การเมืองโลกเรื่องวัคซีนโควิด-19

การที่ชาติมหาอำนาจยังมัวขัดแย้งกัน (แทนที่จะร่วมมือกัน) ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น ผู้คนล้มป่วยเสียชีวิตมากขึ้น ขยายความสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้

            ดังที่นำเสนอในบทความ “การเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐว่าด้วยโควิด-19” แม้การแพร่ระบาดกำลังวิกฤตแต่การเมืองโลกยังต้องสู้ต่อ โควิด-19 กลายเป็นอีกสนามของการขับเคี่ยวระหว่างชาติมหาอำนาจ แน่นอนว่าจีนหวังได้คะแนนจากนานาชาติ ลดการปิดล้อม ทั้งยังหวังผลประโยชน์จากเวทีระหว่างประเทศ ส่วนชนชั้นปกครองสหรัฐจำต้องสู้ไม่ถอย เกี่ยวข้องกับอำนาจผลประโยชน์มหาศาล น่าคิดว่าหากร่วมมือกันจะช่วยรักษาชีวิตได้กี่คน ลดความสูญเสียมากเพียงไร แม้กระทั่งต่อพลเมือง เศรษฐกิจสังคมของตนเอง หรือต้องสังเวยให้กับความมั่นคงแห่งชาติตามแนวทางของตน

            บทความนี้นำเสนอการเมืองโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ในช่วงนี้

การแบ่งวัคซีนตามขั้ว :

            สหรัฐกับจีนมีความขัดแย้งมาเนิ่นนาน โควิด-19 เป็นอีกประเด็นที่เติมเชื้อไฟขยายความขัดแย้ง

            มีนาคม 2020 สมัยประธานาธิบดีทรัมป์พูดชัดว่า จีนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและคนอเมริกันที่เสียชีวิต ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รมต.ต่างประเทศสหรัฐอ้างว่าเหตุที่สหรัฐระบาดหนักเพราะรัฐบาลจีนไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐตั้งแต่ต้น ในความคิดของทรัมป์คนอเมริกันที่เสียชีวิตกว่า 6 แสน เศรษฐกิจสังคมปั่นป่วนทั้งหมดทั้งปวงเป็นความผิดของจีนแต่เพียงผู้เดียว ในขณะคนอเมริกันหลายคนไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยขณะเข้าซื้อของในสถานที่ต่างๆ หลายสินล้านคนประกาศตัวว่าจะไม่ฉีดวัคซีนอ้างว่าตนเกิดในประเทศเสรี แม้กระทั่งตัวทรัมป์ก็ไม่เป็นแบบอย่างใส่หน้ากากอนามัย จนบัดนี้ที่สหรัฐยังระบาดอยู่

            ในขณะที่จีนควบคุมโรคระบาดได้ดี ประชาชนให้ความร่วมมือ รัฐบาลจีนเร่งส่งความช่วยเหลือแก่นานาชาติ แต่รัฐบาลสหรัฐกับบางประเทศมองเรื่องเหล่านี้เป็นลบ ชี้ว่าเรื่องจีนกำลังอาศัยโรคระบาดแผ่ขยายอิทธิพลครอบงำโลก

การจัดสรรวัคซีน :

            การจัดสรรวัคซีนเป็นหัวใจของประเด็นการเมืองโลกเรื่องวัคซีนโควิด-19

            มกราคม 2021 นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวเป็นการไม่ถูกต้องหากคนหนุ่มสาว พวกที่สุขภาพดีในชาติร่ำรวยได้รับวัคซีนก่อน หากกระจายวัคซีนโดยเลือกฐานะทางเศรษฐกิจมาก่อนจะทำให้การระบาดยืดเยื้อ  กระทบเศรษฐกิจโลกและทำให้มวลมนุษย์ทุกข์ยากยาวนานขึ้น

            การที่ประเทศร่ำรวยกว้านซื้อวัคซีนกระทบโครงการวัคซีนโลก COVAX ทำให้ประเทศยากจนได้วัคซีนน้อย ล่าช้ากว่าที่ควร โควิด-19 จะระบาดยืดเยื้อ

            ในทำนองเดียวกัน เลขาธิการสหประชาชาติออกโรงขอให้บางประเทศเลิกกักตุนวัคซีน เพราะไม่มีประโยชน์ ไร้เหตุผล ชี้การกระจายวัคซีนตอนนี้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การระบาดยืดเยื้อ

            ผลคือโลกกำลังแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนมากกับประเทศที่ฉีดน้อย ข้อมูลมิถุนายน 2021 มี 131 ประเทศที่รอวัคซีนบริจาค ตอนนี้ยังขาดแคลนอีกมาก เพิ่งได้เพียง 90 ล้านโดส ทวีปแอฟริกาได้ 40 ล้านโดสน้อยกว่า 2% ของประชากร คนที่ยังไม่ฉีดเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นเพราะสายพันธุ์ใหม่ติดต่อง่ายกว่าเดิม เช่น สายพันธุ์เดลตา

            เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าเมื่อคนของประเทศตนได้รับวัคซีนครบแล้วจะปลอดภัย ตราบใดที่บางประเทศระบาด เชื้อมีโอกาสกลายพันธุ์ เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงกว่าเดิมและวัคซีนเดิมใช้ไม่ได้ผลดี เช่น หากประเทศ ก ฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศ ปีนี้ป้องกันได้แต่ปีหน้าหรือปีต่อไปภูมิคุ้มกันหมดฤทธิ์และวัคซีนที่มีอยู่ไม่ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่

            ความเข้าใจเช่นนี้เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนวทางที่องค์การอนามัยโลกยึดถือแต่บางประเทศยังมุ่งฉีดกับคนของตนเองไม่มองภาพรวม อาจอธิบายว่าเพราะผู้นำประเทศ รัฐบาลพวกนี้หวังผลทางการเมือง (ทั้งที่รู้แก่ใจว่าต้องยึดแนวทางขององค์การอนามัยโลกจึงจะถูกต้อง) แสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลที่รักห่วงใยประชาชน

            ไม่ว่าความรู้วิทยาสตร์จะแนะนำอย่างไร อุดมคติเป็นอย่างไร ความจริงคือวัคซีนฝรั่ง ฝรั่งฉีดก่อน ที่เหลือจึงบริจาคดังที่เป็นอยู่ หรืออีกแบบคือหากความสัมพันธ์ดีย่อมได้รับวัคซีนบริจาคเร็วกว่า บางประเทศกล่าวหาจีนใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูต

            เมื่อโรคระบาดยืดเยื้อ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยน้อยใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าคนจนจะเพิ่มหลายร้อยล้านคนจากโควิด-19 โดยตรง

            นี่คือโลกแห่งความจริง เป็นเช่นนี้มาเนิ่นนานและคงจะเป็นเช่นนี้อีกต่อไป

            ประเทศพัฒนาน้อยจะถูกกดให้ต่ำลงกว่าเดิม

การแย่งฉีดวัคซีนเป็นภาวะชั่วคราว :

            มองแง่บวก วัคซีนขาดแคลนเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น แม้หลายประเทศขยายโรงงานผลิตแต่การก่อสร้างโรงงานต้องใช้เวลา จึงไม่เพียงพอกับความต้องการในระยะนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อกำลังการผลิตวัคซีนโลกเพิ่มขึ้น หลายประเทศฉีดวัคซีนได้จำนวนหนึ่ง ประชาชนพร้อมใจป้องกันตัวเอง สถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้น ควบคุมได้มากขึ้น พ้นภาวะวิกฤต ดังจะเห็นว่าหลายประเทศควบคุมได้แล้ว

            ภายในปีนี้จะมีวัคซีนที่ใช้กับเยาวชนและเด็กเล็ก ซึ่งหมายถึงผู้ได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

            อีก 1-2 ปีปัญหาวัคซีนขาดแคลนจะหายไป

            ในด้านยี่ห้อหรือชนิดวัคซีนก็เช่นกัน ตอนนี้หลายประเทศกำลังวิจัยวัคซีนของตนเอง อีกไม่เกิน 2 ปีจะมีวัคซีนให้เลือกอีกมาก พร้อมกันนี้คือการพัฒนาวัคซีน generation 2 ที่นักวิจัยทั่วโลกทุ่มเทเต็มที่ ได้วัคซีนคุณภาพดีกว่าเดิม ปลอดภัยกว่าเดิม ในอนาคตผู้ผลิตวัคซีนจะคิดค้นวัคซีนที่มุ่งเน้นเฉพาะบางกลุ่ม เช่น วัคซีนเด็กแรกเกิด วัคซีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

            โดยสรุปแล้ว การแย่งวัคซีนเป็นภาวะชั่วคราว (ไม่ลืมว่าโลกเริ่มฉีดวัคซีนเมื่อไตรมาส 3-4 ปีก่อน เริ่มมีบริษัทผลิตวัคซีนโควิด-19 เริ่มฉีดบางประเทศและค่อยกระจายตัวสู่ประเทศอื่นๆ) เป็นกระแสที่หลายพันล้านคนอยากฉีดวัคซีน ในอนาคตอาจต้องฉีดวัคซีนเป็นประจำ จะทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือทุก 3 ปี 10 ปีหรือเมื่อจำเป็นก็ว่ากันไป ทารกอาจได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด

            ในแง่บวก การแย่งวัคซีนเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น ยกเว้นเกิดสายพันธุ์ร้ายแรงใหม่ที่ต้องรีบฉีดวัคซีนตัวใหม่

ทุกประเทศต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน :

ตั้งแต่แรกระบาดนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยกล่าวว่าทางเดียวที่จะเอาชนะโรคระบาดคือทุกประเทศต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมมือกัน พวกเรากำลังเผชิญสถานการณ์ร่วมกันและต้องหยุดไวรัสด้วยกันจึงสำเร็จ

            ในอีกวาระกล่าวว่าถ้าพวกเราอยากชนะ (โรคระบาด) อย่านำการเมืองเข้ามาปะปนกับโควิด-19 “เอกภาพเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะเอาชนะไวรัสนี้” ต้องมีเอกภาพระดับชาติไม่แยกฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล และทั้งโลกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

            เท่าที่เป็นอยู่บางประเทศร่วมมือกันดี บางประเทศโควิด-19 ยิ่งทำให้สังคมแตกแยก ส่วนระดับโลกนั้นการเมืองระหว่างประเทศมีผลต่อการกระจายวัคซีน

            ไม่อาจปฏิเสธว่าการที่ชาติมหาอำนาจยังมัวขัดแย้งกัน (แทนที่จะร่วมมือกัน) ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น ผู้คนล้มป่วยเสียชีวิตมากขึ้น ขยายความสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ นี่คือส่วนหนึ่งของการเมืองโลกเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่ควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

25 กรกฎาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9021 วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
การเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐว่าด้วยโควิด-19
โควิด-19 กลายเป็นอีกสนามของการต่อสู้ระหว่างชาติมหาอำนาจ น่าคิดว่าหากร่วมมือกันจะช่วยรักษาชีวิตได้กี่คน ลดความสูญเสียมากเพียงไร แม้กระทั่งต่อพลเมือง เศรษฐกิจสังคมของตนเอง

บรรณานุกรม :

1. China using shots for political ends: Maas. (2021, July 15). Taipei Times. Retrieved from https://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2021/07/15/2003760871

2. Covid vaccine: WHO warns of 'catastrophic moral failure'. (2021, January 18). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-55709428

3. Covid: Vaccines running out in poorer nations, WHO says. (2021, June 22). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-57558401

4. EU split over China’s ‘face mask’ diplomacy. (2020, March 28). Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2020/03/eu-split-over-chinas-face-mask-diplomacy/

5. Head of WHO says world faces two-track pandemic. (2021, June 7). The National. Retrieved from https://www.thenationalnews.com/world/head-of-who-says-world-faces-two-track-pandemic-1.1236811

6. High-income countries' vaccine deals undermine COVAX: WHO chief. (2021, February 23). People’ Daily Online. Retrieved from en.people.cn/n3/2021/0223/c312369-9820924.html

7. ‘I woke up in a free country’ — Costco shopper gets bounced from store after refusing to wear a mask. (2020, May 20). MarketWatch. Retrieved from https://www.marketwatch.com/story/i-woke-up-in-a-free-country-costco-shopper-gets-bounced-from-store-after-refusing-to-wear-a-mask-2020-05-19?mod=home-page

8. Incoming WTO head warns 'vaccine nationalism' could slow pandemic recovery. (2021, February 16). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-trade-wto-nigeria/incoming-wto-head-warns-vaccine-nationalism-could-slow-pandemic-recovery-idUSKBN2AF1QM

9. "Please quarantine politicizing COVID": WHO chief. (2020, April 9). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2020-04/09/c_138959178.htm

10. UN chief criticises wealthy countries for COVID-19 vaccine 'stockpile'. (2021, March 29). Channel News Asia. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-asia-economy-worldbank/china-set-to-lead-recovery-of-east-asian-and-pacific-economies-world-bank-idUSKBN2BI02O

11. Virus unleashes racism in Western societies. (2020, February 2). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/content/1178267.shtml

12. Wake Up America -- China is the Pandemic. (2020, March 26). American Thinker. Retrieved from https://www.americanthinker.com/articles/2020/03/wake_up_america_emchinaem_is_the_pandemic.html

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก