ยุทธศาสตร์จีนในมุมมองของสหรัฐ 2021

เป้าหมายของจีนคือพัฒนากองทัพที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่าสหรัฐ สอดรับกับการพัฒนาประเทศ ฟื้นฟูชาติจีนให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตั้งเป้าสำเร็จภายในปี 2049

            ต้นเดือนพฤศจิกายน กระทรวงกลาโหมสหรัฐเสนอรายงานความก้าวหน้าทางทหารและความมั่นคงของจีนตามข้อมูลและมุมมองของตน ชื่อ “Military and Security Developments Involving the People's Republic of China (PRC) 2021” ในบท Understanding China’s Strategy มีสาระสำคัญดังนี้

            เป้าหมายยุทธศาสตร์จีนคือฟื้นฟูชาติจีนให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตั้งเป้าสำเร็จภายในค.ศ. 2049 เป็นส่วนหนึ่งของ “ความฝันจีน” สร้างสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน (socialism with Chinese characteristics) โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนนำ

            จีนต้องการมีอิทธิพลโลกเทียบเท่าหรือมากกว่าสหรัฐ ปรับเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อระบบอำนาจนิยมปักกิ่ง (Beijing’s authoritarian system) ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นตัวอย่างจัดระเบียบโลกใหม่ เป็นเครือข่ายหุ้นส่วนระหว่างประเทศตามแบบที่จีนต้องการ เช่นเดียวกับ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ล้วนเป็นแผนสร้างอิทธิพลครอบงำของจีน

            ท่ามกลางโรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลจีนเดินหน้าพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ กำลังทางทหาร เพิ่มบทบาทในเวทีโลก ประกาศใช้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “dual circulation” ให้การบริโภคภายในเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักดันอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง ให้การลงทุนต่างชาติสนับสนุนเป้าหมายนี้

            การที่จีนไม่ใช้ระบบตลาดเสรีแต่รัฐควบคุมอย่างเข้มข้นเป็นโทษต่อนักลงทุนต่างชาติ มักส่งเสริมเอกชนของตนมากกว่า การแข่งขันไม่เป็นธรรม ขโมยสิทธิบัตร จารกรรมความลับทางเศรษฐกิจ

            ยุทธศาสตร์จีนยึดมุมมองการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ การปะทะระหว่างอุดมการณ์ เห็นว่าสหรัฐยังคงปิดล้อมตนและพยายามสกัดการปิดล้อมดังกล่าว นอกจากนี้ผู้นำจีนพร้อมเผชิญหน้าประเทศอื่นๆ หากผลประโยชน์ขัดกัน ชี้นำว่าชาติตะวันตกกำลังถดถอยไม่แปลกที่จีนก้าวขึ้นมา

            นโยบายต่างประเทศมุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน “community of common destiny” สอดรับการฟื้นฟูชาติ ใช้แนวการทูตแบบรัฐมหาอำนาจจีน ชี้ว่าบริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเหตุตึงเครียดมากขึ้น เพิ่มบทบาทกองทัพต่อนโยบายต่างประเทศ โรคระบาดโควิด-19 ส่งเสริมนโยบายประเทศ เชิดชูความสำเร็จในการจัดการโรคระบาด ช่วยเหลือต่างประเทศ เรื่องนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ไต้หวันซึ่งปกครองด้วยประชาธิปไตยควบคุมโรคระบาดได้ดีเช่นกัน

            การพัฒนากองทัพควบคู่กับการพัฒนาประเทศ มีกฎหมายระบุว่ากองทัพมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ใช้ยุทธศาสตร์บูรณาการกองทัพกับพลเรือน พัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งทางพลเรือนกับทางทหาร (dual-use) เชื่อมโยงอุตสาหกรรมพลเรือนกับทางทหาร รวบรวมผู้เชี่ยวชาญทั้ง 2 ฝ่าย สร้างสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ทั้งต่อกองทัพกับพลเรือน รวมทั้งระบบขนส่ง เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเทคโนโลยีมาก หวังเป็นมหาอำนาจนวัตกรรมโลก เป็นผู้ครอบงำเทคโนโลยีการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งจะทำให้กองทัพจีนกลายเป็นกองทัพระดับแนวหน้า ให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ advanced computing, quantum information sciences ไบโอเทคโนโลยี การสำรวจอวกาศ ฯลฯ

            มียุทธศาสตร์ป้องกันประเทศเชิงรุก (active defense) จะตอบโต้แน่หากถูกโจมตี ตั้งเป้าภายในปี 2049 เป็นกองทัพเข็มแข็งระดับโลก ขยายบทบาทสู่ระดับโลก มีฐานทัพสิ่งอำนวยความสะดวกในต่างแดน เอื้อให้กองทัพจีนปฏิบัติการไกลขึ้น ฐานทัพจีนที่จิบูตี (Djibouti – อยู่ในทวีปแอฟริกา) กำลังขยายโครงสร้างพื้นฐานรอบด้านทั้งการส่งกำลังบำรุงทัพเรือ อากาศ ทัพบก ไซเบอร์และอวกาศ และกำลังคิดทำเช่นนี้กับหลายประเทศ เช่น ในกัมพูชา เมียนมา ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เคนยา ฯลฯ

            ปัจจุบันจีนมีทหารประจำการราว 2 ล้านนาย มุ่งพัฒนาให้ทันสมัย เชี่ยวชาญการรบแบบกองกำลังผสม ประสานทั้งทางบกทางเรือและทางอากาศ รวมทั้งอวกาศ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติการทางไซเบอร์ ด้วยการตั้งเป้าต่อกรศัตรูที่เข้มแข็ง (strong enemy) กับประเทศที่มีข้อพิพาทเรื่องเขตแดน การเข้าแทรกแซงจากประเทศที่ 3

            พฤศจิกายน 2020 กระทรวงกลาโหมจีนรายงานผลการพัฒนากองทัพทันสมัยเป็นไปตามแผน รวมถึงสงครามอัจฉริยะ (intelligentized warfare) มีจำนวนเรือรบมากที่สุดในโลก มีเรือรบผิวน้ำกับเรือดำน้ำรวม 355 ลำ กำลังพัฒนาสู่ปฏิบัติการหลายภารกิจ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะสามารถโจมตีข้าศึกระยะไกลอย่างแม่นยำโดยใช้ขีปนาวุธร่อน พัฒนาสงครามต่อต้านเรือดำน้ำ การป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ

            กองทัพอากาศจีนใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีเครื่องบินกว่า 2,800 ลำ เป็นเครื่องบินขับไล่โจมตีทิ้งระเบิด 2,250 ลำ

            จนถึงขณะนี้จีนมีขีดความสามารถ anti-access/area-denial (A2/AD) ในหมู่เกาะชั้นแรก (First Island Chain) และกำลังขยายสู่หมู่เกาะชั้นสอง (Second Island Chain) และไกลออกไป

            ด้านขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ ในทศวรรษหน้าจีนตั้งเป้าพัฒนาและขยายอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภท ตอนนี้กำลังขยายกำลังผลิตพลูโตเนียม ภายในปี 2027 อาจมี 700 หัวรบพร้อมยิงและในปี 2030 อาจมี 1,000 หัวรบ อีกทั้งกำลังพัฒนา air-launched ballistic missile ติดหัวรบนิวเคลียร์ (รายงานกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเมื่อกันยายน 2021 ระบุว่าสหรัฐมีนิวเคลียร์ทั้งสิ้น 3,750 หัวรบ ส่วนจีนมี 350 หัวรบ) กำลังพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ สะสมขีปนาวุธ DF-26 ที่สามารถติดตั้งหัวรบธรรมดากับหัวรบนิวเคลียร์ ปี 2020 ประจำการอาวุธไฮเปอร์โซนิคพิสัยกลาง DF-17 เร่งพัฒนาสงครามอวกาศ ความก้าวหน้าทางอวกาศเพื่อประโยชน์ทั้งทางทหารกับพลเรือน และอาจพัฒนาดาวเทียมพลเรือนที่สามารถต่อต้านขีปนาวุธข้าศึก

            จีนยังคงวิจัยด้านเคมีชีวภาพ สารพิษร้ายแรง (potent toxin) ที่ใช้ประโยชน์ทั้งทางพลเรือนกับทางทหาร

            ผู้นำจีนประกาศชัดว่ากองทัพจีนต้องมีบทบาทระดับโลก สัมพันธ์กับการสร้างชาติให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ปกป้องผลประโยชน์ต่างแดน สนับสนุนนโยบายต่างประเทศ คู่กับการที่จีนสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลก ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ทำให้หลายฝ่ายสงสัยเจตนาของจีน มีแนวโน้มจะใช้กำลังทหารข่มขู่ประเทศอื่น

            จีนพยายามขยายอิทธิพล มุ่งเป้าสถาบันวัฒนธรรม องค์กรสื่อ ธุรกิจต่างๆ สถาบันศึกษาและกลุ่มศึกษานโยบายทั้งในสหรัฐและอีกหลายประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ให้นานาชาติยอมรับแนวคิดจีน เห็นด้วยกับรัฐบาลจีน ใช้แนวคิด “รบ 3 สมรภูมิ” (Three Warfares) ได้แก่รบทางจิตวิทยา รบทางความคิดเห็นประชาชน และรบทางกฎหมาย (psychological warfare, public opinion warfare, and legal warfare)

            จีนมีงบกลาโหมมากเป็นอันดับ 2 ของโลกและเพิ่มงบทุกปี ทั้งยังไม่ได้เปิดเผยงบประมาณหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายทางทหาร งบกลาโหมที่ประกาศจึงต่ำกว่าที่เป็นจริง

            นับจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ทำสงครามหรือปะทะทางชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเรื่องเขตแดนบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม อดีตสหภาพโซเวียต ทุกวันนี้ยังมีปัญหากับหลายประเทศ เช่น มี EEZs ทับซ้อนกับญี่ปุ่น ทับซ้อนกับหลายประเทศในทะเลจีนใต้

            รายงาน Military and Security Developments Involving the People's Republic of China (PRC) 2021 ชี้ว่าเป้าหมายของจีนคือพัฒนากองทัพที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่าสหรัฐ สอดรับกับการพัฒนาประเทศ ฟื้นฟูชาติจีนให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตั้งเป้าสำเร็จภายในปี 2049

5 ธันวาคม 2021
ชาญชัย ค้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9154 วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564)

--------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เมื่อเทียบจีน 50 ปีก่อนกับปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจสังคมจีนมีความเป็นทุนนิยมที่เปิดกว้างมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น พร้อมกับที่รัฐบาลสหรัฐมองจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงมากขึ้นทุกที
จีนยุคสังคมนิยมต่างจากอาณาจักรจีนโบราณและไม่อาจเหมือนได้เพราะบริบทโลกต่างกันมาก อีกทั้งจีนสังคมนิยมปัจจุบันต่างจากสมัยเหมา รัฐบาลจีนจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่เป็นเรื่องคาดเดายาก
ในเวลา 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีนบรรลุเป้าหมายสร้างสังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน เป้าหมายถัดไปคือประเทศสังคมนิยมอันยิ่งใหญ่ทันสมัยทุกด้าน

บรรณานุกรม :

1. U.S. Department of Defense. (2021, August 3). Military and Security Developments Involving the People's Republic of China (PRC) 2021. Retrieved from https://media.defense.gov/2021/Nov/03/2002885874/-1/-1/0/2021-CMPR-FINAL.PDF

2. U.S. Department of State. (2021, October 5). Transparency in the U.S. Nuclear Weapons Stockpile. Retrieved from https://www.state.gov/transparency-in-the-u-s-nuclear-weapons-stockpile/