พลังอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐ 2021
ในโลกแห่งสัจนิยม (Realism) ความเป็นอภิมหาอำนาจจะต้องเหนือกว่าประเทศอื่น พลังอำนาจทางทหารหรือกองทัพเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จำต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ที่เหนือกว่า
รายงานกระทรวงการต่างประเทศเมื่อกันยายน 2021 สหรัฐมีหัวรบนิวเคลียร์ทั้งสิ้น 3,750 หัวรบ (ทั้งที่ประจำการกับในคลังเก็บ) ลดลงจาก 3,785 หัวรบเมื่อปี 2018 ลดลงถึง 88% เมื่อเทียบกับปี 1967 ที่มี 31,255 หัวรบ นับจากมีระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกเมื่อปี 1945 สหรัฐสะสมอาวุธนิวเคลียร์มาตลอด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสมัยสงครามเย็น ลดลงหลังสิ้นสงครามเย็นและไม่เพิ่มขึ้นอีกเลย (ยกเว้นบางปีที่เพิ่มเล็กน้อย) จนเหลือ 3,750 หัวรบในขณะนี้ และอีกราว 2,000 หัวรบรอรื้อทำลาย เปรียบเทียบกับข้อมูลแหล่งอื่น ๆ Center for Arms Control and
Non-Proliferation ระบุเมื่อกรกฎาคม 2020 ว่าสหรัฐมีหัวรบนิวเคลียร์
5,500 หัวรบ ในจำนวนนี้ 3,800 หัวรบใช้การได้ 1,750 หัวรบรอรื้อทำลาย
ด้านสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม
(Stockholm International Peace Research Institute: SIPRI) ระบุเมื่อมกราคม
2020 ว่าสหรัฐมีนิวเคลียร์พร้อมยิง 1,750 หัวรบ เก็บในคลัง 2,050 หัวรบ (รวมที่ใช้การได้คือ
3,800 หัวรบ) และรอรื้อทำลาย 2,000 หัวรบ
หัวรบพร้อมยิง
1,750 หัวรบนี้ รวมชนิด non-strategic (tactical) 150 หัวรบประจำการที่ยุโรป
จะเห็นว่า
ตัวเลข 3,750 หัวรบที่กระทรวงการต่างประเทศรายงานล่าสุดใกล้เคียงกับแหล่งอื่น
แยกย่อยได้ว่า 1,750 หัวรบพร้อมยิง ที่เก็บในคลังกับที่รอรื้อทำลายอย่างละ 2,000
หัวรบ
อาวุธนิวเคลียร์สหรัฐแบ่งออกเป็น :
1) เครื่องบินติดอาวุธนิวเคลียร์
ประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด
B-2 จำนวน 20 ลำ B-52H จำนวน 46 ลำที่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์
B-2 บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ได้ลำละ 16 ลูก ส่วน B-52
ติดตั้งขีปนาวุธร่อน AGM-86B ติดหัวรบนิวเคลียร์
20 ลูก SIPRI ประเมินว่ามี 300 หัวรบที่พร้อมใช้และประจำการ
ณ ฐานบิน
2)
เรือดำน้ำ
เป็นเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ
(Ohio-class) 14 ลำ แต่ละลำติดตั้งขีปนาวุธ TRIDENT
II D-5 (UGM-133A) จำนวน 20 ลูก (เดิมติดตั้งได้ 24
ลูก/ท่อยิงแต่ปรับลดเหลือ 20 ท่อยิงตาม New START)
ขีปนาวุธ
TRIDENT II D-5 แต่ละลูกสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์แบบ W88 ขนาด 475 กิโลตัน สูงสุด
8 ลูก หรือติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์รุ่น W76-1 ขนาด 90 กิโลตัน
บางลำใช้หัวรบแบบใหม่ W76-2 ที่มีอานุภาพทำลายต่ำ (low-yield
warheads) ซึ่งติดตั้งได้ถึง 14 ลูก ไม่ว่าจะติดตั้งด้วยหัวรบแบบใดภายใต้สนธิสัญญา
New START จะติดตั้งเฉลี่ยเพียง 4 ลูก
3)
ขีปนาวุธในไซโล
เป็นรุ่น
Minuteman III จำนวน 400 ลูก บรรจุหัวรบ W87 ขนาด 300 กิโลตัน หรือ W78 ขนาด 335
กิโลตันเฉพาะแบบหลังสามารถติดตั้งได้ 2-3 หัวรบ รวมแล้วขีปนาวุธข้ามทวีป
Minuteman III จำนวน 400 ลูกนี้ติดหัวรบนิวเคลียร์รวม
800 หัวรบ โดยจะประจำการถึงปี 2030 จากนั้นจะแทนที่ด้วยอาวุธรุ่นใหม่
4)
อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี
อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) ไม่อยู่ในกลุ่มอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ผลการทำลายไม่มากเท่ากับอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทศาสตร์
ที่ใช้ปัจจุบันคือระเบิดนิวเคลียร์ B61-3 กับ B61-4 ซึ่ง SIPRI คาดว่ามีทั้งหมด 230 ลูก โดย 150
ลูกประจำการในพันธมิตรนาโตยุโรป 5 ประเทศ (ได้แก่ เยอรมนี ตุรกี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์
อิตาลี) 80 ลูกยังอยู่กับสหรัฐซึ่งอาจติดตั้งบนเครื่องบินรบที่ไปสนับสนุนพันธมิตรแถบเอเชีย
และกำลังแทนที่ด้วยรุ่น B61-12 ที่แม่นยำกว่าเดิม
ระเบิดนิวเคลียร์เหล่านี้ติดตั้งกับ F-15 และ F-16 รุ่นเฉพาะที่สามารถติดตั้งระเบิดนิวเคลียร์ โดย F-15 E ติดได้ถึง 5 ลูก ส่วน F-16 C/D ติดได้ 2 ลูก
ที่ยุโรปมี F-16 MLU กับ PA-200 ทอร์นาโดที่ติดตั้ง B61 ทั้งหมดเป็นนิวเคลียร์ของสหรัฐ
(สหรัฐเป็นเจ้าของ)
การจัดหาอาวุธใหม่ :
ตามแผนจะบรรจุเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์
B-21 Raider 100 ลำที่น่าจะเริ่มเข้าประจำการกลางทศวรรษ
2020 (เวลากับจำนวนจะเปลี่ยนไปมา) ติดตั้งขีปนาวุธร่อนติดหัวรบนิวเคลียร์รุ่นใหม่
LRSO ที่คาดว่าน่าจะเริ่มประจำการต้นทศวรรษ 2030 LRSO ส่วนหนึ่งจะติดตั้งกับ B-52 H เพราะตามแผนจะประจำการ
B-52 H ถึงทศวรรษ 2050 ข้อดีของ B-52 H
คือสามารถโจมตีหลายเป้าหมายในหนึ่งภารกิจ ส่วน B-21
ทำได้เพียง 1 เป้าหมายต่อภารกิจ รวมความแล้วสหรัฐตั้งเป้ามีเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์
165 ลำ ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัยรวมทั้งขีดความสามารถป้องกันภัยทางอากาศของศัตรู เครื่องบินรบ
F-35 ส่วนหนึ่งจะติดอาวุธนิวเคลียร์ B61 ด้วย
ด้านขีปนาวุธข้ามทวีปภาคพื้นฐานดินจะเป็น
Ground-Based Strategic Deterrent (GBSD) คาดว่าจะเข้าประจำการ
2029-2036 โดยจะสั่งซื้อทั้งหมด 642 ลูก ในจำนวนนี้ 400
ลูกเป็นอาวุธประจำการ 50 ลูกไว้ในคลัง ส่วนที่เหลือใช้ยิงทดสอบหรือสำรอง
เรือดำน้ำนิวเคลียร์รุ่นใหม่ชั้นโคลัมเบีย
(Columbia) คาดว่าจะเริ่มประจำการปี 2031 เป็นเรือดำน้ำใหญ่ที่สุดเท่าที่สหรัฐเคยสร้าง
ในระยะแรกจะติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ Trident รุ่น D5LE และค่อยเปลี่ยนเป็นขีปนาวุธ SLBM รุ่นใหม่ในอนาคต
มีข้อมูลว่าการยกเครื่องศูนย์ควบคุมและสั่งการนิวเคลียร์ทั้งระบบต้องใช้งบประมาณ
1.2-1.7 ล้านล้านดอลลาร์
ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์
(Nuclear Posture Review: NPR) ฉบับล่าสุด 2018 อธิบายชัดว่าสหรัฐต้องมีอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมากพอที่จะป้องปรามไม่ให้ใครคิดทำสงครามนิวเคลียร์
แม้จะใช้เพียงลูกสองลูกก็ตาม รัฐบาลสหรัฐมักอ้างภัยจากเกาหลีเหนือ จีนที่กำลังก้าวขึ้นมา
ทั้งๆ ที่ตอนนี้จีนมีเพียง 350 หัวรบ อีกทั้งอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของจีนไม่อยู่ในตำแหน่งพร้อมยิงสักลูกเดียวในขณะที่สหรัฐมี
1,750 หัวรบที่พร้อมปล่อย
ประเด็นการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศต่างๆ
ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศเป็นเรื่องร้อนแรงต่อเนื่อง ในสมัยทรัมป์สหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญาขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้
(INF) Open Skies Treaty พยายามขอเจรจากับจีนเรื่องนิวเคลียร์
มาถึงยุคไบเดนประกาศตั้งแต่ต้นว่าจะยืดข้อตกลงนิวเคลียร์
New START ออกไปอีก 5 ปี ช่วยลดความตึงเครียด ในอีกมุมมองหนึ่งอาจเป็นเพราะสหรัฐยังไม่พร้อมเจรจา
เนื่องจากรัสเซียประกาศว่าหากจะคุยอาวุธนิวเคลียร์
ต้องพูดเรื่องระบบป้องกันทุกระบบ รวมทั้งระบบที่ยิงทำลายจากอวกาศ และเห็นว่าสหรัฐควรถอนนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่ประจำการประเทศต่างๆ
ข้อที่ตึงเครียดมากขึ้นคือการประกาศพันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย
(AUKUS) เพราะอังกฤษไม่ใช่ประเทศในภูมิภาคนี้และมีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์
เห็นชัดว่าความตึงเครียดเรื่องการเผชิญหน้าด้วยนิวเคลียร์ได้ขยับมาที่อินโดฯ-แปซิฟิก
หรืออาจตีความว่าอินโดฯ-แปซิฟิกคือเวทีใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกแห่ง
ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนว่าความเข้าใจสำคัญและพึงตระหนักอยู่เสมอคือ
ทุกวันนี้อาวุธนิวเคลียร์ถูกใช้ในแง่ข่มขู่คุกคาม ภายใต้การทูตนำการทหารหรือการทูตที่มีการทหารสนับสนุน
บางคนอาจนึกถึง gunboat diplomacy เพียงแต่สาธารณชนทั่วไปไม่เห็นชัดเท่านั้น
ดูเหมือนว่าตัวยุทธศาสตร์สหรัฐตั้งใจสื่อเช่นนั้น มุ่งหมายให้บรรดาผู้ปกครองประเทศต่างๆ
เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ
การใช้งบประมาณอีกสัก 2
ล้านล้านดอลลาร์น่าจะคุ้มค่าถ้ามองว่าช่วยรักษาความเป็นมหาอำนาจทางทหารอันดับหนึ่งของโลกไว้
เพราะในโลกแห่งสัจนิยม (Realism) ความเป็นอภิมหาอำนาจจะต้องเหนือกว่าด้านกำลังรบ
ในอีกแง่มุม
บทบาทอาวุธนิวเคลียร์ทยอยลดลง ในอดีตเป้าหมายสำคัญของนิวเคลียร์คือพื้นที่หรือจุดยุทธศาสตร์ทางทหาร
เช่น ศูนย์บัญชาการกองทัพที่ได้รับการป้องกันอย่างดี จำต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์
ปัจจุบันมีอาวุธอื่นๆ ที่มีอำนาจทำลายสูงและสามารถยิงเข้าเป้าอย่างแม่นยำ เช่น
อาวุธไฮเปอร์โซนิค รวมถึงสงครามไซเบอร์ที่สร้างความปั่นป่วนได้มาก ความต้องอาวุธนิวเคลียร์จึงลดลง
หันไปเพิ่มอาวุธแบบใหม่แทน
-----------------------
1. Arms Control Association.
(2020, April). Arms Control
and Proliferation Profile: The United States. Retrieved from https://www.armscontrol.org/factsheets/unitedstatesprofile#nuclear
2. Biden announces Indo-Pacific
alliance with UK, Australia. (2021, September 16). The Asahi Shimbun. Retrieved from
https://www.asahi.com/ajw/articles/14441547
3. Biden seeks five-year extension of
New START arms treaty with Russia. (2021, January 22). Reuters. Retrieved from
https://www.reuters.com/article/us-usa-russia-nuclear/biden-seeks-five-year-extension-of-new-start-arms-treaty-with-russia-idUSKBN29Q2I4
4.
Center for Arms Control and Non-Proliferation. (2020,
July 2). Fact Sheet: The United States’ Nuclear Inventory.
Retrieved from https://armscontrolcenter.org/fact-sheet-the-united-states-nuclear-arsenal/
5. Gray, Colin S. (2007).
War Peace and International Relations: An introduction to strategic
history. Oxon: Routledge.
6. Russia to discuss its new weapon
systems only along with US missile shield, says diplomat. (2020,
May 22). TASS. Retrieved from https://tass.com/defense/1159453
7. Stockholm
International Peace Research Institute. (2020). World nuclear forces. Retrieved
from https://www.sipri.org/sites/default/files/YB20%2010%20WNF.pdf
8. The B-52 Will No Longer Carry
Certain Nuclear Weapons. Here's Why. (2020, January 18). Military.com. Retrieved from https://www.military.com/daily-news/2020/01/18/b-52-will-no-longer-carry-certain-nuclear-weapons-heres-why.html
9. U.S. Department
of Defense. (2018). Nuclear
Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
10 . U.S. Department of State. (2021, October 5). Transparency in
the U.S. Nuclear Weapons Stockpile. Retrieved from https://www.state.gov/transparency-in-the-u-s-nuclear-weapons-stockpile/
11. U.S.
Navy Office of Information. (2021, May 25). Fleet
Ballistic Missile Submarines - SSBN. Retrieved from https://www.navy.mil/Resources/Fact-Files/Display-FactFiles/Article/2169580/fleet-ballistic-missile-submarines-ssbn/
12. Without
New Nuclear Weapon, B-52 Bomber Mission Ends, General Warns. (2017,
September 21). Military.com. Retrieved from https://www.military.com/daily-news/2017/09/21/without-new-weapon-b52-bomber-mission-ends-general-warns.html
13. World sleepwalking into total nuclear war as callous
elites fear no bloodshed – Russian scholar. (2019, September 16). RT. Retrieved
from https://www.rt.com/news/468899-nuclear-war-strategic-weapons/
--------------------------