รู้จักนาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett)
หากเบนเน็ตต์ได้นั่งตำแหน่งนายกฯ จะเป็นความสำเร็จทางการเมืองครั้งใหญ่ เมื่อผู้นำคนเก่าสะสมเรื่องอื้อฉาวเต็มตัวถึงคราวร่วงโรย ย่อมเป็นโอกาสแก่ผู้นำดาวรุ่งคนใหม่ เป็นวัฏจักรการเมืองอย่างหนึ่ง
บทความนี้นำเสนอการก้าวขึ้นมาของนาฟทาลี เบนเน็ตต์ และส่วนที่สัมพันธ์กับการขยายอาณาเขตโดยสังเขปดังนี้
นาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett) กล่าวเมื่อตุลาคม
2014 ว่านโยบายของตนจะเป็นพวกสายเหยี่ยวยิ่งกว่ารัฐบาลเนทันยาฮูที่เป็นรัฐบาลร่วมขวากลาง
(right-and-centre coalition) หลักคิดของเบนเน็ตต์สอดคล้องกับลัทธิไซออนิสต์
(Zionism) ตีความแนวทางนี้อย่างเคร่งครัด
ปาเลสไตน์คือพื้นที่ของอิสราเอลแบ่งใครไม่ได้
:
หลักคิดของไซออนิสต์คือเขต
Judea (พื้นที่อิสราเอลในขณะนี้) กับ Samaria (เวสต์แบงก์)
เป็นของอิสราเอลตามประวัติศาสตร์แต่ดั้งเดิม ดังนั้นพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนจะต้องเป็นของอิสราเอลวันยังค่ำ
จึงชอบธรรมที่จะผนวกเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ต้องเป็นชาวยิว
เบนเน็ตต์มองว่าฉนวนกาซาตอนนี้เสมือนเป็นรัฐปาเลสไตน์อยู่แล้ว เสนอให้ชาวอาหรับในเวสต์แบงก์สามารถเลือกที่จะไปอยู่ที่นั่น
หากต้องการอยู่ในพื้นที่ของตัวเองจริงๆ ทั้งนี้อิสราเอลยังถือสิทธิ์คุมน่านน้ำทั้งหมดเพราะฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย
หลายปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองที่สนับสนุนลัทธิไซออนิสต์จะถือผลการเลือกตั้งเป็นหลักฐานชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางของตน
เมื่อตีความตามหลักประชาธิปไตยพลเมืองอิสราเอลส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการขยายดินแดน
แต่ไม่ถูกต้องถ้าจะเหมารวมว่าทุกคนเห็นด้วย ประชาชนกับนักการเมืองที่เห็นต่างก็มี
เมื่อแนวคิดของลัทธิไซออนิสต์อิสราเอลต้องไม่แบ่งดินแดนกับใคร
จึงไม่สนับสนุนนโยบายทวิรัฐ (Two-State Solution) จริงๆ
ตุลาคม
2014 นาฟทาลี เบนเน็ตต์ขณะดำรงตำแหน่งรมต.เศรษฐกิจกล่าวว่า
“แนวคิดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในดินแดนอิสราเอลเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” (a
dead end) อ้างว่ากลุ่มฮามาสเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอล
ยิงจรวดใส่อยู่เสมอ เมื่อมองในแง่ความมั่นคงปลอดภัยแล้วอิสราเอลไม่อาจปล่อยให้เป็นเช่นนี้
ต้องหาทางแก้ไขจนได้ความปลอดภัยถาวร เป็นเหตุผลว่าการมีรัฐปาเลสไตน์ที่อยู่ชิดติดกับอิสราเอลนั้นไม่เหมาะสม
(inapplicable)
ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอิสราเอลค่อยๆ
รุกล้ำกินดินแดนปาเลสไตน์ เพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างอย่างต่อเนื่อง นับวันแผ่นดินที่ชาวปาเลสไตน์อยู่อาศัยค่อยๆ
หดหาย พร้อมกับความเป็นยิวที่ปรากฏให้เห็นมากขึ้นทุกที
แม้นานาชาติจะประณามแต่ไม่มีผลจริงจัง
ต้นเดือนมีนาคม
2020 เบนเน็ตต์กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งบ่งบอกว่าประชาชนต้องการให้นายกรัฐมนตรี
เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu)
ผนวกเวสต์แบงก์ให้เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลตามคำมั่นสัญญา “วันนี้ด้วยความเชื่อจากพระเจ้า
อธิปไตยของรัฐบาลอิสราเอล [เหนือเขตเวสต์แบงก์] เกิดขึ้นแล้ว” แนวคิดล่าสุดคือพื้นที่ใดที่อิสราเอลยึดครองโดยสมบูรณ์ให้ผนวกเป็นของอิสราเอล
ส่วนพื้นที่ๆ ชาวปาเลสไตน์ยังอาศัยอยู่นั้นต้องอยู่ใต้อำนาจอิสราเอล จำกัดอำนาจของฝ่ายบริหารปาเลสไตน์
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ย้อนหลังหลายสิบปีพบว่าการเจรจาซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสันติภาพอาจเป็นเครื่องมือ
“ขยายเวลา” ให้อิสราเอลค่อยๆ กลืนกินปาเลสไตน์ ตามยุทธศาสตร์รุกทีละคืบกินทีละคำ นับเป็นความสำเร็จของพวกไซออนิสต์
ว่าที่นายกฯ ในวันข้างหน้า :
นาฟทาลี
เบนเน็ตต์ เริ่มเข้าสู่วงการเมืองเมื่อปี 2006 หลังสงครามเลบานอน (Lebanon
War) อยู่ในสังกัดของเนทันยาฮู เป็นทีมงานของท่าน ต่อมาปี 2012
ลาออกจากพรรคลิคุด (Likud) ไปอยู่พรรค Jewish Home และได้เป็นผู้นำพรรคนี้ ปี 2013 พรรค Jewish Home ร่วมรัฐบาลเนทันยาฮู
เบนเน็ตต์ดำรงตำแหน่งรมต.เศรษฐกิจ
ในช่วงนี้เองกระแสข่าวรัฐมนตรีท่านนี้จะเป็นนายกฯ ในอนาคตดังขึ้นทุกที
เบนเน็ตต์เป็นนักการเมืองที่พยายามไต่เต้าความก้าวหน้าทางการเมืองด้วยหลายวิธี
ยกตัวอย่าง พฤศจิกายน 2018 พรรค Jewish Home ของเบนเน็ตต์ประกาศจะถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเนทันยาฮู
หากหัวหน้าพรรคตนไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม สะเทือนเสถียรภาพรัฐบาลกับความต้องการของลูกพรรคส่วนใหญ่ที่อยากอยู่ร่วมรัฐบาลต่อ
เป็นผลให้เบนเน็ตต์ลาออกและไปตั้งพรรคใหม่ New Right Party (HaYamin
HeHadash) เมื่อปลายปี 2018
พรรค
New Right พยายามจับมือกับพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ เกิด Yamina
alliance สนับสนุนรัฐบาลเนทันยาฮู ปี 2019 เบนเน็ตต์ได้รับตำแหน่งรมต.กลาโหมสมความตั้งใจ
แต่นับจากปี 2020 เป็นต้นมาเบนเน็ตต์หันมาต่อต้านเนทันยาฮู (ทั้งๆ ที่ยึดแนวทางไซออนิสต์เหมือนกัน)
เป็นที่มาของความพยายามจัดตั้งรัฐบาลเบนเน็ตต์ครั้งล่าสุดนี้ (มิถุนายน 2021)
อาจสรุปสั้นๆ ว่า การที่เนทันยาฮูไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้อีกครั้ง
(หลังเป็นนายกฯ 12 ปี) มาจากเบนเน็ตต์ที่พลิกไปรวมกับพวกฝ่ายค้าน ได้แนวร่วมที่มาจากทุกสายทั้งพรรคขวาจัดของเบนเน็ตต์
พวกสายกลางและพวกซ้าย (รวมพรรคมุสลิมอาหรับ) ที่เป็นฝ่ายค้านเดิมหรือขั้วที่อยู่ตรงข้ามเนทันยาฮู
อิสราเอลปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
มีการเลือกตั้งอยู่เสมอ (ระยะหลังมักเลือกตั้งบ่อยครั้งเพราะรัฐบาลอยู่ไม่ครอบเทอม)
พรรคที่ได้รับคะแนนสูงสุดคือพรรคลิคุดซึ่งในระยะหลังมีที่นั่งในสภา Knesset
ราว 30-40 ที่นั่งจากทั้งหมด 120 ที่นั่ง เป็นที่มาของรัฐบาลผสมหลายพรรค
ต้องดึงพรรคเล็กพรรคน้อยร่วมรัฐบาล นโยบายสำคัญของรัฐบาลจึงมาจากการตัดสินใจชี้ขาดของพรรคร่วม
ไม่ได้มาจากพรรคใดพรรคหนึ่ง การที่เนทันยาฮูยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลครั้งล่าสุดก็เพราะขาดไม่กี่เสียงของเบนเน็ตต์ที่หันไปรวมตัวกับขั้วฝ่ายค้าน
ข้อมูลล่าสุดพรรคร่วมของเบนเน็ตต์ประกอบด้วย
8 พรรค พรรคที่มีผู้แทนมากที่สุดคือ Yesh Atid ได้ 17
ที่นั่ง ที่เหลือได้ไม่ถึง 10 ต่ำสุดคือ 4 รวมทั้งสิ้นมีที่นั่งในสภาเพียง 61
ที่นั่ง
ความที่ประกอบด้วยพรรคเล็กพรรคน้อย
หลากหลายแนวทางและได้เสียงข้างมากแบบฉิวเฉียดน่าจะเป็นเหตุให้รัฐบาลเบนเน็ตต์ไม่สามารถดำเนินนโยบายตามแนวทางของตนอย่างเต็มที่
ต้องยืดหยุ่นผสานทุกพรรคเข้าด้วยกัน การยืดหยุ่นไม่ถือว่าผิดกติกาและเป็นแนวทางที่เหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตยที่ต้องผสานความคิดความต้องการของพรรคร่วมเข้าด้วยกัน
(การยืดหยุ่นไม่ผิดหลักประชาธิปไตย การไม่ยืดหยุ่นต่างหากที่เป็นเผด็จการ)
อาจตีความว่าเพราะความยืดหยุ่นนี่แหละที่ช่วยเบนเน็ตต์ไซออนิสต์ขวาจัดล้มเนทันยาฮูนายกฯ
12 ปี แม้มีกระแสข่าวว่าเนทันยาฮูเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่เบนเน็ตต์ด้วยก็ตาม เป็นอีกครั้งที่การเมืองอิสราเอลเหมือนการเมืองหลายประเทศที่ทุกพรรคทุกขั้วสามารถรวมตัว
ผสมผสานอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เบนเน็ตต์เคยพูดว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพวกฝ่ายซ้าย
พรรคของพวกมุสลิมอาหรับ (พรรค United Arab List) แต่ตอนนี้กลับลำคำพูดตัวเอง
อาจผิดต่อประชาชนที่ลงคะแนนให้ ผลการเลือกตั้งที่ชี้ว่าคนอิสราเอลส่วนใหญ่ต้องการรัฐบาลฝ่ายขวามากกว่า
สำหรับเบนเน็ตต์ในวัย
49 ปีหากได้นั่งตำแหน่งนายกฯ จะเป็นความก้าวหน้าความสำเร็จทางการเมืองครั้งใหญ่
เป็นโอกาสสร้างผลงาน ขยายอิทธิพลอำนาจทางการเมือง ดึงพวกไซออนิสต์ให้มาอยู่กับตนให้มากที่สุด
ได้เป็นผู้นำฝ่ายขวาแทนเนทันยาฮูอย่างสมภาคภูมิ เมื่อผู้นำคนเก่าสะสมเรื่องอื้อฉาวเต็มตัวถึงคราวร่วงโรยได้เวลาจากไป
ย่อมเป็นโอกาสแก่ผู้นำคนใหม่ที่เป็นดาวรุ่งสดใหม่ เป็นวัฏจักรการเมืองอย่างหนึ่ง
ส่วนเรื่องปาเลสไตน์
การขยายอาณาเขตเป็นประเด็นน่าติดตาม รัฐบาลใหม่ที่ส่วนหนึ่งคือฝ่ายค้านเดิมจะคืนดินแดนให้หรือไม่
หรือเป็นอีกวาระที่กระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นเครื่องมือ “ขยายเวลา”
ให้อิสราเอลค่อยๆ กลืนกินปาเลสไตน์ต่อไปหรือไม่ เสียงข้างน้อยไม่อาจทานกระแสความต้องการของเสียงข้างมาก
--------------------
บรรณานุกรม :1. American-Israeli Cooperative Enterprise. (2021). The
Jewish Home Political Party - HaBayit HaYehudi. Retrieved from https://www.jewishvirtuallibrary.org/the-jewish-home-political-party
2. Bennett says election delivers victory for ‘annexation
government’. (2020, March 3). Times of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/bennett-says-election-delivers-victory-for-annexation-government/
3. Coalition deals to form new
anti-Netanyahu government go down to wire. (2021, June 10). The Jerusalem Post. Retrieved
from https://www.jpost.com/israel-news/politics-and-diplomacy/coalitions-deals-to-form-new-anti-netanyahu-government-go-down-to-wire-670722
4. Israeli minister calls for ‘new models’ instead of
Palestinian state. (2014, October 22). Financial Times. Retrieved from http://www.ft.com/cms/s/0/1ef56978-5939-11e4-9546-00144feab7de.html#axzz3Gs2Q3Xal
5. Israeli politics break through a
glass ceiling. (2021, June 2).
Asia Times. Retrieved from https://asiatimes.com/2021/06/israeli-politics-break-through-a-glass-ceiling/
6. Knesset to meet Monday on Lapid-Bennett government, vote
likely on June 14. (2021, June 4). Time of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/speaker-to-convene-knesset-on-monday-over-lapid-bennett-government/
7. Naftali Bennett: The hard-liner hoping to replace
Netanyahu. (2021, June 3). Deutsche
Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/naftali-bennett-the-hard-liner-hoping-to-replace-netanyahu/a-57769102
8. Olmert to 'Post': Bennett-Lapid
coalition is end of PM Netanyahu. (2021, June 4). The Jerusalem Post. Retrieved
from https://www.jpost.com/opinion/bennett-lapid-coalition-is-the-end-of-prime-minister-netanyahu-opinion-670057
9. The Israeli Solution. (2014, October 18). The
Palestine Chronicle. Retrieved from http://www.palestinechronicle.com/the-israeli-solution/#.VEeQRSKUf0c
--------------------------