จากยากจนสู่สังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน

ไม่มีคนจนในประเทศอีกแล้ว เพราะรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับประชาชน 1,400 ล้านคนต่างทำหน้าที่ของตน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน

            ปลายเดือนกันยายนรัฐบาลจีนเสนอรายงาน “China's Epic Journey from Poverty to Prosperity” บรรยายเส้นทางเปลี่ยนความยากจนสู่ความมั่งมี มีสาระสำคัญว่าจีนฝันมานานอยากเห็น “สังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน” (moderately prosperous society) 1 กรกฎาคม 2021 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าจีนไม่มีคนยากจนอีกแล้ว เดินหน้าสู่การฟื้นฟูชาติต่อไปโดยยึดมั่นสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน (socialism with Chinese characteristics)

พัฒนาทุกด้าน :

            สังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสนมีหลายมิติไม่เพียงเรื่องปัจเจกชนเท่านั้น ยังสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ต้องพัฒนาอย่างสมดุล ประสานกัน ส่งเสริมกันและกัน แบ่งการพัฒนาเป็น 5 ด้านหลัก ได้แก่

            1) เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก จนจีดีพีใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวจาก 100 ดอลลาร์เมื่อปี 1952 กลายเป็น 10,000 ดอลลาร์ในปี 2020 ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของจีนสูงที่สุดในโลกและมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก

            จีนได้เปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมดั้งเดิมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมและบริการขนาดใหญ่แล้ว วิถีชีวิตคนจีนเปลี่ยนไปมากเพราะเทคโนโลยี มุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

(ชมคลิปบทความ)

            ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีคิดเป็นน้ำหนักถึง 60% สนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต ไมว่าจะเป็น quantum information วิทยาศาสตร์ทางสมอง (brain science) ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ปี 2020 จีนใช้ 2.4 ล้านล้านหยวนเพื่อวิจัยและพัฒนา มากเป็นอันดับ 2 ของโลก

            2) เพิ่มขยายสิทธิทางเศรษฐกิจและการเมือง ค่านิยมประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียม คนจีนเป็นผู้นำประเทศของเขาและอนาคตของประเทศ สามารถแสดงความคิดเห็นว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ทุกคนเสมอภาคและได้รับความยุติธรรม

            3) วัฒนธรรมรุ่งเรือง ความเจริญทางวัตถุต้องควบคู่กับความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและมีจริยธรรม (ethics) พลังอำนาจทางเศรษฐกิจต้องควบคู่กับพลังวัฒนธรรม นอกจากมีกินมีใช้แล้วยังต้องมีสำนึกในศีลธรรมด้วย (sense of morality)

            4) ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เป้าหมายสำคัญที่สุดของการพัฒนาคือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เกื้อหนุนให้ทุกชีวิตประสบความสำเร็จ เป็นสุขและปลอดภัย (fulfillment, happiness and security) ในอดีตคนทำงานตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ทุกวันนี้ทุกคนเลือกงานได้เองตามความต้องการของตลาดแรงงาน หรือเลือกเปิดกิจการของตัวเอง มีความสมดุลระหว่างวันทำงานกับวันหยุด

            ระบบสาธารณสุขที่พัฒนาและครอบคลุมทำให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มจาก 67.8 ปีเมื่อ 1981 เป็น 77.3 ปีในปี 2019 อัตราตายทารกลดลงจาก 37.6 ต่อพันคนเมื่อปลายทศวรรษ 1970 เหลือ 5.4 ในปี 2020

            5) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือเครื่องประกันความยั่งยืน รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมและบังคับใช้เข้มงวด สนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

เพื่อทุกคนมั่งมี :

            1) เพื่อแต่ละคนจะมั่งมี รัฐบาลมีนโยบายแก้ความยากจนของแต่ละชุมชุนและลงถึงรายครอบครัว มีมาตรการเฉพาะสำหรับแต่ละครัวเรือน กระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการจ้างงาน ความมั่งมีไม่ได้หมายถึงรายได้เท่านั้น ยังหมายถึงทุกคนได้รับการศึกษา เด็กในครอบครัวที่มักเลิกเรียนถูกนำเข้าระบบอีกครั้ง รัฐบาลให้หลักประกันว่าผู้พิการหรือช่วยตัวเองไม่ได้จะได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานและตรงความจำเป็นของแต่ละคน

          หลักสำคัญคือทุกคนทำงานหนักและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความฝันที่จะก้าวหน้าขึ้นไปอีก รัฐเข้าดูแลทุกครอบครัวอย่างเจาะจงต่อเนื่อง ให้ความช่วยเหลือเฉพาะเจาะจงทันท่วงที จนพ้นความยากจนและพึ่งพาตัวเองได้ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐอีกต่อไป

            2) พัฒนาบูรณาการชนบทกับเมือง การพัฒนาชนบทกับเมืองต้องสมดุลมากขึ้น ลดความแตกต่างของ 2 เขต ให้เชื่อมโยงกันเหมือนล้อกับตัวเกวียน 2 เขตต้องสนับสนุนกัน ทำการเกษตรทันสมัย วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต 60% เกิดอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่จากเกษตรกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

            3) ประสานการพัฒนาระหว่างภูมิภาค ประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล บางพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีโอกาสดีกว่า รัฐบาลใช้วิธีจับกลุ่มระหว่างพื้นที่ให้เกื้อกูลกัน เช่น Beijing-Tianjin-Hebei Region ระบบโครงสร้างพื้นฐานทันสมัยของเมืองจะต้องแบ่งปันให้ชนบทใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์ด้วย

ด้วยการทำงานหนัก :

            1) ประชาชนต้องมาก่อนเสมอ พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ทำงานเพื่อประชาชนเต็มหัวใจ พรรคฯ อุทิศตัวเองให้ประชาชน มีเป้าหมายให้ทุกคนมีชีวิตดีกว่าเดิม ตระหนักเสมอว่าประชาชนต้องการอะไร

            2) พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ที่ดี ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ แก้ไขตรงจุดตรงประเด็น ตรวจวัดผลสำเร็จ ปรับปรุงแผนจากการเรียนรู้ของเดิม

            3) พัฒนาด้วยการปฏิรูปและเปิดออก จีนปฏิรูปภายในอย่างต่อเนื่อง (ไม่ย่ำอยู่กับที่) และติดต่อกับโลกภายนอกกว้างขวางขึ้น เผชิญหน้าสถานการณ์กับปัญหาใหม่ คนจีนเปิดรับความคิดใหม่และแสวงหาข้อเท็จจริง ขจัดสิ่งกีดขวางการพัฒนา ตระหนักว่าไม่สามารถพัฒนาประเทศตามลำพัง จึงเปิดประเทศต้อนรับโลกกว้าง เรียนรู้และผสานเข้ากับโลก การค้าการลงทุนระหว่างประเทศช่วยพัฒนาจีนและโลก

            4) ความอุตสาหะจากรุ่นสู่รุ่น (Perseverance over Generations) การทำงานหนักเท่านั้นที่สร้างความเจริญไม่ใช่เอาแต่เรียกร้อง คนจีน 1,400 ล้านคนทำงานหนักอย่างมีเป้าหมาย บากบั่นอุตสาหะต่อเนื่อง ทุกคนมุ่งที่จะช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ (แทนรอความช่วยเหลือจากรัฐ)

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            จีนในวันนี้ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนอีกแล้ว ความสำเร็จมาจากการยึดหลักพัฒนาทุกด้านเพื่อทุกคนมั่งมีด้วยการทำงานหนัก (Prosperity Through All-Round Development, Prosperity for All, Prosperity Through Hard Work) การที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสนเปิดโอกาสให้แต่ละคนก้าวสูงขึ้นไปอีก (ไม่ติดกับดักความยากจน) ผลที่ตามมาคือประเทศจะยิ่งใหญ่ทันสมัยมากขึ้นด้วย

            เป็นตัวอย่างว่า การขับเคลื่อนชาติหรือสังคมคือการขับเคลื่อนทุกคนในสังคม แม้เป็นสังคมใหญ่และหลากหลาย “การสร้างชาติคือการสร้างคน” และ “การสร้างคนคือการสร้างชาติ”

            จีนเป็นตัวอย่างการสร้างชาติที่พัฒนาทุกด้าน จากนโยบายที่ว่านอกจากมีกินมีใช้แล้วยังต้องมีสำนึกในศีลธรรมด้วย สังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้เป็นภาพความสำเร็จหนึ่งที่ต้องตั้งอยู่บนการพัฒนาทุกคนทุกด้าน รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ ปรารถนาดีต่อตัวเอง สังคมและโลก ยึดถือความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวยหรือมุ่งแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น

            ในแง่อุดมการณ์การเมือง สังคมนิยมจีนปัจจุบันไม่ใช่ประเทศที่คนทั้งจังหวัดกินอาหารเมนูเดียวกันและใส่เสื้อผ้าสไตล์เดียวกันอีกต่อไป บางคนเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน หลายคนเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่บ้างเล็กบ้าง ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่อย่างน้อยทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน ทั้งหมดนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนคือผู้นำการขับเคลื่อน (เน้นย้ำความสำคัญของพรรคฯ)

            มองในแง่รัฐชาติ (nation state) เป้าหมายพื้นฐานของรัฐปัจจุบันทั่วไปคือการให้พลเมืองอยู่ดีมีสุข บัดนี้จีนบรรลุเป้าหมาย “สร้างสังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน” ที่ประกาศตั้งแต่ปี 1982 สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ประวัติศาสตร์จีนจะจารึกว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของตน เป็นแบบอย่างและแรงผลักดันแก่รัฐชาติอื่นๆ

            เป้าหมายต่อไปคือ “สร้างประเทศสังคมนิยมยิ่งใหญ่ทันสมัย” (a great modern socialist country) ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จก่อนกลางศตวรรษ ความเป็นไปของจีนส่งผลต่อประชาคมโลกเช่นเดียวกับที่ความเป็นไปของโลกจะมีผลกระทบต่อจีน

3 ตุลาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9091 วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564)

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความฝันหรือความใฝ่ฝันมักสู่เป้าหมายที่สวยงามดีงาม เป็นเรื่องดีที่ควรมี แต่ในขณะเดียวกันจำต้องมองโลกตามสภาพที่เป็นจริง เรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกที่เป็นอยู่เพราะคือความฝันที่เป็นจริงอยู่ในขณะนี้
เมื่อสิ้นยุคประธานเหมา จีนเปิดประเทศต้อนรับการลงทุน การสัมพันธ์กับต่างชาติ ค่านิยมความงามแบบตะวันตกเริ่มเข้ามา จีนกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้านความงามของโลก สตรีจีนใช้จ่ายเพื่อความงามมากกว่าหลายประเทศจนน่าตกใจ บ่งบอกความเป็นพวกวัตถุนิยม กำลังถอยห่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โฉมหน้าความงามของสาวจีนสะท้อนโฉมหน้าสังคมนิยมจีนในปัจจุบันและอนาคต

บรรณานุกรม :

Full Text: China's Epic Journey from Poverty to Prosperity. (2021, September 28). Xinhua. Retrieved from http://www.news.cn/english/2021-09/28/c_1310214205.htm

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก