สหรัฐต้องการให้ยุโรปซื้อพลังงานจากตน

รัฐบาลสหรัฐเหมือนเซลส์แมนกำลังใช้พลังอำนาจทุกอย่างที่ตนมีเพื่อกดดันให้ยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากตนด้วยสารพัดเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ

            ในสถานการณ์ยูเครนตึงเครียดรอบนี้ นาโตเห็นว่ากองทัพแสนนายของรัสเซียคุกคามยูเครนและอาจรุกรานยูเครนด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง จึงเตือนว่าหากทำเช่นนั้นนาโตจะคว่ำบาตรอย่างหนัก หนึ่งในมาตรการคือคว่ำบาตรท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่ต่อตรงจากรัสเซียถึงเยอรมัน อันที่จริงท่อส่งนี้ถือว่าสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เปิดใช้งาน ติดขัดเมื่อยูเครนเกิดปัญหา การคว่ำบาตรท่อส่งก๊าซนี้จะเป็นส่วนของมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่รัฐบาลแมร์เคิลได้ตกลงกับรัฐบาลไบเดน

            นอกจากนี้ยังพูดถึงการตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินโลก SWIFT ผลคือบริษัทเอกชนของอียูจะไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินกับบริษัทรัสเซีย การค้าระหว่างรัสเซียกับยุโรปจึงถูกตัดขาดจากกัน ผลกระทบจึงไม่ใช่แค่เรื่องก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ยังรวมถึงน้ำมัน แร่ต่างๆ ที่ยุโรปนำเข้าจำนวนมาก

            การตัดรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินโลกจึงเป็นเรื่องร้ายแรงมาก อาจผลักดันให้รัสเซียไปร่วมมือกับจีนสร้างระบบการชำระเงินแบบใหม่ซึ่งมีการคิดและพูดถึงหลายปีแล้ว

            แต่หากไม่ถึงขั้นนั้น อียูอาจร่วมคว่ำบาตรด้วยการไม่นำเข้าหรือลดการนำเข้า LNG จากรัสเซียซึ่งมีความเป็นไปได้มากกว่า มีข่าวเป็นระยะว่ารัฐบาลสหรัฐกับอังกฤษกำลังหารือแผนส่งก๊าซให้ยุโรปทดแทนส่วนที่ขาดหายไป สอดคล้องกับข่าวพรรครีพับลิกันยื่นเรื่องเตรียมคว่ำบาตรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับท่อส่งก๊าซนี้ หากความขัดแย้งกับรัสเซียรุนแรง

            ถ้าลดการซื้อหรือไม่ซื้อก๊าซรัสเซียจะเข้าทางอเมริกา เพราะรัฐบาลสหรัฐต้องการให้อียูซื้อก๊าซของตนแทน (แม้จะแพงกว่ามาก) แต่ไม่ว่าจะแบบแรกหรือหลัง ทั้งสหรัฐ รัสเซียและอียูต้องคิดหนัก เพราะส่งผลร้ายแรงและอาจร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

            สถิตินำเข้า LNG ชี้ชัดว่าปี 2019-20 อียูนำเข้าจากกาตาร์มากสุด รองมาคือ ไนจีเรีย รัสเซียกับสหรัฐเป็นลำดับ 3 กับ 4 ด้วยจำนวนใกล้เคียงกัน ปี 2020 อียูลดนำเข้าจากกาตาร์และเพิ่มการนำเข้าจากรัสเซียกับสหรัฐ Nord Stream 2 น่าจะทำให้รัสเซียขายได้มากขึ้นอีก (สามารถส่งก๊าซโดยตรงจากรัสเซียสู่เยอรมนีปีละ 55,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับ Nord Stream (อันเดิม) จะส่งก๊าซถึง 110,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี)

            ท่ามกลางข่าวเลวร้ายที่ออกมาเป็นระยะๆ ฝ่ายเยอรมันพยายามลดความตึงเครียด พยายามแยกเรื่องยูเครนออกจาก Nord Stream 2 Christine Lambrecht รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมันกล่าวว่าเรื่องยูเครนไม่เกี่ยวกับท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ไม่ควรลากเรื่องนี้เข้าไปด้วยย้ำต้องแก้ปัญหาด้วยการเจรจา สอดคล้องกับ โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่าโครงการนี้เป็นเรื่องการค้าล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ

            ต้องไม่ลืมว่าเยอรมัน ฝรั่งเศส ยุโรปตะวันตกหลายประเทศไม่ต้องการอยู่ในอำนาจรัฐบาลสหรัฐเหมือนแต่ก่อน กรณีท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 คือหลักฐานว่าเยอรมันยอมให้รัสเซียมีบทบาทต่อความมั่นคงด้านพลังงานของตนมากขึ้น ยอมให้รัสเซียขายก๊าซได้เงินมากมายไปพัฒนาประเทศ เพิ่มงบกลาโหม (ถ้าจะคิดอย่างนั้น) สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐแต่ละชุดทำเหมือนกันคือกีดกันไม่ให้ยุโรปใช้ก๊าซรัสเซีย รัฐบาลไบเดนน่าจะกำลังต่อรองเรื่องนี้อยู่

 เหตุผลของรัฐบาลสหรัฐ :

            สถานการณ์ยูเครนอธิบายได้หลายมุมมองทั้งแบบภาพกว้างกับแบบแคบ ถ้าวิเคราะห์ในมุมแคบหลายคนให้ความสนใจประเด็นการแย่งตลาดก๊าซธรรมชาติอียู พูดให้ชัดคือรัฐบาลสหรัฐหวังได้ส่วนแบ่งเพิ่ม เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ ในมุมที่ลึกขึ้นเท่ากับตัดทอนเศรษฐกิจรัสเซียประเทศที่พึ่งพาการส่งออกพลังงานเป็นรายได้หลัก เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย

            เรื่องต้านการซื้อก๊าซรัสเซียและหันมาซื้อของอเมริกาไม่ใช่เรื่องใหม่ ฝ่ายสหรัฐให้เหตุผลว่าหากเยอรมนีหรืออียูนำเข้าก๊าซจากรัสเซียเท่ากับผูกโยงพึ่งพาเศรษฐกิจการเมืองกับรัสเซียมากขึ้น รัฐสภาในสมัยทรัมป์ผ่านร่างกฎหมายคว่ำบาตรบริษัทเยอรมันที่เกี่ยวข้องกับการสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2

            เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้สหรัฐผลิต shale gas ได้มหาศาลจนต้องหาทางส่งออก (LNG เป็นผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งของ shale gas) แต่ติดปัญหาการขนส่งที่เป็นต้นทุนสำคัญ เป็นเหตุผลที่ยุโรปหวังซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงมากกว่า

            แต่รัฐบาลสหรัฐอ้างเหตุผลการเมืองระหว่างประเทศ เห็นว่าการซื้อจากรัสเซียทำให้เศรษฐกิจรัสเซียเข้มแข็ง สร้างกองทัพคุมคามประเทศอื่น คุกคามประชาธิปไตยโลก

            ในอีกมุมมองหนึ่ง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานต่างๆ เหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจสังคม ทุกประเทศจึงพยายามสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการซื้อใช้พลังงานหลายประเภทจากหลายแห่ง โดยคำนึงปัจจัยต่างๆ รอบด้าน ถ้ายึดราคาถูก ปลอดภัย ระบบท่อจะดีกว่า

            อีกมุมมองเอ่ยถึงค่าเงินดอลลาร์ นักวิชาการหลายคนชี้ในทางที่เงินดอลลาร์อเมริกาเสี่ยงอ่อนค่าลงทุกที ส่งผลร้ายแรงต่อสหรัฐ ดังนั้นทุกรัฐบาลต้องหาทางพยุงค่าเงินดอลลาร์ หนึ่งในวิธีที่รัฐบาลสหรัฐใช้มาตลอดคือให้นานาชาติซื้อขายพลังงานด้วยเงินดอลลาร์อเมริกัน เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐสามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ไม่อั้น ดังนั้น Nord Stream 2 เป็นมากกว่าแค่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย รัฐบาลสหรัฐจำต้องส่งสัญญาณนี้แก่นานาชาติ

Joe Lombardo จากกลุ่ม United National Antiwar Coalition (UNAC) ให้ข้อมูลว่าทุกวันนี้สหรัฐมีกองทัพของตนอยู่ใน 172 ประเทศ และมีฐานทัพในต่างแดนมากกว่าที่ประเทศอื่นๆ ทุกประเทศรวมกันที่ทำเช่นนี้ถึง 20 เท่า รัฐบาลสหรัฐกำลังคว่ำบาตรประเทศอื่นๆ 42 ประเทศ แต่ไม่อาจสกัดจีนที่ก้าวขึ้นมาและคิดว่าท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซียสู่เยอมันจะบั่นทอนอิทธิพลสหรัฐในยุโรปอย่างหนัก เป็นเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐต้องสู้ยิบตา ลากหลายประเทศเข้าสู่สถานการณ์อันตราย

ขอให้ยุโรปซื้อใช้พลังงานจากอเมริกา :

            ความตึงเครียดในยูเครนนอกจากการโหมกระพือกระแสสงครามเย็นใหม่แล้ว (ซึ่งเป็นเป้าหมายในกรอบกว้างสุด) ยังมีผู้อธิบายเหตุผลอื่นๆ อีกมาก เช่น เป็นวิธีการรักษาค่าเงินดอลลาร์ อีกเป้าหมายที่รัฐบาลสหรัฐต้องการคือให้ยุโรปซื้อใช้พลังงานจากอเมริกา สหรัฐจะได้ประโยชน์จากการนี้มากมายหลายมิติ อย่างน้อยขอส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอีกนิดก็ยังดี

            ไม่ว่าจะใช้มุมมองรักษาความเป็นเจ้าของตนในระดับโลก ระดับภูมิภาคยุโรป หรือเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการขายก๊าซ ส่อแววว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อสัมพันธ์กับเรื่องท่อก๊าซ Nord Stream 2 ที่ยืดเยื้อมาแล้วหลายปีและอาจเป็นเช่นนี้ไปอีก

            เฉพาะรอบนี้รัฐบาลไบเดนต้องได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไป หาไม่แล้วคงไม่เลิกง่ายๆ (การที่สถานการณ์ยังยืดเยื้ออาจอธิบายว่าการเจรจาต่อรองซื้อขายพลังงานยังไม่แล้วเสร็จ) และสามารถพูดว่า รัฐบาลสหรัฐเหมือนเซลส์แมนกำลังใช้พลังอำนาจทุกอย่างที่ตนมีเพื่อกดดันให้ยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากตนด้วยสารพัดเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ถือว่าเป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ทุกรัฐบาลจะต้องส่งเสริมการค้าการขายของตน และถ้ายึดมองมุมผลประโยชน์ต้องชมเชยว่าฝ่ายยุทธศาสตร์สหรัฐมีความสามารถเป็นเลิศสามารถนำประเด็นยูเครน นาโตขยายตัว (NATO Enlargement, NATO expansion) มาใช้ประโยชน์หลายทาง

6 กุมภาพันธ์ 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9216 วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ยูเครนเป็นพื้นที่กันชนระหว่าง 2 มหาอำนาจ ตอนนี้กำลังถูกใช้โหมกระแสสงครามเย็นใหม่ในยุโรป เป็นวิธีกระชับอำนาจที่รัฐบาลสหรัฐแทบทุกชุดทำเช่นนี้เรื่อยมา
สหรัฐฯ ผู้บริโภคทรัพยากรน้ำมันมากที่สุดในโลกจะกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เหตุจากความสำเร็จในการพัฒนา Shale gas กับ Shale oil

บรรณานุกรม :

1. Europe won’t receive Russian oil and gas, if Russia disconnected from SWIFT — senator. (2022, January 25). TASS.  Retrieved from https://tass.com/politics/1392953

2. Europe's gas crisis: Could LNG help boost energy security? (2022, January 20). Deutsche Welle.  Retrieved from https://www.dw.com/en/europes-gas-crisis-could-lng-help-boost-energy-security/a-60490682

3. Germany Has Little Maneuvering Room in Ukraine Conflict. (2022, January 21). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/world/a-war-of-nerves-germany-has-little-maneuvering-room-in-ukraine-conflict-a-faece2a7-c098-48cb-a9cc-cd0d5daf78f1

4. N. Sönnichsen. (2022, January 14). Leading supplying countries of liquefied natural gas (LNG) to the European Union (EU-27) in 2019 and 2020*. Retrieved from https://www.statista.com/statistics/1097893/lng-imports-to-europe-by-supplying-country/

5. Nord Stream 2 ‘unrelated’ to Ukraine conflict: German minister. (2022, January 13). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/business/energy/2022/01/13/Nord-Stream-2-unrelated-to-Ukraine-conflict-German-minister

7. Russian Security Proposals Unlikely to Stop US, NATO Aggression, Anti-War Group Says. (2021, December 18). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/20211218/russian-security-proposals-unlikely-to-stop-us-nato-aggression-anti-war-group-says-1091621254.html

8. US and Russia begin talks on Ukraine crisis. (2022, January 10). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/us-and-russia-begin-talks-on-ukraine-crisis/a-60377354

9. US working with allies to shore up energy supplies if Russia invades Ukraine. (2022, January 25). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2022/01/25/politics/us-working-with-allies-on-energy-russia-ukraine/index.html

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก