ไม่ว่าจะอย่างไรเวียดนามต้องรักษาผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้
พร้อมกับที่ต้องพยายามหาทางอยู่ร่วมกับชาติมหาอำนาจ มีความร่วมมืออยู่คู่ความขัดแย้ง
หวังเพียงไม่ขัดแย้งจนควบคุมไม่ได้
การจะเข้าใจท่าทีจุดยืนเวียดนามต้องเข้าใจเป้าหมายก่อน
เวียดนามไม่ต่างจากประเทศทั่วไปที่ประกาศต้องการสันติภาพ
เสถียรภาพ เพราะสันติภาพเท่านั้นที่ส่งเสริมบรรยากาศการพัฒนาเป็นประโยชน์ทั้งต่อเวียดนาม
ภูมิภาคและโลก รัฐบาลเวียดนามเห็นว่าสันติภาพกำลังถูกคุกคามและเป็นอันตรายหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ยับยั้งชั่งใจ
ต้องแสวงหาความร่วมมือแทนหาเรื่องใส่กัน อีกทั้งดุลอำนาจกำลังเปลี่ยนแปลง
(จีนก้าวขึ้นมา) เกิดการเผชิญหน้า แสดงการยั่วยุเสมอ
เหตุที่เวียดนามต้องปกป้องทะเลจีนใต้
:
ถ้าไม่นับเหตุผลเรื่องปกป้องอธิปไตย
ทะเลจีนใต้เป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่สุดของเวียดนาม คาดว่าพื้นที่ทับซ้อนมีทรัพยากรมหาศาล
นับจากปี 2007
เป็นต้นมาจีนพยายามกดดันบริษัทน้ำมันต่างชาติให้หยุดช่วยเวียดนามสำรวจทรัพยากรน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติแต่เวียดนามยังคงพยายามไม่ลดละ
เกิดการตอบโต้ไปมาหลายครั้ง
และในขณะที่ชาติมหาอำนาจแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์ในย่านนี้ เวียดนามเข้าเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เวียดนามใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศเหมือนกัน
ท่าทีเวียดนามต่อทะเลจีนใต้ :
ประการแรก
หมู่เกาะสแปรตลีย์กับพาราเซลเป็นของเวียดนาม
รัฐบาลเวียดนามเรียกร้องให้จีนยุติการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะแก่งต่างๆ
ใน Truong Sa (หมู่เกาะสแปรตลีย์) กับ Hoang
Sa (หมู่เกาะพาราเซลตามชื่อเวียดนาม) ย้ำว่าเวียดนามมีทั้งหลักฐานตามกฎหมายและประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าทั้ง
2 เกาะเป็นของเวียดนาม
การสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
ที่ Chau Vien (Cuarteron Reef) กับ Gac Ma (Johnson
South Reef- ทั้ง 2 เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์) ละเมิดอธิปไตยเวียดนามและ DOC ขอให้ปฏิบัติตาม UNCLOS
ประการที่ 2 ใช้ทั้งความร่วมมือและดิ้นรนต่อต้าน
เวียดนามเรียกร้องรักษาสิทธิ อธิปไตยของตน ความสัมพันธ์สองประเทศมีทั้งความร่วมมือคู่ความขัดแย้ง
แม้ขัดแย้งแต่ยังเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ จีนเข้าลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่องเป็นผลประโยชน์ร่วม
ในภาคปฏิบัติสองฝ่ายต่างมีช่องทางการพูดคุยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ทั้งระดับรัฐ ระดับพรรค ระดับรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีกลาโหม
เป็นกลไกควบคุมความขัดแย้ง
เวียดนามใช้ความพยายามทั้งระดับพหุภาคีกับทวิภาคี
ดังนั้นไม่ว่าจะมีอาเซียนหรือไม่ การเจรจาต่อรองระหว่างสองประเทศดำเนินไป ไม่ต้องขึ้นกับอาเซียนเสมอไป
ประการที่
3 ยึดกฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่ตั้ง
การแก้ไขข้อพิพาทให้ยึดกฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่ตั้ง โดยเฉพาะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
(United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS)
ฉบับปี 1982 แนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on
the conduct of Parties in the South China Sea: DOC) และแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้
(Code of Conduct on South China Sea: COC) ที่กำลังหารือกันอยู่
