ระบอบการปกครองซาอุฯ ที่สัมพันธ์กับอิสลาม
ซาอุฯ จะปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามแนวทางอิสลามต่อไป คงอยู่คู่อิสลาม ยึดมั่นหลักศาสนาอย่างถูกต้องไม่บิดเบือน พัฒนาประเทศสู่ความทันสมัยที่ไม่ขัดหลักศาสนา
มีนาคม
2018 มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin
Salman) แห่งซาอุดิอาระเบียเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ
ประธานาธิบดีโดลันด์ ทรัมป์ยืนยันสนับสนุนมกุฎราชกุมาร หลังประสบความสำเร็จในการกระชับอำนาจ
กล่าวว่า “บัดนี้พระองค์เป็นมากกว่ามกุฎราชกุมารแล้ว” แม้ทรงเป็นมกุฎราชกุมารแต่พูดกันหนาหูว่าพระองค์คือบริหารประเทศซาอุดิอาระเบียตัวจริง
ภายใต้การปกครองโดยกษัตริย์ :
ในการสัมภาษณ์เมื่อต้นเดือนมีนา
2022 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่าซาอุฯ ปกครองด้วยกษัตริย์ ภายใต้ระบอบนี้มีโครงสร้างชนเผ่าและคนเมืองที่ซับซ้อน
มีชนเผ่าต่างๆ หลายพันกลุ่ม เฉพาะสมาชิกราชวงศ์มีกว่า 5
พันคน พระองค์ได้รับการคัดเลือกจากคนเหล่านี้ให้ทำหน้าที่ดูแลราชวงศ์ ให้ชนเผ่าต่างๆ
อยู่ร่วมกันทำงานด้วยกัน หากตนเปลี่ยนระบอบนี้เท่ากับทรยศต่อคนเหล่านี้ทั้งหมด
ในขณะเดียวกันคนเหล่านี้คือผู้กำลังเปลี่ยนแปลงประเทศทีละน้อย กษัตริย์จึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามความต้องการของคนในราชวงศ์ทั้งมวล
หน้าที่กษัตริย์กับมกุฎราชกุมารคือทำงานอย่างว่องไวและให้ไวยิ่งขึ้น เปิดโอกาสแก่เป้าหมายใหม่ๆ
ตลอดเวลา
ถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติไม่ใช่มุสลิม
คำสอนอิสลามไม่ผูกพันกับคุณ ดังนั้นชาวต่างชาติผู้อาศัยหรือเข้าซาอุฯ มีสิทธิ์ทำทุกอย่างที่ต้องการ
ปฏิบัติตามศรัทธาความเชื่อศาสนาของตนได้เต็มที่ภายใต้กฎหมายตามแนวทางเดียวกับที่ทำในสมัยศาสดา
ตามคำสอนและกฎหมายอิสลาม
ผู้นำโลกอิสลามคือ “wali al-`amr” (ผู้ปกครอง)
ดังนั้นผู้นำสูงสุดไม่ใช่มุฟตี (Mufti) ผู้ประกาศฟัตวาสุดท้ายคือกษัตริย์
(ตัดสินชี้ขาดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นถกเถียง) มุฟตีกับคณะฟัตวา (Fatwa
Board) เป็นที่ปรึกษากษัตริย์ ทั้งนี้ทุกคนแสดงความคิดเห็นโต้แย้งได้
กษัตริย์ต้องตัดสินโดยรับฟังความเห็นรอบด้านก่อน
ซาอุฯ
พัฒนาประเทศตามแนวทางของตน ผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นซาอุฯ เข้าด้วยกัน
เป็นตัวของตัวเองไม่คิดเป็นเหมือนใคร แน่นอนว่าไม่สมบูรณ์แต่ทุกชาติไม่สมบูรณ์แบบ
ชาติประชาธิปไตยก็ไม่สมบูรณ์แบบ ซาอุฯ ตั้งอยู่บนรากฐานศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมชนเผ่า
วัฒนธรรมอาหรับ หากละทิ้งสิ่งเหล่านี้เท่ากับประเทศล่มสลาย นโยบายซาอุฯ เคารพการปกครองอื่นๆ
เป็นสิทธิที่จะเลือกระบบการปกครอง และหวังว่าประเทศอื่นๆ จะเคารพซาอุฯ ด้วย
ซาอุฯ
พยายามสัมพันธ์ดีกับนานาชาติ ร่วมมือกับสหรัฐหลายด้าน ซาอุฯ ลงทุนในอเมริกากว่า
800,000 ล้านดอลลาร์ มีชาวอเมริกันในประเทศกว่า 3 แสนคน ซาอุฯ ลงทุนในจีนไม่ถึง
100,000 ล้านดอลลาร์และกำลังเพิ่มขึ้น
เป็นผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิม :
นานมาแล้วที่ทางการซาอุฯ
ประกาศตนเองว่าเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกลาง
เป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของโลกอาหรับ นับจากปี 1986 เป็นต้นมากษัตริย์ซาอุฯ
จะเรียกตนว่า “ผู้พิทักษ์แห่งสองมัสยิดศักดิ์สิทธิ์” (Custodian of the Two
Holy Mosques) ชี้บทบาทของพระองค์ในฐานะผู้นำมุสลิม
และไม่ใช่ผู้นำมุสลิมซาอุฯ เท่านั้นแต่เป็นผู้นำมุสลิมโลก
มกุฎราชกุมารซัลมานย้ำว่าจุดยืนที่ทิ้งไม่ได้คือบทบาทต่อสองมัสยิดศักดิ์สิทธิ์
เพื่อชาวซาอุฯ ทั้งมวล เพื่อภูมิภาคและโลกที่ตั้งอยู่บนศรัทธา สันติภาพและการอยู่ร่วมกัน
สำหรับตนไม่มีคำว่าอิสลามสายกลาง (moderate Islam) เพราะใครก็เปลี่ยนอิสลามไม่ได้
ต้องปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้อง เป็นคำสอนที่อยู่ร่วมกับพวกนับถือคริสต์กับยิว
อิสลามสอนให้เคารพทุกวัฒนธรรม ทุกศาสนา และเป็นเช่นนี้ในสมัยท่านศาสดา
แต่พวกสุดโต่งบิดเบือนคำสอน พยายามเผยแพร่คำสอนผิดๆ
นำสู่การสร้างกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งทั้งในฝ่ายซุนนีและชีอะห์
คำว่าอิสลามสายกลาง
(moderate Islam) ใช้ในความหมายต่อต้านความสุดโต่ง เช่น ต่อต้านแนวทางของไอซิส
(ISIS หรือ Islamic State in Iraq and Syria) หรือ IS ในช่วงนั้นโลกมุสลิมมีทั้งพวกที่สนับสนุนกับพวกที่ต่อต้าน
IS มุสลิมที่ต่อต้านความสุดโต่งบางกลุ่มประกาศเน้นหลักวะสะฏียะฮ์
(wasatiyyah – คำภาษาอังกฤษคือ Moderation) หมายถึงความพอเหมาะ ไม่สุดโต่ง ชี้ว่าความสุดโต่งไม่ใช่อิสลาม
นาจิบ
ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในสมัยนั้นเอ่ยถึงหลักวะสะฏียะฮ์ว่าเป็นบัญญัติจากอัลกุรอาน
“เราได้ให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง” หลักการนี้ให้ความสำคัญกับความสมดุลและความพอดี ยึดทางสายกลาง ไม่สุดโต่งและตั้งอยู่บนความยุติธรรม
ความสมดุลระหว่างความศรัทธาในศาสนากับความต้องการด้านวัตถุ ไม่มีการบังคับใดๆ
ในการนับถือศาสนา
มุสลิมบางคนบางกลุ่มเห็นว่านิกายวาห์ฮะบี
(Wahhabism) เป็นพวกสุดโต่งกลุ่มหนึ่งและสัมพันธ์กับรัฐบาลซาอุฯ
ซาอุฯ กับวาห์ฮะบี :
มกุฎราชกุมารซัลมานอธิบายว่า
Muhammad Ibn 'Abd al-Wahhab ผู้นำนิกายวาห์ฮะบีเป็นครูสอนศาสนาช่วงเดียวกับเริ่มเกิดรัฐซาอุฯ
ท่านเขียนคำสอนมากมายและมีพวกสุดโต่งบางคนบิดเบือนคำสอนของท่าน
นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว อันที่จริงแล้วถ้า al-Wahhab
มีชีวิตในตอนนี้ท่านน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ต่อต้านพวกสุดโต่ง
ในประเทศซาอุฯ
มีทั้งซุนนีกับชีอะห์ พวกซุนนียังแบ่งออกเป็น 4 สำนักคิด (schools) ทั้งหมดร่วมอยู่ในคณะกรรมการศาสนาหลากหลายชุด
ทุกวันนี้ไม่มีสำนักคิดใดที่สามารถผลักดันหลักการของตนเพียงฝ่ายเดียว ซาอุฯ
จึงประกอบด้วยซุนนีกับชีอะห์หลายสำนักคิดอยู่ด้วยกัน
ในอดีตหลายสิบปีก่อนอาจเป็นไม่เช่นนี้แต่ปัจจุบันซาอุฯ
กลับสู่รากฐานอิสลามที่แท้จริง
วาห์ฮะบีเป็นที่กล่าวขวัญเนื่องจากถูกโยงกับการก่อการร้าย
ปลายปี 2014 นายพล Hassan Firouzabadi เสนาธิการใหญ่กองทัพอิหร่านกล่าวว่า
“ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ก่อตั้งและสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายวาฮะบีตักฟีรี
(Wahhabi terrorist-takfiri) อย่างเช่น กลุ่มดาอิซ (Daesh – หมายถึง IS) ใช้รายได้จากการขายน้ำมันอุ้มชูกลุ่มเหล่านี้”
ซาอุฯ เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อให้สหรัฐกับชาติตะวันตกมั่นใจว่าจะไม่ขาดแคลนน้ำมัน
ในขณะที่ราคาน้ำมันอ่อนตัวจะเป็นภาระต่อประเทศที่ต้องพึ่งรายได้จากการขายน้ำมัน
มีแนวคิดว่าปี
1979 ไม่เพียงเป็นปีปฏิวัติอิหร่านเท่านั้น ยังเป็นปีที่รัฐบาลซาอุฯ
เริ่มนโยบายส่งเสริมวาห์ฮะบีระลอกใหม่ ใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์จากการขายน้ำมันส่งเสริมวาห์ฮะบีทั่วโลก
เป็นที่มาของมุสลิมหัวรุนแรงหลายกลุ่มในปัจจุบัน มีแนวคิดต่อต้านชีอะห์อย่างรุนแรง
ด้านรัฐบาลซาอุฯ
ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งยังปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ทั้งในประเทศและร่วมมือกับนานาชาติ
ต้นเดือนเมษายน
2018 เมื่อถามถึงความสัมพันธ์กับนิกายวาห์ฮะบี มกุฎกษัตริย์ซัลมานตอบว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับวาห์ฮะบี
ไม่ได้สัมพันธ์กับพวกนี้ ไม่รู้จักพวกนี้เลย เมื่อถูกถามต่อว่านิกายวาห์ฮะบีก่อตั้งโดย
Ibn abd al-Wahhab เมื่อราวปี 1700 มกุฎราชกุมารอธิบายว่าไม่มีใครสามารถนิยามวาห์ฮะบี
ไม่มีนิกายนี้ ที่มีอยู่คือซาอุดิอาระเบีย ซุนนี ชีอะห์ พวกซุนนีจะแยกออกเป็น 4
สำนักคิดคือ Hanbali, Hanafi, Shafi’i, Maliki ที่แยกเป็นหลายสำนักคิดจากการตีความหลักศาสนาแตกต่างกัน
รัฐบาลซาอุฯ
สนับสนุนทุกนิกาย พวกชีอะห์มีตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เป็นข้าราชการ
บางคนมีตำแหน่งสูงในมหาวิทยาลัย พวกนับถือชีอะห์อยู่อย่างปกติสุขในซาอุฯ
รัฐบาลไม่ได้มีปัญหากับชีอะห์ (ในนิยามทั่วไป) แต่มีปัญหากับระบอบอิหร่านปัจจุบัน
รวมความแล้วมกุฎราชกุมารซัลมานตรัสว่าซาอุฯ
จะปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามแนวทางอิสลาม คงอยู่คู่อิสลาม ยึดมั่นหลักศาสนาอย่างถูกต้องไม่บิดเบือน
ในขณะเดียวกันเรื่องราวของวาห์ฮะบีจะเป็นที่วิพากษ์ต่อไป ซาอุฯ กำลังพัฒนาให้ทันสมัยและมีบทบาทในโลกมุสลิมต่อไป
----------------------------
1. Institut Terjemahan & Buku Malaysia. (2012). การเคลื่อนไหวของการต่อต้านความรุนแรงระดับโลก. GLOBAL MOVEMENT OF
MODERATES FOUNDATION. Retrieved from http://www.gmomf.org/wp-content/uploads/media/1228.pdf
2. ISIL sponsored by Saudi petrodollars: Iran’s top
commander. (2014, December 17). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/120348-isil-sponsored-by-saudi-petrodollars-irans-top-commander-
3. Mohammed bin Salman on Iran, Israel, US and future of
Saudi Arabia: Full transcript. (2022, March 3). Al Arabiya. Retrieved
from
https://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/03/03/Mohammed-bin-Salman-on-Iran-Israel-US-and-future-of-Saudi-Arabia-Full-transcript
4. Napoleoni, Loretta. (2014). The Islamist Phoenix: The
Islamic State and the Redrawing of the Middle East. New York: Seven Stories
Press.
5. Saudi
Arabia and Iran: The Cold War of Islam. (2016, May 9). Spiegel
Online. Retrieved from
http://www.spiegel.de/international/world/saudia-arabia-iran-and-the-new-middle-eastern-cold-war-a-1090725.html
6. Saudi Arabian Army. (2013, October 23). Saudi Defence.
Retrieved from http://www.saudidefence.com/saudi-arabian-army/
7. Saudi Crown Prince: Iran's Supreme Leader 'Makes Hitler
Look Good'. (2018, April 2). The Atlantic. Retrieved from
https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/04/mohammed-bin-salman-iran-israel/557036/
8. Saudi Prince’s White House Visit Reinforces Trump’s
Commitment to Heir Apparent. (2018, March 20). The New York Times.
Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/03/20/us/politics/saudi-crown-prince-arrives-at-white-house-to-meet-with-trump.html
-----------------------