ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้ (MNNA)

ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตไม่ใช่สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วม เป็นประเทศที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐมีความร่วมมือด้านความมั่นคงหลายอย่าง

        สหรัฐทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับหลายประเทศ หลายฉบับ ต่างมีข้อตกลงเฉพาะมักขึ้นกับบริบทของยุคสมัย เช่น เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐภายใต้สนธิสัญญา Mutual Defense Treaty 1953 ตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และสหรัฐมีสนธิสัญญา Security Treaty Between Australia, New Zealand, and the United States of America (ANZUS) 1951 ปัจจุบันลดเหลือสนธิสัญญาระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐเท่านั้น ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้เป็นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงอีกฉบับ บางประเทศผูกพันกับสหรัฐทั้ง 2 สนธิสัญญา

        ก่อนจะเข้าใจชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตควรเข้าใจนาโตก่อน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เกิดขึ้นเพื่อต้านภัยคุกคามจากรัสเซียหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นกองทัพรัสเซียเข้ายึดหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ยึดอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม ชาติยุโรปตะวันตกอยู่ในสภาพอ่อนแอจากการทำลายล้างของสงคราม การตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารโดยมีสหรัฐร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นประโยชน์

        บทบาทของนาโตปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยตาม ปัจจุบันเป็นเสาหลักความมั่นคงของสหรัฐกับพันธมิตร 2 ฝั่งแอตแลนติก เป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก

        นาโตทวีความสำคัญขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐบาลสหรัฐกับพวกมองจีนที่กำลังก้าวขึ้นมากับรัสเซียที่ฟื้นฟูในยุคปูตินว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขึ้นทุกที

ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต :

        แม้จะชื่อว่า “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต” (Major Non-NATO Ally: MNNA) แต่เป็นพันธมิตรหรือข้อตกลงทวิภาคี ไม่อยู่ภายใต้องค์การนาโต

       1) นิยาม MNNA กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐให้นิยามว่า Major Non-NATO Ally หมายถึง ประเทศที่ได้ประโยชน์บางอย่างด้านการป้องกันประเทศ การค้าและความมั่นคงตามที่ระบุไว้ เล็งถึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ให้ความเคารพกันและกันอย่างสูง แต่ไม่ถึงขั้นให้หลักประกันความมั่นคงแต่อย่างใด

        กระทรวงการต่างประเทศไทยอธิบายการได้รับสถานะเป็นชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต “ไม่ได้หมายถึงการมีหลักประกันด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศร่วมกันเช่นเดียวกับที่สหรัฐมีกับประเทศสมาชิกนาโต แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่สหรัฐให้แก่ความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตร”

        ดังนั้นแม้จะเอ่ยว่าเป็นพันธมิตร (Ally) แต่ MNNA ไม่ใช่สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วม (Mutual Defense Treaty)

        เนื่องจากเป็นพันธมิตรที่ไม่ใช่นาโต ประเทศเหล่านี้จึงกระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ยกตัวอย่าง อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา ไต้หวัน โคลอมเบียและกาตาร์ (2 ประเทศหลังเป็นประเทศล่าสุด 2022) ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนมีเพียง 2 ประทศที่ทำข้อตกลงนี้คือฟิลิปปินส์กับไทย (ทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2546)

        ดังที่กล่าวแล้วว่าสถานะ MNNA ไม่ถึงขั้นสหรัฐจะเข้ารบช่วยปกป้องประเทศนั้น แต่บางประเทศมีสนธิสัญญาทางทหารอื่นๆ ที่สหรัฐจะส่งกองทัพเข้าปกป้อง MNNA มีจุดเด่นเป็นสนธิสัญญาสดใหม่ ไม่ใช่ของเก่าจากยุคสงครามเย็นในอดีต

       2) ลักษณะสำคัญ MNNA แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการเกิดก่อนหลัง ลักษณะความร่วมมือแตกต่างกัน บางประเทศอยู่ในประเภทเดียว บางประเทศอยู่ในทั้ง 2 ประเภท มีขอบเขตความร่วมมือที่พอจะสรุปรวมๆ ได้แก่ สามารถซ่อมแซมอาวุธสหรัฐนอกแผ่นดินสหรัฐ ร่วมวิจัยโครงการต่อต้านก่อการร้ายบางโครงการ สหรัฐช่วยเหลือโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันประเทศ ได้รับอาวุธอุปกรณ์ทางทหารจากสหรัฐ สิทธิ์ในการซื้อกระสุน depleted uranium ammunition สหรัฐช่วยฝึกหรือซ้อมรบร่วม สามารถเช่าหรือยืมอุปกรณ์ทางทหารบางอย่าง ความร่วมมือด้านดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์

       3) เหตุและผล ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้ (MNNA) ให้ภาพว่าเป็นประเทศที่มีสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิด ได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ แม้กระทั่งไต้หวันที่ไม่เป็นประเทศแต่อยู่ในข้อตกลงนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะมีเหตุผลเฉพาะ เช่น หวังให้โคลอมเบียสนับสนุนนโยบายต่อต้านเวเนซุเอลา รัฐบาลไบเดนหวังให้กาตาร์ขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติแก่ยุโรปในช่วงนี้ที่กำลังคว่ำบาตรรัสเซีย เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน

        อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยน เช่นสมัยรัฐบาลโอบามากล่าวว่าอียิปต์ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอียิปต์มีสถานะ MNNA เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Muhammad Morsi) ที่มาจากการเลือกตั้งแต่ดำเนินนโยบายยึดมั่นศาสนาอิสลามตามแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)

        ฟิลิปปินส์ในสมัยรัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ก็เช่นกันดำเนินนโยบายใกล้ชิดจีนกับรัสเซียมากขึ้น มีบางเรื่องที่คิดเห็นตรงข้ามกับสหรัฐแต่ยังคงความเป็น MNNA กันยายน 2016 ดูเตร์เตกล่าวว่า “ไม่ได้ตัดความเป็นพันธมิตร รวมทั้งด้านการทหาร” แต่ฟิลิปปินส์จะเป็นอิสระมากขึ้น มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ จะเห็นว่าความสัมพันธ์ขึ้นกับตัวรัฐบาลด้วย

ความร่วมมือเชิงประจักษ์ :

        ลำพังการเป็น MNNA ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทั้งหมด มีนโยบายอื่นที่ทำสำเร็จแล้ว บางอย่างกำลังทำ ในที่นี้ขอนำเสนอ 2 ตัวอย่าง

       1) AUKUS

        พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย (AUKUS) ที่เริ่มเมื่อกันยายน 2021 ใน 3 ประเทศนี้ออสเตรเลียมีฐานะเป็น MNNA และมีจุดเด่นคืออังกฤษเป็นประเทศนอกภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หมายความว่าเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์อังกฤษจะมีภารกิจอย่างสม่ำเสมอในย่านนี้ ด้วยแนวทางนี้อนาคตอาจมีสมาชิกอื่นนอกภูมิภาคเข้าร่วมอีก

       2) กรณีติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง

        รัฐบาลสหรัฐประกาศตั้งแต่สมัยทรัมป์ว่าหวังจะติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในอินโด-แปซิฟิก ล่าสุดเอ่ยถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไทย ทั้ง 5 ชาติล้วนเป็นพันธมิตรเก่าแก่และเป็น MNNA 10 ชาติอาเซียนมีเฉพาะฟิลิปปินส์กับไทยเท่านั้นที่ทำข้อตกลง MNNA กับสหรัฐจึงไม่แปลกที่ 2 ประเทศนี้อยู่ในรายชื่อคาดหวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง

        ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธนิวเคลียร์หรือหัวรบธรรมดาล้วนมีอานุภาพทำลายสูง มุ่งยิงเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ และชัดเจนว่าเป้าหมายคือจีน (อาจรวมรัสเซียฝั่งเอเชียตะวันออกไกล) และต้องมองไกลกว่าตัวตัวขีปนาวุธ เพราะจะรวมระบบป้องกันทางอากาศ มีฐานทัพอากาศ ศูนย์บัญชาการ ฯลฯ รวมความแล้วเป็นฐานทัพถาวรขนาดใหญ่นั่นเอง ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นการประกาศการเป็นศัตรูกับจีนอย่างชัดเจน และคงยากจะเปลี่ยนแปลง (ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือญี่ปุ่นที่มีฐานทัพสหรัฐในประเทศตนหลายทศวรรษแล้ว ปัจจุบันมีทหารพร้อมอาวุธหนักประการอยู่ราว 54,000 นาย)

        น่าติดตามว่าบรรดาประเทศที่เป็น MNNA จะตอบสนองต่อการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างไร

        ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต้ (MNNA) อาจมองว่าเป็นเพียงสนธิสัญญาความมั่นอีกฉบับ แต่เมื่อพิจารณาชื่อและข้อมูลอื่นๆ พบว่ามีความสำคัญในตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาเครือข่ายหรือโครงสร้างความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกตามแนวทางของตน การปรากฏตัวของ AUKUS ทั้งหมดเกิดภาพการสร้างเครือข่ายความมั่นคงที่อาจรวมประเทศอื่นนอกภูมิภาคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโด-แปซิฟิก การแข่งขันทางทหาร ความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง ทุกเรื่องถูกทำให้สัมพันธ์กันหมด ประเทศที่อยู่ใน MNNA มักจะถูกเอ่ยถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

15 พฤษภาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9314 วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
สหรัฐฯ หวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไทย เป้าหมายหลักคือต่อต้านจีน อเมริกาครองความเป็นเจ้าในอินโด-แปซิฟิก
บรรณานุกรม :

1. กระทรวงการต่างประเทศ. (2555, มิถุนายน 28). องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO). Retrieved From https://www.mfa.go.th/th/content/5d5bcc2715e39c306000a364?cate=5d5bcb4e15e39c3060006872

2. Biden announces Indo-Pacific alliance with UK, Australia. (2021, September 16). The Asahi Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14441547

3. Biden announces major non-NATO ally status for Colombia. (2022, March 10). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/biden-nato-colombia-c8d49d29f654ced2a1112f4b1c01461f

4. Boros-McGee, Anna. (2008). North Atlantic Treaty Organization, Origins and Formation of. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.1514-1516). USA: ABC-CLIO.

5. Major Non-NATO Ally (MNNA). (2022). Global Security. Retrieved from https://www.globalsecurity.org/military/agency/dod/mnna.htm

6. Philippine leader seeks arms from Russia & China, pursues policies independent from US. (2016, September 14). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/359255-philippines-us-independent-policies/

7. RAND. (2022). Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific. Retrieved from https://www.rand.org/pubs/research_reports/RRA393-3.html

8. Sandier, Todd., Hartley, Keith. (1999). The Political Economy of NATO: Past, Present and into the 21st Century. New York: Cambridge University Press.

9. U.S. Department of State. (2021, January 20). Major Non-NATO Ally Status. Retrieved from https://www.state.gov/major-non-nato-ally-status/

10. US officially designates Qatar as major non-NATO ally. (2022, March 11). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/03/11/US-officially-designates-Qatar-as-major-non-NATO-ally

-----------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก