นโยบายของนายกรัฐมนตรีเบนเน็ตต์
ด้วยการยึดหลักประชาธิปไตยทำให้รัฐบาลเบนเน็ตต์ประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกสาย แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม มีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาล
13 มิถุนายน 2021 นาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett)
หัวหน้าพรรค Yamina แถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อนลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี
มีสาระสำคัญและขยายความดังนี้
อิสราเอลเป็นประเทศในฝันของชาวยิวทั้งหมด
ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก เผชิญความท้าทายทั้งจากนอกประเทศกับภายในประเทศ
นโยบายในประเทศ :
ประการแรก รัฐบาลที่รวมคนทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน
เป็นความสำเร็จของรัฐสภาอิสราเอลที่นำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ร่วมกัน
เป็นตัวแทนของพลเมืองทั่วทั้งประเทศ ผู้นำพรรคการเมืองที่เปิดกว้าง ร่วมตั้งรัฐบาลจากหลากหลายแนวคิดเพื่อหยุดความแตกแยกของชาติ
หลักการคือทุกกลุ่มมานั่งด้วยกัน ก้าวไปข้างหน้าในทางที่เห็นตรงกัน
อะไรที่เห็นต่างกันให้เก็บไว้ก่อน เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ทำงานเพื่อประชาชนทุกคน
ประการที่ 2 ขยายสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ต่างๆ
รวมทั้ง Area C
เพิ่มเติมสาธารณูปโภคทุกเขตให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้ง Area C (พื้นที่ปาเลสไตน์ที่อิสราเอลครอบครอง ย้ายเข้าไปอยู่อาศัย)
ประการที่ 3 เพิ่มขยายความสัมพันธ์กับพลเมืองเชื้อสายอาหรับ
ปี
2021 อิสราเอลมีประชากร 9,358,380 คน 74.2% เป็นยิว 20.9% เป็นเชื้อสายอาหรับ ที่เหลือ 4.8% เป็นพวกนับถือคริสต์กับศาสนาอื่นๆ
คนยิวกับคนเชื้อสายอาหรับในอิสราเอลขัดแย้งเรื่อยมา
รัฐบาลใหม่ของเบนเน็ตต์หวังปรับความสัมพันธ์ มอบให้ Mansour Abbas หัวหน้าพรรค United Arab List (Ra’am) ของพวกมุสลิมอาหรับที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ดูแล
ส่งเสริมพัฒนาชุมชนมุสลิมอาหรับ
Mansour
Abbas กล่าวว่าพรรคจะหาทางคืนที่ดินของชนเชื้อสายอาหรับในอิสราเอลที่ถูกเวนคืน
(expropriated) ปัญหารัฐเวนคืนที่ดินไม่ใช่เรื่องประหลาดพบเห็นทุกประเทศ
พรรคเห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลผสมที่รวมชนทุกเชื้อชาติทุกศาสนา รวมเป็นหนึ่งในฐานะพลเมืองอิสราเอล
จะลดช่องว่างระหว่างศาสนากับประเทศ จะไม่มองอีกฝ่ายเป็นศัตรูต่อไป (ระหว่างยิวกับมุสลิมอาหรับในอิสราเอล)
จะเห็นว่าแนวคิดของ
Mansour Abbas ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมอย่างสันติของคนในชาติ
ไม่ว่าจะเชื้อชาติศาสนาใดต่างเป็นพลเมืองอิสราเอล แก้ปัญหาความแตกต่างด้วยวิถีประชาธิปไตย
ประการที่
4 นโยบายอื่นๆ
นโยบายที่จะดำเนินการทันที เช่น รัฐบาลจะดูแลการศึกษาของเด็กตั้งแต่แรกเกิด
กระทรวงศึกษาจะเป็นผู้ดูแลเด็กเล็ก (infant daycare)
หนุ่มสาวที่ยึดแนวทาง ultra-Orthodox
สามารถประกอบอาชีพตั้งแต่อายุ 21 แทน 24 ตามความสมัครใจ
นโยบายอื่นๆ
เช่น ส่งเสริมให้มีงานทำ ตั้งเป้าภายในปี 2026 แรงงาน 15% จะทำงานด้านไฮเทค
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐ สร้างโรงพยาบาลกับมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม พัฒนากองทัพให้เข้มแข็ง
มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุด ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน เร่งก่อสร้างบ้านเรือนทั่วอิสราเอล
ลดอุปสรรคต่างๆ แข่งกับราคาบ้านที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ส่งเสริมยิวต่างแดนที่จะอพยพเข้าอิสราเอล
ส่งเสริมการศึกษา Torah (บัญญัติศาสนา)
นโยบายต่างประเทศ :
ประการแรก
นโยบายต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุด
จะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลจะทำสิ่งที่ตนเห็นควร ไม่เห็นด้วยการกับรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์
(JCPOA)
นโยบายของรัฐบาลเบนเน็ตต์ไม่ต่างจากเนทันยาฮู เห็นว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ JCPOA ไม่ช่วยสร้างสันติภาพ หรือไม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนข้อตกลง เช่น
ห้ามอิหร่านมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมจำนวนมาก
ห้ามอิหร่านพัฒนาและประจำการขีปนาวุธที่ยิงไกลนับพันกิโลเมตร
ประการที่ 2 สงครามต่อต้านก่อการร้าย
กองกำลังคุดส์ (Quds Force) ของอิหร่านเป็นผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในซีเรีย
กาซา เลบานอนและเยเมน ความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ยังคงอยู่ การปะทะเดือนที่แล้วเตือนความจำว่าศัตรูไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของดินแดนอิสราเอล
Quds Force เป็นกองกำลังติดอาวุธที่อิหร่านหนุนหลังซึ่งอาจเป็นชาวอิหร่านหรือต่างชาติ
อิสราเอลต้องการความสงบเรียบร้อยแต่ฮามาสเลือกที่จะใช้ความรุนแรงต่อพลเมืองอิสราเอล
พวกปาเลสไตน์ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อิสราเอลพร้อมจะตอบโต้
ฮามาส
(Hamas) เป็นชาวปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองจากอำนาจของอิสราเอล
ไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล ส่วนใหญ่เป็นซุนนีกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim
Brotherhood) เริ่มเป็นหัวหอกต่อต้านอิสราเอลด้วยความรุนแรงตั้งแต่ปี
2000 ที่เรียกว่า ‘Palestinian intifada in 2000’ เทคนิคหนึ่งที่ใช้คือระเบิดพลีชีพ จุดระเบิดในเขตชุมชน
ทำให้พลเรือนบาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก สร้างความหวาดวิตกวุ่นวายแก่อิสราเอล เป็นอีกสาเหตุที่อิสราเอลอ้างว่าปาเลสไตน์ไม่ต้องการสันติภาพ
ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพออสโล
ประการที่ 3 ขยายความสัมพันธ์กับรัฐอาหรับ
รัฐบาลใหม่จะขยายความสัมพันธ์กับรัฐอาหรับทุกมิติ ส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค
ธุรกิจเอกชน ความร่วมมือทางวัฒนธรรม ให้ประชาชน 2 ฝ่ายติดต่อกันมากขึ้น
ด้านรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์กับบาห์เรนแสดงความยินดีต่อรัฐบาลใหม่อิสราเอล
ยินดีร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ ยึดมั่น Abraham Accords (ยอมรับรัฐอิสราเอล
อยู่ร่วมโดยสันติ ไม่เกลียดชังอีกฝ่ายด้วยเหตุผลศาสนา) ขยายความร่วมมือเพื่อพัฒนา
สร้างความมั่นคง สันติภาพแก่ภูมิภาคและโลก
รัฐบาลใหม่ของนาฟทาลี
เบนเน็ตต์ ยึดหลักประชาธิปไตยที่รวมคนทุกกลุ่มทุกเชื้อสายศาสนาเข้าด้วยกัน
ลดความสุดโต่งของลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) แม้นโยบายหลักหลายข้อยึดแนวทางของฝ่ายขวาไซออนิสต์เช่นเคย เช่น
การผนวกพื้นที่บางส่วนของปาเลสไตน์เป็นของอิสราเอล อิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรงอันดับหนึ่งและการปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านอาหรับ
เป็นแนวทางที่ทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลเนทันยาฮู
พรรค
United Arab List ที่เข้าร่วมรัฐบาลยึดหลักประชาธิปไตยเช่นกัน
ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมในฐานะเป็นพลเมืองอิสราเอลภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงให้ความสำคัญกับชาติมากกว่าศาสนา (ในความหมายยึดถือศาสนาแบบสุดโต่ง อยู่ร่วมกับยิวไม่ได้)
ชนเชื้อสายมุสลิมอาหรับในอิสราเอลยินดีกับรัฐบาลใหม่
การยึดหลักประชาธิปไตยเป็นที่มาของรัฐบาลชุดนี้ที่รวมพรรคจากสายต่างๆ
เข้าด้วยกัน ทั้งฝ่ายขวาไซออนิสต์ จนถึงฝ่ายซ้ายและพวกเชื้อสายมุสลิมอาหรับ
เป็นความสำเร็จที่ชัดเจนอีกครั้งของลัทธิประชาธิปไตย ที่อาจสำคัญไม่แพ้กันคือ ความพยายามลดความขัดแย้งระหว่าง
2 ศาสนา 2 เชื้อสายที่แตกต่าง ทำอย่างไรจึงจะอยู่ด้วยกันได้ดี เรื่องนี้มีผลต่อประเด็นอิสราเอลจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านรัฐอาหรับอย่างไร
แต่การเป็นประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ครบเทอมหรือชนะเลือกตั้งครั้งต่อไป
คนอิสราเอลที่ต่อต้านพรรคร่วมเช่นนี้มีเหมือนกัน อีกมากที่ต้องการรัฐบาลฝ่ายขวา
เหล่านี้เป็นประชาธิปไตยเช่นกัน
ในกรอบระหว่างประเทศ
รัฐบาลอิสราเอลตั้งแต่สมัยเนทันยาฮูปรับความสัมพันธ์กับรัฐอาหรับ เปิดเผยความสัมพันธ์ต่อสาธารณะ
(รัฐบาลมุสลิมกับยิวอยู่ร่วมโลกกันได้) เหลือแต่อิหร่านเท่านั้นที่ยังเข้ากันไม่ได้
อีกทั้งอิสราเอลกับรัฐอาหรับต่างถือว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านยังเป็นประเด็นที่อิสราเอลให้ความสำคัญต่อไป
ที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยคือเรื่องการขยายดินแดน
ประเด็นเยรูซาเล็มตะวันออก เรื่องเหล่านี้จะได้คำตอบชัดเมื่อเกิดเหตุเท่านั้น
---------------------------
1. Cleveland, William L., Bunton, Martin. (2016). A
History of the Modern Middle East (6th Ed.). USA: Westview Press.
2. Corsi, Jerome R. (2009). Why Israel Can't Wait: The
Coming War Between Israel and Iran. New York: Threshold Editions.
3. Dabashi, Hamid. (2011). Shi'ism: A Religion of Protest.
USA: The Belknap Press of Harvard University Press.
4. Full text: PM-to-be Bennett presents gov’t ‘that will
work for the sake of all’. (2021, June 13). Time of Israel. Retrieved from
https://www.timesofisrael.com/full-text-pm-to-be-bennett-presents-govt-that-will-work-for-the-sake-of-all/
5. In speech before swearing-in, Ra’am
leader vows to ‘reclaim expropriated lands’. (2021, June 13). Time of Israel. Retrieved from
https://www.timesofisrael.com/in-speech-before-swearing-in-raam-leader-vows-to-reclaim-expropriated-lands/
6. Israel. (2021). Wikipedia. Retrieved
from https://en.wikipedia.org/wiki/Israel#Demographics2)
(NATO calls on Iran to cease all ballistic missile
activities. (2021, June 14). Times
of Israel. Retrieved from https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/nato-calls-on-iran-to-cease-all-ballistic-missile-activities/
7. Palestinian Authority: This is not a gov’t of change. (2021, June 14). The
Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/opinion/how-will-israels-foreign-policy-change-with-new-govt-670922
8. Roshandel, Jalil., Lean, Nathan
Chapman. (2011). Iran, Israel, and the United States: Regime Security vs.
Political Legitimacy. Califronia: ABC-CLIO, LLC.
9. UAE, Bahrain welcome new Israeli
government, signaling Abraham Accords stability. (2021,
June 15). Time of Israel.
Retrieved from https://www.timesofisrael.com/uae-bahrain-welcome-new-israeli-government-signaling-abraham-accords-stability/
--------------------------