วิพากษ์ยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว
ข้อวิพากษ์ทั้งหมดนำสู่คำถามว่ายุทธศาสตร์นาโตขยายตัวมีไว้เพื่อสันติภาพ เคารพอธิปไตยของกันและกันหรือเป็นเครื่องมือที่บางประเทศใช้ขยายอำนาจอิทธิพล
การรับพวกยุโรปตะวันออก
ชาติที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิก อาจมองว่าเป็นการฉวยโอกาสที่รัสเซียอ่อนแอ
ดึงประเทศเหล่านี้เข้าพวก ข้อดีคือสกัดอำนาจรัสเซีย
ป้องกันไม่ให้รัสเซียขยายอิทธิพลสู่ประเทศอื่นๆ ในยุโรป คำอธิบายอีกแบบคือรัฐบาลสหรัฐคิดว่าที่สุดแล้วรัสเซียจะเข้ามาเป็นสมาชิกนาโตด้วย
เพราะเห็นว่าการเป็นสมาชิกนาโตจะให้ประโยชน์มากกว่า ดังนั้น นาโตขยายตัวจึงไม่เป็นโทษต่อรัสเซีย
งบประมาณกับกรณีประเทศเล็กทำสงคราม :
นาโตมีมาตรฐานกองทัพนาโต
หากสมาชิกต้องการยึดมาตรฐานจริงจะใช้งบมหาศาล จึงเป็นปัญหาแก่ประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดี
ประชาชนบางประเทศต่อต้าน รัฐบาลเหล่านั้นจึงระมัดระวังไม่ทำอะไรผลีผลาม นาโตฝั่งยุโรปไม่ต้องการสงคราม
ไม่อยากให้เกิดสงครามใหญ่ในยุโรปอีก ประชาชนไม่ต้องการ ที่ควรทำคือขยันทำมาหากิน
ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขดีกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะรัฐบาลยุโรปหรือสหรัฐล้วนไม่สามารถผลักดันเต็มที่
ปัญหางบประมาณอีกข้อคือสมาชิกใหม่คาดหวังได้ความคุ้มครอง
หากสถานการณ์ตึงเครียดจะคาดหวังนาโตจะส่งกองทัพมาช่วย การนี้ต้องใช้งบประมาณ
คำถามคือใครจะเป็นผู้จ่าย ทางยุโรปชี้ว่าสหรัฐต้องจ่ายเพราะเป็นผู้ผลักดันรับสมาชิกใหม่
อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าประเทศเล็กๆ
ในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออกจะทำสงครามกันเอง เป็นการรบระหว่างฝ่ายหนึ่งเป็นสมาชิกนาโตกับอีกฝ่ายไม่เป็น
และเกิดในพื้นที่ๆ สหรัฐไม่เกี่ยวข้อง คำถามคือหากเกิดสงครามดังกล่าวนาโต สหรัฐจะเข้าไปช่วยหรือไม่
เพราะมาตรา 5 ของนาโตระบุว่าต้องช่วยสมาชิกจากการรุกรานใดๆ
เรื่องนี้เกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของนาโต
เป็นหลักฐานว่าการเข้าเป็นสมาชิกจะได้รับการปกป้องจริงแท้เพียงใด
มีหลักฐานมากมายว่ารัฐบาลสหรัฐจะเข้าปกป้องในกรณีที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ตนเอง เหมือนการลงทุนที่ต้องคิดถึงผลตอบแทน
วิพากษ์ยุทศาสตร์นาโตขยายตัว :
ประการแรก
สหรัฐถูกคุกคามอย่างหนักหรือไม่
รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึงภัยคุกคามร้ายแรงอยู่เสมอ
มองรัสเซียในแง่ลบ คำถามคือรัสเซียเป็นภัยคุกคามเช่นว่าหรือไม่
มากถึงขั้นนั้นจริงหรือ นำสู่คำถามว่าอะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลสหรัฐที่พยายามรับสมาชิกเพิ่ม
Benjamin Schwarz ชี้ว่าเป็นนโยบายที่สหรัฐต้องการขยายอิทธิพลตนเองมากกว่า
ต้องการขยายไปถึงประเทศที่พรมแดนติดรัสเซีย
Ronald
Steel ให้เหตุผลว่าสิ่งที่พยายามทำคือรักษาความเป็นเจ้าของตน ยิ่งสหรัฐถดถอยมีสัญญาณเช่นนั้น
รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าชุดใดจะต้องพยายามทำบางอย่างเพื่อรักษาความเป็นเจ้าของตนไว้ Ronald
Steel อธิบายอีกว่าเนื่องจากอิทธิพลของสหรัฐต่อยุโรปตะวันตกลดลงเรื่อยๆ
แต่รัฐบาลสหรัฐไม่อาจปล่อยยุโรปให้เป็นของยุโรป
จึงพยายามเข้าแทรกด้วยการเข้าไปมีอิทธิพลต่อสมาชิกนาโตใหม่ ผลคือนาโตแยกออกเป็น 2
ฝ่าย
ภายใต้แนวคิดนี้รัฐบาลสหรัฐจะไม่หยุดยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว
รัฐบาลทุกชุดจะต้องแสดงบทบาทหรือทำอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เพื่อรักษาอิทธิพลของตนในนาโตยุโรป
ประการที่
2 เพิ่มความมั่นคงหรือเสี่ยงกว่าเดิม
การสร้างพันธมิตรเครือข่ายความมั่นคงมีวัตถุประสงค์
คำถามคือการรับสมาชิกใหม่ในแต่ละกรณีเพิ่มความมั่นคงหรือทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญสงสัยเจตนา
ทั้งเหตุผลเรื่องภัยคุกคามกับความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจน
นำสู่ข้อสงสัยว่ารัฐบาลสหรัฐทำเช่นนี้ไม่ได้หวังผลเรื่องความมั่นคง
(เพราะภัยคุกคามไม่มากจริง) แต่หวังผลอื่นๆ เช่น ทางการเมือง เศรษฐกิจ ขายอาวุธ
(แทนที่เดิมใช้อาวุธรัสเซียตอนนี้ต้องซื้ออาวุธอเมริกาแทน)
ประการที่
3 ยุโรปควรเป็นอิสระด้านความมั่นคงจากสหรัฐหรือไม่
มีคำถามการว่าที่ยุโรปพึ่งพาความมั่นคงภายใต้กรอบนาโต
กับที่ยุโรปพึ่งพาตัวเองแบบไหนดีกว่ากัน
เพราะมีผู้วิพากษ์ว่านาโตที่มีสหรัฐเสี่ยงเกิดสงครามมากกว่า
แม้ยุโรปจะได้รับการปกป้องจากสหรัฐ
หลายครั้งพบว่ากลายเป็นลูกไล่ เหมือนประเทศที่อยู่ใต้อิทธิพลรัฐบาลสหรัฐ หลายสิ่งที่สหรัฐทำเป็นโทษต่อยุโรป
(แต่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐ) ซึ่งที่ผ่านมาบางประเทศ เช่น
รัฐบาลฝรั่งเศสสมัยมาครงเสนอแนวคิดยุโรปสร้างกองทัพของตนเอง แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง
ประการที่ 4 นาโตที่แยกเป็น 2
จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นจะเห็นว่ามีความเห็นต่างแนวคิดต่างชัดเจนระหว่างสมาชิกนาโตด้วยกัน
ฝ่ายเยอรมัน ฝรั่งเศส ต้องการอยู่อย่างสงบกับรัสเซีย ในขณะที่สหรัฐมองรัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
พยายามสร้างสถานการณ์ ชาติยุโรปตะวันตกพยายามรักษาผลประโยชน์ตนเอง
(แต่ไม่อาจขัดขวางสหรัฐได้ทั้งหมด) ส่วนสมาชิกนาโตใหม่เอื้อผลประโยชน์สหรัฐ
ดังนั้นอาจแบ่งนาโตเป็น
2 ส่วน เป็นฝ่ายที่อิงรัฐบาลสหรัฐกับฝ่ายที่สมาชิกอิงเยอรมัน ฝรั่งเศส
สมาชิกที่อิงสหรัฐมักเป็นสมาชิกใหม่ ส่วนที่อิงเยอรมัน
ฝรั่งเศสมักเป็นพวกยุโรปตะวันตกเดิม
เมื่อนาโตไม่เป็นเอกภาพ
นโยบายทั้งปวงจะสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพ เป็นเหตุผลอีกข้อที่รัฐบาลสหรัฐไม่อาจใช้นาโตได้เต็มที่
หากต้องการความรุนแรงจริงต้องลงมือด้วยตัวเอง เมื่อถึงตอนนั้นฝั่งยุโรปตะวันตกอาจไม่ร่วมมือกับสหรัฐ
หลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองเป็นสมรภูมิ
อีกแนวคิดอธิบายว่าชาติมหาอำนาจจะไม่ทำสงครามใหญ่โดยตรงต่อกัน
ไม่มีวันที่สหรัฐกับรัสเซียจะทำสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก
แต่จะอาศัยความขัดแย้งเป็นโอกาสเข้าแทรกแซงบ่อนทำลายประเทศเล็กๆ หรือเพื่อผลประโยชน์การค้า
ยุทธศาสตร์นาโตขยายตัวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง
เป็นกรณีของยุโรปที่อยู่ท่ามกลางการแก่งแย่งช่วงชิง
ภายใต้คำอธิบายนี้ประเทศเล็กๆ
จะเสียหายมากที่สุด มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายจ้องฉวยประโยชน์
อาจถึงขั้นล้มรัฐบาลเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นพวกตน
เกิดสงครามกลางเมืองแบ่งแยกประเทศ
เป็นสภาพการณ์ที่ประเทศเล็กตกเป็นเหยื่อของมหาอำนาจภายใต้ระบบโลกปัจจุบัน
ทางออกคือประชาชนต้องรู้เท่าทัน
เพื่อได้รัฐบาลที่รักษาผลประโยชน์ประชาชน
ประเทศเล็กพยายามรวมกลุ่มสร้างระบบความมั่นคงร่วม ประเทศใดที่อยู่โดดเดี่ยวย่อมเสี่ยงถูกทำลาย
ข้อวิพากษ์ทั้งหมดลงเอยด้วยคำถามว่ายุทธศาสตร์นาโตขยายตัวมีไว้เพื่อสันติภาพ
เคารพอธิปไตยของกันและกันหรือเป็นเครื่องมือที่บางประเทศใช้ขยายอำนาจอิทธิพล
ด้วยการบ่อนทำลายประเทศอื่นๆ ให้อ่อนแอหรืออยู่ในภาวะจำยอม
(ถ้าไม่เข้าพวกฝ่ายขวาก็ต้องเข้าพวกฝ่ายซ้าย อยู่อย่างอิสระตามลำพังไม่ได้) นำเข้ามาเป็นพวกในสภาพที่ต้องพึ่งพิงมหาอำนาจ
เสมือนพาสัตว์อ่อนแอตัวหนึ่งเข้าป่าที่มีเจ้าป่าปกครองอยู่
--------------------
1. Carpenter, Ted Galen., Conry,
Barbara. (1998). NATO Enlargement: Illusions and Reality. USA: Cato
Institute.
2. Sandier, Todd., Hartley, Keith. (1999). The Political
Economy of NATO: Past, Present and into the 21st Century. New York: Cambridge
University Press.
--------------------------