ประการที่
4 ใช้สันติวิธี
เป้าหมายบางข้อของเวียดนามสร้างความตึงเครียดขัดแย้งแต่จะยึดแนวทางสันติวิธีตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
พร้อมกับเรียกร้องให้นานาชาติสนับสนุนแนวทางนี้ รัฐบาลเวียดนามคิดเสมอว่าต้องหากลไกควบคุมความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ
ยึดสันติภาพเป็นเป้าหมายไม่ใช่สงคราม
เวียดนามมักให้อาเซียนเป็นผู้แสดงหลักในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพในภูมิภาค
ยึดมั่นสันติวิธี ตามกระบวนการกฎหมายและการทูต
ประการที่
5 ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงผลประโยชน์ของอีกฝ่าย
การแก้ไขข้อพิพาทดินแดนไม่ใช่เรื่องง่าย
ทุกฝ่ายจำต้องคำนึงผลประโยชน์ของอีกฝ่าย ถ้ายึดผลประโยชน์เป็นที่ตั้งสิ่งที่ได้จากพื้นที่พิพาทเป็นชิ้นเล็กเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ระหว่างประเทศโดยรวม
โอกาสความร่วมมือต่างๆ การปล่อยให้ผลประโยชน์ชิ้นเล็กทำลายผลประโยชน์ชิ้นใหญ่เป็นเรื่องไร้เหตุผล
เพียงแต่เรื่องสูญเสียอธิปไตยบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ต่างยอมให้แก่กันไม่ได้
ประการที่
6 รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ
หลายครั้งที่เมื่อเผชิญหน้าจีนรัฐบาลเวียดนามจะร้องขอให้สหรัฐแสดงบทบาทเข้มแข็งขึ้น
กีดกันไม่ให้จีนสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างทางทหารตามเกาะแก่งต่างๆ
ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิ์
นอกจากขอความช่วยเหลือจากสหรัฐแล้ว
เวียดนามขอความช่วยเหลือจากอีกหลายประเทศ เช่นจากญี่ปุ่นซึ่งพยายามขยายบทบาท
ยกตัวอย่างปี 2014 ญี่ปุ่นส่งมอบเรือรบ 6 ลำแก่เวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือมูลค่า
5 ล้านดอลลาร์เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการปกป้องน่านน้ำเวียดนาม นาย Fumio
Kishida รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า
“หวังว่าความช่วยเหลือนี้จะช่วยเวียดนามให้สามารถบังคับใช้กฎหมายทะเลได้ดียิ่งขึ้น”
เป็นประเทศที่
2 ของอาเซียนที่ได้รับเรือตรวจการณ์จากญี่ปุ่นในช่วงนั้น
โดยสรุปแล้วนโยบายของเวียดนามคือรักษาสันติภาพความมั่นคงแก่ประเทศกับภูมิภาค
ยึดมั่นการเดินเรือเสรีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ทุกชาติค้าขายต่อไป ต่อต้านการแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังหรือบั่นทอนทำลาย
เป็นแนวทางเดียวกับอาเซียนและมิตรประเทศที่หวังสร้างระเบียบความมั่นคงบนกฎเกณฑ์
ทำอย่างไรจะจึงอยู่ร่วมกับมหาอำนาจในระยะยาว
:
เวียดนามกับอาเซียนหวังสร้างระเบียบความมั่นคงที่ทุกชาติต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์
แต่จีนซึ่งเป็นสมาชิก UNCLOS วางเงื่อนไขแต่แรกว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงเฉพาะส่วนที่ไม่ขัดกฎหมายจีน
ด้านสหรัฐที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายทำตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ข้อเท็จจริงคือสหรัฐไม่เป็นสมาชิก
UNCLOS ไม่มีใครสามารถกล่าวโทษสหรัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าว
เพียงเท่านี้ก็ทราบเจตจำนงของชาติมหาอำนาจทั้งสอง
โจทย์ที่เวียดนามคิดถึงเสมอคือทำอย่างไรจะจึงอยู่ร่วมกับมหาอำนาจในระยะยาว
เวียดนามไม่อาจห้ามจีนที่ก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ
แผ่ขยายอิทธิพล เสริมสร้างกองทัพ ในขณะที่สหรัฐเห็นว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขึ้นทุกที
มีผลประโยชน์มหาศาลที่ต้องรักษา รัฐบาลทรัมป์ประกาศความเป็นปรปักษ์กับจีนอย่างชัดเจน
เป็นความจริงที่สถานการณ์โดยรวมยังเป็นปกติ
เรือสินค้าเครื่องบินโดยสารเดินทางไปมาสะดวก แต่บรรยากาศของ 2 มหาอำนาจตึงเครียดมากขึ้น
รัฐบาลสหรัฐเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน หากรัฐบาลชุดต่อไปเป็นโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครทน่าติดตามว่าความตึงเครียดจะลดลงหรือไม่
26 กรกฎาคม
2020
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8658 วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อนาคตของการเจรจา “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (COC)
อาเซียนกับจีนบรรลุกรอบเจรจา COC นับจากนี้คือการเจรจาเพื่อให้ได้ COC แต่ยากจะตอบว่าจะแล้วเสร็จช้าหรือเร็ว
เพราะ COC จึงไม่ใช่เรื่องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้เท่านั้น
ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองภายในของบางประเทศ
ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างบางประเทศ การแข่งขันของมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อาจเป็นมหากาพย์ที่ต้องติดตามอีกนาน
จีนเดินหน้าต่อต้านระเบียบโลกตะวันตก สร้างระเบียบโลกใหม่
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน
เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น
ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน
อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น
เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
1. ASEAN-US Summit discusses peace, security in
Asia-Pacific. (2016, February 17). VNS. Retrieved from
http://vietnamnews.vn/politics-laws/282441/asean-us-summit-discusses-peace-security-in-asia-pacific.html
2. In California, Vietnam PM calls for greater US role in
East Sea. (2016, February 17). Thanh Nien News. Retrieved from
http://www.thanhniennews.com/politics/in-california-vietnam-pm-calls-for-greater-us-role-in-east-sea-59342.html
3. Hanoi demands that Beijing stop illegal construction in
East Vietnam Sea. (2015, May 29). Tuoi Tre News. Retrieved from
http://tuoitrenews.vn/politics/28382/hanoi-demands-that-beijing-stop-illegal-construction-in-east-vietnam-sea
4. Japan provides Vietnam with 6 vessels. (2014, August 1). China
Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/world/2014-08/01/content_18232528.htm
5. Ponnudurai, Parameswaran. (2014, February 9). US Draws
Own Line Over South China Sea Dispute. Radio Free Asia. Retrieved from
http://www.rfa.org/english/commentaries/east-asia-beat/claim-02092014205453.html
6. Vietnam welcomes countries’ East Vietnam Sea stances in
line with international law. (2020, July 16). Tuoi Tre News. Retrieved
from https://tuoitrenews.vn/news/politics/20200716/vietnam-welcomes-countries-east-vietnam-sea-stances-in-line-with-international-law/55623.html
7. Vision needed for East Sea stability. (2015, May 29). Vietnam
News. Retrieved from https://vietnamnews.vn/politics-laws/278928/vision-needed-for-east-sea-stability.html
8. Womack, Brantly. (2006). China and Vietnam: The
Politics of Asymmetry. New York: Cambridge University Press.
9. Zewei, Yang. (2014, May 26). Sovereignty is indisputable.
Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/indepth/2014-05/26/c_133361191.htm
--------------------------