การแบน TikTok อาจตีความว่าคือการปิดล้อมจีน เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ แต่ในอีกมุมอาจเป็นเพียงแค่เด็กเล่นสนุก รวมหัวปั่นประธานาธิบดีทรัมป์ตามประสาที่พวกเขาทำได้และคิดว่าสนุกดี
ทั่วโลกรู้จักและใช้ TikTok โดยเฉพาะคนวัยรุ่นหนุ่มสาว
แอปนี้เริ่มเข้าสหรัฐเมื่อปี 2018 ในช่วงเวลา 2 ปีมีผู้ใช้ 100 ล้านคน ทั่วโลกมีผู้ใช้จริงราว
1,000 ล้านคนใน 150 ประเทศ เป็นแอปยอดนิยมระดับโลกและมากขึ้นในยุคโควิด-19
เฉกเช่นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ
ท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ต่อ TikTok :
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าตนกำลังเดินเรื่องห้ามใช้ TikTok กำหนดเส้นตาย 15 กันยายน หลังจากนั้นจะโดนแบนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลออกนอกประเทศ
สหรัฐมีกฎหมายเข้มงวดคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทางออกคือ TikTok ต้องเป็นของบริษัทอเมริกัน ถ้าอยู่ใต้กฎหมายอเมริกาจะไม่มีปัญหาความมั่นคง
รัฐบาลสหรัฐแสดงท่าทีกังวล
TikTok ตั้งแต่ปีก่อน ถ้ามองจากมุมความมั่นคงแห่งชาติ เรื่องที่รัฐบาลทรัมป์เอ่ยไม่ผิด
ทุกอย่างที่เกี่ยวกับจีนเป็นภัยคุกคามได้หมด จีนกำลังก้าวขึ้นมาทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร
ผู้นำจีนจากพรรคคอมมิวนิสต์บั่นทอนระบบระหว่างประเทศ เบียดบังเอาประโยชน์และค่อยๆ
ทำลายค่านิยม หลักการต่างๆ กดดันประเทศอื่นด้วยเครื่องมือทางเศรษฐกิจ เป็นภัยคุกคามร้ายแรง
เป็นเหตุผลที่ต้องขึ้นภาษีสินค้าจีน
คิดกีดกันนักเรียนนักศึกษาจีนที่กำลังศึกษาต่อในอเมริกานับแสนคน เทคโนโลยี 5G ของจีน สินค้าหัวเว่ย ฯลฯ TikTok ถูกตีความเช่นนี้เหมือนกัน
อะไรที่เป็นของจีน
เกี่ยวข้องกับจีน เป็นภัยคุกคามได้ทั้งสิ้น ขึ้นกับว่ารัฐบาลสหรัฐจะหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นหรือไม่
เหตุผลความมั่นคงแห่งชาติเป็นข้ออ้างที่ใช้ได้เสมอ แม้ขัดแย้งหลักเสรีภาพประชาธิปไตย
ข้อโต้แย้งจากฝ่ายจีน :
จีนชี้ว่ารัฐบาลทรัมป์มุ่งผลทางการเมืองที่อยู่ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและต้องการทำลายบริษัทสัญชาติจีน
ขัดหลักการค้าระหว่างประเทศ กล่าวหาโดยไร้หลักฐาน
สิ่งที่ทำมีแต่กระตุ้นความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ จีนจะไม่นิ่งเฉยปล่อยให้ถูกกระทำฝ่ายเดียว
นักวิเคราะห์บางคนตีความว่ารัฐบาลสหรัฐทำตัวเหมือนมาเฟียใช้อำนาจข่มขู่ฉกฉวยสิ่งที่ตนอยากได้อยากมี
ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เพราะรัฐบาลสหรัฐเป็นเช่นนี้มานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท
เกิดคำถามว่าอย่างไรที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าสนับสนุนการค้าเสรี
ยึดกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้านบริษัท
ByteDance เจ้าของ TikTok ประกาศว่าตนเป็นเพียงบริษัทที่ประกอบธุรกิจ
ไม่คิดยุ่งการเมืองความขัดแย้งระหว่างประเทศ พร้อมขายกิจการส่วนที่อยู่กับสหรัฐให้บริษัทอื่น
ตนไม่ได้ทำอะไรผิดและพร้อมอยู่ใต้กฎหมายอเมริกา อย่างไรก็ตามคิดว่าเป้าหมายเบื้องลึกของรัฐบาลสหรัฐคือแบน
TikTok จริงๆ ไม่หวังซื้อกิจการ
บริษัทเตรียมใจมาพักหนึ่งแล้วหลังกระแสต้านจีนโหมแรงขึ้นทุกที
ประเด็นซื้อกิจการน่าติดตามเพราะที่เป็นข่าวขณะนี้ไม่ได้ซื้อเฉพาะส่วนสหรัฐแต่จะซื้อส่วนที่อยู่ในแคนนาดา
ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หรือมากกว่านั้น ประเทศที่เอ่ยถึงเป็นพันธมิตรหรือหุ้นส่วนความมั่นคงของอเมริกา
มุมมองที่ 3 เพื่อชาติหรือโดนปั่นหัว :
แนวคิดนี้ชี้ว่าแท้จริงแล้วการแบน
TikTok มาจากเรื่องส่วนตัวของทรัมป์ จากเหตุการณ์คนเข้าฟังงานปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์โหรงเหรงที่เมือง
Tulsa เมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา พวกวัยรุ่นในกลุ่ม
TikTok รวมหัวจองเข้าร่วมงานเกือบล้านชื่อแต่ผู้ไปร่วมงานจริงมีแค่
6 พันกว่าคน 2 สัปดาห์ต่อมา ไมค์ ปอมเปโอ รมต.กระทรวงต่างประเทศสหรัฐประกาศตรวจสอบ
TikTok
สรุปคือทรัมป์ขายหน้าและต้องการแก้แค้นจึงเล่นงานแอป TikTok ส่งผลถึงผู้ใช้ที่โกหกว่าจะไปร่วมฟังปราศรัยเมื่อครั้งนั้น
อันที่จริงแล้วมุมมองนี้ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดแต่หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับทรัมป์เอาความมั่นคงแห่งชาติ
ผลประโยชน์ของประเทศมาแลกกับการแก้แค้นส่วนตัว กระทบคนอเมริกันที่ใช้ทั้งหมด 100
ล้านคนไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร
คำถามตามมาคือการตอบโต้จากทรัมป์ช่วยอะไรได้หรือไม่
เด็กวัยรุ่นจะคิดอย่างไร สนุกกับการได้ปั่นหัวผู้นำประเทศของเขาหรือไม่ จะกระตุ้นให้พวกเขาคิดทำสิ่งอื่นๆ
อีกไหม เหมือนปู่ทรัมป์ในวัย 74 กำลังเล่นไล่จับ เด็กๆ สนุกสนานที่ได้ปั่นหัวผู้ใหญ่
ประธานาธิบดีผู้นำชาติมหาอำนาจกำลังโดนเด็กปั่นหัวเล่น
ความจริงแล้วด้วยความดังของ
TikTok มีแอปทำเลียนแบบอีกมากมายหลายยี่ห้อ เพียงแต่แอปนี้ดังกว่า
มีสมาชิกผู้ใช้มากกว่า หากแบน TikTok คนจะหันไปใช้แอปอื่น
รัฐบาลสหรัฐไม่อาจห้ามเสรีภาพการแสดงออกของพวกเขา
วิเคราะห์องค์รวม :
ประการแรก สื่อออนไลน์เผยแพร่ทั้งด้านสว่างด้านมืด
ทุกคนที่ใช้สื่อออนไลน์ไม่ว่าจะ Facebook Twitter Youtube ฯลฯ ต่างรู้ดีว่ามีทั้งข้อมูลเรื่องราวที่เป็นด้านสว่างกับด้านมืด มีทั้งที่ต่อต้านจีนกับสนับสนุนจีน
ที่ต่อต้านทรัมป์กับที่ชื่นชอบทรัมป์ เรื่องที่เป็นประโยชน์กับที่เป็นโทษ ข้อมูลจริงที่ไม่พบในสื่อกระแสหลักกับการปล่อยข่าวเท็จอย่างเป็นระบบ
แม้ว่าเจ้าของแพลตฟอร์มจะพยายามแก้ไขจัดการแต่ทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ตัวทรัมป์เองใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวส่งผ่านคำพูดของตนแทบทุกวัน
จริงบ้างเท็จบ้างตามประสาทรัมป์ จนโดน Twitter แบนหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน
Facebook ลบโพสต์ของประธานาธิบดีที่พูดว่าเด็กส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโควิด-19
ประการที่ 2 เสรีภาพหรือบ่อนทำลายประเทศ
ความเข้าใจสำคัญข้อหนึ่งคือถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ต้านจีน
การต่อต้าน TikTok ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของทรัมป์ดังที่นำเสนอข้างต้น
พวกสายเหยี่ยวรีพับลิกันมองว่า TikTok เป็น “Trojan horse” เป็นวิธีแทรกซึมเพื่อบ่อนทำลายประเทศ เข้ามาสอดแนมดูชีวิตคนอเมริกัน สอดส่องติดตาม
เป็นอาวุธอันร้ายกาจของรัฐบาลจีน กระทรวงกลาโหมสหรัฐห้ามเจ้าหน้าที่ใช้แอปดังกล่าว
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ
โดนกล่าวหาเช่นนี้เหมือนกัน
ด้านบริษัท
ByteDance ยืนยันว่าไม่เคยส่งข้อมูลสมาชิกให้กับรัฐบาลประเทศใด
ยินดีให้ตรวจสอบความโปร่งใส ปัจจุบันข้อมูลของผู้ใช้สหรัฐเก็บในเซิร์ฟเวอร์ที่สหรัฐ
แต่พวกรีพับลิกันย่อมไม่ยอมรับเพราะประเด็นไม่อยู่ที่ข้อเท็จจริงแต่ขึ้นกับว่าต้องการหาเรื่องหรือไม่
อันที่จริงแล้ว รัฐบาลสหรัฐแอบคิดหวังว่าโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดนจะล้มล้างระบอบการปกครองจีน
แต่มาวันนี้เมื่อนักธุรกิจจีนรุ่นใหม่สร้างสื่อออนไลน์อย่าง TikTok ที่เปิดกว้างให้แสดงออก รัฐบาลสหรัฐกลับคิดว่าเป็นแผนของรัฐบาลจีนเพื่อบ่อนทำลายอเมริกา
ในแง่หนึ่ง
TikTok ไม่ได้ต่างจาก Facebook Twitter
ที่แชร์ภาพแชร์ข้อมูลในโลกโซเชียล ทำให้คนทั่วโลกใกล้ชิดกันยิ่งกว่าทุกยุคสมัย
ประการที่
3 TikTok เป็นคู่แข่ง Facebook Twitter
ถ้ามองในแง่ธุรกิจสื่อโลกโซเชียล
TikTok เป็นคู่แข่ง Facebook Twitter ที่บริษัทอเมริกันเป็นเจ้าของ
TikTok กำลังเป็นเหมือนระบบเครือข่าย 5G ของจีนที่รัฐบาลสหรัฐชี้ว่าเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ ภัยคุกคามจะหมดไปถ้าประเทศนั้นๆ
ใช้เทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือของบริษัทสัญชาติอเมริกัน นี่คือแนวนโยบายของรัฐบาลทรัมป์
ประเด็น
TikTok เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ถ้าอธิบายตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจตีความว่าคือการปิดล้อมจีน
เป็นยุทธศาสตร์แข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจ เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นเพียงแค่กลุ่มเด็กเล่นสนุก
รวมหัวปั่นประธานาธิบดีตามประสาที่พวกเขาทำได้และคิดว่าสนุกดี
ในเรื่องการควบคุมสื่อ
นักวิชาการบางคนเห็นด้วยกับการควบคุมโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะสังกัดชาติใด
ควรให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบนานาชาติ ป้องกันการใช้ข้อมูลส่วนตัวในทางมิชอบ ป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐดังที่รัฐบาลสหรัฐกำลังกล่าวหา
แต่แนวทางนี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับ การจะแบนจะควบคุมแค่ไหนอย่างไรจึงเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
9 สิงหาคม
2020
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
24 ฉบับที่ 8672 วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563)
----------------------
บรรณานุกรม :1. ByteDance founder defends TikTok's U.S. strategy in staff
letter. (2020, August 4). Reuters.
Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-tiktok/bytedance-founder-defends-tiktoks-u-s-strategy-in-staff-letter-idUSKCN250140
2. Facebook removes Trump post falsely
claiming children are 'almost immune' to Covid-19. (2020,
August 5). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/08/05/tech/trump-facebook-misinformation/index.html
3. Is This The Real Reason Why Trump Wants To Ban TikTok? (2020, August 1). Forbes. Retrieved
from https://www.forbes.com/sites/abrambrown/2020/08/01/is-this-the-real-reason-why-trump-wants-to-ban-tiktok/#612d5f934aed
4. Microsoft aiming to buy TikTok's entire global business,
reports say. (2020, August 6). Daily
Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/business/tech/microsoft-aiming-to-buy-tiktoks-entire-global-business-reports-say
5. TikTok stars blast Trump after US president’s ban threat.
(2020, August 4). Free Malaysia Today. Retrieved from
https://www.freemalaysiatoday.com/category/business/2020/08/04/tiktok-stars-blast-trump-after-us-presidents-ban-threat/
6. Trump says he will ban TikTok from
operating in the US. (2020, July 31). The
Hill. Retrieved from https://thehill.com/policy/technology/510100-trump-says-he-will-ban-tiktok-from-operating-in-the-us
7. Trump told reporters on Air Force One he is banning
TikTok from the US. (2020, August 1). Business
Insider. Retrieved from https://www.businessinsider.com/trump-told-reporters-air-force-one-ban-tiktok-2020-7
8. United
States Department of State. (2019, November 4). A Free and Open
Indo-Pacific: Advancing a Shared Vision.
Retrieved from
https://www.state.gov/release-of-the-united-states-report-on-the-implementation-of-the-indo-pacific-strategy/
9. US' 'Mafia-Style Tactic' on TikTok
Strips Last Layer of Decency, Professor Says. (2020,
August 5). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/analysis/202008051080070786-us-mafia-style-tactic-on-tiktok-strips-last-layer-of-decency-professor-says/
10. Why America Is Afraid of TikTok. (2020, July 30). The Atlantic.
Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2020/07/tiktok-ban-china-america/614725/
--------------------------
ที่มารูป : https://unsplash.com/photos/QKEeVYu0d7U