สงครามต่อต้านก่อการร้ายของสหรัฐในอัฟกานิสถาน

รัฐบาลบุชกับพวกส่งกองทัพบุกอัฟกานิสถานทำสงครามต่อต้านก่อการร้าย รัฐบาลชุดถัดมาเจรจากับตาลีบันที่สหรัฐตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ในที่สุดรัฐบาลไบเดนประกาศถอนทหารที่เหลือเพียงไม่กี่พันกลับบ้าน

             กลางเดือนเมษายนประธานาธิบดีโจ ไบเดน (Joe Biden) ประกาศถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายใน 11 กันยายนนี้ ยุติสงคราม 20 ปี เหตุเพราะได้ลงโทษผู้ก่อวินาศกรรม 11 กันยาแล้ว ปัจจุบันเหลือทหารอเมริกันราว 2,500 นายจากที่เคยมีสูงสุด 1 แสนนาย

            แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหารแต่แนวคิดนี้มีมาหลายปีแล้ว รัฐบาลสหรัฐเจรจากับตาลีบันเรื่อยมาเพื่อยุติสงคราม คำถามสำคัญคืออนาคตของอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร ตาลีบันจะยึดกรุงคาบูลหรือไม่ ประเทศนี้จะเป็นฐานที่มั่นของผู้ก่อการร้ายไหม อย่าลืมว่าสหรัฐมีนโยบายทำสงครามกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลก

ความสำคัญของกรณีศึกษาอัฟกานิสถาน :

            ในมุมมองทางวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพราะ

          ประการแรก ไม่ใช่เรื่องเก่า ไม่ใช่เรื่องยุคสงครามเย็น เริ่มเมื่อ 20 ปีก่อนในศตวรรษที่ 21 ยุคโลกาภิวัตน์และเรื่อยมาจนวันนี้ เป็นประเด็นร่วมสมัย เป็นตัวอย่างสดใหม่

          ประการที่ 2 เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้เข้าใจกระบวนการตั้งแต่แรก ดำเนินเรื่อยมาเป็นเวลา 20 ปีและสิ้นสุด (อ้างอิงจุดถอนทหารทั้งหมด) เห็นวิธีการนำเสนอของรัฐบาลสหรัฐในแต่ละช่วงตั้งแต่เหตุผลส่งกองทัพเข้าไปจนถึงประกาศถอนทหารทั้งหมด

          ประการที่ 3 ประโยชน์จากความรู้ที่ได้ ที่สำคัญคือเข้าใจนโยบาย การดำเนินนโยบาย การที่สังคมอเมริกันเห็นด้วยกับการส่งทหารเข้าไปทำสงคราม จนถึงการถอนตัวที่ทุกรัฐบาลประกาศว่าคือชัยชนะซึ่งสามารถวิเคราะห์วิพากษ์ได้หลายแง่มุมเช่นกัน

9/11 เหตุส่งทหารเข้าอัฟกานิสถาน :

            เมื่อเกิดเหตุ 11 กันยายน 2001 ผู้ก่อการร้ายบังคับเครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช สรุปว่าพวกอัลกออิดะห์เป็นผู้โจมตีสหรัฐและขณะนั้นอาศัยอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน รัฐบาลบุชขอให้ตาลีบันมอบตัวอุซามะห์ บินลาดิน หรือ โอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) แต่บินลาเดนในยามนั้นเป็นวีรบุรุษของเหล่ามุสลิมที่ต่อต้านสหรัฐ นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งทำให้ตาลีบันประกาศยืนยันสนับสนุนอัลกออิดะห์

            ประธานาธิบดีบุชจึงสั่งกองทัพบุกอัฟกานิสถานโค่นล้มรัฐบาลตาลีบันพร้อมกับกวาดล้างอัลกออิดะห์ ปฏิบัติการเริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2001 หลายประเทศร่วมมือด้วยรวมทั้งรัสเซีย

            ธันวาคม 2001 Mullah Omar ผู้นำตาลีบันกับทหารที่เหลือยอมแพ้ เป็นอันยุติยุคตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน และในเดือนนี้เองรัฐบาลชั่วคราวถูกจัดตั้งขึ้น นายฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ได้เป็นผู้นำรัฐบาล แต่พวกตาลีบันกับกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นหลายกลุ่มปฏิเสธอำนาจรัฐบาลกลาง ดังนั้นแม้ระบอบตาลีบันในกรุงคาบูลจะสิ้นสุด แต่การปะทะกับรัฐบาลใหม่ กองกำลังนาโตและสหรัฐดำเนินต่อไป

ความสำเร็จของรัฐบาลไบเดนหรือของใคร :

            ย้อนหลังเมื่อประธานาธิบดีบารัก โอบามารับช่วงต่อจากประธานาธิบดีบุช โอบามาประกาศนโยบายถอนทหารกลับประเทศ

            พฤษภาคม 2014 ประธานาธิบดีโอบามาประกาศนโยบายความมั่นคงสหรัฐต่ออัฟกานิสถานว่าภายในสิ้นปี 2014 สหรัฐจะยุติภารกิจรบ (combat mission) พร้อมกับถอนกำลังส่วนใหญ่ ให้เหลือเพียง 9,800 นาย ทหารที่เหลือจะทำหน้าที่ช่วยฝึกกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน และจะถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในปี 2016

            แต่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า ต้องเจรจากับตาลีบัน รัฐบาลอัฟกันที่สหรัฐสนับสนุน การเจรจายืดเยื้อหลายปี อย่างไรก็ตามสามารถลดจำนวนทหารลง

            รัฐบาลทรัมป์มาแนวทางเดียวกันคือต้องการพาทหารกลับบ้าน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 รัฐบาลทรัมป์กับตาลีบันบรรลุข้อตกลงระงับการปะทะกัน สาระสำคัญคือระงับความรุนแรงระหว่างสหรัฐกับตาลีบันไว้ก่อน พร้อมกับเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพถาวร สหรัฐจะถอนกำลังออกจากประเทศทั้งหมดภายใน 14 เดือน (ในขั้นแรกจะลดลงเหลือ 8,600 นายจากจำนวนราว 13,000 นาย) ตาลีบันต้องไม่ปล่อยให้อัลกออิดะห์หรือกลุ่มอื่นๆ ใช้ประเทศเป็นฐานปฏิบัติการ ส่วนอนาคตของประเทศเป็นเรื่องที่คนอัฟกันต้องตัดสินใจกันเอง

            ข้อตกลงนี้จึงเป็นข้อตกลงเบื้องต้นสู่สันติภาพในที่สุด

อนาคตของอัฟกานิสถาน :

            เมื่อรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุชนำทัพทำสงครามประกาศว่าจะปราบพวกตาลาบัน อัลกออิดะห์ให้ราบคาบ สถาปนาอัฟกานิสถานที่มี เสถียรภาพและสันติมาถึงยุครัฐบาลทรัมป์กับไบเดนเหลือเพียงต้องการพาทหารอเมริกันกลับบ้าน คนอัฟกันต้องดูแลอนาคตของตัวเอง

            บางคนวิเคราะห์ว่ารัฐบาลทรัมป์กับไบเดนต้องการแค่ได้พาทหารกลับบ้าน ได้ประหยัดงบประมาณส่วนนี้ ส่วนอนาคตประเทศ ผลต่อภูมิภาค ผลในภาพกว้างไม่ถูกเอ่ยถึง ซึ่งคงไม่ผิดถ้ายึดหลักอเมริกาต้องมาก่อน (America First) เพราะหลักการนี้ขอเพียงอเมริกาได้ประโยชน์ อยู่รอดปลอดภัย ไม่สนใจว่าประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร ขอเพียงไม่ขัดผลประโยชน์สหรัฐเป็นอันใช้ได้

            ฮามิด การ์ไซ อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานพูดอีกมุมว่า “ชาวอัฟกันต้องตายในสงครามที่ไม่ใช่ของเรา” การทำสงครามในอัฟกานิสถานมี “เพื่อความมั่นคงของสหรัฐและเพื่อผลประโยชน์ของชาติตะวันตก”

            อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ อดีตประธานาธิบดีการ์ไซกล่าวถึงความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐว่าหลังทุ่มเงินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำศึก 2 ทศวรรษ ทุกวันนี้พื้นที่กว่าครึ่งของประเทศยังอยู่ใต้การปกครองของพวกตาลีบัน ถ้ายึดตามขนาดพื้นที่ ตาลีบันในวันนี้เป็นผู้ปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่

            สหรัฐสามารถล้มรัฐบาลตาลีบัน จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด แต่ครองอำนาจเพียงพื้นที่เล็กๆ บางคนพูดติดตลกว่าได้แค่ดูแลกรุงคาบูลเท่านั้น ทุกวันนี้รัฐบาลอัฟกานิสถานอยู่ได้เพราะกองทัพสหรัฐคุ้มครอง จึงเป็นคำถามว่าหากสหรัฐถอนกำลัง รัฐบาลกรุงคาบูลจะอยู่ได้หรือไม่ ต้องไม่ลืมว่าตาลีบันเป็นผู้ปกครองประเทศก่อนหน้าทหารอเมริกันกับพวกเข้ามา

            ถ้ามองจากมุมตาลีบันอาจอธิบายว่าพวกเขาสู้กับทหารอเมริกันและพวกอย่างทรหดถึง 20 ปี แม้ต้องล่าถอยในช่วงแรก บาดเจ็บล้มตายไม่น้อย แต่สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่คืนได้ก่อนทหารอเมริกันกับพวกถอนทัพกลับบ้าน

ประเด็นชัยชนะของสหรัฐ  :

            ถ้าจะบอกว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของไบเดนคงไม่ใช่ เพราะเมื่อสิ้นรัฐบาลบุชเข้าสู่โอบามา สหรัฐลดทอนกำลังเรื่อยมา พูดได้เพียงว่าท้ายที่สุดสงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานมาจบลงที่สมัยไบเดนเมื่อประกาศถอนทหารที่เหลืออยู่เพียง 2,500-3,500 นายกลับมาตุภูมิ

            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวทางนโยบายต่างประเทศสหรัฐ การถอนทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานถือเป็นความสำเร็จ ตีความว่าไม่มีเหตุต้องคงทหารในประเทศนี้ ตรงกับความต้องการของคนอเมริกันจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐกับตาลีบันตกลงกันได้แล้ว ตาลีบันในวันนี้เลิกทำสงครามครูเสดกับสหรัฐดังที่เคยประกาศไว้

            แต่อัฟกานิสถานกว้างใหญ่ ภูมิประเทศหลายส่วนซับซ้อนนอกการควบคุมของรัฐบาล นอกอำนาจของตาลีบัน เป็นไปได้หรือไม่ที่อาจมีฐานผู้ก่อการร้ายลับและวันหนึ่งจะไปก่อเหตุในอเมริกา ยุโรป

            สงครามต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถานจะเป็นชัยชนะถาวรหรือระยะสั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

25 เมษายน 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8930 วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2564)

 --------------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เป็นไปได้ว่าอาจสงบสุขขึ้นบ้างในระยะหนึ่ง แต่สันติภาพถาวรเป็นของหายาก ไม่มีตั้งแต่เมื่อกองทัพสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถานเมื่อปี 2001 เพราะที่รัฐบาลสหรัฐต้องการมีมากกว่าการถอนหรือลดจำนวนทหาร
ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนามร่างสนธิสัญญาความมั่นคงเนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ช่วยนำสันติภาพสู่ประเทศอย่างแท้จริง เพราะประเทศได้ผ่านหลังจากการทำสงครามอย่างยาวนานกว่า 10 ปี นับจากเหตุ 9/11 เมื่อปี 2001 ท่านพร้อมที่จะลงนามในร่างสนธิสัญญา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวมุ่งสร้างสันติภาพแก่ประเทศ เจรจากับพวกสุดโต่งทุกกลุ่ม เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยุติการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น
บรรณานุกรม :

1. Afghanistan’s Karzai tells AP that US cash fed corruption. (2019, December 11). AP. Retrieved from https://apnews.com/1419420df4e2e7186222c38db3be707d

2. Interview: Karzai says 12-year Afghanistan war has left him angry at U.S. government. (2014, March 3). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/interview-karzai-says-12-year-afghanistan-war-has-left-him-angry-at-us-government/2014/03/02/b831671c-a21a-11e3-b865-38b254d92063_story.html

3. Joe Biden Ends the Afghanistan Nightmare. (2021, Apr 13). The National Interest. Retrieved from https://nationalinterest.org/feature/joe-biden-ends-afghanistan-nightmare-182658

4. Kalic, Sean N. (2013). Terrorism in the twenty-first century: A new era of warfare. In An International History of Terrorism. (pp.263-279). Oxon: Routledge.

5. Statement by the President on Afghanistan. (2014, May 27). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/05/27/statement-president-afghanistan

6. The U.S. Once Wanted Peace in Afghanistan. (2020, February 29). The Atlantic. Retrieved from https://tass.com/world/1124783

7. Wahab, Shaista., Youngerman, Barry. (2007). A Brief History Of Afghanistan. New York: Infobase Publishing.

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก