วาระ NATO 2030 และข้อวิพากษ์

NATO 2030 ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม แผนพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมเป็นเอกภาพรับมือการแข่งขันยุคใหม่ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก แต่แผนกับการปฏิบัติจริงจะสอดคล้องแค่ไหนเป็นเรื่องน่าติดตาม 

            วาระ NATO 2030 คือการมองไปข้างหน้าอย่างน้อยถึงปี 2030 ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม แผนพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อม เข็มแข็ง เป็นเอกภาพพร้อมรับมือการแข่งขันยุคใหม่ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก ประกาศเมื่อ 14 มิถุนายน 2021 มีสาระสำคัญ

          ประการแรก หารือและร่วมมือทางการเมืองลึกซึ้งกว่าเดิม

            จากนี้ไปในที่ประชุมนาโตจะคุยลึกและกว้างขึ้นกว่าเดิม คุยทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง จะเพิ่มวงประชุมมากขึ้น ให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อนเข้าประชุมนานาชาติ เช่น การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ G-20

            ผลที่คาดว่าจะได้คือ นาโตจะเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่นำยุโรปกับอเมริกาเหนือเข้าด้วยกันทุกวัน นาโตจะมีบทบาทมีมากขึ้น ยุโรปกับอเมริกาเหนือจะเผชิญหน้าความท้าทายร่วมกัน

            วิพากษ์ : ข้อนี้คือการเพิ่มขยายอำนาจนาโตให้มีบทบาทมากขึ้น ประเด็นคือชาติสมาชิกคิดเห็นตรงกันจริงหรือไม่ รัฐบาลสหรัฐพร้อมทำตามข้อสรุปของนาโตหรือไม่ พร้อมที่จะให้นาโตอยู่เหนือสหรัฐหรือไม่ หรือว่าท้ายที่สุดแล้วสหรัฐจะเลือกแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

          ประการที่ 2 เสริมสร้างการป้องปรามและการป้องกัน

            ชาติสมาชิกทั้งปวงเห็นพ้องให้นาโตขยายขีดความสามารถในการป้องปรามและการป้องกัน รักษาพลังอำนาจอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธทั่วไปและระบบป้องกันขีปนาวุธ ย้ำเตือนข้อตกลงที่จะตั้งประมาณกลาโหมให้ถึงร้อยละ 2 ของจีดีพี และใช้ร้อยละ 20 ของงบกลาโหมซื้ออาวุธใหม่

            นับจากปี 2014 เป็นต้นมานาโตยกระดับการป้องกันสมาชิก ชาติสมาชิกเห็นพ้องที่ส่งทหารไปประจำการ ณ ประเทศสมาชิกด้วยกันมากขึ้น แสดงท่าทีทางทหารเพิ่มขึ้น

            วิพากษ์ : เรื่องตั้งงบกลาโหมร้อยละ 2 ของจีดีพีเป็นเรื่องที่พูดหลายรัฐบาลแล้ว สมัยทรัมป์ชี้ว่าสหรัฐต้องเสียงบประมาณสนับสนุนมากเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ ไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ได้ ดังนั้น หากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จะขอพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต และถ้าการทำเช่นนี้เป็นเหตุให้นาโตแตกก็ให้แตกไปเลย ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ขู่เช่นนั้นฝ่ายยุโรปบางประเทศโต้กลับประกาศชัดว่าจะยังไม่ทำตามด้วยเหตุผลต่างๆ นานา มาถึงสมัยไบเดนดูเหมือนว่าเรื่องงบประมาณลดความสำคัญลง ทั้งๆ ที่กองทัพนาโตจะเข้มแข็งจริงแท้เพียงใดดูได้จากงบกลาโหม และเป็นปัจจัยชี้วัดความเข้มแข็งของนาโตทั้งปัจจุบันและอนาคต

          ประการที่ 3 ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น (Improved Resilience)

            Resilience หมายถึงการเข้ากันได้ของระบบอาวุธต่างๆ รวมถึงระบบสาธารณูปโภคแต่ละประเทศที่จะต้องรองรับอาวุธ อุปกรณ์ของชาติสมาชิกด้วยกันเอง เริ่มจากการวางมาตรฐานขั้นต่ำว่าแต่ละประเทศจะต้องมี Resilience มากเพียงไร เช่น กำหนดมาตรฐานท่าเรือ สนามบิน ระบบเชื้อเพลิง อาหาร เวชภัณฑ์ เครือข่ายสื่อสาร (5G)

            วิพากษ์ : สมาชิกนาโต 30 ประเทศต่างมีระบบของตัวเอง บ่อยครั้งที่ระบบทางทหารกับพลเรือนของประเทศหนึ่งเข้ากับอีกประเทศไม่ได้ ต่างมีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้อะไหล่ เครื่องมือ ช่างฝีมือเฉพาะ หากทำเป็นระบบเดียวหรือเชื่อมโยงเข้ากันได้จะเป็นผลดีต่อการป้องกันประเทศร่วมกัน เป็นเรื่องที่ครอบคลุมกว้างขวาง บางเรื่องเป็นเรื่องพื้นๆ แต่สำคัญและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมันใช้กำลังไฟ 230V 50 Hz ส่วนสหรัฐกับแคนาดาใช้กำลังไฟ 120V 60Hz

             และเป็นเรื่องการพัฒนาของชาติสมาชิก บางประเทศทันสมัยกว่า

          ประการที่ 4 รักษาการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี

            เริ่มโครงการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมพลเรือนกับทหารเพื่อป้องกันแอตแลนติกเหนือ (Defence Innovation Accelerator for the North Atlantic: DIANA) เปิดโอกาสให้พลเรือนรับทุนวิจัยโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพ

            เทคโนโลยีใหม่มีผลต่อการรักษาสันติภาพ วิกฤตการณ์ ความขัดแย้งต่างๆ เทคโนโลยีใหม่เข้าแทนเทคโนโลยีเก่า นาโตจำต้องเรียนรู้เท่าทัน เช่น ในทศวรรษหน้าจีนจะก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างมาก 7 ด้านที่นาโตต้องเป็นฝ่ายนำเสมอ ได้แก่ artificial intelligence, data and

computing, autonomy, quantum-enabled technologies, biotechnology, hypersonic technology และ space

            โครงการ DIANA จะช่วยให้ชาติพันธมิตรได้ใช้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเร็วขึ้น ลดช่องว่างระหว่างสมาชิกนาโต

          ประการที่ 5 ยึดมั่นระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งบนกฎเกณฑ์

            ชาติสมาชิกตกลงกระชับความสัมพันธ์ รวมทั้งหุ้นส่วนที่มีความคิดคล้ายกัน ใกล้ชิดประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เปิดทางรับสมาชิกใหม่ เพื่อสันติภาพนาโตจำต้องเข้าพัวพันกับนานาชาติมากขึ้น มีผลต่อการรักษาและจัดวางระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ เน้นความมั่นคง เสรีภาพและความมั่งคั่งของพันธมิตรซึ่งในขณะนี้ถูกกดดันด้วยประเทศอำนาจนิยม โดยเฉพาะรัสเซียกับจีน

            วิพากษ์ : การเพิ่มสมาชิกมีข้อดีหลายอย่างในขณะเดียวกันการมีสมาชิกมากเกิดความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายมากขึ้นด้วย กระทบต่อเอกภาพนาโต

            การกระชับความสัมพันธ์ต้องพิจารณาว่านาโตกำลังยึดถือประโยชน์ส่วนรวมหรือให้ประเทศใดเป็นพิเศษหรือไม่โดยเฉพาะสหรัฐ

          ประการที่ 6 ฝึกทหารและเพิ่มพูนขีดความสามารถ

            โดยเฉพาะต่อต้านก่อการร้าย การรักษาความสงบ ต่อต้านสงครามไฮบริด การบริหารภาวะวิกฤต การรักษาสันติภาพ ปฏิรูปการป้องกันประเทศ

            หลักคิดคือยิ่งชาติสมาชิกมีเสถียรภาพนาโตจะยิ่งมั่นคง การป้องกันดีกว่าการเข้าแทรกแซง และหากจำเป็นนาโตต้องพร้อมที่จะส่งทหารเข้าจัดการวิกฤตทันที

          ประการที่ 7 สู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            นาโตประกาศ NATO Action Plan on Climate Change and Security ฉบับใหม่ ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นความมั่นคง ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก

            วิพากษ์ : งานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่าภาวะโลกร้อนกระทบความมั่นคงแห่งชาติอย่างรุนแรง ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนไป ผู้คนทุกข์ยาก เกิดปัญหาซ้อนปัญหา ภัยคุกคามจีนกับรัสเซียอาจไม่ร้ายแรงหรือไม่เป็นรูปธรรมเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงแต่รัฐบาลบางประเทศพูดน้อยเกินไปให้ความสำคัญน้อยเกินไป งบประมาณที่ใช้จึงก่อประโยชน์น้อยหรือแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

            การแก้ปัญหาในขณะนี้จึงน้อยกว่าที่ควร ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ทิ้งภาระให้คนรุ่นหลัง

          ประการที่ 8 แนวคิดยุทธศาสตร์อนาคต (Next Strategic Concept)

            โดยยึดจุดประสงค์กับภารกิจหลัก วางทิศทางยุทธศาสตร์ที่สัมพันธ์กับการเมืองและการทหาร ตระหนักว่าบริบทเปลี่ยนแปลงซับซ้อนกว่าเดิม จีนเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจ แนวคิดยุทธศาสตร์อนาคตกระตุ้นให้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ตอกย้ำความสำคัญของนาโต เป้าหมายหลักต่างๆ

            วิพากษ์ : เป็นวิธีการคิดที่ดี มองไกลไปในอนาคต สร้างมุมมองอนาคตที่ไกลกว่าปี 2030

          ประการที่ 9 การลงทุน (Investing in NATO)

            ชาติสมาชิกเห็นพ้องว่าต้องจัดสรรทรัพยากรแก่นาโตอย่างถูกต้อง ทั้งด้านการป้องกันประเทศกับส่วนที่จัดสรรให้นาโตโดยตรง เพียงพอรับมือความท้าทายต่างๆ ระบุงบประมาณ 3 ด้าน คือ ด้านการทหาร พลเรือนและโครงสร้างพื้นฐาน

            วิพากษ์ : ประเด็นสำคัญคือแต่ละประเทศมีขนาดเศรษฐกิจไม่เท่ากัน ชาติสมาชิกมองระดับภัยคุกคามไม่เท่ากัน บางประเทศทุ่มงบประมาณกลาโหมมาก บางประเทศเห็นว่าควรทุ่มให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมมากกว่า เป็นโจทย์เก่าที่ถามเสมอว่าอะไรสำคัญกว่า

            เมื่อมองไปถึงปี 2030 นาโตประกาศชัดว่าจีนกับรัสเซียเป็นปรปักษ์สำคัญ จีนเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจ สอดรับกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ แต่แผนกับการปฏิบัติจริงจะสอดคล้องแค่ไหนเป็นเรื่องน่าติดตาม

8 สิงหาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9035 วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2564)

-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
นาโตเป็นตัวอย่างองค์การระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงยาวนานถึง 70 ปี แต่นาโตปัจจุบันไม่เป็นเอกภาพดังเดิม เป็นอีกตัวอย่างแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อน การบั่นทอนต่อสู้กันภายใน
การปล่อยให้นาโตแตกไม่ใช่เรื่องที่ผู้นำประเทศจะตัดสินใจได้โดยลำพัง แม้มีความขัดแย้งมากบ้างน้อยบ้าง ไม่มีฝ่ายใดปล่อยให้นาโตแตก เพราะต่างได้ผลประโยชน์มากมายจากนาโต

บรรณานุกรม :

1. NATO. (2021, June). NATO 2030. Retrieved from https://www.nato.int/nato_static_fl2014/assets/pdf/2021/6/pdf/2106-factsheet-nato2030-en.pdf

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก