เรื่อง Nord Stream 2 ที่มากกว่าท่อส่งก๊าซ

Nord Stream 2 คืออีกครั้งที่เยอรมันพยายามเป็นอิสระและรัฐบาลสหรัฐขัดขวาง ยูเครนเป็นตัวละครล่าสุดที่ถูกดึงเข้ามาใช้ สถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อเท่ากับโลกต้องซื้อใช้พลังงานแพงนานขึ้น

        ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Gazprom ของรัสเซียกับบริษัทเยอรมันและอีกหลายประเทศ สร้างท่อส่งจากรัสเซียลอดทะเลบอลติกขึ้นฝั่งที่เมือง Greifswald เยอรมนี รวมระยะทาง 1,200 กิโลเมตร สามารถส่งก๊าซจากรัสเซียสู่เยอรมนีปีละ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับ Nord Stream (อันเดิม) จะส่งก๊าซได้ถึง 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้เยอรมนีกลายเป็นศูนย์พลังงานแห่งหนึ่งของยุโรปตะวันตก

        ยุโรปเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รายใหญ่ที่สุดของโลก นิยมใช้ก๊าซธรรมชาติชนิดนี้ทั้งในครัวเรือน สถานประกอบ (ส่วนใหญ่ใช้กับเครื่องทำความร้อน LNG คล้าย NGV แต่ NGV ใช้กับยานพาหนะและอยู่ในรูปก๊าซ) ใช้เป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า มักกระจายส่งถึงบ้านและที่ต่างๆ ด้วยระบบท่อ เหตุที่นิยมเนื่องจากราคาถูก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย (เป็นก๊าซมีเทนที่เบากว่าอากาศหากรั่วจะกระจายหายไปในอากาศทันที โอกาสระเบิดน้อย) ด้วยข้อดีเหล่านี้คาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นอีก

        LNG จึงเป็นแหล่งพลังงานอีกชนิดที่หลายประเทศสนใจทั้งในแง่ผู้ส่งออกกับผู้นำเข้า

        ท่อก๊าซที่ออกจากประเทศผู้ผลิตเช่นรัสเซีย บางครั้งส่งผ่านหลายประเทศ บางท่อของเยอรมันผ่านโปแลนด์ ยูเครนก่อน ประเทศเหล่านี้ซื้อใช้ก๊าซจากท่อเดียวกัน และหมายความว่า 2 ประเทศนี้สามารถปิดท่อก๊าซไม่ให้เข้าเยอรมัน

        คำถามที่พูดกันเสมอคือหากรัสเซียปิดท่อก๊าซคนเยอรมันหลายสิบล้านคนที่ใช้ก๊าซจากรัสเซียจะเป็นอย่างไร ในอดีตอาจตอบว่าเยอรมันนำเข้าจากหลายประเทศ แต่ปัจจุบันเยอรมันนำเข้าจากรัสเซียมากกว่าครึ่งและทำท่าจะเพิ่มขึ้นอีก คำถามนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าเดิม

        ข้อโต้แย้งในมุมกลับคือเพราะเยอรมัน (กับยุโรป) เป็นลูกค้ารายใหญ่ รัสเซียจึงไม่ผลีผลามทำอะไรที่ทำให้ยุโรปรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น ส่งกองทัพบุกยูเครนหรือคิดทำสงครามใหญ่ การอยู่ร่วมอย่างสงบทำมาค้าขายระหว่างกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

        ในอีกแง่หนึ่ง Nord Stream 2 เป็นท่อเชื่อมรัสเซียกับเยอรมันโดยตรง ต่างจากบางท่อที่ต้องผ่านประเทศอื่น การไหลของก๊าซไร้การสกัดกั้นจากประเทศที่ 3 ถ้ามองจากความมั่นคงของเยอรมันการต่อตรงย่อมดีกว่าแบบที่ต้องผ่านประเทศที่ 3 แต่รัฐบาลสหรัฐกลับมองว่าการต่อตรงแบบนี้ส่งสัญญาณว่าเยอรมันเป็นมิตรกับรัสเซีย เป็นอีกเหตุที่รัฐบาลสหรัฐพยายามขัดขวาง

        โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ถือว่าทำเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้บริการ เพราะรัฐบาลไบเดนนำเรื่องนี้เข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน ใช้กลยุทธ์นำ Nord Stream 2 เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ฝ่ายเยอรมันต้องจำยอมเพราะเป็นข้อตกลงที่ทำไว้ในสมัยรัฐบาลแมร์เคิล ข้อตกลงนี้มีทั้งข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีคือช่วยห้ามสหรัฐคว่ำบาตรตามใจชอบ (พรรครีพับลิกันต้องการคว่ำบาตรไม่ว่าจะมีประเด็นยูเครนหรือไม่) ข้อเสียคือรัฐบาลสหรัฐใช้ข้อตกลงนี้เป็นเงื่อนไขผูกมัด

        เหตุตึงเครียดรอบนี้เป็นจังหวะเดียวกับเยอรมันได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากอีกขั้ว เป็นบททดสอบสำคัญต่อโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนปัจจุบัน สหรัฐอาจมองว่ารัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีท่าทีต่างจากเดิม อาจโอนอ่อนแก่ตนมากขึ้น

เป้าหมายและไม้ตายสหรัฐ :

        ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ไบเดนย้ำหลายรอบจะคว่ำบาตรท่อก๊าซ Nord Stream 2 ถ้ารัสเซียบุกยูเครน เทคนิคเงื่อนปมที่สร้างไว้คือ ยกประเด็นจะรับยูเครนเป็นสมาชิกนาโตที่รัสเซียยอมไม่ได้ ใครๆ ก็รู้ว่านี่คือเส้นต้องห้ามที่รัสเซียประกาศหลายสิบปีแล้ว เมื่อรัสเซียเตรียมกองทัพเพื่อสกัดไม่ให้ประกาศการเป็นสมาชิก รัฐบาลสหรัฐจึงสวนกลับบอกว่าจะคว่ำบาตร Nord Stream 2 หากบุกยูเครน ผลสุดท้ายอาจลงเอยตรงที่อียูต้องนำเข้าก๊าซสหรัฐมากขึ้นแม้จะแพงกว่าก๊าซรัสเซียไม่ต่ำกว่า 2-3 เท่า

        ทุกประเทศรู้ความสำคัญของพลังงาน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสหรัฐจึงควบคุมการซื้อขายพลังงานโดยควบคุมทั้งผู้ซื้อกับผู้ขาย วิธีการคือให้มิตรประเทศซื้อขายด้วยกันเอง โดยมีรัฐบาลสหรัฐเป็นผู้อำนวยการ มีอำนาจสูงสุดควบคุมระบบการซื้อขายนี้ด้วยหลากหลายวิธี

        อิหร่านเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลสหรัฐห้ามทุกประเทศนำเข้าน้ำมันอิหร่าน ทุกวันนี้จึงเหลือไม่กี่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันอิหร่าน บางประเทศถึงกับต้องขออนุญาตสหรัฐเป็นรายปี เรื่องนี้เป็นตัวอย่างหลักฐานชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ควบคุมระบบการซื้อขายน้ำมันโลก

        ในสมัยทรัมป์ เมื่อรัฐบาลสหรัฐต้องการให้นานาชาติตัดขาดธุรกิจกับอิหร่าน (หลังทรัมป์ยกเลิกข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ (JCPOA) เพียงฝ่ายเดียว) รัฐบาลทรัมป์ใช้วิธีห้ามบริษัทเอกชนทุกประเทศทำธุรกรรมกับอิหร่าน หาไม่แล้วบริษัทนั้นจะถูกคว่ำบาตร ผลคือบริษัทยุโรปที่กำลังลงทุนในอิหร่านถอนตัวแทบไม่ทัน

        ความตั้งใจของสหรัฐต่อรัสเซียก็เช่นเดียวกับที่ทำต่ออิหร่าน ทำเป็นลำดับขั้นตอน เริ่มจากท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ไม่สนใจว่าเยอรมันกับยุโรปต้องซื้อก๊าซในราคาแพงขึ้นเท่าไหร่

        อีกไม้ตายที่พูดถึงคือตัดรัสเซียออกจากระบบชำระเงิน SWIFT หากทำจริงจะเป็นเรื่องใหญ่มาก

สหรัฐจะได้คืบเอาศอกหรือไม่ :

        ณ วันนี้รัฐบาลสหรัฐใช้ประเด็นนาโตขยายตัว (NATO Enlargement) เพื่อสกัดเยอรมันนำเข้าก๊าซผ่าน Nord Stream 2 หากทำสำเร็จเป็นไปได้หรือไม่ว่าอนาคตอาจใช้แผนนี้ซ้ำ เพื่อให้นาโตฝั่งยุโรปลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียไปเรื่อยๆ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย สอดคล้องกับแผนการกระชับอำนาจของรัฐบาลสหรัฐในนาโตฝั่งยุโรป

        ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ สหรัฐคือผู้ได้ประโยชน์ ส่วนที่เสียประโยชน์ไม่ใช่แค่รัสเซียเท่านั้น รวมถึงชาติในยุโรปทุกประเทศที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย แม้บางประเทศเป็นพันธมิตรอเมริกาด้วยซ้ำ รัฐบาลสหรัฐสามารถควบคุมระบบพลังงานของยุโรปซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคม

        มองในทางกลับกันหากรัฐบาลไบเดนหนักมือเกินไป เยอรมันกับยุโรปหลายชาติจะไม่ยอมเช่นกัน รอยร้าวระหว่างนาโตที่สหรัฐเป็นแกนนำกับสมาชิกนาโตส่วนที่เยอรมันเป็นแกนนำจะเห็นเด่นชัดขึ้น ถ้าวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลทั้งหมดเป็นเรื่องของการคำนวณผลประโยชน์ การอยู่ร่วมเป็นนาโตมีทั้งส่วนที่ได้กับส่วนที่เสีย

        Nord Stream 2 จึงไม่ใช่แค่เรื่องของยูเครน รัสเซีย ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับชาติยุโรปหลายประเทศ การงัดข้อในช่วงนี้จึงมีหลายกรอบหลายมิติซับซ้อน

        ความจริงแล้วนับวันประเทศต่างๆ จะใช้พลังงานที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเท่านั้น พลังงานทางเลือกที่มีหลายแบบเป็นที่ต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รัฐบาลส่งเสริม โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามพลังงานฟอสซิลยังมีความสำคัญ

        ความจริงอีกข้อที่ไม่ควรมองข้ามคือ ปีที่แล้วท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 ราคาพลังงานค่อยๆ ถีบตัวสูงขึ้นและสูงขึ้นอีกในปีนี้ เฉพาะเดือนมกราคมที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเพิ่ม 17% น้ำมันดิบ WTI ล่าสุดอยู่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สถานการณ์ยูเครนเป็นอีกปัจจัยผลักดันราคา น่าจะเป็นอีกปีที่ผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่โลกจะทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ สถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อเท่ากับโลกต้องซื้อใช้แพงนานขึ้น ราคาสินค้าต่างๆ แพงขึ้นถ้วนหน้า ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้หนักกว่าเดิม กระทบทุกคนในโลกไม่เว้นคนอเมริกัน

เยอรมันจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร :

        สุดท้ายคำถามตกแก่รัฐบาลเยอรมัน (รวมประเทศยุโรปอื่นๆ) ว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร

        สงครามเย็นสิ้นสุดไปนานแล้ว เยอรมันกับยุโรปตะวันตกฟื้นตัวไม่คิดพึ่งพิงสหรัฐมากเช่นอดีต นาโตฝั่งยุโรปต้องการเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เรื่องราวของ Nord Stream 2 เป็นอีกครั้งที่เยอรมันพยายามเป็นอิสระและรัฐบาลสหรัฐพยายามขัดขวาง ยูเครนเป็นตัวละครล่าสุดที่ถูกดึงเข้ามาสร้างความตึงเครียดทั่วยุโรป น้ำมันแพงลิบลิ่ว ทำให้สินค้าแพงขึ้นทั่วโลก นำสู่การเจรจาต่อรอง

        เยอรมันกับยุโรปตะวันตกไม่ต้องการสงครามเย็นใหม่ในยุโรป คำถามคือจะจัดการกับ 2 มหาอำนาจอย่างไร อยากปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียแต่ไม่อาจทิ้งนาโต เยอรมันต้องพึ่งพลังของยุโรปตะวันตกทั้งมวลในการรับมือ ซึ่งในตอนนี้ยังดูเหมือนว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นฝ่ายรุกและอาจได้ผลประโยชน์เพิ่มเติมบนความสูญเสียของรัสเซีย ยูเครนและยุโรปตะวันตกทุกประเทศที่ต้องการ Nord Stream 2

20 กุมภาพันธ์ 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9230 วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)
----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
รัฐบาลสหรัฐเหมือนเซลส์แมนกำลังใช้พลังอำนาจทุกอย่างที่ตนมีเพื่อกดดันให้ยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากตนด้วยสารพัดเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ
ยูเครนเป็นพื้นที่กันชนระหว่าง 2 มหาอำนาจ ตอนนี้กำลังถูกใช้โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในยุโรป เป็นวิธีกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำเช่นนี้เรื่อยมา
ข้อวิพากษ์ทั้งหมดนำสู่คำถามว่ายุทธศาสตร์นาโตขยายตัวมีไว้เพื่อสันติภาพ เคารพอธิปไตยของกันและกันหรือเป็นเครื่องมือที่บางประเทศใช้ขยายอำนาจอิทธิพล
บรรณานุกรม :

1. Biden threatens: No gas pipeline if Russia invades Ukraine. (2022, February 7). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/russia-ukraine-joe-biden-vladimir-putin-europe-moscow-46f8be10fa71af16bae8f3a9bd82918d

2. Cold Turkey: How Germany Could End Russian Gas Dependency. (2014, May 6). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/business/german-alternatives-to-russian-gas-numerous-but-pricey-a-967682.html

3. Germany Has Little Maneuvering Room in Ukraine Conflict. (2022, January 21). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/world/a-war-of-nerves-germany-has-little-maneuvering-room-in-ukraine-conflict-a-faece2a7-c098-48cb-a9cc-cd0d5daf78f1

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก