หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule)

คือการทำให้ศัตรูอ่อนแอด้วยการยุยงปลุกปั่น ให้คนในสังคมขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่อาจหาทางออกด้วยสันติวิธี เพื่อเจ้าของยุทธศาสตร์จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เช่น เข้าไปมีอิทธิพลครอบงำปกครอง

            หลักแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule หรือ divide and conquer) คือการทำให้ศัตรูอ่อนแอด้วยการยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยก บ่อนทำลายความสามัคคี คนในสังคมขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่อาจหาทางออกด้วยสันติวิธี เกิดการต่อสู้ทางความคิดจนถึงขั้นใช้อาวุธสงคราม เพื่อเจ้าของยุทธศาสตร์จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ เช่น เข้าไปมีอิทธิพลครอบงำ ยึดครอง ปกครอง

กรณีศึกษาจากประวัติศาสตร์ :

            หลักแบ่งแยกแล้วปกครองเป็นที่นิยมใช้ตั้งแต่โบราณกาล การศึกษาตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ดังนี้

            กรณีการแบ่งแยกออตโตมัน

            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ออตโตมันอยู่ฝ่ายเยอรมนีและเป็นผู้ครอบครองอาหรับ รัฐบาลอังกฤษสัญญาว่าจะให้อาณาจักรอาหรับ (Arab kingdom) เป็นอิสระจากออตโตมัน ผู้นำอาหรับสมัยนั้น ฮุสเซน บิน อะลี (Hussein bin Ali, 18561931) จึงนำชาวอาหรับต่อต้านพวกเติร์ก

            พวกเติร์ก (Turks – สายเจ้าผู้ปกครองออตโตมัน) กับพวกอาหรับ (Arabs) แม้มีศาสนาอิสลามร่วม แต่ด้วยความแตกต่างทางเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ ความต้องการส่วนตัวของผู้ปกครองจึงเกิดความบาดหมาง ในสมัยนั้นดินแดนชายฝั่งติดทะเลของคาบสมุทรอาระเบียเป็นของออตโตมันเกือบหมด ยกเว้นคูเวต โอมานและฝั่งติดทะเลภาคใต้ ดินแดนที่เป็นซีเรียเดิมซึ่งประกอบด้วยซีเรีย อิรัก จอร์แดน เลบานอน อิสราเอลเป็นของออตโตมันด้วย

            รัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสหวังใช้สงครามเพื่อแยกจักรวรรดิออตโตมันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ใช้คือสนับสนุนพวกชาตินิยมอาหรับ เพื่อให้คนท้องถิ่นทำสงครามต่อต้านออตโตมัน โดยที่อังกฤษกับฝรั่งเศสไม่คิดจะให้อาหรับเป็นอิสระอย่างแท้จริง รัฐบาลอังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นนักล่าอาณานิคมใช้ “ลัทธิชาตินิยมที่มีเป้าหมายปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นอาณานิคม” เป็นเครื่องมือล่าอาณานิคม

            ในมุมอาหรับเป็นช่วงที่ลัทธิชาตินิยมอาหรับมาแรง อาจมีอิทธิพลไม่น้อยกว่าศาสนาเพราะออตโตมันนับถืออิสลามเช่นเดียวกัน แต่พวกอาหรับยังต้องการเป็นประเทศเอกราช พ้นจากอำนาจผู้ปกครองเติร์ก เกิดสงครามเข่นฆ่าระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง และเมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม สิ้นจักรวรรดิออตโตมัน อังกฤษมิได้รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพวกอาหรับ

            กรณีอังกฤษแบ่งแยกอินเดีย

            อินเดียมีแผ่นดินกว้างใหญ่ ประชากรมหาศาล รัฐบาลอังกฤษผู้เป็นเจ้าอาณานิคมใช้วิธีทำให้อินเดียอ่อนแอด้วยการสร้างความเกลียดชังในหมู่คนอินเดียด้วยกัน คนอินเดียจมอยู่ในความขัดแย้งกันเองแทนที่จะร่วมกันต่อต้านอังกฤษที่เข้ามาปกครองพวกตน

            วิธีการของรัฐบาลอังกฤษเริ่มต้นด้วยการทำสำมะโนประชากรแยกแยะว่าใครอยู่ที่ไหน ชาติพันธุ์ใด นับถือศาสนานิกายใด อังกฤษสอนให้คนอินเดียยึดมั่นชาติพันธุ์ศาสนานิกายของตน แต่เดิมอินเดียเป็นพหุสังคมมีศาสนานิกายมากมาย แม้มีความขัดแย้งแต่ยังอยู่ร่วมกันได้  มาบัดนี้ความขัดแย้งทั้งจากชาติพันธุ์ นิกายศาสนากำลังบาดลึกรุนแรง

            การสร้างความขัดแย้งในหมู่ชนชนปกครองเป็นอีกวิธีที่ใช้ รวมทั้งยุยงให้คนท้องถิ่นเกลียดชังชนชั้นปกครอง เช่น ที่เบงกอล (Bengal – แถบบังคลาเทศในปัจจุบัน) ประชาชนประท้วงร้องขอให้คนท้องถิ่นมีส่วนปกครองมากขึ้น รัฐบาลอังกฤษสนับสนุนคนท้องถิ่นที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมผู้ยากไร้ลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครองที่เป็นคนเชื้อสายอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู

            สังเกตว่ารัฐบาลอังกฤษใช้เหตุผลที่ดูดี คือให้คนยากจนต่อต้านคนมั่งมี ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น และประเด็นความแตกต่างทางศาสนา แต่เป้าหมายเบื้องหลังที่อังกฤษต้องการไม่ใช่เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ให้เสรีประชาธิปไตย แต่ให้ประเทศอินเดียวุ่นวายเพื่อตนจะได้ปกครองต่อไป

            ผลประการหนึ่งที่ตามมาคือเกิดพรรคมุสลิมที่ต่อต้านพรรคของพวกฮินดูในรัฐสภา เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมทั่วประเทศ เรียกร้องสิทธิมุสลิมตามแนวทางของ Mohammed Ali Jinnah และเกิดกระแสแบ่งแยกดินแดนอย่างรวดเร็ว

            ฝ่ายฮินดูตอบโต้ด้วยการจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวของตนที่เรียกว่า Hindu Mahasabha เพื่อรักษาสิทธิของพวกฮินดูบ้าง พวกมุสลิมกับฮินดูที่เคลื่อนไหวต่างชิงชังต่อกัน ประเทศชาติอ่อนแอ เป็นเหตุผลที่อังกฤษเจ้าอาณานิคมสามารถฉกฉวยผลประโยชน์จากประเทศใหญ่โตนี้ถึง 90 ปี และลงเอยด้วยอินเดียถูกแบ่งแยกดินแดนออกไป เกิดปากีสถานกับบังคลาเทศ (ชื่อเดิมปากีสถานตะวันออก) ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          กรณีแบ่งแยกอาณานิคมแอฟริกาของฝรั่งเศส

            ค.ศ.1958 รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นสมควรปลดปล่อยอาณานิคมของตนในแอฟริกา แต่การปลดปล่อยใช้ยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครอง แบ่งแอฟริกาตะวันตกของฝรั่งเศส (French West Africa) และอาณานิคมแอฟริกาที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร (French Equatorial Africa federations) ออกเป็น 13 ประเทศ ยาพิษร้ายแรงที่รัฐบาลฝรั่งเศสทิ้งไว้คือประเทศที่แบ่งใหม่ประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ คนเหล่านี้ไม่คุ้นกับการมีผู้นำร่วม รัฐบาลที่สามารถควบคุมให้ประเทศมีเสถียรภาพคือรัฐบาลที่ใช้หลักอำนาจนิยม ผลเสียคือบางครั้งได้ผู้นำที่ไม่ได้เอาใจใส่ประชาชนทุกกลุ่ม เกิดรัฐประหารบ่อยครั้ง เกิดสงครามกลางเมืองอยู่เสมอ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศยากจนพัฒนาไม่ได้

            ในกรณีนี้การแบ่งแยกแล้วปกครองคือจัดแบ่งสังคมในลักษณะไม่เอื้อต่อการปกครอง จำต้องให้อดีตเจ้าอาณานิคมช่วยเหลือต่อไป

            Thomas C. Mountain ชาวแอฟริกาตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตะวันตก คือการแบ่งแยกแล้วปกครอง ยุยงให้สังคมแตกแยกต่อสู้กันเอง บางครั้งลงเอยด้วยสงครามกลางเมือง ทำให้แอฟริกาอ่อนแอไม่จบไม่สิ้น เป็นยุทธศาสตร์ของพวกจักรวรรดินิยม

            Mountain อธิบายว่าก่อนใช้ระบอบประชาธิปไตย ประเพณีของชาวบ้านคือการพูดคุยหาทางออกด้วยฉันทามติ (consensus) ไม่มีใครได้ทุกอย่างหรือเสียทุกอย่าง ทุกคนยอมรับฉันทามติ การเลือกผู้นำในหลายประเทศใช้วิธีปรึกษาหารือจนทุกคนยอมรับว่าจะให้ใครขึ้นเป็นผู้นำ

            ถ้าหลักคิดประชาธิปไตยคือทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ชาวแอฟริกาขอเลือกที่จะไม่เอาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ประชาธิปไตยไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ช่วยให้คนอิ่มท้อง ได้สวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่น เมื่อป่วยแล้วได้รับการรักษา ชีวิตที่สงบสุขตามอัตภาพคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ

            ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองที่น่าสนใจ หลายประเทศใช้ได้ผลดี แต่ทุกวันนี้นักวิชาการยอมรับแล้วว่าจะได้ผลดีมากน้อยขึ้นกับวัฒนธรรมสังคม บริบทแวดล้อมด้วย

การแก้เกมแบ่งแยกแล้วปกครอง :

            ฝ่ายจักรวรรดินิยม นักล่าอาณานิคมผู้รุกรานหวังสร้างความแตกแยกจากประเด็นที่ปลุกเร้าได้ เช่น ใช้กระแสชาตินิยมปลุกเร้าแบ่งแยกชาติพันธุ์ ใช้ความยากจนปลุกเร้าให้ต่อต้านชนชั้นปกครองผู้มั่งมี และใช้ประเด็นความแตกต่างทางศาสนาความเชื่อ

            ในการสร้างความจงเกลียดจงชังจำต้องยุยงปลุกปั่นให้เกิดความอารมณ์แรงกล้า เช่น จากที่เคยอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นการพยายามเรียกร้องสิทธิของตนเอง ยอมตายเพื่อชาติหรือลัทธิที่ยึดถือ สามารถฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นหรือคนอื่นที่คิดต่าง หากจะแก้ปัญหาความยากจนต้องใช้วิธีทำลายคนร่ำรวย อยู่ร่วมในหมู่บ้านสังคมเดียวกันไม่ได้อีกแล้วถ้านับถือคนละศาสนานิกายความเชื่อ

            ผู้รุกรานพยายามสร้างกระแสความคิดการทำลายล้าง ทางออกต้องเริ่มด้วยการเข้าใจแผนแบ่งแยกแล้วปกครอง เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตื่นตัวพัฒนาตนเองไม่สิ้นสุด สร้างสังคมที่ทุกคนอยู่ได้แม้คิดต่างเห็นต่างชอบต่าง ทุกฝ่ายที่เห็นต่างต้องถอยคนละก้าว ปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้อีกฝ่ายยอมรับได้มากขึ้น แม้มีสิทธิแต่ยอมสละบางส่วนเพื่อส่วนรวม ให้ความสำคัญกับการอยู่รอดของสังคมส่วนรวม

            “การให้” เป็นวิธีที่ทุกคนทำได้ เริ่มจากให้ความรักความเมตตา (แทนความเกลียดชัง) ไม่คิดว่าตัวเองดีที่สุดเก่งที่สุด (คนอื่นมีดีเหมือนกันเพียงแต่ต่างรสนิยม) ยึดหลักนิติธรรม คนที่มีมากกว่าควรให้คนขัดสน (คนมีมากกว่าไม่จำต้องเป็นเศรษฐี คนมีข้าวกิน 3 มื้อควรแบ่งให้คนที่มีน้อยกว่า) การช่วยเหลือแบ่งปันต้องเป็นวัฒนธรรมสังคม ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่แบ่งชาติพันธุ์ศาสนานิกาย

            การลงมือทำเท่าที่นั้นคือคำตอบ

22 พฤศจิกายน 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8777 วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563)

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

นโยบายเดินเรือเสรี นโยบายจักรวรรดินิยมสหรัฐ
คำว่าเดินเรือเสรี ฟังดูผิวเผินเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แต่คำว่าเดินเรือเสรีของรัฐบาลหมายถึงเฉพาะสหรัฐเท่านั้นที่มีความเสรีเป็นพิเศษเหนือประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เรือจะต้อง “เสรีภายใต้กรอบระเบียบที่วางไว้” ซึ่งเสรีน้อยกว่าของสหรัฐ อีกทั้งรัฐบาลสหรัฐจะใช้ทุกวิธีเพื่อกดดันบังคับให้นานาประเทศต้องอยู่ภายใต้เสรีตามระเบียบดังกล่าว เป็นตัวอย่างความเป็นจักรวรรดินิยม

บรรณานุกรม :

1. Bhatnagar, Anurag. (2012). Divide and Rule in British Raj. Retrieved from http://www.anuragbhatnagar.com/history/divide-and-rule-in-british-raj

2. Copland, Ian. (2001). India 1885-1947: The Unmaking of an Empire: From Empire to Republic. England: Essex.

3. Erlich, Reese. (2014). Inside Syria: The Backstory of Their Civil War and What the World Can Expect. New York: Prometheus Books.

4. McKay, John P., Hill, Bennett D., Buckler, John., Ebrey, Patricia Buckley., & Beck, Roger B. (2009). A History of World Societies (8th Ed.). USA: Bedford/St. Martin’s.

5. Mountain, Thomas C. (2013, June 18). Divide and Rule in Africa. CounterPunch. Retrieved from http://www.counterpunch.org/2013/06/18/divide-and-rule-in-africa/

6. Sarkar, Sumit. (2014). Modern India 1886-1947. India: Dorling Kindersley.

--------------------------

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อุดมการณ์ทางการเมือง (1) นิยาม อุดมการณ์ทางการเมือง

อุดมการณ์ทางการเมือง (2) อุดมการณ์เสรีนิยม

กำเนิด “รัฐสมัยใหม่” ตัวแสดงเอกของโลก