ไบเดนตั้งใจแก้โลกร้อนหรือแค่ “สร้างภาพ” “ซื้อเวลา”
ดังที่เสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ชี้ว่าพวกคนมีอำนาจมักพูดจาฟังดูดี จะมีประโยชน์อะไรที่ผู้ใหญ่สอนเราให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบแต่กลับเป็นผู้ทิ้งปัญหาแก่เรา ต้องลงมือแก้ไขจริงจัง ไม่ใช่ดีแต่พูด
เป้าหมายตามข้อตกลงปารีสคือโลกจะต้องไม่ร้อนขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส โดยจะพยายามควบคุมไม่ให้ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ข้อมูลเมื่อปลายปี 2020 ของ United Nations Environment Program ชี้ว่าโลกส่อร้อนขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะเกิน 3 องศาเซลเซียลก่อนสิ้นศตวรรษนี้
ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์บอกเราว่าทศวรรษนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญ เป็นทศวรรษที่ต้องตัดสินใจว่าจะหลีกเลี่ยงผลจากวิกฤตร้อนโลกร้อนหรือไม่ โลกที่ร้อนขึ้น 1.5 องศาหมายถึงเกิดไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง ร้อนจัด เกิดพายุหนักบ่อยกว่าเดิม กระทบต่อชุมชน วิถีชีวิต
ย้อนหลังพฤศจิกายน 2019 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐยื่นเรื่องถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสต่อสหประชาชาติ ชี้ว่ามีแผนลดภาวะโลกร้อนของตัวเอง แม้หลายประเทศไม่เห็นด้วยพยายามขอให้สหรัฐอยู่ต่อ ท้ายที่สุดไม่มีใครสามารถห้ามรัฐบาลทรัมป์
แม้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas หรือ GHG) คือสาเหตุสำคัญทำให้โลกร้อนขึ้นและก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากพลังงานฟอสซิล (Fossil Fuels) เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปเรื่องโลกร้อน ออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล ทั้งๆ ที่พลังงานฟอสซิลคือที่มาของก๊าซทำให้โลกร้อนถึง 80%
จะว่าไปแล้วแนวคิดของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสังคมอเมริกันถกเถียงประเด็นนี้เรื่อยมา พวกยึดถือลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เห็นว่าหากให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากจะกระทบการค้าการลงทุน ต่างจากพวกนักสิ่งแวดล้อมเห็นว่าสิ่งแวดล้อมคือความยั่งยืน การขยายตัวของโลกาภิวัตน์อาจทำให้สิ่งแวดล้อมโลกเสื่อมโทรมเร็วขึ้น เพราะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อุปสรรคสำคัญที่สุดหากจะแก้โลกร้อนคือต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ต้องปรับระบบการผลิตซึ่งลดขีดความสามารถการแข่งขัน คนว่างงานสูงขึ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ผู้นำประเทศหลายคนจึงไม่ยอมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ทรัมป์ผู้ปฏิเสธหลักฐานวิทยาศาสตร์ :
ประเด็นที่สำคัญมากๆ คือ รัฐบาลทรัมป์ไม่ยอมรับหลักฐานทางวิทยาสตร์ทั้งจากสหประชาชาติ และจากหน่วยงานของสหรัฐ
ข้อมูลสหประชาชาติปี 2019 เผยว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โลกปล่อยยังคงเพิ่มสูงขึ้นและไม่มีทีท่าจะลดลง ช่วงปี 2016-2019 อุณหภูมิโลกร้อนทำลายสถิติถึง 4 ครั้ง เฉพาะที่แถบขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียลเมื่อเทียบกับปี 1990 ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปะการังตาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคุกคามชีวิตมากขึ้นทุกที มีผลต่อสุขภาพ ทั้งจากมลพิษอากาศ คลื่นความร้อน เสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร เหล่านี้เป็นสัญญาณโลกร้อนที่ทุกคนรับรู้ได้
รายงาน “การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” (National Climate Assessment) ฉบับปี 2018 อันเป็นผลงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐสหรัฐหลายแห่งสรุปว่าสภาพภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มมีอารยธรรมโลก ต้นเหตุมาจากฝีมือมนุษย์
ผลจากภาวะโลกร้อนกระทบถึงสหรัฐแล้วและรุนแรงชัดเจนยิ่งขึ้น มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ภาวะเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร (ผลผลิตการเกษตรลดลงเนื่องจากอากาศร้อนขึ้น เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง) ธรรมชาติผิดปกติ สถานการณ์จะเลวร้ายลงอีกเมื่อยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป
ข้อสรุปสำคัญคือรัฐบาลสหรัฐอย่างทรัมป์สามารถทิ้งหลักฐานเหล่านี้และเดินหน้านโยบายที่สวนทางแก้ปัญหาโลกร้อน ชวนให้สงสัยข้ออ้างว่าผลประโยชน์ที่ได้น้อยกว่าราคาทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายนั้นจริงหรือไม่ เพราะรายงาน “การประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ของสหรัฐประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไว้มหาศาล รัฐบาลทรัมป์มีวาระแอบแฝงผลประโยชน์ซ่อนเร้นหรือไม่
รัฐบาลทรัมป์เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาเอ่ยถึง ความจริงแล้วมีอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกเป็นเช่นนี้
องค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) นำเสนอความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจ รายงานฉบับปี 2021 ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามมนุษยชาติที่รุนแรงที่สุด (มากกว่าโรคระบาดโควิด-19) ทำลายสิ่งมีชีวิตมากมายแล้ว คนยากจน คนด้อยโอกาส สตรีมักได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นๆ
ทางแก้คือต้องสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green economy) รักษาโลกที่สมบูรณ์เพื่อชนรุ่นหลัง เลิกอุดหนุนการใช้พลังงานน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เก็บภาษีคาร์บอน (carbon tax) ซึ่งมหาเศรษฐีคือผู้ปล่อยก๊าซนี้มหาศาล นำภาษีส่วนนี้ส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซที่กำลังคุกคามมนุษยชาติ อุดหนุนรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลต้องจัดการทั้ง 2 เรื่องอย่างจริงจัง
ผลจากการที่รัฐบาลสหรัฐชุดหนึ่งแก้ปัญหาโลกร้อนแต่ชุดถัดมาฉีกข้อตกลง เป็นเช่นนี้สลับไปมา ทำให้การต่อต้านโลกร้อนของสหรัฐ “ไม่ไปไหน” “ย่ำอยู่กับที่” เกิดคำถามว่านี่คือกลยุทธ์ “ซื้อเวลา” ของรัฐบาลสหรัฐใช่หรือไม่
ในยามที่หลายประเทศทั่วโลกเดินหน้าแก้ปัญหา แม้ส่วนใหญ่จะทำน้อยกว่าที่ควร
สัปดาห์ที่ผ่านมาประธานาธิบดีไบเดนจัดประชุม เชิญผู้นำหลายสิบประเทศเข้าร่วม ชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นไม่อยู่ที่นโยบายของไบเดนแต่อยู่ที่รัฐบาลสหรัฐจะทำต่อเนื่องหรือไม่ ขนาดข้อตกลงปารีสที่หารือหลายปีจนนานาชาติได้ข้อสรุปร่วมยังละทิ้งได้
ใครจะรับประกันได้ว่ารัฐบาลสหรัฐชุดต่อไปจะไม่ฉีกความตั้งใจของไบเดน หันกลับไปใช้นโยบายให้โลกร้อนเร็วกว่าเดิม อย่าลืมว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรวมพลเมืองอเมริกันด้วย ทุกวันนี้ทางการสหรัฐยอมรับเรื่องนี้อยู่แล้ว
การ “สร้างภาพ” “ซื้อเวลา” อาจช่วยให้รัฐบาลเอาตัวรอดได้ แต่เท่ากับโยนภาระปัญหาให้ลูกหลานในอนาคตใช่หรือไม่ ดังที่เสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่เรียกร้องต่อผู้นำประเทศต่างๆ ชี้ว่าพวกคนมีอำนาจมักพูดจาฟังดูดี แต่คำพูดของเขาไม่มีประโยชน์ จะมีประโยชน์อะไรที่ผู้ใหญ่สอนเราให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบแต่กลับเป็นผู้ทิ้งปัญหาแก่เรา ต้องลงมือแก้ไขจริงจัง ไม่ใช่ดีแต่พูด
พวกเขาต้องเป็นผู้แบกรับความทุกข์ยากบนความสะดวกสบายของผู้ใหญ่ในรุ่นนี้
ผู้ติดตามการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนจะพบว่ารัฐบาลสหรัฐขัดขวางข้อตกลงนานาชาติมานานแล้ว ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 1995 ให้นานาชาติลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 เป็นข้อตกลงนานาชาติฉบับใหม่ที่รัฐบาลโอบามาลงนาม แต่ถูกยกเลิกอย่างรวดเร็วเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อทบทวนตั้งแต่ต้นจนจบ เกิดคำถามว่าการเจรจามีข้อตกลงต่างๆ เป็นกลอุบายของรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ ที่หวังให้นานาชาติลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยกันแก้โลกร้อน แต่ส่วนตนนั้นทำแค่ “สร้างภาพ” “ซื้อเวลา” ไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหาจริง ด้วยเหตุผลว่ากระทบต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตคนอเมริกัน
--------------------------
1. Art, Robert J., Jervis, Robert. (2017). In International Politics: Enduring Concepts and Contemporary Issues (13th Ed.). New York: Pearson.
2. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
3. In New York, global climate protesters plead for action. (2019, September 23). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/in-new-york-global-climate-protesters-plead-for-action/a-50542530
4. Kemp, David D. (1994). Global Environmental Issues: A Climatological Approach (2nd Ed.). London: Routledge.
5. Major Trump administration climate report says damage is ‘intensifying across the country’. (2018, November 23). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/energy-environment/2018/11/23/major-trump-administration-climate-report-says-damages-are-intensifying-across-country/?noredirect=on&utm_term=.6046cbe21497
6. Oxfam International. (2021, January). Time to Care. Retrieved from https://oxfamilibrary.openrepository.com/bitstream/handle/10546/620928/bp-time-to-care-inequality-200120-en.pdf
7. The US Will Return To The Global Climate Stage With An Aggressive Goal To Cut Emissions By 2030. (2021, April 22). Buzzfeed News. Retrieved from https://www.buzzfeednews.com/article/zahrahirji/joe-biden-will-announce-a-new-emissions-goal-to-reposition
8. United Nation. (2019). UN Climate Action Summit 2019. Retrieved from https://www.un.org/en/climatechange/un-climate-summit-2019.shtml
9. US begins withdrawal from Paris climate accord. (2019, November 4). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/us-begins-withdrawal-from-paris-climate-accord/a-51113107
10. U.S. impacts of climate change are intensifying, federal report says. (2018, November 23). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/nation/2018/11/23/climate-change-intensifying-economy-impacted-federal-report-finds/2093291002/
--------------------------