วิพากษ์กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF)

รัฐบาลไบเดนพูดถึงประโยชน์ของ IPEF แต่มีข้อสงสัยว่าชาติสมาชิกคู่เจรจาจะได้ประโยชน์ทางการค้าเศรษฐกิจแค่ไหน มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่

        ปลายเดือนพฤษภาคมประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) กล่าวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และ "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่" ในเบื้องต้นประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย และ 7 ชาติอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 13 ประเทศ มีผู้วิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย บทความนี้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

       ประการแรก สามารถแก้ขาดดุลการค้าได้หรือไม่

        สหรัฐยอมรับว่าการค้าเสรีดั้งเดิม การให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเหตุผลสำคัญทำให้สหรัฐขาดดุลต่อเนื่องมหาศาล คำถามคือการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน IPEF จะแก้ปัญหานี้ได้หรือตราบใดที่ระบบการผลิตของตนยังสู้หลายประเทศไม่ได้ แทนที่จะปรับปรุงเพิ่มคุณภาพประสิทธิภาพกลับพยายามสร้างระบบที่เอื้อตนเองแต่เพิ่มต้นทุน ลดคุณภาพชีวิตของโลกโดยรวม

        ตั้งแต่สมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์มาถึงโจ ไบเดนในขณะนี้ (คนหนึ่งจากพรรครีพับลิกันกับอีกคนจากพรรคเดโมแครท) ต่างต่อต้านการค้าเสรีดั้งเดิมกับโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (hyperglobalization) ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐในอดีตล้วนมีส่วนผลักดันการค้าเสรีกับโลกาภิวัตน์ รวมทั้งสถาบันวิชาการของชาติตะวันตกที่พยายามให้ความรู้ว่าการค้าเสรีเป็นประโยชน์ถูกต้องตามหลักวิชาการ อ้างหลักเศรษฐศาสตร์การแบ่งงานกันทำ มุ่งประสิทธิภาพสูงสุดอันจะก่อประโยชน์สูงสุดตามมา ยอมที่จะให้บางภาคส่วนของแต่ละประเทศต้องปรับตัวและยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

        แต่บัดนี้รัฐบาลกับคลังสมองสหรัฐเปลี่ยนทิศจากหลักการเหล่านี้ มุ่งสู่ระเบียบโลกใหม่ในแบบที่สหรัฐได้ประโยชน์มากที่สุด การล้ม NAFTA (ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก) เป็นตัวอย่างที่ทำในสมัยทรัมป์ นำสู่ข้อตกลงสหรัฐเม็กซิโกแคนาดาใหม่ (United States–Mexico–Canada Agreement หรือ USMCA) ที่สหรัฐได้ประโยชน์มากจนพอใจ

        น่าเห็นใจที่โรงงานหลายหมื่นแห่งต้องปิดตัว แรงงานอเมริกันนับแสนนับล้านตกงาน (หรือเปลี่ยนงาน) คนพวกนี้แหละที่ต่อต้านการค้าเสรี ต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าอเมริกาเสียเปรียบบางประเทศ เป็นแรงกดดันรัฐบาล

        ตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนกำลังทำเช่นนี้กับอินโด-แปซิฟิก หาก IPEF ทำงานได้จริงและต่อเนื่องในระยะยาวจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ

       ประการที่ 2 เรื่องของทวิภาคีกับความยั่งยืน

        ลักษณะเด่นของ IPEF คือการวางกรอบเศรษฐกิจที่เน้นความยืดหยุ่น อะไรเจรจาสำเร็จก่อนสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอเจรจาครบทุกด้าน ไม่ต้องรอชาติสมาชิกอื่น ดังนั้น แท้จริงแล้ว IPEF เหมือนกระบวนการเจรจาทวิภาคีระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับชาติสมาชิกแต่ละประเทศ ตามกรอบแนวทางที่รัฐบาลวางไว้

        แน่นอนว่าในภาพรวมจะมีการเชื่อมโยงภายในกลุ่มแต่จะเกิดตามหลัง

        มาจึงจุดนี้มีคำถามหนึ่งที่พูดกันมากคือข้อตกลงต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐหรือไม่

        ในเบื้องต้นยังไม่มีคำตอบชัดเจน หากต้องผ่านสภาครองเกรสจะต้องเพิ่มเวลาของกระบวนการรัฐสภา ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือหากรัฐสภาไม่อนุมัติการเจรจาสูญเปล่าซึ่งมีความเป็นไปได้เพราะ IPEF เป็นแนวคิดของรัฐบาลไบเดนและพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอาจไม่เห็นชอบ หรือมีเงื่อนไขข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การผ่านครองเครสจึงเป็นเรื่องยากเสียเวลา แม้ฝ่ายสนับสนุนให้รัฐสภารับรองชี้ว่าข้อตกลงแบบนี้คงทนมากกว่าเป็นประโยชน์มากกว่า ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อย นั่นคือเป็นนโยบายรัฐบาลแต่รัฐสภาไม่เห็นชอบ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลเห็นชอบแต่ถูกล้มในขั้นวุฒิสภา

        ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไบเดนอาจเน้นข้อตกลงที่ประธานาธิบดีตัดสินใจได้เลย ข้อเสียคือข้อตกลงอาจไม่ยืนยาวเมื่อถึงรัฐบาลชุดต่อไป อาจถูกล้มหรือต้องเจรจาปรับเปลี่ยนข้อตกลงอีกครั้งจนกว่ารัฐบาลสหรัฐชุดใหม่จะพอใจ เท่ากับว่าข้อตกลงอาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเป็นที่พอใจของรัฐบาลสหรัฐแต่ละชุด หรือไม่ IPEF อาจยุติที่รัฐบาลไบเดนนี้

       ประการที่ 3 ชาติที่เข้าร่วมจะได้ประโยชน์หรือไม่

        ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจหลายประเทศอยู่ในสภาพไม่สู้ดีอยู่แล้ว โควิด-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์เศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศ จนล่าสุดคือสงครามยูเครน เงินเฟ้อน้ำมันแพง ทั้งหมดเป็นปัจจัยลบ รัฐบาลทุกประเทศดิ้นรนหาทางออก หากข้อเสนอของไบเดนเป็นประโยชน์ประเทศต่างๆ ย่อมต้องทำข้อตกลง เกิดผลรูปธรรมอย่างรวดเร็ว

        มีคำถามว่าถ้ารัฐบาลไบเดนบอกว่า IPEF สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สหรัฐ ทำไมไม่รวมจีนเข้ามาซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์ได้มหาศาล (การขาดดุลจีนเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลสหรัฐพูดมาตลอด) เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐจะสัมพันธ์กับจีนอย่างสร้างสรรค์ในทุกเรื่องที่ทำได้ ไม่มีเหตุใดที่ 2 ชาติมหาอำนาจจะอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ได้ น่าสงสัยว่า IPEF ไม่สร้างสรรค์หรืออย่างไร

        รัฐบาลทุกประเทศย่อมทำเพื่อประโยชน์ประเทศของตน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาด้วยว่าแผนหรือสิ่งที่ทำมีคุณประโยชน์ต่อประเทศอื่นที่เข้าร่วมด้วยหรือไม่

        แย่กว่านั้นคือเป็นแผนบ่อนทำลายประเทศอื่นหรือไม่ เจตนาที่มุ่งหวังคืออะไร เหล่านี้เป็นคำถามที่ประเทศอื่นๆ จะตั้งคำถามอยู่เสมอ การเป็นหุ้นส่วน การเป็นพันธมิตรหมายถึงอย่างไรกันแน่ เป็นแนวทางที่หวังสร้างประโยชน์ให้กันและกันมากที่สุด หรือเป็นกลไกเพื่อควบคุมประเทศอื่นให้สหรัฐคงความเป็นเจ้าต่อไป จะเป็นอีกหลักฐานที่บ่งชี้ความต้องการที่แท้จริงของรัฐบาลอเมริกัน

        Seun Sam จาก Royal Academy of Cambodia ชี้ประเด็นว่ารัฐบาลสหรัฐประกาศว่าสนับสนุน หลักอาเซียนเป็นศูนย์กลาง แต่ IPEF สนับสนุนชาติอาเซียนบางประเทศ ทิ้งบางประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาวและเมียนมา จึงตั้งคำถามว่าต้องการบ่อนทำลายเอกภาพอาเซียนหรือไม่ ที่ผ่านมาการจัดตั้ง AUKUS กับ Quad ที่สัมพันธ์กับภูมิภาคโดยตรงแต่กลับไม่มีชาติอาเซียนในนั้นเลย 

        วิเคราะห์ : ถ้ายึดว่า IPEF มีมาตรฐานสูงและเห็นว่าบางประเทศไม่อาจปฏิบัติตาม แนวคิดของ Seun Sam อาจไม่ถูกต้อง แต่การกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วมตอกย้ำการแบ่งขั้วชัดเจน

        ท้ายที่สุดแล้วถูกวิพากษ์ว่าการเจรจาทำให้ชาติสมาชิกอื่นได้ประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะชาติอาเซียนทั้ง 7 ประเทศที่เข้าร่วม (ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม)

       ประการที่ 4 อีกหลักฐานการถดถอยของสหรัฐหรือไม่

        หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐทุกชุดไม่ว่ามาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างดำเนินนโยบายปิดล้อมจีน กีดกันเศรษฐกิจจีน เกิดแผนมากมาย เช่น TPP ในสมัยรัฐบาลโอบามา ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในสมัยทรัมป์ แต่แผนใหญ่ๆ ที่ว่าล้วนล้มเหลว รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถหยุดการก้าวขึ้นมาของจีน ทำได้เฉพาะประเด็น เช่น กีดกันบริษัทโทรคมนาคม เทคโนโลยีสื่อสาร 5G กีดกันนักศึกษาจีนไม่ให้ศึกษาต่อสหรัฐในบางสาขาวิชา ล่าสุดสหรัฐยังคงขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้นทำลายสถิติต่อเนื่องแม้รัฐบาลทรัมป์จะตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน 20-30% แล้วก็ตาม และคาดว่าจะขาดดุลเช่นนี้อีกหลายปี

        จึงน่าติดตามว่า IPEF ซึ่งเป็นนโยบายหลักของไบเดนเพื่อต้านเศรษฐกิจจีนจะได้ผลหรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ล้มเหลวหรือไม่ค่อยได้ผล

        และต้องไม่ลืมว่า IPEF คือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหรัฐ ดังนั้นต้องเข้าใจว่าทั้งหมดคือการจัดระบบระเบียบทุกด้านทุกมิติ (ไม่ว่าจะการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมของภูมิภาค ฯลฯ) โดยรัฐบาลสหรัฐนั่นเอง

        ถ้าไม่คิดเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและมองเฉพาะกรอบเศรษฐกิจโลกที่ยามนี้อ่อนไหว มีทีท่าอาจย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ ควรถามรัฐบาลไลเดนว่า IPEF จะช่วยชาติสมาชิกคู่เจรจาอย่างไร ช่วยให้เศรษฐกิจโต ประชาชนของเขาอยู่ดีมีสุขมากขึ้นหรือไม่

12 มิถุนายน 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9342 วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2565)
-------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ฝ่ายสหรัฐคิดเสมอว่าทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศสูงสุด รวมทั้งการต่อต้านจีน IPEF เป็นความพยายามรอบใหม่ ประกาศชัดขอสร้างกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่ตนเป็นผู้นำ

บรรณานุกรม :

1. Biden to peddle new economic framework in Asia as ‘geopolitical tool’ to counter China. (2022, May 19). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202205/1266105.shtml?id=11

2. Biden’s ‘don’t shoot the piano player’ approach to trade. (2022, June 4). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/06/bidens-dont-shoot-the-piano-player-approach-to-trade/

3. Goodman, Matthew P., Reinsch, William. (2022, Jan). Filling In the Indo-Pacific Economic Framework. Retrieved from https://www.jstor.org/stable/pdf/resrep39408.pdf

4. IPEF will be a hard sell in the Indo-Pacific. (2022, May 25). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/05/ipef-will-be-a-hard-sell-in-the-indo-pacific/

5. Japan shores up U.S. vision for IPEF economic bloc in Asia. (2022, May 24). The Asahi Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14628711

6. U.S. Department of State. (2022, May 26). The Administration’s Approach to the People’s Republic of China. Retrieved from https://www.state.gov/the-administrations-approach-to-the-peoples-republic-of-china/

7. U.S.-led IPEF threatens ASEAN centrality, unity: Cambodian academic. (2022, May 30). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20220530/85de1cefe2a547adbe5aa50a9d78fe37/c.html

8. Why ASEAN is giving Biden’s IPEF a chance. (2022, May 30). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2022/05/why-asean-is-giving-bidens-ipef-a-chance/

-----------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก