อาหรับญาติดีอิสราเอลกระเทือนอิหร่าน
การปรับความสัมพันธ์ระหว่างอาหรับกับอิสราเอลอาจช่วยแก้ปัญหาปาเลสไตน์ นำสันติภาพสู่ตะวันออกกลาง แต่อีกมุมที่ชัดเจนคือนับจากนี้ชาติอาหรับกับอิสราเอลจะร่วมกันเล่นงานอิหร่านอย่างเปิดเผย
การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตสู่ระดับปกติระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลตามข้อตกลง
Abraham Accords ถูกนำเสนอว่าเป็นเรื่องระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล
หวังแก้ปัญหาปาเลสไตน์ นำสันติภาพสู่ตะวันออกกลาง แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งเรื่องนี้กระเทือนอิหร่านโดยตรง
อยาตุลเลาะห์
อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านกล่าวถึงข้อตกลงดังกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ทรยศ
(betrayed) โลกอิสลาม ต่อโลกอาหรับ
ต่อประเทศในภูมิภาคและต่อปาเลสไตน์
ในขณะที่อิหร่านยังคงต่อต้านอิสราเอล
ลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) อย่างเข้มข้น ชาติอาหรับอย่างน้อย
3 ประเทศ จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน
และอียิปต์ประกาศเป็นมิตรกับอิสราเอลอย่างเป็นทางการแล้ว
ปี 1979 อยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์นำการปฏิวัติอิสลามสู่ประเทศอิหร่าน
โค่นล้มระบอบอำนาจเก่า เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบ Islamic theocracy ยึดหลักศาสนาเป็นรากฐานการปกครอง และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”
การล้มระบอบกษัตริย์ชาห์กระทบผลประโยชน์มหาศาลของสหรัฐ อิหร่านยุครัฐอิสลามกลายเป็นศัตรูสำคัญของรัฐบาลสหรัฐนับจากนั้นเป็นต้นมา
ในขณะนั้นมุสลิมทั่วโลกชื่นชมความกล้าหาญของโคไมนี
เป็นแบบอย่างผู้นำมุสลิมที่นำการต่อต้านพวกตะวันตก อยาตุลเลาะห์ โคไมนีกล่าวซ้ำหลายครั้งว่าสหรัฐคือจอมซาตาน
(Great Satan)
ในสมัยนั้นปัญหาปาเลสไตน์เป็นประเด็นร้อนแรงของโลกมุสลิม
หลายคนตีความว่าคือความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่ยอมไม่ได้ ขอต่อต้านพวกยิวไซออนิสต์จนถึงที่สุด
รัฐบาลอิหร่านโหมกระแสต่อต้านไซออนนิสต์อย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีมาห์มุด
อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) กล่าวเมื่อกุมภาพันธ์ 2006
“ตราบใดที่ระบอบไซออนิสต์ยังอยู่
จะเป็นภัยคุกคามต่อผู้เชื่อและผู้ศรัทธาศาสนาอิสลาม” อยาตุลเลาะห์ โคไมนี ได้กล่าวไว้ว่าจะต้อง
“ลบอิสราเอลออกจากแผนที่โลก”
สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอิสลามอิหร่านพยายามทำคือรวมพลังมุสลิมโลก อยาตุลเลาะห์
คาเมเนอีกล่าวว่าความเป็นเอกภาพ “คือเรื่องสำคัญที่สุดของโลกมุสลิม”
ชาติมหาอำนาจเจ้าโลกพยายามสร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม สร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงเบนให้มุสลิมสนใจเรื่ออื่นแทนปัญหาปาเลสไตน์ และบ่อยครั้งที่กล่าวกระทบรัฐอิสลามอื่นๆ เช่น “รัฐบาลชาติอิสลามบางประเทศไม่ตระหนักผลที่จะเกิดขึ้นจากการสนับสนุนสถานการณ์ปัจจุบัน”
และไม่รู้ว่าการทำเช่นนี้จะเผาพวกเขาเอง
จะเห็นว่ายิ่งระบอบอิหร่านเป็นที่ชื่นชม
ยิ่งเกิดคำถามต่อความชอบธรรมของผู้ปกครองรัฐอิสลามโดยเฉพาะชาติอาหรับทั้งหลาย เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างรัฐบาลอิสลามด้วยกันเอง
และด้วยความที่รัฐบาลอิหร่านย้ำเรื่อยมาว่าอิหร่านคือรูปแบบรัฐอิสลามที่ถูกต้องที่สุด
เท่ากับกำลังชี้ว่ารัฐอิสลามของประเทศอื่นๆ นั้นมีปัญหา
รัฐบาลอิหร่านอาจพูดด้วยความปรารถนาดีแต่สำหรับรัฐบาลอิสลามอื่นๆ
คำพูดทำนองนี้เป็นปัญหาต่อพวกเขา
อิหร่านศัตรูตัวร้ายของรัฐอาหรับ :
ยิ่งอิหม่ามโคไมนีตั้งใจปฏิรูปอิสลามมากเพียงใด
แรงต้านจากมุสลิมบางกลุ่มบางฝ่ายยิ่งแรงขึ้นเท่านั้นและเป็นเช่นนี้สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
กษัตริย์ซัลมาน
บิน อับดุล อาซิซ (King Salman Bin Abdul Aziz)
แห่งซาอุดีอาระเบียตรัสในที่ประชุม Arab Islamic American Summit 2017 ว่า
“การประชุมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชาติอาหรับกับอิสลามผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด
55 ประเทศ รวมประชากรกว่า 1,500 ล้าคน ได้เป็นหุ้นส่วนสำคัญในการต่อสู้พลังสุดโต่ง
(extremism) กับลัทธิก่อการร้าย (terrorism) เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพโลก”
“ทุกวันนี้เราเห็นบางคนที่คิดว่าตัวเองเป็นมุสลิมพยายามบิดเบือนภาพลักษณ์ศาสนา
พยายามเชื่อมโยงศาสนาอันยิ่งใหญ่นี้เข้ากับความรุนแรง” ซึ่งขัดแย้งหลักศาสนา
“ระบอบอิหร่านกับกลุ่มและองค์กรใกล้ชิดอย่างฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ฮามาส (Hamas) รวมทั้ง ISIS (Daesh) อัลกออิดะห์ (Al Qaeda)
และอีกหลายกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน” พวกนี้ “พยายามใช้ประโยชน์จากอิสลาม (exploit
Islam) เพื่อปิดบังเป้าหมายทางการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง
ความสุดโต่ง การก่อการร้าย ความขัดแย้งทางศาสนาและนิกาย”
ความขัดแย้งภายในโลกมุสลิมในยุคนี้เห็นได้ชัดจากวาทกรรมจันทร์เสี้ยวชีอะห์
(Shiite Crescent/ Shia Crescent) กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่สอง
(King Abdullah II) แห่งจอร์แดนตรัสในปี 2004 ว่าพวกซุนนีกำลังเผชิญหน้ากับจันทร์เสี้ยวชีอะห์อันประกอบด้วยพื้นที่ตั้งแต่กรุงเตหะรานทอดยาวถึงกรุงเบรุต
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกกำลังร่วมกันต่อต้านทุกประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของจันทร์เสี้ยวชีอะห์
ด้านอดีตผู้นำ
อยาตุลเลาะห์ โคไมนีเคยกล่าวว่าผู้ปกครองซาอุฯ เป็นพวกวาห์ฮะบีที่ไร้พระเจ้า (godless
Wahhabis) พร้อมกับเรียกร้องให้ล้มราชวงศ์ซาอุฯ
ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองซาอุฯ
กับระบอบอิหร่านมีต้นเหตุทั้งที่มาจากประวัติศาสตร์ นิกายศาสนา
การช่วงชิงของชาติมหาอำนาจ นับจากเริ่มปฏิวัติอิหร่าน 1979
อิหร่านกลายเป็นชาติปรปักษ์อันดับหนึ่งของรัฐบาลซาอุฯ กับพวกและยังคงเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
เบื้องลึกหลักคิดคืนดีกันเถอะเพราะประชาชนเบื่อหน่ายสงคราม
:
ในการปรับสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับ
(สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับบาห์เรน) มีผู้พยายามชี้นำว่าปาเลสไตน์เป็นเรื่องเก่า คนรุ่นใหม่เบื่อหน่ายทำสงครามอีกแล้ว
ควรเลิกยึดติดความขัดแย้งในอดีต
บุตรเขยประธานาธิบดีทรัมป์
จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับความสัมพันธ์รอบล่าสุดกล่าวว่า
“อะไรก็เป็นไปได้” เมื่ออาหรับญาติดีกับอิสราเอล
ชี้ว่าคนตะวันออกกลางเลิกยึดติดความขัดแย้งในอดีต “ประชาชนในภูมิภาคเบื่อทำสงครามแล้ว”
ดังที่นำเสนอข้างต้น
ปัญหาปาเลสไตน์เป็นประเด็นที่รัฐบาลอิหร่านโหมกระพือเรื่อยมาเพื่อต่อต้านตะวันตก ผูกโยงกับศาสนา
ทำให้อิหร่านโดดเด่นในโลกมุสลิม การลดความสำคัญปัญหาปาเลสไตน์นอกจากเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอล
ประโยชน์สำคัญอีกข้อคือลดทอนบทบาทอิหร่านในโลกมุสลิม
ยุทธศาสตร์ปิดล้อมอิหร่าน :
นับจากปฏิวัติอิหร่าน
ประเทศอิหร่านกลายเป็นหนามยอกอกของรัฐบาลอิสราเอล สหรัฐและซาอุฯ กับพวก ทั้ง 3
ฝ่ายร่วมต่อต้านอิหร่าน ใช้ยุทธศาสตร์ปิดล้อม รัฐบาลทรัมป์ประกาศนโยบายกดดันสุดขีด
(maximum pressure) ขู่คว่ำบาตรบริษัทเอกชนทุกชาติหากทำธุรกิจกับอิหร่าน
และห้ามประเทศใดๆ ซื้อน้ำมันอิหร่าน เลิกการผ่อนผันยอมให้บางประเทศนำเข้าน้ำมันอิหร่าน
ประเด็นปาเลสไตน์
การตั้งรัฐอิสราเอลเคยเป็นต้นเหตุสงครามใหญ่ระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อียิปต์ถึง 5
ครั้ง แต่ในระยะหลังความเป็นศัตรูลดลง ร่วมมือกันลับๆ เพื่อต้านอิสราเอล บัดนี้เมื่ออีก
2 ชาติอาหรับญาติดีกับอิสราเอล สิ่งที่จะเห็นคือความร่วมมือต้านอิหร่านอย่างเปิดเผย
คำสอนที่ว่าลัทธิไซออนิสต์เป็นศัตรูร้ายกำลังกลับกลายเป็นมิตร
หรืออย่างน้อยร่วมกันต้านอิหร่านผู้เป็นปรปักษ์ตัวสำคัญกว่า รวมความแล้วคือการจับมือระหว่างรัฐบาลสหรัฐ
อิสราเอล ชาติอาหรับ (บางส่วน) เพื่อต้านอิหร่าน ส่วนหนึ่งของเนื้อแท้ที่ซ่อนอยู่ในข้อตกลงสันติภาพ
Abraham Accords คือการปิดล้อมอิหร่านอย่างเปิดเผยกว่าเดิมนั่นเอง
ถ้าจะพูดว่าอาหรับเบื่อทำสงครามกับอิสราเอล ควรพูดต่อว่า “แต่จะร่วมมือกับอิสราเอลและสหรัฐต่อต้านอิหร่านต่อไป”
โดยที่ประชาชนปาเลสไตน์หลายล้านคนเป็นผู้จ่ายราคา ถูกไล่ออกจากถิ่นอาศัย ใช้ชีวิตอย่างคนไร้ประเทศ
ไม่รู้อนาคต ออกลูกออกหลานในค่ายผู้อพยพลี้ภัย
ที่ได้เห็นได้ฟังจากผู้นำประเทศหลายคนคือการปรับความสัมพันธ์ระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอล
มุ่งมั่นแก้ปัญหาปาเลสไตน์ด้วยสันติวิธี นำสันติภาพสู่ตะวันออกกลาง แต่อีกมุมคือ นับจากนี้ชาติอาหรับกับอิสราเอลจะร่วมกันเล่นงานอิหร่านอย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น
เป็นอีกความแหลมคมของข้อตกลงปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้ ข้อสรุปนี้จะจริงหรือเท็จ
กาลเวลาจะเป็นผู้พิสูจน์
11 ตุลาคม
2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8735 วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ผลเมื่อชาติอาหรับญาติดีกับอิสราเอล
การปรับความสัมพันธ์อิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นกรณีน่าศึกษา จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้แต่นับวันความเป็นศัตรูหดหาย อุดมการณ์เปลี่ยนได้ เป้าหมายเปลี่ยนไป เปิดเผยชัดเจนกว่าเดิม
บรรณานุกรม :1. Alexander, Yonah., Hoenig, Milton. (2008). The New
Iranian Leadership: Ahmadinejad, Terrorism, Nuclear Ambition, and the Middle
East. USA: Greenwood Publishing Group.
2. Ayatollah Khamenei: UAE betrayed the
Islamic world. (2020, September 1). Tehran
Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/451905/Ayatollah-Khamenei-UAE-betrayed-the-Islamic-world
3. Dargie, Richard. (2008). Iran. USA: Arcturus Publishing.
4. Duiker, William J. (2009). Contemporary World History
(5th ed.). USA: Wadsworth.
5. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and
the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's
Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies
(pp.11-30). New York: Palgrave Macmillan.
6. Hitchcock, Mark. (2006). Iran: The Coming Crisis:
Radical Islam, Oil, and the Nuclear Threat. CO: Multnomah Books.
7. Jared Kushner hails historic Middle
East peace deals: 'Makes you realize that anything is possible'. (2020, September 15). Fox News.
Retrieved from https://www.foxnews.com/media/jared-kushner-historic-middle-east-peace-deal
8. King Salman: Iran spearheading global terror. (2017,
May 22). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1103121/saudi-arabia
9. Kushner on Middle East peace deals: 'The
people in the region are tired of war'. (2020, September
15). CNN. Retrieved from
https://edition.cnn.com/2020/09/15/politics/jared-kushner-cnntv/index.html
10. Leader calls for promotion of Islamic unity. (2014,
January 19). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/113532-leader-calls-for-promotion-of-islamic-unity-
11. Saudia
Arabia and Iran: The Cold War of Islam. (2016, May 9). Spiegel
Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/saudia-arabia-iran-and-the-new-middle-eastern-cold-war-a-1090725.html
12. The Trump Administration Is
Suddenly Pretending That It Didn’t Blow Up the Iran Nuclear Deal. (2020, April 28). State. Retrieved
from https://slate.com/news-and-politics/2020/04/trump-iran-nuclear-deal-snapback-clause-pompeo.html
13. What President Ahmadinejad Actually
Said About Israel and Iran's Nuclear Program. (2012, September 27) Information
Clearing House. Retrieved from http://www.informationclearinghouse.info/article12758.htm
--------------------------