การเผชิญหน้าของยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐกับจีน
ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐสร้างศัตรูอยู่เสมอ จะเผชิญหน้าจีนรุนแรงมากน้อยขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ และขึ้นกับนานาชาติโดยเฉพาะพวกพันธมิตรสหรัฐว่าจะคิดเห็นอย่างไร
การติดตามข่าวคือการดูปรากฏการณ์ผ่านสื่อ การมองอีกแบบคือการศึกษาเชิงหลักคิด เช่น อุดมการณ์ เป้าหมาย ความตั้งใจ ในที่นี้นำเสนอยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐเทียบกับความฝันของจีนที่ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์แม่บทเช่นกัน
ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐกับจีน :
ที่สหรัฐยึดเป็นหลักเรื่อยมาคือ
ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชน
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่าอเมริกาต้องเข้าพัวพัน
(Engagement) เพื่อความมั่นคงของตน
และเชื่อว่าจะส่งผลให้โลกดีขึ้นด้วย
ตั้งใจที่จะเสียสละเลือดและทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศไม่เฉพาะผลประโยชน์แคบๆ
อันเห็นแก่ตัวของเรา เพราะ “สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในเสาหลักของความมั่นคงโลก”
อาจสรุปสั้นๆ
ว่าสหรัฐจะเข้าพัวพันโลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี สิทธิมนุษยชน
เป็นเสาหลักความมั่นคงของโลก เพื่อความผาสุกของอเมริกาและโลก
ด้านประธานาธิบดีสี
จิ้นผิงกล่าวเมื่อปี 2014 ว่า “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) คือการฟื้นฟูชาติจีน ประเทศที่ชาวจีนอยู่ดีกินดีมีความสุข
“ความฝันของจีน” ถูกตีความว่าเป็นยุทธศาสตร์แม่บทล่าสุดของจีน
(Grand Strategy) ต้องการการสร้างชาติขึ้นใหม่ ประชาชนอยู่ดีกินดี
ส่งเสริมสันติภาพกับการพัฒนา จีนหวังสร้างโลกที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน
ไม่คิดเป็นเจ้าผู้ครองโลก (hegemony) ยอมรับโลกที่หลากหลาย ไม่พยายามเปลี่ยนประเทศอื่น
วัฒนธรรมจีนเปิดกว้าง พัฒนา ดูซับสิ่งดีจากวัฒนธรรมอื่น
เพื่อการกินดีอยู่ดีหมายถึงอย่างไร :
จะเห็นว่ารัฐบาลทั้ง 2
ประเทศมีเป้าหมายหลักตรงกันในเรื่องเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีกินดีของประชาชนและต่างต้องการสันติภาพ
แต่หากพิจารณารายละเอียดจะพบความแตกต่าง
การอยู่ดีกินและมั่นคงของสหรัฐสัมพันธ์กับการรักษาความเป็นเจ้าผู้ครองโลก
ภาวะผู้นำโลก ในขณะที่จีนย้ำว่าไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจอิทธิพลจีนกำลังเพิ่มมากขึ้น
สหรัฐต้องการสันติภาพแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพจะต้องมีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก
แผ่อิทธิพลกว้างขวางมากที่สุด ในนามสันติภาพกองทัพสหรัฐทำสงครามไปทั่วหลากหลายรูปแบบ
รวมถึงการโค่นล้มรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ไม่เป็นมิตร เหล่านี้คือตัวอย่าง
“เพื่อการอยู่ดีกินดีของอเมริกัน”
นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมาสหรัฐมีศัตรูอยู่เสมอ ทั้งจากค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ผู้ก่อการร้ายที่สัมพันธ์มุสลิมสุดโต่ง อิหร่าน รัสเซียและจีนยุคหลังสงครามเย็น ทั้งนี้ยังไม่นับประเด็นอื่นๆ
เช่น เกาหลีเหนือ สันติภาพในความหมายของรัฐบาลสหรัฐจะมีศัตรู มีภัยคุกคามอยู่เสมอ
เพียงแต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป
ในอีกมุมหนึ่งน่าคิดว่าประชาชนนับสิบนับร้อยล้านคนจากหลายประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุเพื่อการกินดีอยู่ดีของสหรัฐหรือไม่
ข้อนี้ช่วยให้เข้าใจยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐได้ดี ทุกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึงการอยู่ดีกินดีของคนอเมริกันต้องรีบตั้งคำถามว่าจะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ
อย่างไร
ประเด็นสำคัญคือสหรัฐเปรียบเหมือนเจ้าถิ่นในขณะที่จีนกำลังเป็นผู้ท้าชิงที่เจ้าถิ่นหวั่นไหว
เกิดคำถามว่าสักวันหนึ่งหากจีนได้เป็นลูกพี่จะทำตัวเหมือนรัฐบาลสหรัฐหรือไม่
เพราะต้องรักษาผลประโยชน์เช่นกัน
รัฐบาลทั้ง
2 ประเทศต่างพูดว่าเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีกินดีของประชาชน ถามว่าทุกวันนี้คนจีนกับคนอเมริกันมีความปลอดภัยอยู่ดีกินดีแค่ไหน
มากขึ้นหรือน้อยลง เป็นคำถามที่คนจีนกับคนอเมริกันควรเป็นผู้ตอบเอง ประเมินว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้มากน้อยเพียงไร
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่หรือไม่ รัฐบาลควรปรับแก้นโยบายอย่างไร
คำถามที่ดีกว่านั้นคือ
ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมีส่วนกำหนดนโยบายต่างประเทศมากน้อยเพียงไร
ดูเหมือนว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนไม่เปิดโอกาสสักเท่าไหร่ คนอเมริกันเข้าถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนจริงๆ
แค่ไหน เมื่อตอบคำถามนี้แล้วควรกลับไปทบทวนคำถามเริ่มต้นว่าทุกวันนี้คนจีนกับคนอเมริกันมีความปลอดภัยอยู่ดีกินดีแค่ไหน
มากขึ้นหรือน้อยลง
มหาอาณาจักรหรือจักรวรรดินิยม :
การตั้งประเด็น
“การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐหลีกเลี่ยงได้หรือไม่” อาจเป็นคำถามที่ผิด เพราะทุกวันนี้เผชิญหน้าอยู่แล้วและรุนแรงขึ้นในหลายด้านหลายมิติ
คำถามที่ดีกว่าคือจะบานปลายเป็นสงครามใหญ่หรือเป็นแค่สงครามเย็นใหม่
สงครามเย็นในศตวรรษที่
20 เกิดสงครามตัวแทน (proxy war) ในหลายประเทศ เช่น สงครามเกาหลี
สงครามเวียดนามและอินโดจีน อาจรวมสงครามอัฟกานิสถานที่โซเวียตรัสเซียส่งทหารยึดครอง
เกิดคำถามว่าหากเกิดสงครามเย็นใหม่จะเกิดสงครามตัวแทนด้วยหรือไม่
ประเทศใดจะเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ นี่คือประเด็นที่น่าคิดและใกล้ตัวกว่าสงครามระหว่าง
2 มหาอำนาจโดยตรง
แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรอบใหญ่
มีตัวแสดงหรือประเด็นอื่นๆ ที่มากว่ารัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่
4 (Fourth Industrial Revolution: 4IR) โรคระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เหล่านี้มีผลต่อโลกวันนี้และอนาคต
ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องระหว่างจีนกับสหรัฐเท่านั้น
มาจากสารพัดปัจจัย เกี่ยวข้องกันทั้งโลกและสัมพันธ์กันและกัน ยกตัวอย่าง 4IR อาจทำให้คนจำนวนมหาศาลตกงาน
เกิดคลื่นมนุษย์หลายล้านหรือล้านสิบล้านคนอพยพไปสู่ประเทศที่มีงานทำหรือเลี้ยงดูเขาได้
โรคระบาดโควิด-19 เร่ง 4IR ทำให้บางประเทศยากจนกว่าเดิม คนต้องหนีออกจากประเทศมากขึ้นหรือบางประเทศต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนส่งผลต่อทุกประเทศทั่วโลก
เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยการอยู่ดีกินดีของประชาชน มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อาจเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าการเดินเรือเสรีในทะเลจีนใต้ การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอาจถูกลดความสำคัญ
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหันมาร่วมมือกัน บางทีศัตรูร้ายกว่าต่างชาติคือเสียงร้องขอการอยู่ดีกินดี
ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ใจต้องการของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างเป็นอีกเวทีช่วยให้ประชาชนมีกินมีใช้
ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประวัติศาสตร์สอนว่าความขัดแย้งระหว่างอาณาจักร
ระหว่างประเทศเกิดขึ้นเสมอเพราะผลประโยชน์ขัดกัน จีนที่ก้าวขึ้นมาแม้หวังจะก้าวขึ้นมาโดยสันติแต่จะขัดผลประโยชน์สหรัฐ
ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐคิดเห็นอย่างไร จะใช้วิธีใดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เส้นต้องห้ามอยู่ที่ใด
ในขณะที่รัฐบาลจีนต้องให้ประชากร
1,400 ล้านมีกินมีใช้ ตอบสนองด้านวัตถุมากขึ้นๆ
คนจีนบริษัทจีนกำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลกซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการข่มขู่การคว่ำบาตรแบบที่สหรัฐใช้
MADE IN CHINA and OTHERS by Chinese people
ดูเป็นมิตรและเป็นโอกาสแก่จีนมากกว่า เปิดโอกาสให้จีนก้าวขึ้นมาในทุกมิติ ขยายอิทธิพลอำนาจทุกด้านรวมทั้งพลังอำนาจทางทหาร
ในกรณีของจีนพลังอำนาจทางทหารไม่ใช่เรื่องของการมีกองทัพที่ทรงอานุภาพเท่านั้น
แต่เป็นดัชนีบ่งบอกความเข้มแข็งของประเทศ บ่งบอกว่าประเทศมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพ
มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การเมืองสังคมมีเสถียรภาพ เพราะด้านต่างๆ
เหล่านี้ส่งเสริมให้ประเทศมีกองทัพเข้มแข็งต่อเนื่อง และหมายถึงเกียรติภูมิของชาติ
(เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ย่อมดีกว่าล้าหลังด้อยพัฒนา)
ท้ายที่สุดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ
และขึ้นกับนานาชาติโดยเฉพาะพวกพันธมิตรสหรัฐว่าจะคิดเห็นอย่างไร สงครามเย็นใหม่เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจะพัฒนาไปสู่อะไร
1. Cole, Bernard D. (2016). China's Quest for Great
Power: Ships, Oil, and Foreign Policy. USA: Naval Institute Press.
2. Jin Yuanpu. (2014, February). The Chinese Dream: the
Chinese Spirit and the Chinese Way. Retrieved from
http://english.cntv.cn/special/newleadership/chinesedream05.html
3. Mladenov, Nikolai. (2021). Chinas Grand Strategy and
Power Transition in the 21st Century. Switzerland: Palgrave Macmillan.
4. The White House. (2013, September 10). Remarks by the
President in Address to the Nation on Syria. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/10/remarks-president-address-nation-syria
5. The White House. (2013, September 24). Remarks by
President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved
from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
6. Williams, Andrew J., Hadfield, Amelia., & Rofe, J.
Simon. (2012). International History and International Relations. New
York: Routledge.
--------------------------