20 ปีสงครามอัฟกานิสถาน ชัยชนะของสหรัฐ

กองทัพถอนตัวหลังเสร็จศึกเป็นเรื่องปกติ อัฟกานิสถานคือพื้นที่สมรภูมิเพื่อรักษาหรือแสดงความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐ เป้าหมายสำคัญคือสหรัฐยังคงเป็นความเป็นมหาอำนาจของตน

             การถอนทหารและอพยพคนของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ บ้างว่ารัฐบาลสหรัฐไม่อาจทนจ่ายงบประมาณเพื่อรักษาอำนาจในประเทศนี้ บ้างว่าสหรัฐกำลังถอนตัวออกจากภูมิภาค บ้างว่ารัฐบาลไบเดนคิดผิดที่ถอนทหาร

            บทความนี้นำเสนอมุมมองในแง่การถอนทหารของสหรัฐคือชัยชนะ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

          ประการแรก ตาลีบันใหม่ที่ไม่เป็นภัยคุกคามดังเช่นอดีต

            กลุ่มตาลีบันประกาศชัดว่านโยบายยุคปี 2021 ของตนต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน แม้จะยึดหลักศาสนา สถาปนารัฐอิสลามในนาม Islamic Emirate of Afghanistan แต่ตีกฎหมายชารีอะห์ (sharia) ต่างจากเดิม ประเด็นสิทธิสตรีเป็นกรณีตัวอย่าง

            แม้ตาลีบันยังแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อรัฐบาลสหรัฐ มองว่าเป็นผู้รุกรานนักล่าอาณานิคม แต่อาจไม่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐดังเช่นอดีต ซึ่งหมายความว่าตาลีบันในปี 2021 นี้ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐมากเช่นอดีต

            ความสำเร็จข้อนี้สำคัญที่สุดเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกส่งกองทัพนับแสนบุกถล่มอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อน หลายประเทศแสดงท่าทีนี้ชัดเจน เช่น โจเซฟ ฟอนเทลส์ (Josep Fontelles) หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศอียูชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับอัฟกานิสถานใหม่ขึ้นกับการตั้งรัฐบาลใหม่โดยสันติ เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวอัฟกันทั้งมวล ไม่เป็นที่ซ่องสุมกบดานของผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะผู้ก่อการร้ายที่มุ่งโจมตีผลประโยชน์ของชาติตะวันตกกับพันธมิตร

            อัฟกานิสถานมีภูมิศาสตร์เป็นภูเขาซับซ้อน เป็นแหล่งกบดานซ่องสุมกำลังได้เป็นอย่างดี แม้สหรัฐมีหน่วยรบพิเศษมีเทคโนโลยีสูงสามารถปราบปรามผู้ก่อการร้ายแม้อยู่ห่างไกล แต่จะเป็นการดีกว่าประหยัดกว่าหากมีใครสักกลุ่มควบคุมพวกสุดโต่งที่เหลือ (ให้พวกสุดโต่งจัดการด้วยกันเอง ไม่ต้องส่งกองทัพนับแสนไปรบอีก) ตาลีบันที่รัฐบาลสหรัฐเดิมเคยตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเป็นตัวเลือกที่ดี และได้ตกลงกันแล้วว่าตาลีบันจะไม่ปล่อยให้ใครใช้ประเทศนี้เป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย ไม่โจมตีผลประโยชน์สหรัฐ

            ข้อนี้จะทำสำเร็จได้มากน้อยเพียงไรเป็นเรื่องน่าติดตาม

          ประการที่ 2 ปรับนโยบายเพื่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก

            ตาลีบันประกาศนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ สัมพันธ์กับนานาชาติ เพื่อเศรษฐกิจที่ประชาชนอยู่ดีกินดี คนอัฟกันต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตาลีบันจะส่งเสริมการค้าการลงทุนทั่วประเทศ ข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อปี 2019 ระบุว่างบประมาณ 75% ของรัฐบาลมาจากความช่วยเหลือของต่างชาติ โดยเฉพาะสหรัฐ

            ไม่ว่าจะเพื่อการพัฒนาประเทศหรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานของรัฐ ตาลีบันจะต้องปรับความสัมพันธ์กับนานาชาติ เปิดประเทศต้อนรับการค้าการลงทุน หากเป็นเช่นนี้จริงตาลีบันจะไม่ยึดแนวทางสุดโต่งเป็นที่พอใจของนานาชาติ ทุกวันนี้บางประเทศอย่างอิหร่าน เกาหลีเหนือ เป็นตัวอย่างที่ถูกนานาชาติกดดันปิดล้อม ตาลีบันยุคใหม่คงเข้าใจประเด็นนี้ดีและไม่เลือกเดินตามทาง 2 ประเทศนั้น ประชาคมโลกกำลังจับตาดูอยู่

            ตาลีบันที่ไม่สุดโต่งสัมพันธ์ดีกับประชาคมโลกแม้ต่างศาสนานิกายคืออีกชัยชนะของสหรัฐและโลก

          ประการที่ 3 การถอนทัพไม่ใช่เพราะแพ้เสมอไป

            บางคนยกประวัติศาสตร์ว่ามหาอำนาจในอดีตกับปัจจุบันต่างไม่สามารถยึดครองอัฟกานิสถานถาวร เช่น สมัยอาณาจักรเปอร์เซีย สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช จักรวรรดิอังกฤษ โซเวียตรัสเซียและล่าสุดคือสหรัฐ แต่การยึดครองครอบงำต้องพิจารณาเป้าหมาย ผลประโยชน์ที่ได้คุ้มค่า รวมทั้งบริบทอื่นๆ ด้วย หากผลประโยชน์ที่ได้จากอาณานิคมน้อยกว่ารายจ่ายที่ต้องเสียไป เช่นนี้ย่อมไม่ใช่การลงทุนที่ดี

            20 ปีก่อนกองทัพสหรัฐกับพวกสามารถล้มรัฐบาลตีบัน ไล่ล่าพวกอัลกออิดะห์ แต่ความจริงแล้วทหารอเมริกันกับพวกยึดครองพื้นที่บางส่วนเท่านั้น พื้นที่หลักคือเมืองหลวง เมืองสำคัญและบางพื้นที่ๆ อิทธิพลไปถึง (กับท้องถิ่นที่ต่อต้านตาลีบัน) แม้ทหารสหรัฐกับทหารอัฟกันจะออกปฏิบัติการในบางพื้นที่เป็นระยะๆ แต่ไม่ได้ครอบครองจริง ยิ่งในระยะหลังพื้นที่อิทธิพลลดน้อยลงเมื่อสหรัฐพยายามลดปฏิบัติการทางทหารบนภาคพื้นดิน ปลายปี 2019 ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานกล่าวว่าทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ใต้การปกครองของพวกตาลีบัน ถ้ายึดตามขนาดพื้นที่ ตาลีบันในวันนี้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่

            เรื่องนี้เป็นอีกหลักฐานว่ารัฐบาลสหรัฐไม่คิดยึดครองอัฟกานิสถานตั้งแต่ต้น ได้แต่เป็นฐานปฏิบัติการกวาดล้างอัลกออิดะห์ เกิดรัฐบาลประชาธิปไตย

            ในช่วงสงครามดุเดือดสหรัฐกับพวกมีทหารในอัฟกานิสถานกว่าแสนนาย เมื่อการสู้รบซาลงรัฐบาลสหรัฐเริ่มถอนทหาร เมื่อเข้าสู่รัฐบาลโอบามาประกาศนโยบายถอนทหาร ปี 2014 เกิดข้อตกลง Bilateral Security Agreement (BSA) สหรัฐจะคงทหารในอัฟกานิสถาน 9,800 นาย โดยจะไม่ส่งทหารราบปะทะกับศัตรูซึ่งหน้า (เช่นเดียวกับทหารนาโตอื่นๆ ที่ประจำการอยู่)

            การสังหารนายอุซามะห์ บินลาดิน หรือ โอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) ผู้นำอัลกออิดะห์ ที่รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นอีกเหตุผลของการถอนทหาร รัฐบาลโอบามาประกาศความสำเร็จในสงครามอัฟกานิสถาน แม้เป็นผลในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า

            กุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลทรัมป์กับตาลีบันบรรลุข้อตกลงหยุดยิง ระงับความรุนแรงระหว่างกันและเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพ สหรัฐจะถอนกำลังออกจากประเทศทั้งหมดภายใน 14 เดือน (ในขั้นแรกจะลดเหลือ 8,600 นายจากจำนวน 13,000 นาย) ตาลีบันต้องไม่ปล่อยให้อัลกออิดะห์หรือกลุ่มอื่นๆ ใช้ประเทศเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนอนาคตของอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจเอง

            หลักฐานมากมายชี้ว่าสหรัฐต้องการถอนทหารมานานแล้วและดำเนินการเรื่อยมา ไม่คิดคงทหารเพื่อยึดครอง รัฐบาลไบเดนคือรัฐบาลที่ต่อจากบุช โอบามาและทรัมป์ที่ทยอยถอนทหาร มาจบที่ไบเดนกินเวลาเกือบ 20 ปี การถอนทัพหลังเสร็จภารกิจเป็นเรื่องปกติทุกประเทศทำเช่นนี้

          ประการที่ 4 ทำสงครามเพื่อความเป็นอภิมหาอำนาจ

ถ้ามองในกรอบกว้างกว่าอัฟกานิสถาน นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าสงครามอัฟกานิสถานเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “สร้างศัตรู” ตัวใหม่ของสหรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสหวาดกลัวมุสลิม (Islamophobia) ที่เกิดขึ้นหลังเหตุก่อการร้ายเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เมื่อวันที่ 11 กันยา 2001

James O. Ellis III วิเคราะห์อย่างน่าสนใจว่าภัยก่อการร้าย (เน้นให้ชัดคือผู้ก่อการร้ายมุสลิม) กลายเป็นภัยคุกคามใหม่แทนที่คอมมิวนิสต์ เหตุ 9/11 คือจุดเริ่มต้น นับจากบัดนั้นเป็นต้นมาสงครามต่อต้านก่อการร้ายกลายเป็นสงครามหลักของสหรัฐ

            ในช่วงนั้น รัฐบาลสหรัฐประกาศให้นานาชาติเลือกข้างว่าจะสนับสนุนก่อการร้ายหรือต่อต้านก่อการร้าย เรื่องนี้เท่ากับสหรัฐกระชับความเป็นอภิมหาอำนาจของตน อัฟกานิสถานเป็นแพะที่จะต้องถูกรุกรานทำลาย

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            สงครามอัฟกานิสถานที่ยาวนาน 20 ปีสร้างความสูญเสียมากมาย มีข้อมูลว่าฝ่ายทหารอเมริกันเสียชีวิต 2,443 นายส่วนคนอัฟกันเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 114,000 ราย ประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวเมื่อปี 2014 อย่างน่าคิดว่า “ชาวอัฟกันต้องตายในสงครามที่ไม่ใช่ของเรา” การทำสงครามในอัฟกานิสถานมี “เพื่อความมั่นคงของสหรัฐและเพื่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตก” คำพูดนี้น่าจะเป็นข้อสรุปที่ดี บัดนี้กองทัพสหรัฐกับพวกถอนตัวเพราะบรรลุภารกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้น สหรัฐไม่ได้ชนะทั้งหมด มีที่ไม่เป็นไปตามหวังเช่นกัน เรื่องราวของอัฟกานิสถานเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศนี้อีก การเป็นมหาอำนาจยังเป็นเป้าหมายหลักที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นผลประโยชน์สำคัญยิ่งของอเมริกัน นี่คือข้อที่ต้องระลึกถึงเสมอ

5 กันยายน 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9063 วันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2564)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
20 ปีสงครามอัฟกานิสถาน ความล้มเหลวของสหรัฐ
20 ปีที่สหรัฐกับพวกทำสงครามในอัฟกานิสถาน ทุ่มเทงบประมาณนับล้านล้านดอลลาร์ สุดท้ายประวัติศาสตร์หน้านี้อาจเขียนว่าพวกตาลีบันต่อต้านต่างชาติอย่างทรหดถึง 20 ปีจนได้ชัยชนะ
เป็นไปได้ว่าอาจสงบสุขขึ้นบ้างในระยะหนึ่ง แต่สันติภาพถาวรเป็นของหายาก ไม่มีตั้งแต่เมื่อกองทัพสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 เพราะที่รัฐบาลสหรัฐต้องการมีมากกว่าการถอนหรือลดจำนวนทหาร
รัฐบาลบุชกับพวกส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถานทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย รัฐบาลชุดถัดมาเจรจากับตาลีบันที่สหรัฐตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในที่สุดรัฐบาลไบเดนประกาศถอนทหารที่เหลือเพียงไม่กี่พันกลับบ้าน
 
บรรณานุกรม :

1. Afghanistan’s Karzai tells AP that US cash fed corruption. (2019, December 11). AP. Retrieved from https://apnews.com/1419420df4e2e7186222c38db3be707d

2. Afghanistan, U.S. sign long-delayed security pact. (2014, September 30). USA Today/AP. Retrieved from http://www.usatoday.com/story/news/world/2014/09/30/afghan-us-security-pact/16467441/

3. Baudrillard, Jean. (2003). The Spirit of Terrorism. UK: Verso.

4. Ellis, James O. (2011). The Impact of 9/11 on U.S. Foreign Policy. In The 9/11 encyclopedia. (2nd Ed. pp.1-4). USA: ABC-CLIO, LLC.

5. EU foreign policy chief: Taliban ‘WON THE WAR,’ we’ll have to talk to them – and acknowledge mistakes. (2021, August 17). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/532330-eu-taliban-won-war-afghanistan/

6. Interview: Karzai says 12-year Afghanistan war has left him angry at U.S. government. (2014, March 3). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/interview-karzai-says-12-year-afghanistan-war-has-left-him-angry-at-us-government/2014/03/02/b831671c-a21a-11e3-b865-38b254d92063_story.html

7. Statement by the President on Afghanistan. (2014, May 27). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/05/27/statement-president-afghanistan

8. Taliban declares formation of the Islamic Emirate of Afghanistan, just days after taking over Kabul. (2021, August 19). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/532470-taliban-declares-islamic-emirate-afghanistan/

9. The Taliban Are Only Pretending They Aren’t Barbaric. (2021, August 18). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-08-17/the-taliban-is-only-pretending-they-aren-t-barbaric

10. The U.S. Once Wanted Peace in Afghanistan. (2020, February 29). The Atlantic. Retrieved from https://tass.com/world/1124783

11. What the US didn’t learn in Afghanistan. (2021, August 25). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2021/08/what-the-us-didnt-learn-in-afghanistan/

--------------------------