เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์

ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ดีหรือไม่ มันคือความจริง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศสามารถทำให้ดีขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองเท่านั้น

             ตำราทั่วไปจะสอนว่าหลักประชาธิปไตยมาจากรากความคิดว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเสมอภาค ปัจเจกบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ด้วยประโยชน์ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมเกิดระบอบการปกครองที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังคำพูดที่ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองโดยประชาชน ประชาชนปกครองกันเอง (self-government) ดังที่อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน  และเพื่อประชาชน

            แต่หากพิจารณาบนพื้นฐานความจริงจะพบว่าประเทศที่ใช้ระบอบการปกครองดังกล่าวมีปัญหาไม่มากก็น้อย

กรณีตัวอย่าง ทรัมป์ควรถูกถอดถอนหรือไม่ :

            ตำราหลายเล่มยกย่องว่าสหรัฐคืออีกประเทศที่เป็นแบบอย่างประชาธิปไตย รัฐบาลอเมริกามักอ้างว่าตนเองเป็นผู้นำโลกเสรี ส่งเสริมเสรีภาพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน

            แต่ใน 4 ปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นความบกพร่อง ความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้อย่างเด่นชัด โจ ไบเดนกล่าวว่าแทนที่ประธานาธิบดีจะทำหน้าที่รวมคนทุกสีผิวทุกเชื้อสายเข้าเป็นหนึ่ง เขาทำตรงข้าม “แบ่งแยกประเทศ แบ่งประชาชน” ยึดแนวทางคนขาวสุดโต่งที่เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ โหมกระพือ White Supremacy

            เป็นที่โจษจันความไม่เป็นประชาธิปไตยของผู้นำสหรัฐคนนี้ เป็นเหตุผลที่พรรคเดโมแครทยื่นเรื่องขอถอดถอนถึง 2 ครั้ง เนื้อหาถอดถอนครั้งล่าชี้ว่าพฤติกรรมของทรัมป์เป็นภัยต่อประเทศต่อรัฐบาล คุกคามประชาธิปไตย ขัดขวางการส่งต่ออำนาจโดยสันติ ทำลายตัวท่านที่เป็นประธานาธิบดี

            ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยมากหรือน้อยผู้นำประเทศย่อมเป็นดัชนีสำคัญตัวหนึ่ง

            ในความคิดของพวกเดโมแครททรัมป์ยุยงปลุกปั่นต้องรับโทษ แต่ในมุมของรีพับลิกันส่วนใหญ่ทรัมป์ไม่ได้ผิดตามข้อกล่าวหา เป็นเหตุให้ทรัมป์รอดจากการถูกถอดถอนอีกครั้ง

            ไม่เพียงเท่านั้นผลโพลของ Quinnipiac University พบว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกพรรคต้องการให้ทรัมป์มีบทบาทสำคัญในพรรคต่อไป 87% ต้องการให้ทรัมป์ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก ผลโพลของ Politico-Morning Consult ที่ออกมาในช่วงเดียวกันรายงานทิศทางเดียวกัน 59% ของพวกรีพับลิกันต้องการให้ทรัมป์มีบทบาทสำคัญในพรรคต่อไป

            ดังนั้น คนอเมริกันจะแบ่งเป็น 2 ฝ่ายๆ ที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ต่อต้านทรัมป์ ถ้ามองจากหลักประชาธิปไตยนี่คือความสวยงามตามแบบฉบับ ทุกคนใช้สิทธิตามความคิดเห็นของตน แต่ถ้าคิดให้ดีเรื่องทรัมป์ควรถูกถอดถอนหรือไม่มีประเด็นอื่นๆ แฝงอยู่

(ชมคลิป)

White Supremacy รากเหง้าความไม่เป็นประชาธิปไตย :

            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า White Supremacy คือเรื่องที่คนผิวขาวบางกลุ่มเห็นว่าตนเป็นผู้ปกครองประเทศอันชอบธรรม มีอภิสิทธิ์เหนือพลเมืองอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ เป็นความชอบธรรมที่คนผิวขาวใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ส่วนคนผิวสีต้องเป็นผู้รับใช้ เป็นรากเหง้าของหลักคิดยุคล่าอาณานิคมเห็นว่าการที่คนผิวขาวไปยึดอาณานิคมทั่วโลกเป็นความชอบธรรมดีงาม

            การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐไม่ใช่เรื่องส่วนตัวหรือทัศนคติส่วนตัวเท่านั้น เป็นพัฒนาการเป็นประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องยาวนาน มีการถ่ายทอดหลักคิดวิธีการจากรุ่นสู่รุ่น เป็นวัฒนธรรมค่านิยมของกลุ่ม คนขาวเหล่านี้ไม่คิดว่าการแบ่งแยกเช่นนี้เป็นปัญหา เมื่อไม่เป็นปัญหาจึงไม่ต้องแก้ไข

            ตลอด 4 ปีประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนพวกผิวขาวสุดโต่ง เป็นเหตุผลที่หลายคนโจมตีว่าผู้นำประเทศเป็นพวกเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ ยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังภายในชาติ เพราะหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวนั่นเอง

          แต่ต้องเข้าใจว่า หลักประชาธิปไตยไม่ได้พูดเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียม ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนซึ่ง White Supremacy อยู่ตรงข้ามสิ่งเหล่านี้

ต้องแยกอุดมคติกับความจริง :

            หลายคนชอบยกคำพูด การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนพูดถึงความดีงามของประชาธิปไตย ลัทธิประชาธิปไตยมีข้อดีหลายอย่างเหนือลัทธิการเมืองอื่นแต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องแยกให้ออกระหว่างอุดมคติกับความจริง

            ความจริงคือประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ปัจจุบัน (ประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) บางคนเรียกว่าประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์ไม่เต็มใบ แต่ ความไม่สมบูรณ์นี่แหละคือความจริง อันที่จริงแล้วทุกประเทศล้วนอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ แม้กระทั่งสหรัฐก่อตั้งประเทศมากว่า 240 ปียังไม่สมบูรณ์ ฝรั่งเศส อังกฤษที่ตำราตะวันตกยกว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยล้วนไม่สมบูรณ์

            การปฏิวัติเป็นเพียงจุดเริ่มของการปกครองใหม่ ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เมื่อไหร่ อีกทั้ง ระดับความเป็นประชาธิปไตยมีขึ้นมีลง สหรัฐเป็นตัวอย่างที่ในระยะหลังระดับความเป็นประชาธิปไตยลดลงและลงหนักในสมัยทรัมป์

            ดังนั้น ถ้าอ้างตามหลักวิชาการความเป็นประชาธิปไตยของอเมริกา (และอีกหลายประเทศ) กำลังลดน้อยลง หรืออาจสรุปว่าระบอบประชาธิปไตยอเมริกาเป็นอย่างที่เป็นอยู่นั่นเอง เป็นความจริงที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ชั่วขณะและกำลังเปลี่ยนไป

เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ :

            เพราะว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์และอาจไม่มีวันสมบูรณ์ แต่สามารถทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นด้วยการที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง

            หลักคิดผิดๆ คือ ส.ส. ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่นคือตัวแทนประชาชน เป็นผู้จัดการดูแลทุกเรื่องแทนประชาชน ขอเพียงมีนักการเมืองแล้วประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข หลักคิดที่ถูกคือ ส.ส. ส.ว. กินเงินเดือนภาษีประชาชน ดังนั้นประชาชนเป็นเจ้านายนักการเมือง เป็นเจ้าของประเทศ และ ระบอบประชาธิปไตยคือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การเมืองที่ไม่ใช่ของนักการเมืองเท่านั้น

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นมากกว่าตรวจสอบนักการเมือง

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้หลายระดับ เริ่มตั้งแต่สนใจติดตามเรื่องบ้านเมือง เปิดรับข้อมูลหลายด้าน ฟังความเห็นมุมมองที่หลากหลาย การติดตามเรื่องบ้านเมืองเป็นจุดเริ่มที่สำคัญ คือวิธีการเรียนรู้การเมืองที่ดีที่สุด (เรียนรู้จากของจริง จากเรื่องที่กระทบตัว) ความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นมีผลสำคัญ เช่น ตัดสินใจว่าจะสนับสนุนพรรคใด นักการเมืองคนไหน คนที่ติดตามการเมืองจะเข้าใจการเมืองเพิ่มขึ้นและต่างไปจากเดิม นี่แหละคือการเรียนรู้
            การมีส่วนช่วยเพื่อนบ้านเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดี ชุมชนหมู่บ้านเขตอำเภอตัวเองคือพื้นที่เก็บประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม สนใจแก้ไขปัญหาใกล้ตัวก่อน ขยะหมู่บ้าน น้ำคลองเน่า สินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาคนในชุมชนติดยา

            คนที่เรียนรู้สิ่งเล็กน้อยอย่างจริงจังจะค่อยๆ มองเห็นปัญหาในระดับกว้างขึ้น จะเริ่มเห็นว่าปัญหาหมู่บ้านเกี่ยวข้องกับจังหวัด เกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐบาลจนถึงระดับโลก เช่น วิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้

            ผลอีกประการคือจะเข้าร่วมกลุ่มต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อโซเชียลมีเดียช่วยได้มาก กลุ่มที่ดีควรรวมกลุ่มทำกิจกรรม ชาวนาสมัยก่อนช่วยกันเกี่ยวข้าว หมู่บ้านที่เข้มแข็งจะจัดระบบเฝ้ายามป้องกันคนแปลกหน้าด้วยตัวเอง ฯลฯ นี่คือพลังของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

            การมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องพิจารณากรอบกฎหมายด้วย ไม่ควรทำเรื่องสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณีม็อบบุกสภาเมื่อ 6 มกราคม ไมว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายเพราะโดนยั่วยุหรือไม่ สุดท้ายคนรับเคราะห์คือผู้ที่บาดเจ็บล้มตาย (เสียชีวิต 5 ราย) กับผู้ที่โดนคดีบุกสภา ฆ่าทำร้ายผู้อื่น (อาจติดคุกถึง 20 ปี) ส่วนทรัมป์รอดตัวไม่มีความผิดใดๆ สามารถลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นอุทาหรณ์เตือนสติว่าอะไรควรอะไรไม่ควรทำ การมีส่วนร่วมทางการเมืองทำได้หลายวิธี ไม่จำต้องพาตัวเองเสี่ยงอันตราย

21 กุมภาพันธ์ 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8867 วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564)

---------------------

บทความที่กี่ยวข้อง : 
ประชาธิปไตยที่ทำลายตัวเองย่อมไม่อาจเรียกว่าประชาธิปไตยแท้ เพราะระบอบการปกครองดังกล่าวมีเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขยั่งยืน
เสรีภาพการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย
หากประชาชนไม่กำกับตรวจสอบฝ่ายการเมืองและมีส่วนร่วมในการปฏิรูป (ไม่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองทำเพียงลำพัง) เช่นนั้นย่อมโทษใครไม่ได้ และไม่อาจเรียกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
บรรณานุกรม :

1. Biden says Trump is first racist U.S. president. (2020, July 22). NBC News. Retrieved from https://www.nbcnews.com/politics/donald-trump/biden-says-trump-first-racist-u-s-president-n1234657

2. House Democrats plan to vote Wednesday to impeach Trump. (2021, January 11). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/01/11/politics/house-democrats-impeachment-plans/index.html

3. Joe Biden calls Donald Trump 'the first racist president' of the United States while Trump insists he has done more to help black Americans than anyone since Abraham Lincoln. (2020, July 22). Daily Mail. Retrieved from https://www.dailymail.co.uk/news/article-8550767/Joe-Biden-calls-Donald-Trump-racist-president-United-States.html

4. Jones, Peter. (2001). freedom. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 363-369). London: Routledge.

5. Most Republicans want to see Trump play big role in GOP going forward: polls. (2020, February 16). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/politics/republicans-trump-play-big-role-gop-going-forward-polls

6. Trump remains 2024 candidate of choice for most Republicans, poll shows. (2020, February 16). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2021/feb/16/trump-2024-poll-republicans-most-popular-candidate

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก