพิมพ์เงินใช้มากแค่นั้น

        ในงานประชุมเศรษฐกิจนานาชาติที่นครเซนต์ปีสเตอร์เบิร์ก (St.Petersburg International Economic Forum) หรือ SPIEF เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2022 ลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซียได้แสดงสุนทรพจน์ถึงนโยบายจุดยืนของรัสเซียในหัวข้อ "New Opportunities in a New World" มีสาระสำคัญดังนี้

       ประการแรก หมดยุคระเบียบโลกขั้วเดียว

        แม้มีผู้พยายามรักษาระเบียบโลกเดิมแต่โลกเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอประวัติศาสตร์โลกเป็นหลักฐาน เป็นเรื่องยากที่จะรวมความแตกต่างทางเศรษฐกิจการเมืองและอื่นๆ ให้อยู่ในระบบเดียว เป็นหลักคิดที่ผิดตั้งแต่ต้นและไม่มั่นคงยั่งยืน แม้ระบบที่ว่ามีชาติมหาอำนาจและรายล้อมด้วยพันธมิตรใกล้ชิด

        หลังสหรัฐเป็นฝ่ายชนะในสงครามเย็น กลายเป็นประเทศทรงอิทธิพลเพียงหนึ่งเดียว แต่ไม่นานก็มีหลายประเทศที่พัฒนาเติบใหญ่ มีระบบเศรษฐกิจการเมืองของตนเอง ประเทศเหล่านี้ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะปกป้องอธิปไตยของตน แต่พวกชนชั้นนำตะวันตกคิดว่าพวกเขาควบคุมได้ คิดว่าระบบโลกที่ตะวันตกเป็นผู้ควบคุมจะคงอยู่ต่อไป พยายามควบคุมประเทศอื่นๆ เหมือนควบคุมอาณานิคม ปฏิบัติต่อคนประเทศอื่นๆ เหมือนชนชั้นสอง และคิดว่าตนเองเป็นกลุ่มคนพิเศษ (exceptional)

        หลายประเทศตกเป็นเหยื่อของความคิดนี้ เช่น ยูโกสลาเวีย ซีเรีย ลิเบียและอิรัก

        หากประเทศใดที่ไม่ยอมสยบก็จะโดดเดี่ยวประเทศนั้น ต่อต้านศิลปวัฒนธรรมของพวกเขา

        เหล่านี้เป็นแนวทางที่พวกตะวันตกกำลังกระทำต่อรัสเซีย เป็นแนวคิด Russophobia (กระแสกลัวรัสเซีย) เป็นที่มาของการคว่ำบาตรอย่างรุนแรง หวังทำลายระบบเศรษฐกิจ ทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนรัสเซีย แต่รัสเซียค่อยๆ แก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่ปกติ ตลาดการเงินระบบธนาคารกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง ที่พวกเขาคาดว่าค่าเงินรัสเซียที่จะร่วงไปถึง 200 รูเบิลต่อดอลลาร์นั้นล้มเหลว ระบบเศรษฐกิจรัสเซียยังคงเดินหน้าต่อไป

        5 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลเกินดุล 1.5 ล้านล้านรูเบิล ฐานะการคลังแข็งแกร่ง คาดว่าปีงบประมาณนี้จะเกินดุลรวม 3.3 ล้านล้านรูเบิล ตอนนี้เร่งการผลิตภายในประเทศ ฟื้นฟูสถาบันการเงิน ให้เงินกู้ระยะยาวแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น

       ประการที่ 2 แผนทำร้ายรัสเซียกลับทำร้ายตัวเองและคนทั้งโลก

        การคว่ำบาตรเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายผู้ออกมาตรการด้วย ทำร้ายโครงสร้างเศรษฐกิจโลก ณ ตอนนี้นักการเมืองอียูต้องรับมือปัญหาเศรษฐกิจของตัวเอง ดังที่เห็นกันอยู่แล้วว่าสภาพสังคมเศรษฐกิจของพวกเขาย่ำแย่ลง เช่นเดียวกับที่สหรัฐ ราคาอาหาร ไฟฟ้าพุ่งพรวด คุณภาพชีวิตลดลง บริษัทเอกชนสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

        มีผู้ประเมินว่าปีนี้ปีเดียวอียูจะสูญเสียเพราะการคว่ำบาตรรัสเซียถึง 400,000 ล้านดอลลาร์จากนโยบายรัฐบาลพวกเขาโดยแท้ ประชาชนกับบริษัทเอกชนต้องมาแบกรับภาระนี้ เงินเฟ้อที่สูงลิ่ว อเมริกาต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ผู้รับผลกระทบมากสุดคือผู้มีรายได้น้อย

        ในระยะยาวอียูจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน สูญเสียโอกาสในการเติบโตหลายปี ในหมู่ชาติอียูจะเหลื่อมล้ำกว่าเดิม ผลประโยชน์ของประชาชนกับบริษัทเอกชนถูกลดทอนความสำคัญลงทุกที รัฐบาลใหม่จะใช้นโยบายประชานิยมยิ่งขึ้น กลุ่มสุดโต่งหัวรุนแรงจะเติบใหญ่ ดังจะเห็นว่าพรรคการเมืองแบบเก่าไม่ได้รับความนิยม มีพรรคใหม่เกิดขึ้นแต่อยู่ได้ไม่นานเพราะไม่ต่างจากพรรคเดิมๆ ที่มีอยู่

        ความพยายามสร้างภาพทั้งหลายไม่อาจปกปิดความจริงที่ว่า สหภาพยุโรปได้สูญเสียอธิปไตยทางการเมืองไปแล้ว ชนชั้นนำในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐได้หันไปสู่เจ้านายใหม่ ทำทุกสิ่งที่เจ้านายใหม่บอกให้ทำแม้ว่าสิ่งนั้นทำร้ายพี่น้องคนในชาติตัวเอง

        กองทัพรัสเซียบุกยูเครนไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ถ้ามองให้รอบด้านการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของกลุ่ม G7 การก่อหนี้ ประจวบกับโรคระบาดโควิด-19 การพิมพ์เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล เหล่านี้ต่างหากคือต้นเหตุเงินเฟ้อ ความจริงคือ 2 ปีที่ผ่านปริมาณดอลลาร์เพิ่มขึ้นกว่า 38% หรือเท่ากับราว 5.9 ล้านล้านดอลลาร์ (ในเวลา 2 ปีสหรัฐพิมพ์เงินเพิ่มถึง 5.9 ล้านล้านดอลลาร์) มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ขนาดจีดีพีจะโตเท่านี้ การพิมพ์เงินใช้มหาศาลคืออีกต้นเหตุเงินเฟ้อ

        เงินก้อนมหาศาลที่ออกใหม่ส่วนใหญ่นำไปซื้อสินค้าบริการจากต่างประเทศ สินค้าบริการของประเทศต่างๆ จึงแพงขึ้น สถิติปี 2019 สหรัฐนำเข้าสินค้าต่างประเทศ 250,000 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้กลายเป็น 350,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตถึง 40% แรงซื้อมหาศาลนี้แหละที่ทำให้สินค้าทั่วโลกขึ้นราคา

        ครั้งหนึ่งที่สหรัฐเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหาร บัดนี้ต้องเข้าใจใหม่แล้วว่าสหรัฐเป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ อียูก็เช่นกันเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกจำนวนมาก เป็นต้นเหตุเงินเฟ้อ

        คำถามจึงอยู่ที่ทำไมต้องขายสินค้าให้กับดอลลาร์กับยูโรที่มูลค่ากำลังสูญหาย ทางออกของเรื่องนี้คือต้องใช้ระบบเศรษฐกิจใหม่ที่แสดงมูลค่ากับสินทรัพย์ที่แท้จริง (real values and assets)

        ผลอีกข้อจากการคว่ำบาตรพลังงานฟอสซิลรัสเซียคือปุ๋ยขาดแคลนเพราะผลิตจากน้ำมันก๊าซธรรมชาติ เมื่อเกษตรกรใช้ปุ๋ยน้อย ผลผลิตจะลดลง ปริมาณผลิตผลทางการเกษตรโลกอาจไม่พอ พร้อมกับราคาที่ขยับขึ้นสูง ปัญหาอดยากจะทวีความรุนแรงในหมู่ประเทศยากจน

        เรื่องที่ควรทำในตอนนี้คือเพิ่มอาหารในตลาดโลกให้คนส่วนใหญ่มีอาหารอย่างเพียงพอโดยเฉพาะที่แอฟริกากับตะวันออกกลาง รัสเซียพร้อมที่จะขายอาหารกับปุ๋ยเพิ่มเติม เช่น ส่งออกเมล็ดธัญพืชเพิ่ม 50 ล้านตัน ยินดีให้ยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรเช่นกัน เรื่องที่พวกเขาควรทำก่อนคือกำจัดทุ่นระเบิดที่พวกเขาวางไว้ หรือจะส่งออกทางบกก็ได้เช่นกันไมว่าจะผ่านเบลารุส โปแลนด์หรือโรมาเนีย มีให้เลือกหลายเส้นทาง คำถามอยู่ที่ว่าทำไมรัฐบาลยูเครนไม่ดำเนินการเสียที เป็นเพราะต้องรอคำสั่งจากต่างแดนใช่หรือไม่

       ประการที่ 3 ระบบโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

        ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่าโลกกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจการเงิน สถาบันระหว่างประเทศหลายแห่งกำลังจะพัง ชาติตะวันตกทำลายข้อตกลงเดิมที่มีอยู่ โลกจึงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย

        ชาติตะวันตกดำเนินนโยบายต่อต้านรัสเซีย มีส่วนในปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ให้อาวุธกับคำแนะนำ แต่เรื่องราวอันเนื่องจากยูเครนเป็นสถานการณ์ระยะสั้น ที่รัสเซียให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในระยะยาว รัสเซียจะเผชิญหน้าความท้าทายเหล่านี้ กำลังสร้างระเบียบโลกใหม่แบบหลายขั้ว ระบบโลกที่ชาติตะวันตกครอบงำจะจบสิ้นในที่สุด

       ประการที่ 4 หลักคิดของรัสเซีย

        1) ยึดหลักเปิดกว้าง (openness)

        เคารพอธิปไตย มองแต่ละประเทศด้วยความเท่าเทียม ร่วมกันพัฒนาโลก รัสเซียในยุคนี้จะไม่โดดเดียวตัวเองหรือพึ่งพาตัวเองเท่านั้น (autarky) เปิดกว้างความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ร่วมมือกับเอกชนไม่เว้นบริษัทตะวันตก

        2) เอกชนประกอบการโดยเสรี

        รัสเซียเห็นว่าจำต้องสร้างระบบชำระเงินใหม่ที่มีเสถียรภาพ เปิดกว้างให้บริษัททั่วโลกติดต่อกัน เชื่อมต่อคมนาคมทั้งทางบกเรือและอากาศ ร่วมมือกับนานาชาติในทุกด้าน คลายกฎระเบียบต่อบริษัท สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้ประกอบการ

        3) นโยบายมหภาคที่สมดุล

        เป้าหมายคือเศรษฐกิจที่เติบโตอีกนานเท่านาน ลดอัตราเงินเฟ้อที่เป็นภาระแก่นักธุรกิจ ประชาชน ในระยะยาวรัสเซียจะจำกัดเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 4% ควรยึดหลักว่าประเทศใดสร้างผลผลิตได้มากแค่ไหนก็ควรจะพิมพ์เงินใช้มากแค่นั้น (มีรายจ่ายเท่าผลผลิต)

        4) สังคมยุติธรรม

        ประเทศที่พัฒนาคือประเทศที่สังคมยุติธรรม ขจัดความเหลื่อมล้ำ ไม่ปล่อยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นต้นเหตุขยายความเหลื่อมล้ำ รัสเซียจำต้องแก้ไขเรื่องนี้อีกมาก ปรับปรุงบ้านเรือนอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สร้างคุณภาพชีวิตชนบทให้เทียบเท่ากับเมือง

3 กรกฎาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9363 วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)

---------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
การห้ามนานาประเทศซื้อน้ำมันอิหร่านไม่ใช่เรื่องการคว่ำบาตรอิหร่านเท่านั้น ยังมีผลโดยตรงต่อระเบียบการซื้อขายน้ำมันโลก หลายประเทศต้องมุ่งนำเข้าน้ำมันจากผู้ส่งออกที่เป็นมิตรกับสหรัฐเท่านั้น

บรรณานุกรม :

Russia Presidential Executive Office. (2022, June 17). St Petersburg International Economic Forum Plenary session. Retrieved from http://en.kremlin.ru/events/president/news/68669